CPTPP กับการบ้านหลายข้อ


เพิ่มเพื่อน    

 

        คณะกรรมาธิการศึกษา CPTPP ของสภาผู้แทนราษฎร ที่เพิ่งสรุปความเห็นที่น่าสนใจหลายประเด็น

            นอกจากข้อสรุปที่ผมเขียนถึงเมื่อวานแล้ว ที่ประชุมสภายังมีมติส่งความเห็นของ กมธ.ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาด้วย มีรายละเอียดว่า

            ด้านการเกษตรและพันธุ์พืช เห็นว่า เกษตรกรรายย่อยและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจะได้รับผลกระทบอย่างมากและกว้างขวาง ถ้าประเทศไทยเป็นสมาชิกความตกลง CPTPP

            ทั้งจากการเปิดตลาดเสรีสินค้าเกษตรและจากการรอนสิทธิในการใช้พืชพันธุ์การค้าจากการเข้าเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญา UPOV

            ดังนั้น ไทยยังไม่พร้อมจะเข้าเจรจาความตกลง CPTPP จนกว่าจะมีการทำความเข้าใจให้เกษตรกรยอมรับ การเตรียมความพร้อมให้แก่เกษตรกร ซึ่งยังไม่สามารถพึ่งพาตนเองและไม่สามารถสู้ได้ในเวทีโลก

            จะต้องมาในรูปของการสนับสนุนเชิงนโยบาย

            และเพิ่มงบประมาณวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชและขยายพันธุ์พืชจากเดิมที่งบประมาณ 2564 กำหนดแผนงานบูรณาการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไว้ที่ 1,447 ล้านบาท

            กมธ.เห็นว่า ภาครัฐควรเร่งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับด้านการเกษตรอย่างน้อย 6 เรื่อง  

            -รัฐต้องมีนโยบายและแผนงานในการส่งเสริมด้านการวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืช โดยกลุ่มเกษตรกรมีส่วนร่วมตลอดกระบวนการปรับปรุงพันธุ์พืช ทำให้เกิดความสมดุลกับพันธุ์ลูกผสมของภาคธุรกิจเอกชนตามหลักของความได้สัดส่วน ที่ต้องคุ้มครองสิทธินักปรับปรุงพันธุ์พืชกระทบสิทธิของเกษตรกรในระดับพอประมาณ

            -รัฐต้องสนับสนุนงบประมาณ และอัตราบุคลากรด้านการปรับปรุงพันธุ์และด้านการผลิตเมล็ดพันธุ์แก่กรมการข้าว เพื่อให้กรมการค้ากำกับดูแลการผลิตเมล็ดพันธุ์จำหน่ายจากร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 60 เพื่อสร้างดุลยภาพเรื่องดังกล่าว

            -รัฐต้องแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 และอนุบัญญัติเพื่อแก้ปัญหาการใช้กฎหมาย เตรียมการให้กลุ่มเกษตรกรมีการปรับตัว และเอื้อประโยชน์ต่อการทำเกษตรยั่งยืน และขับเคลื่อนให้ไทยเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์พืชเขตร้อนชื้น

            -รัฐต้องมีนโยบายและแผนงานด้านพันธุ์พืชกับการพัฒนาการเกษตรแบบพึ่งตนเองได้ โดยส่งเสริมให้มีเครือข่ายดำเนินการร่วมกันแบบบูรณาการ

            -รัฐต้องเร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาปรับโครงสร้างทางการผลิตภาคเกษตรเป็นการด่วน  ให้ครอบคลุมตั้งแต่ระดับฟาร์มถึงการแปรรูปขั้นต้น เพื่อเพิ่มรายได้เกษตรกรให้สัมพันธ์กับค่าแรงขั้นต่ำ

            -รัฐต้องทำความเข้าใจกับเกษตรกรที่ปลูกพืชทุกกลุ่ม เช่น ข้าว พืชไร่ ผัก ผลไม้ ไม้ดอก พืชเครื่องดื่ม และสมุนไพร-เครื่องเทศ และผู้เกี่ยวข้อง ในเรื่องเกี่ยวกับ CPTPP และข้อบทที่เกี่ยวกับ UPOV ให้ชัดเจนถึงผลได้ผลเสียที่อาจเกิดขึ้น

