เยือนตำหนักเก่า เล่าวิถีชาววังรัตนโกสินทร์


เพิ่มเพื่อน    

(วัดเบญจมบพิตรฯ อีกสถานที่สำคัญเล่าขานรัตนโกสินทร์) 

 

      ช่วงนี้คนรุ่นใหม่สนใจเรื่องราวของประวัติศาสตร์ อยากจะย้อนเวลาเข้าไปในยุคอยุธยาบ้าง หรือสมัยรัตนโกสินทร์บ้าง แต่ในเมื่อไม่มีไทม์แมชชีนให้ย้อนเวลากลับไป การได้ตามรอยไปเที่ยวชมวัด วังเก่า เพื่อสัมผัสร่องรอยของอดีตที่หลงเหลือ ก็ให้ความรู้สึกตื่นตาตื่นใจได้ไม่แพ้กัน ด้วยเหตุนี้ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือเคทีซี จึงได้จัดกิจกรรม "ย้อนกาลเก่า เล่ารัตนโกสินทร์ ยินผ่านวรรณกรรม" พาคณะสื่อฯ ไปชมวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร พิพิธภัณฑ์อาคารสายสุทธานภดล และพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เรียกว่าลัดเลาะไม่ไกล แถวๆ เกาะรัตนโกสินทร์นี่เอง

 

 

(ตามรอยวิถีในวังผ่านห้องจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์)

 

      ต้องบอกเลยว่าถ้าใครได้เห็นรูปเก่าๆ โบราณมาแล้ว ยังไม่เท่ามาเจอสถานที่จริงที่เจ้านายฝ่ายในเคยประทับมาก่อน เริ่มจาก พิพิธภัณฑ์อาคารสายสุทธานภดล ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ในอดีตที่นี่เคยเป็นพระตำหนักของพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา พระอัครชายาเธอในรัชกาลที่ 5

(พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ผู้เป็นที่รักยิ่งของ ร.5)

 

      วณิชยา บุษบงส์ ภัณฑารักษ์สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เล่าให้ฟังว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงตั้งพระราชหฤทัยอยากให้มีสวนใหม่ท้ายพระราชวังดุสิต จึงโปรดให้สร้างสวนแห่งนี้ขึ้นเป็นที่ประทับพระอิริยาบถ พร้อมทั้งเป็นที่ประทับของพระมเหสี พระสนม เจ้าจอม และพระราชธิดา เมื่อเสด็จสวรรคตแล้ว และทรงตั้งชื่อว่า 'สวนสุนันทา' เป็นพระราชานุสรณ์แห่งความรักของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ แต่ยังไม่ทันเสร็จก็เสด็จสวรรคต ต่อมารัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างองค์พระที่นั่งและพระตำหนักรวม 32 ตำหนัก จนแล้วเสร็จ กลายเป็นราชสำนักฝ่ายในขนาดใหญ่ในรัชสมัย ร.6-ร.7

 

(เยี่ยมชมห้องพระประวัติพระวิมาดาเธอฯ)

 

      ในปี 2462 พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา ได้ขอพระบรมราชานุญาตรัชกาลที่ 6 ประทับในสวนสุนันทาเป็นพระองค์แรก จากนั้นมีเจ้านายฝ่ายในหลายพระองค์เสด็จมาประทับตำหนักต่างๆ นอกจากนี้บางพระองค์เสด็จมาประทับเป็นครั้งคราว เช่น สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระราชธิดาพระองค์เดียวใน ร.6

 

(บันไดเวียนสำหรับข้าหลวงขึ้นถวายงานเจ้านาย)

 

