จับตา รมต.ต่างประเทศมะกันคนใหม่ Antony Blinken


เพิ่มเพื่อน    

             ถ้าอยากรู้ว่านโยบายต่างประเทศของโจ ไบเดน เป็นอย่างไร ต้องดูว่าเขาจะเลือกใครมาเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ

 

                และเมื่อชื่อของ Antony Blinken โผล่มาเป็นตัวเต็ง และได้รับคำยืนยันจากว่าที่ประธานาธิบดีเอง ก็น่าจะเชื่อได้ว่าเขาเป็น “มืออาชีพ” ด้านต่างประเทศพอที่จะทำให้บทบาทสหรัฐในเวทีโลกกลับมามี “แบบแผน” ที่พอจะเห็นอะไรกระจ่างขึ้น

                ไม่ใช่แบบของไมค์ ปอมเปโอ ที่ทรัมป์หยิบมาจากตำแหน่งหัวหน้า CIA เพื่อมาเป็นมือขวาที่ยอมพูดอะไรทำอะไรตามใจทรัมป์ทุกเรื่อง

                ปอมเปโอกลายเป็นสัญลักษณ์ของ “การทูตแบบโฉ่งฉ่าง” ที่ทำให้พันธมิตรงุนงง และคู่แข่งสามารถเจาะหาช่องเข้าประกบประธานาธิบดีผ่านวิธีการแปลกๆ ได้อย่างน่าประหลาด

                แอนโทนี บลิงเคน เป็นหนึ่งในที่ปรึกษาใกล้ชิดของไบเดนด้านกิจการต่างประเทศมายาวนาน ถือว่าเป็นคนใกล้ตัวที่ไว้วางใจกันมาตลอด

                บลิงเคนอายุ 58 ปี ถือได้ว่าเป็นมือเก่าในแวดวงกิจการต่างประเทศของสหรัฐมานาน 20 ปี

                จุดยืนของบลิงเคนมาในแนวเดียวกับไบเดน คือการนำสหรัฐกลับสู่บทบาทผู้นำในด้านต่างๆ บนเวทีโลก

                ต้องกลับมาถมช่องว่างที่สหรัฐภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ถอนสหรัฐออกจากข้อตกลงและสนธิสัญญากับหลายๆ ส่วนของประชาคมระหว่างประเทศ ตามนโยบาย "America First" ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา

                ไบเดนเคยประกาศชัดเจนว่าสิ่งแรกๆ ที่จะทำทันทีหลังเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มกราคม คือการนำสหรัฐกลับเข้าสู่สนธิสัญญากรุงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก

                จากนั้นก็จะกลับสู่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO เพื่อให้อเมริกามีบทบาทนำในการจัดการกับปัญหาโควิด-19

                อีกเรื่องเร่งด่วนสำหรับรัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ของอเมริกาคือ การพยายามกลับสู่ข้อตกลงยับยั้งการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านอีกครั้ง

                และวอชิงตันก็จะกลับไปมีความคึกคักในองค์การการค้าโลก หรือ WTO ที่ทรัมป์ได้แสดงความหยามเหยียดต่อบทบาทเอาไว้จนทำให้อเมริกาลดบทบาทลงในเวทีแห่งนี้อย่างชัดเจน

                ช่องว่างทั้งหลายทั้งปวงที่ว่ามานี้เมื่อทรัมป์สร้างขึ้นด้วยแนวทาง “ทวิภาคีเหนือพหุภาคี” ก็เปิดทางให้จีนเข้ามาสวมบทบาทแทนอย่างจะแจ้ง

                ไบเดนรู้ว่านี่คือภารกิจที่ต้องเร่งทำใน 100 วันแรกในตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 46 ของสหรัฐ

                พอไบเดนได้ยินว่ามีการลงนามสถาปนา RCEP เป็นเขตการค้าเสรีใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีจีนเป็นหนึ่งในสมาชิกก่อตั้ง ก็สั่งให้มีการศึกษาเรื่องนี้ทันที

                เพราะไบเดนเคยประกาศเอาไว้ว่า “เราจะยอมให้จีนเป็นคนเขียนกติกาการค้าโลกไม่ได้ บทบาทนั้นต้องเป็นของสหรัฐอเมริกาเท่านั้น”

                จึงไม่ต้องแปลกใจที่ไบเดนจะต้องสั่งให้ทีมงานของเขาหาทางกลับมามีบทบาทคึกคักในเอเชีย

                อเมริกาจะกลับมาเป็นสมาชิกของ CPTPP หรือไม่ยังต้องติดตามความเคลื่อนไหว แต่ก็เป็นไปได้ว่าสหรัฐจะสร้างกลุ่มใหม่ขึ้นมาเพื่อคานอำนาจของจีนในเอเชียอย่างแน่นอน

                ยิ่ง สี จิ้นผิง ของจีน เพิ่งประกาศว่าปักกิ่งพร้อมจะพิจารณาเข้าเป็นสมาชิก CPTPP ด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้เกมการคานอำนาจของ 2 ยักษ์ใหญ่มีความดุเดือดมากยิ่งขึ้น

                ว่าที่รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ของสหรัฐคนนี้เคยทำงานให้กับอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน

                หลังจากนั้นก็เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ และรองที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติในสมัยประธานาธิบดีบารัค โอบามา

                นอกจากนั้นก็เคยเป็นผู้อำนวยการเจ้าหน้าที่ฝ่ายเดโมแครตในคณะกรรมาธิการด้านความสัมพันธ์ต่างประเทศของวุฒิสภาสหรัฐ ในสมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ด้วย

                บลิงเคนมีประสบการณ์ด้านสื่อหลายด้านก่อนจะรับบทบาทการเมือง

                เขาจบจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เคยเป็นบรรณาธิการหนังสือมหาวิทยาลัย The Harvard Crimson

                หลังจากได้ปริญญาตรี เขาทำงานเป็นนักข่าวของนิตยสาร The New Republic จากนั้นก็เรียนกฎหมายที่ Columbia Law School

                จากนั้นก็ทำงานเป็นนักกฎหมายที่นิวยอร์กและปารีส ก่อนที่จะเข้าสู่แวดวงของรัฐบาลคลินตันและโอบามา จึงมีความสนิทสนมกับโจ ไบเดน ตั้งแต่เป็นรองประธานาธิบดี

                ก่อนหน้านี้ผมเคยเห็นบลิงเคนวิเคราะห์ข่าวระหว่างประเทศให้กับ CNN ด้วยซ้ำไป

                ส่วนทิศทางของเขาต่อเอเชียเป็นอย่างไร ต้องคอยดูรองและผู้ช่วยรัฐมนตรีด้านเอเชียที่เขากำลังจะแต่งตั้งในเร็วๆ นี้.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"