ไปแอ่วน่าน ชมผ้าทอพื้นเมือง"น่านเน้อเจ้า"


เพิ่มเพื่อน    

ซิ่นลายน้ำไหลหยดน้ำของกลุ่มสตรี ในจ.น่าน ภายใต้แบรนด์ "น่านเน้อเจ้า"


    จังหวัดน่าน หากใครได้มาเยือนก็ต้องตกหลุมรัก  อบอวลด้วยกลิ่นอาย ความเป็นเมืองเหนือเต็มขนาด  ยิ่งชาวบ้านก็น่ารัก ง อาหารอร่อยกินง่าย มีโบราณสถานเมืองเก่าสำคัญๆ  มีวัฒนธรรมประเพณี ภูมิปัญญาที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน  ยิ่งการผ้าทอ น่านก็มีชื่อเสียงไม่น้อยหน้าไปกว่าจังหวัดอื่นๆ เมื่อเร็วๆนี้ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.  พาไปเที่ยวน่าน  ผ่านเรื่องเล่าของผ้าทอพื้นเมือง ภูมิปัญญาที่ผู้หญิงเมืองน่านทุกคนสมัยก่อนต้องเรียนรู้  และความรู้นี้สืบทอดมาจนถึงคนรุ่นลูกหลานในปัจจุบัน  ด้วยลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์งดงามของแต่ละท้องถิ่น

 

สินค้าจากกลุ่มส่งเสริมอาขีพบ้านเชียงราย


     แบรนด์ “น่านเน้อเจ้า” ก็เป็นหนึ่งในภูมิปัญญาที่ตกทอดกันมาหลายชั่วคน และคนรุ่นปัจจุบันได้ขับเคลื่อน โดยนำกลุ่มสตรีแม่บ้านที่ว่างงาน ต้องการหารายได้เสริม  4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มทอผ้าโฮงเจ้าฟองคำ ต.ในเวียง กลุ่มทอผ้าบ้านซาวหลวง ต.บ่อสวก กลุ่มทอผ้าบ้านนาปงพัฒนา  ต.บ่อสวก และกลุ่มส่งเสริมอาชีพบ้านเชียงราย ต.ดู่ใต้ ซึ่งอยู่ในพื้นที่พิเศษของอพท. และยังได้รับรางวัล PATA Gold Awards 2020 ประเภทรางวัล Women Empowerment Initiative  มารวมตัวกันถักทอผ้า ออกขายในชื่อแบรนด์ "น่านเน้อเจ้า" 

สินค้าจาก 4 กลุ่มจะติดป้ายแบรนด์น่านเน้อเจ้า

    สุขสันต์ เพ็งดิษฐ์ ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 6 ของ อพท .ให้ข้อมูลว่า การรวมกลุ่มของที่เข้มแข็งของสตรีแม่บ้านทั้ง 4 กลุ่ม  จนพัฒนาเป็นแบรนด์ น่านเน้อเจ้า   สร้างผ้าทอที่ทรงคุณค่าของเมืองน่านผ่าน 5 แนวทางหลักคือ 1.การเชื่อมศิลปวัฒนธรรมที่เกิดจากภูมิปัญญาในชุมชน 2.ทำโดยคนในชุมชน 3.มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งทุกคนก็ค่อยๆปรับและเรียนรู้ 4.ผลกำไรที่ได้มาต้องเอากลับไปต่อยอดหรือจัดทำเป็นสวัสดีการของคนที่อยู่ในกลุ่ม 5. ลูกค้าจะต้องไม่ซื้อสินค้าเพราะความสงสาร แต่ต้องซื้อเพราะเห็นว่าเป็นผลิตภัณฑ์มีคุณภาพ   นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวโดยชุมชน ที่จะนำนักท่องเที่ยวเข้ามาสัมผัสวิถีชีวิตของกลุ่มคนทอผ้า เรียนรู้วิธีการทอลวดลายที่มีเอกลักษณ์ ชิมรสอาหารแต่ละชุมชน  


    "เรายังได้เตรียมดำเนินการ ยกระดับเมืองเก่าน่านเข้าสู่สมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก เพื่อเปิดประสบการณ์การท่องเที่ยวมุมมองใหม่ได้อีกด้วย"สุขสันต์กล่าว

    เรื่องราวการทอผ้า ไม่ได้่ทำให้รู้จักแต่ผ้าทอที่สวยงามเท่านั้น แต่ยังพาไปรู้จักสถานที่ที่ใช้ทอผ้าอีกด้วย จุดหมายแรก คือ "เฮือนเจ้าฟองคำ "เป็นเรือนไม้ล้านนาใต้ถุนสูง 3 หลังติดกัน  เปิดด้านหนึ่งให้นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นไปชมตัวเรือนด้านในได้  พื้นที่ใต้ถุนเรือน จัดเป็นศูนย์เรียนรู้การทอผ้า 

