หนุนชาวบ้านจัดตั้งสภาประชาชนลุ่มน้ำโขง ชี้วิกฤติแม่น้ำเปลี่ยนสี ปลาลดลง กระแสน้ำไม่ไหลตามฤดูกาล


เพิ่มเพื่อน    

2 ธ.ค.63 - ที่โรงแรมเชียงของ ทีค การ์เด้น ได้มีการประชุมจัดตั้งสภาประชาชนลุ่มน้ำโขง โดยนางเตือนใจ ดีเทศน์ ที่ปรึกษามูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 200 คน ซึ่งมีทั้งชาวบ้านจาก 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขง นักวิชาการ 5 มหาวิทยาลัย นักกฎหมาย ผู้แทนสถานเอกอัคราชทูต ผู้แทนหน่วยงานราชการ ว่าในอดีต 3คณะกรรมาธิการฯ ของรัฐสภาได้ลงพื้นที่และได้มีการพูดถึงสภาประชาชนลุ่มน้ำโขง นอกจากคนไทยแล้วยังควรเชื่อมโยงประชาชนตั้งแต่จีน พม่า ลาวไปจนถึงกัมพูชาและเวียดนาม ซึ่งต้องคำนึงถึงสิทธิของประชาชนและสิ่งแวดล้อม

“ตอนนี้มีปัญหาทั้งโครงการเขื่อนปากแบง เขื่อนบ้านกุ่มที่จะส่งผลกระทบต่อชาวบ้านริมแม่น้ำโขง ที่น่าดีใจคือมีเยาวชนคนรุ่นใหม่ช่วยกันรวบรวมข้อมูล เพื่อนำเสนอแผนสู่เป้าหมายของการอยู่ร่วมกัน และเห็นความสำคัญของแม่น้ำโขงซึ่งเป็นฐานทรัพยากรที่สำคัญของประชาชน ดังนั้นการพัฒนาใดๆ บนแม่น้ำโขงจะต้องมีส่วนร่วมสำคัญของประชาชน” นางเตือนใจ กล่าว

หลังจากนั้นได้มีเวทีเสียงของชุมชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง นำเสนอปัญหาข้อห่วงใยต่อพัฒนาแม่น้ำโขงที่ประชาชนต้องการเห็น และแนวคิดการจัดตั้งสภาประชาชน ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วยนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ “ครูตี๋” ผู้ก่อตั้งสถาบันองค์ความรู้ท้องถิ่นโฮงเฮียนน้ำของ นางอ้อมบุญ ทิพย์สุนา ตัวแทนเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รศ.กนกวรรณ มโนรมย์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นายอำนาจ ไตรจักร ชาวบ้านจากจังหวัดนครพนม ซึ่งดำเนินรายการโดยนางอัฉราวดี บัวคลี่ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาเครือข่ายสื่อพลเมือง ไทยพีบีเอส

นายนิวัฒน์กล่าวว่า แม่น้ำโขงคือแม่ของเรา ดังนั้นแม่น้ำโขงจึงเป็นเรื่องของชีวิตและจิตวิญญาณ แต่ปัญหาคือมนุษย์บางพวกมองแม่น้ำโขงเป็นกลไกในการสร้างผลประโยชน์ ซึ่งแตกต่างจากอดีตที่มองแม่น้ำเป็นสิ่งมีชีวิต การมองแบบไม่เห็นชีวิตเป็นการมองแบบหยาบๆ ปัญหาใหญ่ของแม่น้ำโขงคือเขื่อนที่กั้น หากยังมีเขื่อนเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ แม่น้ำโขงถึงกาลวิบัติแน่