      "ตำหนักสายสุทธานภดล หรือตำหนักที่ประทับของพระวิมาดาเธอฯ เป็นหนึ่งในตำหนักสำคัญเหมือนศูนย์กลางในสมัยนั้น ชั้นบนของตำหนักมีห้องบรรทมเป็นโถงใหญ่ มีห้องเซฟเก็บทรัพย์สินมีค่า มีที่ประทับสำหรับทรงสำราญ และบันไดเวียนสำหรับข้าหลวงขึ้นถวายอยู่งาน สะท้อนพระจริยวัตรของพระเจ้าวิมาดาเธอฯ เมื่อครั้งทรงพระชนม์ชีพ พระปรีชาสามารถด้านงานศิลป์เลื่องลือ อีกทั้งพระองค์เป็นผู้ควบคุมห้องเครื่องในรัชกาลที่ 5 และพระบรมวงศานุวงศ์ตลอดรัชกาล จนมาถึงรัชกาลที่ 6 ยังทรงมีชื่อเสียงเรื่องอาหาร สถานที่แห่งนี้จึงถือเป็นสำนักพระวิมาดาเธอฯ ซึ่งเหล่าขุนนางที่มีลูกสาวก็มักนิยมนำมาถวายตัวต่อพระวิมาดาเธอฯ" ภัณฑารักษ์หญิงฉายภาพเก่า

(ล้อมวงฟังเรื่องราววิถีชีวิตของเจ้านายฝ่ายในภายในตำหนัก)

 

      ต่อมาได้ก่อตั้งโรงเรียนนิภาคารขึ้นภายในสวนสุนันทา สอนทั้งวิชาอาหาร ตลอดจนงานฝีมือ เย็บปักถักร้อย ดอกไม้สด ดอกไม้แห้ง รวมถึงอบรมกิริยามารยาท บ่มเพาะความเป็นกุลสตรี หนึ่งในลูกศิษย์คือ ม.ล.เนื่อง นิลรัตน์ อดีตข้าหลวงประจำห้องเครื่องในพระวิมาดาเธอฯ ผู้เชี่ยวชาญอาหารตำรับชาววัง เจ้าของงานเขียนที่ได้รับความนิยม 'ชีวิตในวัง' 'ตำรากับข้าวในวัง' และ 'ชีวิตนอกวัง' ถ่ายทอดเรื่องราวในอดีต วิถีชาววัง รวมถึงตำรับอาหารของเจ้านายฝ่ายในให้แจ่มชัด

      เมื่อได้เดินชมแต่ละห้องภายในตัวตำหนัก เชื่อว่าผู้ได้สัมผัสจะดื่มด่ำพระประวัติประทับใจกับเครื่องใช้ส่วนพระองค์ที่ยังคงสภาพเดิมไว้อย่างสมบูรณ์ ส่วนของใหม่ที่นำมาจัดแสดงก็คัดสรรเข้ากับสถาปัตยกรรมงามสง่าของอาคารหลังนี้

(ชุดชามสำหรับใส่อาหารคาว-หวาน ศิลปวัตถุสำคัญ)

 

      แต่มีอยู่ห้องหนึ่งที่ผู้เข้าชมจะสัมผัสได้ถึงชีวิตของพระองค์ โดยเฉพาะห้องเครื่องสำนักพระวิมาดาเธอฯ ที่จะพาย้อนไปสมัยตำรับอาหารในพระวิมาดาเธอฯ จะมีสำรับอาหารคาวและอาหารหวานบนโต๊ะ มีชุดชามลายดอกไม้สวยงามตั้งอยู่ โดยถ้วยจานชามเหล่านี้พระองค์สั่งซื้อจากห้างเอช. อับดุลราฮิม เป็นภาชนะสำหรับใส่แกงและขนม นับเป็นหนึ่งในศิลปวัตถุสำคัญ

(อุโมงค์ใต้เนินพระนาง เก็บถ้วยชามของพระวิมาดาเธอฯ ที่หลงเหลืออยู่)

 

