เข้าโหมดครบ 4 ปี คสช.แรงเสียดทานโหมหนัก


เพิ่มเพื่อน    

      ผ่านไปอย่างรวดเร็วอีกไม่ถึง 20 วันก็จะครบรอบ 4 ปีการทำรัฐประหารของ คสช.โดยการนำของ  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557

      4 ปีในทางการเมือง ก็คือหนึ่งเทอม-หนึ่งวาระของอายุขัยสภาผู้แทนราษฎรที่เลือกนายกรัฐมนตรีไปบริหารประเทศ แต่ประเทศไทยส่วนใหญ่อายุของรัฐบาล-สภาผู้แทนราษฎรอยู่ไม่ครบ 4 ปีอยู่แล้ว มีก็แค่ รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เท่านั้นที่อยู่ครบ 4 ปีในช่วง 2544-2548

      มายุคปัจจุบันที่เป็นรัฐบาลจากรัฐประหาร ผ่านการใช้อำนาจการปกครองทั้งตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 และรัฐธรรมนูญปัจจุบันปี 2560 ตลอดจนอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ตามมาตรา 44 ในการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ทำให้ บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจเต็มอยู่ในมือมากที่สุดคนหนึ่ง โดยเฉพาะการเมืองในยุคหลังๆ แถมอยู่ยาวมาจะครบ 4 ปีในวันที่ 22 พ.ค.นี้แล้ว

      ที่สำคัญทำท่าจะอยู่ถึง 5 ปีด้วยซ้ำหากมีการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า เพราะกว่าจะตั้งรัฐบาล เลือกนายกรัฐมนตรี-ฟอร์มคณะรัฐมนตรี-รอรัฐบาลเข้าปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ ก็อาจกินเวลาไปอีกร่วม 2-3 เดือน ยิ่งหากหลังเลือกตั้งนายกฯ บิ๊กตู่ได้กลับมาเป็นนายกฯ อีกรอบ คราวนี้ก็ยาวเลย

      เมื่อเข้าสู่โหมดเตรียมครบรอบ 4 ปี คสช. โดยเฉพาะในช่วง 2-3 สัปดาห์ถัดจากนี้ คาดได้ว่าหลายฝ่ายทั้งนักการเมือง-นักวิชาการ-นักธุรกิจ และประชาชนหลายภาคส่วนจะต้องออกมาประเมิน-ให้คะแนน-วิเคราะห์ ผลงาน-การดำรงอยู่ในช่วง 4 ปี คสช. กันอย่างกว้างขวางแน่นอน

      ที่การให้ความเห็น การวิพากษ์วิจารณ์คงมีทั้งเป็นกลาง-มีนัยทางการเมือง บางรายอาจวิพากษ์แบบตรงไปตรงมา บางรายอาจเกรงใจ คสช.ก็อาจให้ความเห็นแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย

      โดยหัวข้อหลักๆ ที่ บิ๊กตู่-คสช. จะโดนทวงถามน่าจะเป็นผลงานที่เป็นรูปธรรม และเรื่องที่ต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักก็คงเป็น สัญญาประชาคมทางการเมือง ที่เคยให้ไว้ในวันทำรัฐประหารเมื่อ  22 พ.ค.57 เช่นเรื่องการปฏิรูปประเทศ-การสร้างความปรองดอง ในท่วงทำนองว่าสี่ปีที่ผ่านไป คสช.ทำสำเร็จไปมากน้อยแค่ไหน หรือว่าไม่ได้ทำอะไร และเพราะอะไร ทำไมถึงไม่ทำ ติดขัดตรงไหน

      รวมถึงคงมีการประเมินผลงานด้านต่างๆ ออกมาหนักหน่วงไม่น้อย โดยเฉพาะเรื่อง การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และอีกหลายเรื่องที่สังคมมองว่ายังมีปัญหาอยู่ เช่นการแก้ปัญหาความไม่สงบภาคใต้ ตลอดจนบางเรื่องที่ตอน คสช.เข้ามาใหม่ๆ ก็ดูขึงขังดี แต่ผ่านไปจนถึงขณะนี้กลับเงียบหาย นั่นคือการจัดระเบียบสังคมด้านต่างๆ อาทิ การจัดการกลุ่มผู้มีอิทธิพล-มาเฟียในวงการต่างๆ หรือการขับเคลื่อนเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ-การผลักดันนโยบายด้านทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การทวงคืนผืนป่า, การแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน เป็นต้น

        ที่เชื่อได้ว่าหลายเรื่องคนคงให้คะแนน บิ๊กตู่-คสช.สอบตก ไม่ผ่านแน่นอน!!!