นายนิวัฒน์กล่าวว่า ภาคประชาชนไม่ได้อยู่นิ่งๆ กว่า 20 ปีที่ผ่านมาพยายามปกป้องให้แม่น้ำโขงมีชีวิตสืบต่อไปได้ ทั้งฟ้องศาลปกครอง แต่จนปัจจุบันกฎหมายก็เอื้อมไม่ถึง ขณะที่เงินและทุนข้ามประเทศไปแล้ว เรารณรงค์กันอย่างต่อเนื่อง บางครั้งได้ผล บางครั้งไม่ได้ผล เราพยายามสร้างนวัตกรรมของมนุษย์ในการอยู่ร่วมกันคือการเจรจา เราคุยกับบริษัทต้าถัง ที่จะมาสร้างโครงการเขื่อนปากแบง ซึ่งเห็นช่องทางสำคัญที่ใช้การเจรจาเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงการพัฒนา เพราะมีการนำเสนอข้อมูลของตัวเองให้อีกฝ่ายได้เห็น เราต้องการขับเคลื่อนให้การเจรจรได้ผลประโยชน์ของประชาชน

“ตอนนี้แม่น้ำโขงตายไปแล้วครึ่งซีกแล้ว แม่น้ำโขงกำลังเจ็บปวด บทบาทของเอ็มอาร์ซี (คณะกรรมธิการแม่น้ำโขง) แค่ทำหน้าที่ทับเงาที่ทาบภาคประชาชนมาโดยตลอด ผมเคยเสนอว่าควรยุบเอ็มอาร์ซีทิ้ง เช่นเดียวกับแอลเอ็มซี (กรอบความร่วมมือแม่น้ำล้านช้างแม่น้ำโขง)ที่มาบดบังภาคประชาชนอีกเช่นกัน ทำให้เสียงของประชาชนที่เปล่งออกไปไม่ได้รับการตอบสนอง ถึงเวลาที่ต้องมีองค์กรและพื้นที่ของภาคประชาชนในลุ่มน้ำโขง นั่นคือสภาประชาชนลุ่มน้ำโขง วันนี้เป็นวันขึ้นเสาเอก บ้านหลังนี้จะถูกสร้างร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน” นายนิวัฒน์ กล่าวและว่าแนวคิดเรื่องสภาประชาชนลุ่มน้ำโขงจะเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆ อนาคตอาจกลายเป็นสภาประชาชนลุ่มน้ำโขงอาเซียน

ดร.ชยันต์ กล่าวว่า ความหมายสำคัญของแม่น้ำโขงคือเป็นทรัพย์สินส่วนรวมของคนในประเทศต่างๆ ที่ไหลผ่าน แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทำให้แม่น้ำโขงกลายเป็นสินค้าและเกิดการสร้างเขื่อน ขณะที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วม แม้จะมีเอ็มอาร์ซีคอยดูแล แต่เอ็มอาร์ซียังขาดกลไกลที่มีประสิทธิภาพ ทำให้แม่น้ำโขงกลายเป็นปัญหาระหว่างประเทศ คนที่อยู่เหนือน้ำมีอิทธิพล ส่วนประเทศท้ายน้ำต้องขอร้อง ทำให้เห็นถึงความไม่เสมอภาค 

ดร.ชยันต์กล่าวว่า ความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกัน ประเทศต้นน้ำมีอำนาจมากกว่า จำเป็นที่นักวิชาการต้องมีจุดยืนร่วมกับประชาชน นอกจากนี้นักวิชาการควรเข้าไปมีบทบาทให้คำปรึกษางานวิจัยของชุมชน ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างพลังให้ชุมชนได้ แต่ในปัจจุบันเครือข่ายนักวิชาการแม่น้ำโขงมีอยู่เพียงหยิบมือเดียว เราต้องการนักวิชาการรุ่นใหม่ที่มีจุดยืนเคียงข้างประชาชนเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล รวมถึงการหารือต่างๆ เพราะเป็นปัญหาแม่น้ำโขงมีความสลับซับซ้อน เราต้องสร้างกัลยาณมิตรแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน

นายอำนาจกล่าวว่า พวกตนต่อสู้ปกป้องแม่น้ำโขงตั้งแต่ทราบข่าวสร้างเขื่อน แต่ปี 2551 เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบ จึงรวมตัวกันเพื่อเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย พวกตนเคยเอาพญานาคไปปะทะกับมังกรที่หน้าสถานทูตจีน หรือตอนสร้างเขื่อนไซยะบุรี เรารวมตัวกันไปประท้วงที่หน้าสถานทูตลาว และบริษัท ช.การช่าง เราพยายามสื่อสารให้เขารู้ว่าประชาชนที่อยู่ริมโขงเดือดร้อนจากการสร้างเขื่อน แต่สุดท้ายเขาก็ผลักดันสร้างเขื่อนได้ เมื่อเปิดใช้งานเขื่อนเมื่อปีที่แล้วก็เห็นผลกระทบชัดเจน ประเพณีแข่งเรือ ประเพณีลอยกระทง ได้รับผลกระทบเพราะน้ำแห้ง และแม่น้ำโขงกลายเป็นสีฟ้า

