เมื่อไบเดนมา...ประเด็น สิทธิมนุษยชนจะกลับมา


เพิ่มเพื่อน    

    ไทยเราไม่ต้องรอให้ "โจ ไบเดน" เข้าทำเนียบขาววันที่ 20  มกราคมปีหน้า หลังจากสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งวันนั้นถึงจะปรับยุทธศาสตร์ตั้งรับทิศทางใหม่ของผู้นำสหรัฐฯ

            เพราะชัดเจนจากถ้อยแถลงของเขามาตลอดว่า นโยบายเรื่องประชาธิปไตย, สิทธิมนุษยชน และสิ่งแวดล้อมกับสิทธิแรงงาน จะเป็นประเด็นสำคัญในการเชื่อมโยงกับการค้าและการลงทุนของอเมริกาในโลก

            นี่เป็นคำเตือนจากผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ดร. เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ที่ชี้ว่าไบเดนจะให้ความสำคัญประเด็น "สิทธิมนุษยชน-ไอยูยู" อีกครั้งค่อนข้างแน่นอน

            และหากจะตั้งรับให้ได้ประสิทธิภาพก็ต้องใช้ "ESG"  เป็นเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

            คุณเศรษฐพุฒิพูดเรื่อง "ESG : Empowering  Sustainable Thailand’s Growth" จัดโดยสำนักข่าวไทยพับลิก้าเมื่อเร็วๆ นี้บอกว่า

            การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา เป็นการเติบโตที่ไม่คำนึงถึงเรื่อง ESG (Environmental, Social,  Governance) นัก

            เพราะไปเน้นเรื่องที่เป็นระยะสั้น ไม่มองระยะยาวที่มีความสำคัญกว่ามาก

            "ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าเราโตแบบไม่ค่อยคำนึงถึง  ESG เราเน้นเรื่องระยะสั้นเป็นหลัก อย่างเรื่อง Environment  (สิ่งแวดล้อม) เราเน้นเรื่องการท่องเที่ยวเชิงตัวเลข เน้นจำนวนหัว แต่ต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นมักไม่ค่อยคำนึงถึง ส่วน Social (สังคม) เราเน้นการระยะสั้น การกระตุ้นการบริโภค การกู้เงินที่เกิดขึ้น มันทำให้ตัวเลขดี แต่ไม่ได้คำนึงถึงผลข้างเคียงระยะยาว ซึ่งคือการก่อหนี้ครัวเรือนในระดับที่สูงมาก และปัจจุบันเป็นความเปราะบางของระบบเศรษฐกิจเรา

            ส่วนเรื่อง Governance (ธรรมาภิบาล) จากที่ดูดัชนีชี้วัดต่างๆ ของโลก เช่น ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน  (Corruption Perceptions Index : CPI) คิดว่าตัวเลขล่าสุดของเราอยู่อันดับที่ 101 เทียบกับสิงคโปร์ที่อยู่ในอันดับที่ 4  ของโลก

            ที่ผมรับไม่ค่อยได้ คือ เราตามหลังเวียดนามและอินโดนีเซีย ซึ่งถ้ามองไปข้างหน้า ผมคิดว่ามันชัดเจนว่าเราจะโตโดยไม่คำนึงถึง ESG ไม่ได้" คุณเศรษฐพุฒิประกาศชัดถ้อยชัดคำ

            ที่เป็นประเด็นสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ เรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โดยไทยเป็นประเทศที่สร้างก๊าซเรือนกระจกในระดับที่สูงมากเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจ

            เหตุเพราะประสิทธิภาพการใช้พลังงานต่ำมาก

            และไทยจะเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากก๊าซเรือนกระจกมาก เช่น

            ในภาคเกษตรจะเห็นได้ว่าความสามารถในการเพาะปลูกสินค้าเกษตรของไทยลดลงมาก รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่จะได้รับผลกระทบเมื่อระดับน้ำทะเลสูงขึ้น

            "โครงสร้างเศรษฐกิจจะเป็นอยู่อย่างเดิม เป็นไปได้ค่อนข้างลำบากในภาวะ Climate Change ประเทศไทยเป็นประเทศที่ถูกจัดอันดับว่ามีโอกาสถูกน้ำท่วมอันดับที่ 7 ของโลก และผลที่เราเห็นค่อนข้างแรง อย่างปี 2554 ที่เกิดน้ำท่วม ปีนั้นจีดีพีเราโตแค่ 0.1% หลังจากนั้นปี 2556-57 จากท่วมก็กลายเป็นแล้ง เราก็เห็นว่าเกษตรกรรายได้หายไป 1.5  หมื่นล้านบาท จากเรื่องภัยด้านสิ่งแวดล้อม"

