ความจริงที่ต้องเผชิญ: เศรษฐกิจไทยจะฟื้นช้า เปราะบางและไม่แน่นอนสูง


เพิ่มเพื่อน    

    แม้จะมีข่าวดีเรื่องวัคซีนจาก Pfizer และ Moderna แต่คนไทยควรจะรับทราบว่ากว่าเราจะเห็นสัญญาณเศรษฐกิจไทยฟื้นเล็กๆ ได้ต้องรออีกอย่างน้อย 2 ปี

            และคำว่า "รอ" อาจจะไม่ถูกต้อง เพราะเราจะ "รอ" ให้เศรษฐกิจ "ฟื้น" เองไม่ได้

            ทุกฝ่ายจะต้อง "รุกหนัก" ในทุกๆ มิติเพื่อ "เข็น" บ้านเมืองเราให้พ้นวิกฤติ

            และเรากำลังเผชิญกับ "วิกฤติ" หลายซับหลายซ้อนที่ยิ่งวันก็ยิ่งจะสลับซับซ้อนและสุ่มเสี่ยงมากยิ่งขึ้น

            คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย มีมติเอกฉันท์เมื่อวันที่ 18 พ.ย. ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี

            เหตุผลก็คือ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่คาดว่าจะต้องใช้เวลาอีกราว 2 ปีกว่าจึงจะกลับไปอยู่ในระดับก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ได้

            กนง.ประเมินว่า แม้เศรษฐกิจไทยจะปรับดีขึ้นกว่าที่คาด แต่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้า เปราะบาง และมีความไม่แน่นอนสูง

            จึงต้องอาศัยแรงหนุนจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง

            แถลงการณ์ของ กนง.ระบุว่า แม้ว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 จะปรับตัวดีขึ้นกว่าที่คาด แต่ภาคเศรษฐกิจต่างๆ ยังฟื้นตัวช้า

            ที่เป็นประเด็นน่ากังวลมีหลายประการ เช่น

            รายได้ของแรงงานยังอยู่ในระดับต่ำ

            การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มต่ำกว่าที่ประเมินไว้

            แต่ระบบการเงินมีเสถียรภาพ แม้จะเปราะบางตามฐานะทางการเงินของภาคธุรกิจและครัวเรือน

            ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบน้อยลง

            กนง.บอกด้วยว่า "สภาพคล่องในระบบอยู่ในระดับสูง และต้นทุนทางการเงินอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจและครัวเรือนบางส่วนที่ต้องการสภาพคล่องยังไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs"

            แปลว่าที่เราได้ยินมาตั้งแต่ต้นว่ามีเงินเตรียมไว้สำหรับช่วยประคอง SMEs นั้น ในทางปฏิบัติยังมีปัญหาไม่น้อย

            นั่นหมายความว่าธุรกิจรายเล็กๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุดนั้นกลับเข้าถึงแหล่งเงินยากที่สุด

            มีความกังวลอีกด้านหนึ่งคือ ค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับแข็งค่าขึ้นเร็ว

            บางสำนักวิเคราะห์ว่า ต้นปีหน้าเงินบาทอาจจะทะลุ 30  บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ ไปอยู่ที่ 29 บาทหรือแข็งกว่านั้น

            เหตุเพราะนักลงทุนต่างชาติที่กลับมาลงทุนในสินทรัพย์ของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่เพิ่มขึ้น ภายหลังผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

            ประกอบกับข่าวความคืบหน้าของการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19

            กนง.ยอมรับมีความกังวลว่า สถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเร็วจะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง

            สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)  แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ประจำไตรมาส 2 ของปี 2563 ว่าติดลบ 12.2%

            สาเหตุหลักมาจากการปิดเมืองเพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 แต่ก็ชี้ว่ายังติดลบน้อยกว่าช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง

            ต่อมาสภาพัฒน์บอกว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3  ปรับตัวดีขึ้นกว่าไตรมาสก่อนหน้าอย่างมาก

            เป็นผลจากปัจจัยบวกในภาคการอุปโภคของภาครัฐและการลงทุนโดยรัฐที่ปรับตัวดีขึ้น แต่อัตราการว่างงานยังสูง โดยผู้ว่างงานมีประมาณ 7.4 แสนคน

            สภาพัฒน์คาดว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งปีจะอยู่ที่  -6% ดีขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ -7.5%

            ส่วนปีหน้าคาดปรับตัวเป็นบวกในกรอบ 3.5-4.5%

            โดยปัจจัยหนุนประกอบด้วย ความสามารถในการป้องกันการกลับมาระบาดของโรคโควิด-19 ภายในประเทศ  และการผ่อนปรนการเดินทางเข้าประเทศสำหรับนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม อาทิ กองถ่ายภาพยนตร์ ผู้เข้าร่วมงานแสดงสินค้า กลุ่มผู้มีกำลังซื้อสูง และกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบพิเศษ (Special Tourist Visa) เป็นต้น

            แต่เมื่อมีการเสนอให้ลดช่วงเวลาการกักตัวจาก 14 วันเหลือ 10 วัน ศบค.มีมติให้กลับไปทบทวนเพื่อความรอบคอบ

            แปลว่าคงจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งก่อนที่จะ "แง้มประตู" สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

            คำว่า "ความไม่แน่นอนคือความแน่นอน" กลับมาพิสูจน์สัจธรรมอีกครั้ง.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"