“ที่นครพนมบ้านผมเห็นผลกระทบชัดเจน ตอนปี 2555 ก่อนสร้างเขื่อน เรารวมตัวกันยื่นฟ้องศาลปกครอง ให้เขาชะลอการสร้างเขื่อนไซยะบุรี ศาลเมตตารับเรื่องเราก็ดีใจ แต่รอแล้วรอเล่ามา 3-4 ปี จนประชาชน 37 คนที่ฟ้องเสียชีวิตไปแล้ว 4 คน เรานั่งรถมานั่งรออยู่ในห้องเย็นๆ ที่ศาลปกครองอยู่ 2 ชั่วโมง สุดท้ายศาลชั้นต้นอ่านคำวินิจฉัย 5 นาทีว่ายกฟ้อง” นายอำนาจกล่าว ขณะนี้คดีอยู่ที่ศาลปกครองสูงสุด แต่ยังไม่ได้ตัดสิน

น.ส.อ้อมบุญกล่าวว่า ชาวบ้านริมแม่น้ำโขงที่ภาคอีสานเห็นความเปลี่ยนแปลงช้ากว่าชาวบ้านที่จังหวัดเชียงราย น้ำแห้งมากทำให้ยาบ้าระบาดหนัก โดยเมื่อเดือนกรกฎาคม 2562 ที่เป็นเดือนที่ปลาวางไข่ แต่ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงลดลงฮวบ ดังนั้นพอมีคนพูดว่าแม่น้ำโขงไม่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนจึงไม่จริง ตอนนี้รัฐบาลกำลังผลักดันโครงการโขงเลยชีมูน โดยไม่ได้มาดูเลยว่าจะเอาน้ำจากที่ไหนสูบเข้าไปใช้ เพราะน้ำโขงแห้งมาก รัฐบาลเพียงต้องการหลอกให้คน 7 จังหวัดริมโขงทะเลาะกับคนอีกสาน 20 จังหวัด

รศ.กนกวรรณกล่าวว่า มีข้อห่วงใยคือ ตั้งแต่ข้อตกลงแม่น้ำโขง 2538 มีระเบียบเรื่องกระบวนการ PNPCA (Procedure for Notification, Prior Consultation, and Agreement) ในทางทฤษฏีนั้นดีมาก แต่กลับระบุไว้ว่าไม่มีผลต่อการอนุมัติโครงการ ทำให้เกิดช่องว่างและถูกเอาไปตีความและจัดการอะไรก็ได้ เกิดปรากฏการณ์ว่าคนกลุ่มหนึ่งถูกกีดกันออกไป และรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ถูกหยิบเอาไปใช้แค่บางส่วน ขณะที่ชาวบ้านไม่รู้ภาษาอังกฤษจึงแทบไม่มีส่วนร่วมเลย พวกเขาถูกกีดกันออกไป และเปิดโอกาสให้ภาคทุนและบริษัทที่สร้างเขื่อนหยิบไปใช้แบบเข้าข้างตัวเอง ดังนั้นจึงต้องทบทวนกระบวนการ PNPCA เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