      สำหรับอาหารชาววังตามตำรับพระวิมาดาเธอฯ เมนูที่โดดเด่นมีหลายอย่างด้วยกัน เช่น สะเต๊ะลือ ทอดมันสิงคโปร์ แกงรัญจวน ข้าวตัง-เมี่ยงลาว น้ำพริกลงเรือ น้ำพริกปลาร้าหลน ฯลฯ นอกจากนี้ในพื้นที่ตำหนักพระวิมาดาเธอฯ ยังมีอุโมงค์ที่เก็บถ้วยชามของพระองค์หลงเหลืออยู่ ซึ่งอุโมงค์นี้เป็นอุโมงค์โบราณ มีมาก่อนที่พระวิมาดาเธอฯ มาประทับ เรียกกันว่า อุโมงค์ใต้เนินพระนาง

(ดื่มด่ำความงดงามดอกไม้ผ่านภาพเขียนสีน้ำคุณข้าหลวง)

 

      อีกสิ่งที่ทรงสนพระทัยมากก็คือ ทรงเล่นต้นไม้ ทั้งไม้ดอก ไม้ใบ ไม้ผล ทำให้บริเวณตำหนักที่ประทับเต็มไปด้วยพันธุ์ไม้งดงามละลานตา เล่ากันว่าเสด็จลงชมสวน เก็บดอกกุหลาบและดอกกล้วยไม้เป็นประจำ ดอกที่สวยงามทรงตัดประทานให้คุณข้าหลวงเขียนภาพสีน้ำเก็บไว้ เพราะการถ่ายภาพยังเป็นสีขาว-ดำ ซึ่งผู้ที่สนใจภาพสีน้ำอายุ 100 ปี สามารถไปชมสำเนาภาพที่ชั้นบนของพิพิธภัณฑ์อาคารสายสุทธานภดล ปัจจุบันสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มรภ.สวนสุนันทา เร่งอนุรักษ์ 131 ภาพสีน้ำต้นฉบับที่เหลือ มีแบบเขียนเฉพาะดอกไม้ แบบมีฉากหลัง และแบบมีองค์ประกอบ นับเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ด้านพฤกศาสตร์ชิ้นสำคัญ ทราบว่าสำนักศิลปะฯ เตรียมจัดใหญ่แสดงภาพเขียนสีน้ำคุณข้าหลวง ต้องติดตามกัน

(ตำหนักพระวิมาดาเธอฯ เต็มไปด้วยร่องรอยวิถีชาววัง สถาปัตยกรรมก็โดดเด่น)

 

      นอกเหนือจากคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ตำหนักสายสุทธานภดลยังโดดเด่นด้านสถาปัตยกรรม ปี 59 คว้ารางวัลอาคารอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่น ตึกแฝดขนาดใหญ่กึ่งปูนกึ่งไม้ มีทางเดินเชื่อมด้านบนและด้านล่าง ออกแบบโดยสถาปนิกชาวอิตาลี ทุกวันนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ศิลปะสถาปัตยกรรม มีผู้เข้าชมไม่ขาดสาย โดยเปิดทุกวัน ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 09.30-16.00 น. และการสืบทอดตำรับกับข้าวในวังนี้ยังมีที่ห้องอาหารแก้วเจ้าจอมของโรงแรมสวนสุนันทา สนใจมาลิ้มลองสูตรชาววังได้

      สวนสุนันทายังมีแหล่งเรียนรู้ 3 ศิลป์รัตนโกสินทร์ให้เยี่ยมชมอีก 3 อาคาร ได้แก่ อาคารจุฑารัตราภรณ์ แสดงเรื่องดนตรีตั้งแต่ ร.1 ถึง ร.10 อาคารอาทรทิพยนิวาสน์ เด่นเรื่องทัศนศิลป์ และอาคารเอื้อยอาชว์แถมถวัลย์ จัดแสดงเกี่ยวกับนาฏศิลป์ ซึ่งคนรุ่นใหม่ที่สนใจเรื่องราวสมัยรัตนโกสินทร์ก็มาเที่ยวชมได้ อยู่ใกล้แค่เอื้อม.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"