      โดยบางกรณีตัวพลเอกประยุทธ์และคนใน คสช.อย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อาจต้องโดนเต็มๆ เช่นเรื่องธรรมาภิบาลใน คสช. ที่จนถึงตอนนี้พลเอกประวิตรก็ยังเคลียร์หลายเรื่องไม่ได้ในความรู้สึกของประชาชน โดยเฉพาะ ปมนาฬิกา-แหวนเพชร จนกลายเป็นจุดอ่อนของ คสช.ในเรื่องธรรมาภิบาล-ความโปร่งใส

      ขณะที่บางกรณีเช่น การปฏิรูปประเทศ เชื่อได้ว่า บิ๊กตู่ คงจะบอกว่ารัฐบาลและ คสช.ได้ขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว เช่นมีการนำไปเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน จนถูกเรียกว่ารัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป รวมถึงมีการนำไปต่อยอดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจมาแล้ว 2 ชุด คือ ชุดของพลเอกบุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ กับ ชุดของมีชัย ฤชุพันธุ์ เพื่อทำเรื่องปฏิรูปตำรวจ ขณะที่เรื่องการปฏิรูปการศึกษาก็มีการตั้งคณะกรรมการอิสระศึกษาและทำเรื่องนี้โดยมี ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา เป็นประธาน รวมถึงการออกกฎหมายเพื่อให้มีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์ระยะยาว

      อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนทั้งหมดที่ คสช.และรัฐบาลทำข้างต้น มันก็ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน บางฝ่ายอาจมองว่าแม้จะมีการเขียนเรื่องพวกนี้ไว้ในรัฐธรรมนูญ มีการตั้งกรรมการมาทำหลายเรื่อง   แต่ไม่ได้มีอะไรออกมาเป็นรูปธรรม เช่นเดียวกับเรื่องการสร้างความปรองดองที่บิ๊กตู่ประกาศไว้ในวันทำรัฐประหาร ผ่านไปร่วมสี่ปีไม่มีความคืบหน้าใดๆ

      เสียงวิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้ บิ๊กตู่-คสช.คงต้องเจอหนักแน่นอนในช่วงครบรอบ 4 ปี คสช.

        ขณะที่ความเคลื่อนไหวการเมืองของกลุ่มต่างๆ ที่จะออกมากดดันในช่วงเวลาเดียวกัน

      จุดโฟกัสหลักคงไม่พ้น "กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง" ที่เป็นกลุ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ คสช.เร่งจัดการเลือกตั้ง และมีการโหมโรงไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะนัดชุมนุมใหญ่แบบค้างคืนในช่วง 20-22 พ.ค.

      แต่ก่อนจะถึงช่วงดังกล่าวพบว่ากลุ่มนี้ได้นัดอุ่นเครื่องกันก่อนในวันเสาร์ที่ 5 พ.ค.นี้ ภายใต้สโลแกน หยุดระบอบ คสช. หยุดยื้อเลือกตั้ง โดยยิงแคมเปญผ่านโลกโซเชียลฯ ว่า 5 พ.ค.นี้ ถึงเวลาที่ประชาชนกลับมารวมพลังกันอีกครั้งเพื่อเน้นย้ำจุดยืน ขอชวนประชาชน แสดงพลัง ณ ลานปรีดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่เวลา 16.00 น. เป็นต้นไป

        คาดได้ว่าพลเอกประยุทธ์-คสช.-ทหาร-ฝ่ายความมั่นคง คงเตรียมพร้อมรับแรงกดดันจากฝ่ายต่างๆ ที่จะออกมาในช่วงครบรอบ 4 ปี คสช.กันไว้แล้ว เพื่อให้ทุกอย่างผ่านไปด้วยความเรียบร้อย


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"