รศ.กนกวรรณกล่าวว่า บ้านตามุย จ.อุบลราชธานี ริมแม่น้ำโขงบริเวณชายแดน ก่อนไหลเข้าลาวซึ่งได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนไซยะบุรี ตลาดปลาแทบหายไปหมด ไม่มีคนรับซื้อปลา ไม่มีคนหาปลา ดังนั้นที่ผู้บริหารเขื่อนไซยะบุรีบอกว่าสร้างบันไดปลาโจนและทางปลาผ่านมาอย่างดีนั้น ตั้งแต่ปิดเขื่อนมาจนบัดนี้ เรายังไม่มีข้อมูลยืนยันว่าจำนวนปลาที่หลุดรอดมาถึงบ้านตามุยมีกี่ชนิด ทำไมถึงใช้แม่น้ำโขงเป็นที่ทดลองเครื่องมือแค่นั้นหรือ เมื่อไปอ่านงานวิจัยต่างชาติบอกว่าปลาแซลมอลสามารถข้ามบันไดปลาโจนดีที่สุด แต่ปลาแม่น้ำโขงตัวใหญ่จะใช้ได้หรือไม่ เราจะพิสูจน์อย่างไรว่าเทคโนโลยีบันไดปลาโจนใช้ได้ผล

“ปกติชาวบ้านริมแม่น้ำโขงไม่เคยจน แต่ตอนนี้พวกเขากลายเป็นคนเปราะบางเพราะทรัพยากรที่เขาใช้หายไปเยอะมาก ทำให้มีความเครียดสูงและทุกคนต่างหาทางรอด พวกเขาต้องใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงจากที่เคยพึ่งพาแม่น้ำโดยเฉพาะผู้หญิงที่ทำหน้าที่หาอาหาร กลายเป็นคนเปราะบางที่สุด” รศ.กนกวรรณ กล่าว

หลังจากนั้นได้มีเวทีอภิปราย “บทบาทและข้อเสนอต่อการสร้างความร่วมมือกับภาคประชาชนเพื่อการจัดการรักษาแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน”  ในทัศนะของหน่วยงานภาครัฐ สถานทูต และหน่วยงานสหประชาชาติ  ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วยนายไมเคิล จี ฮีธ อัคราชทูตที่ปรึกษา สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไท ยนายเดวิด บราวน์ เลขานุการเอกฝ่ายการเมืองและเศรษฐกิจ สถานทูตออสเตรเลีย นายทศพล วงศวาร ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) และดำเนินรายการโดยน.ส.ปิยภรณ์ วงศ์เรือง บรรณาธิการ Bangkok Tribune

นายไมเคิล กล่าวว่า ที่มาในวันนี้คือมารับฟังประชาชนลุ่มน้ำโขงที่ต้องการสะท้อนไปถึงผู้ที่กำหนดนโยบาย เพราะหลายชั่วอายุคนได้พึ่งพาแม่น้ำโขงแต่วันนี้ได้รับผลกกระทบ ส่งผลไปถึงเรื่องความมั่นคงทางอาหารและอธิปไตย เมื่อเช้าได้ฟังครูตี๋พูดถึงสัญญาณมรณะที่แม่น้ำโขงเปลี่ยนเป็นสีฟ้า ปลาลดลง สาหร่ายแม่น้ำโขงและการทำการเกษตรริมโขงถูกทำลายเพราะน้ำที่ไหลไม่ตามฤดูกาล อยากเน้นย้ำเรื่องการแบ่งปันข้อมูล เพราะทุกคนพบกับข้อจำกัด เราขอให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ลุ่มน้ำโขงเปิดเผยข้อมูลมากขึ้น 

นายไมเคิลกล่าวว่า สหรัฐฯได้ร่วมมือกับประเทศอื่นในการสนับสนุนประชาชนริมแม่น้ำโขง ทั้งเกาหลีใต้ ออสเตรเลียและญี่ปุ่น เราให้ความสำคัญกับสื่อท้องถิ่น และเชื่อว่าผู้พิทักษ์แม่น้ำโขงที่สำคัญที่สุดคือประชาชน การจัดตั้งสภาประชาชนลุ่มน้ำโขงเป็นก้าวย่างสำคัญ บางครั้งเสียงของชุมชนเล็กๆอาจตะโกนแล้วไม่ได้ยิน เราให้ความสำคัญกับเรื่องการส่วนร่วมของภาคประชาชน ไม่ว่าการขับเคลื่อนจะเป็นอย่างไรต่อไป แต่วันนี้ได้มาเห็นการรวมตัวและคาดหวังว่าการรวมตัวลักษณะนี้จะเกิดขึ้นต่อไป