            มองไปข้างหน้ามีความเสี่ยงจะมากระทบกับไทยก็มีอยู่  เช่น เรื่องสิทธิมนุษยชน และเรื่องการทำประมงผิดกฎหมาย  ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and  Unregulated Fishing : IUU Fishing)

            เขาเชื่อว่าเมื่อไบเดนขึ้นเป็นประธานาธิบดี มีโอกาสสูงที่จะกลับมาเป็นประเด็นอีก

            "มีโอกาสที่ประเด็นพวกนี้ซึ่งเคยเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจของเรา จะถูกหยิบกลับมาเป็นประเด็นจะมีค่อนข้างสูง ก็เลยเห็นว่าที่ผ่านมาเราโตแบบไม่คำนึง ESG แต่ในอนาคตความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากความไม่ใส่ใจเรื่อง ESG จะมีสูงขึ้น

            ดังนั้นถ้าไทยจะเติบโตแบบยั่งยืน ต้องเปลี่ยนจากการเติบโตโดยไม่คำนึงถึงเรื่อง ESG มาเป็นการเติบโตโดย ESG  หรือเติบโตเพราะ ESG คือ

            ไทยต้องให้ ESG เป็นเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนการเติบโตในอนาคต"

            คุณเศรษฐพุฒิมองว่ามีความเป็นไปได้ โดยเฉพาะในกลุ่มสุขภาพ Health Wellness ทั้งในภาคการท่องเที่ยว หรือกระแส Work Anywhere (การทำงานที่ไหนก็ได้) อาหารออร์แกนิก และยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นต้น

            เขาบอกว่าพระเอกส่งออกของเราตอนนี้ 3 ตัว คือ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมี มีมูลค่า 50% ของการส่งออกไทย

            แต่ถ้าเราไม่ปรับตัว อย่างรถยนต์ถ้ายังไม่ไปเรื่อง EV ก็ตกกระแส

            ขณะเดียวกันผู้คนก็กังวลเกี่ยวกับขยะอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น

            หรือปิโตรเคมี ตอนนี้มีกระแสต่อต้านพลาสติก และถ้าไม่มีการนำเรื่อง Circular Economy (เศรษฐกิจหมุนเวียน)  เข้ามาใช้ โอกาสที่การส่งออกของเราจะโตก็เป็นไปได้ยากมาก

            หากใช้เครื่องยนต์เศรษฐกิจแบบเดิมจะไม่สามารถทำให้เกิดการเติบโตในอนาคตได้

            เขาบอกว่า ธปท.ทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย  (คปภ.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และกระทรวงการคลัง ผลักดันนโยบาย ESG

            ขณะที่ ธปท.ได้ให้ธนาคารพาณิชย์ไทยผนวกเรื่อง ESG  เข้าไปในการดำเนินธุรกิจ และเมื่อปี 2562 ได้มีการลงนามเรื่องธนาคารเพื่อความยั่งยืน และการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ

            เขายังเรียกร้องให้ภาคเอกชนทำเรื่อง ESG ทันที โดยไม่ต้องรอภาครัฐ เพราะเอกชนมีศักยภาพที่จะเดินหน้าเรื่องนี้ได้อยู่แล้ว

            ช่วงหลังจะเห็นบริษัทไทยเข้าไปอยู่ในดัชนี DJSI (Dow Jones Sustainability Index) ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ 22 บริษัท และอยู่ในระดับโลก 12 บริษัท ซึ่งสะท้อนได้ว่าบริษัทไทยมีศักยภาพและมีความสามารถที่จะเข้าสู่เวทีโลกในเรื่อง ESG ได้เอง

            "ผมไม่คิดว่าแนวทางหรือวิธีการที่จะไปสู่ ESG นั้นจะต้องใช้กลไกภาครัฐเป็นตัวนำ เป็นตัวหลัก บ้านเราหลายครั้งเมื่อเห็นปัญหาต้องให้ภาครัฐเข้าไปแก้ปัญหา แต่หลายครั้ง การที่มีปัญหาแล้วให้ภาครัฐเข้าไปอาจจะไม่ได้แก้ปัญหา แต่กลายเป็นการซ้ำเติมปัญหา"

            คุณเศรษฐพุฒิย้ำว่า ประเทศไทยต้องไม่ใช้การออกกฎระเบียบมากำกับอย่างเดียว

            ไทยเรามีกฎระเบียบมากเกินไป ขณะที่การละเลิกกฎระเบียบเป็นโจทย์สำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจเราโตได้

            การปรับตัวครั้งใหญ่จึงเป็นหัวใจของความอยู่รอดของประเทศจริงๆ.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"