            ด้านการแพทย์และสาธารณสุข เห็นว่าการเข้าร่วมเจรจาความตกลง CPTPP ในประเด็นนี้ ขึ้นอยู่กับความพร้อมและการเตรียมการภายในประเทศ ทั้งนี้ด้วยเวลาในการศึกษาที่จำกัด จึงมีข้อสงวนและข้อสังเกต ดังนี้

            -เห็นว่ายังมีประเด็นที่ควรศึกษาและวิจัยต่อยอดเพิ่มเติม เช่น ขนาดของผลกระทบทั้งด้านการขึ้นทะเบียนตำรับยา การเข้าถึงยาของประชาชน และอุตสาหกรรมยาชื่อสามัญของไทย รวมถึงผลกระทบระยะยาวในด้านขีดความสามารถการแข่งขัน ความคุ้มค่ากับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและความล้าสมัยของเครื่องมือแพทย์

            -มีความจำเป็นที่หน่วยงานทั้งหลายต้องมาร่วมประชุมและปรึกษาหารือถึงผลกระทบเชิงโครงสร้าง  ซึ่งไทยควรเตรียมความพร้อมก่อนที่จะเข้าร่วมในความตกลงนี้ เช่น

            สร้างกระบวนการเชื่อมโยงสิทธิบัตรกับการขึ้นทะเบียนตำรับยา, จัดทำฐานข้อมูลพันธุ์พืชสมุนไพรไทยให้ครบถ้วนและเป็นปัจจุบันโดยเร็วที่สุด เพื่อความปลอดภัยและความมั่นคงทางสมุนไพรไทย

            -รัฐควรเสนอร่างข้อบังคับหรือกฎหมายที่ต้องตราขึ้นใหม่ ให้เกิดสภาพบังคับภายในราชอาณาจักรก่อนเข้าร่วมข้อตกลง เพื่อให้ทุกภาคส่วนรับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น อาทิ กฎหมายกำหนดให้ผู้ที่ต้องการขอขึ้นทะเบียนยาที่มีส่วนประกอบของจุลชีพ หรือจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาเกี่ยวกับจุลชีพโดยเร็ว รวมถึงการกำหนดมาตรการเรื่องอาหารของความตกลง CPTPP โดยอ้างอิงหลักการของ  CODEX guideline โดยภาครัฐควรแถลงให้ชัดเจนในประเด็นนี้

            -รัฐบาลควรจัดเตรียมมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางลบจากการเข้าร่วมความตกลงนี้ไว้ล่วงหน้าด้วย

            -กรณีรัฐบาลเตรียมความพร้อมแล้ว และจะต้องเจรจาเพื่อเข้าร่วมความตกลง CPTPP ในการเจรจาควรกำหนดประเด็นต่างๆ ด้วย เช่น ทำข้อสงวนของไทยเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ยึดต้นแบบเดียวกันกับเวียดนาม ที่สามารถยกเว้นตลาดได้ 50% ในระยะเวลา 20 ปี, ตั้งข้อสงวนสำหรับมาตรการควบคุมยาสูบของไทย, ตั้งข้อสงวนมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทย, จัดทำ side letter  ยกเว้นสิทธิกำกับดูแลของรัฐ สำหรับมาตรการด้านสาธารณสุข ออกจากการฟ้องร้องด้วยกลไก ISDS, ตั้งข้อสงวนในข้อกังวลเกี่ยวกับการให้บริการทางวิชาชีพจากทุกสภาวิชาชีพ และกระทรวงพาณิชย์ควรนำข้อเสนอการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ ของสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เพื่อพิจารณาแนวทางเพิ่มเติม ยังมีประเด็นด้านเศรษฐกิจที่รัฐบาลควรจะต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน

            รายละเอียดของข้อเสนอจะได้คุยกันพรุ่งนี้.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"