นายทศพล กล่าวว่าการรวมตัวเป็นสภาประชาชนลุ่มน้ำโขงจะเป็นต้นแบบที่ดีให้ประเทศอื่น และยิ่งน่าสนใจเมื่อมีสถาบันการศึกษาเข้ามาช่วยสร้างองค์ความรู้ 

นายเดวิด บราวน์ กล่าวว่าการจัดการแบบยั่งยืนมีความสำคัญมาก สิ่งที่ภูมิภาคนี้ขาดคือการสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม จึงเป็นคำถามที่ตอบยากมากว่าจะอย่างไรดี คำตอบแรกคือการหาข้อมูลและการปรึกษาหารือกัน เรายินดีที่จีนยอมให้ข้อมูลปริมาณน้ำ แต่หวังว่าเอ็มอาร์ซีจะมีบทบาทที่ดี โดยเฉพาะการจัดสรรน้ำและการรักษาสิ่งแวดล้อม รวมถึงการตรวจสอบและดูแลการใช้น้ำด้วย 

นายเดวิดกล่าวว่า  ควรมีการจัดการใช้น้ำเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ประเทศที่เสนอโครงการก่อสร้างต้องคิดถึงภาพรวมและผลกระทบข้ามพรมแดน โดยทุกประเทศในภูมิภาคควรมีโอกาสพูด และต้องมีการประสานงานท้องถิ่นกับสภาประชาชนลุ่มน้ำโขง ขณะนี้เรากำลังได้รับความท้าท้ายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมาก ปัจจุบันเรามาถึงจุดเปลี่ยนและขอเอาใจช่วยให้สภาประชาชนฯ เดินหน้าด้วยดี

ศ.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวปิดการประชุมว่า แม่น้ำโขงแย่ลงไปทุกปี แต่เราทำอะไรกันไม่ได้ เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เกิดสภาประชาชนลุ่มน้ำโขงเพื่อให้มีพื้นที่คุยถึงอนาคตของแม่น้ำโขง ที่ผ่านมาโครงสร้างการตัดสินใจแม่น้ำโขงอยู่ในระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่วันนี้บุคคลที่มาร่วมเพราะสำนึกเกี่ยวกับแม่น้ำโขง สำนึกเรื่องอธิปไตยของแม่น้ำ แม้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นเรื่องสำคัญ แต่ความสัมพันธ์แบบนั้นไม่เพียงพอ กลไกการตัดสินใจสู่อนาคตต้องมีโครงสร้างเสริม ไม่ใช่แค่คุยเรื่องความเดือนร้อน แต่คุยด้วยสำนึกการมีส่วนร่วม

“การเกิดสภาประชาชนลุ่มน้ำโขงจึงสำคัญมาก เป็นโครงสร้างที่ยืดหยุ่น อนาคตของประเทศและโลก ไม่ควรอยู่เฉพาะการเมืองระหว่างประเทศ เกมการต่อรองลักษณะนั้นควรจบสิ้นได้แล้ว แม่น้ำโขงไม่ควรเป็นของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด แต่ควรเป็นของโลก อนาคตของแม่น้ำโขงไม่ใช่แค่การเมืองระหว่างประเทศ แต่หมายถึงปลาในน้ำที่พวกเราไปเบียดเบียนเขา เรากอบกู้ต่างๆ การสร้างความเจริญแต่ไม่เยียวยา หวังว่าสภาประชาชนฯจะเป็นพลังต่อเนื่องในการมองอนาคตระหว่างเราและประเทศเพื่อนบ้าน สิ่งสำคัญเหนืออื่นใดคือความรับผิดชอบร่วมกันเหนือพรมแดน เราต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม”ศ.สุริชัย กล่าว

อนึ่งเครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงซึ่งเป็นผู้จัดงานครั้งนี้ ได้ทำจดหมายเชิญร่วมงานไปยังสถานทูตสหรัฐฯ จีน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และเยอรมันนี ซึ่งมีเพียง 3 ประเทศที่ตอบรับคือสหรัฐฯ ออสเตรเลียและญี่ปุ่น ส่วนจีนซึ่งมีบทบาทสำคัญในลุ่มน้ำโขงไม่ตอบรับใดๆ เช่นเดียวกับเยอรมนี


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"