อ.ภัทราภรณ์ ปราบริปู ทายาทเจ้าฟองคำ

    อ.ภัทราภรณ์ ปราบริปู ทายาทเจ้าของเฮือนเจ้าฟองคำ  ทำหน้าที่ไกด์นำชมเรือนและการทอผ้า เล่าว่า เรือนหลังนี้สร้างมาตั้งแต่ปี 2368 และตัดสินใจเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมในปลายปี 2554 จุดประสงค์เพื่อสะท้อนความเป็นเมืองเก่า ที่ยังมีลมหายใจมาจนถึงปัจจุบัน   ตัวเรือนมีการซ่อมแซมมาเรื่อยๆ  แต่ไม่ให้มีสภาพต่างไปจากสมัยดั้งเดิมมากนัก  ส่วนพื้นที่ใต้ถุนถูกจัดระเบียบ วางกี่ทอผ้า 10 กี่  ใช้สาธิตการทอผ้าซิ่น รวมถึงถ่ายทอดความรู้ให้กับคนรุ่นใหม่ที่สนใจ  ผ้าที่ทอมีทั้งซิ่นลายดั้งเดิมโบราณ 7 ลาย อาทิ  ลายเชียงแสน ม่าน คำเคิบ น้ำไหล ป้อง คาดก่าน และซิ่นลายประยุกต์ที่สร้างขึ้นมาเอง คือ ซิ่นลายน้ำไหลหยดน้ำ โดยพี่ชาย มณฑล คงกระจ่าง ด้วยจุดเด่นลายน้ำไหลที่พริ้วไหวดังสายน้ำ แต่งแต้มด้วยจุดกลมระหว่างลายน้ำ คล้ายกับละอองน้ำที่กระเซ็นขึ้นมา และเทคนิคการทอด้วยการล้วงด้ายด้วยมือทำให้ผ้าทอลายนี้ใช้เวลาทอนานได้เพียงเดือนละ 1 ผืน เพราะต้องใช้ความปราณีตและความชำนาญ 

เฮือนเจ้าฟองคำ

 

    เฮือนเจ้าฟองคำ   เป็นบ้านทรงล้านนา มีลานกว้างด้านหน้า  สร้างเป็นเรือนแฝด  ชั้นบนมีจุดไฮท์ไลต์คือ ห้องพระที่จะแตกต่างจากภาคกลางคือ ไม่มีโต๊ะหมู่บูชา แต่มีหมอนพิง หรือหมอนผา ของเจ้ามโน ซึ่งมีศักดิ์เป็นคุณทวดของอ.ภัทราภรณ์ หมอนอิงนี้ มีการปักลวดลายดั้งเดิมหาดูยาก พร้อมกับมีตราประจำตระกูลติดอยู่บนบานประตูก่อนเข้าสู่ห้องส่วนอื่นๆของบ้าน เรียกว่าหำยนต์  เป็นไม้แกะสลักลายดอกแก้วและหงส์คู่ โดยจะต้องลงคาถาอาคมก่อนจะเอามาติด เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุข และห้องจัดแสดงเครื่องเงิน 

ห้องพระในเฮือนเข้าฟองคำ

 

 

สินค้าจาก 4 กลุ่มจะติดป้ายแบรนด์น่านเน้อเจ้า


    ยังมีกิจกรรมทำสรวยดอก หรือ กรวยดอกไม้ ที่เราจะนำไปไหว้ที่วัดภูมินทร์ ที่ห่างจากเฮือนเจ้าฟองคำไม่มากนัก เพราะมาแล้วก็ไม่พลาดที่จะไปชมความสวยงามของจิตรกรรมฝาผนังที่วัด อย่าง ภาพกระซิบรักบันลือโลก และเรื่องราวอื่นๆที่ช่างได้สะท้อนวิถีชีวิตคนเมืองน่านเอาไว้

กลุ่มทอผ้าบ้านซาวหลวง


     เราเดินทางต่อไปที่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มสตรีทอผ้าบ้านซาวหลวง  กรกฎ แปงใจ เลขานุการกลุ่ม รับหน้าที่เป็นคนให้ข้อมูล  เนื่องจาก คลุกคลีกับกี่ทอผ้ามาตั้งแต่ยังเด็ก และเริ่มทอผ้าเช็ดหน้าเป็นตั้งแต่ 6 ขวบ มีความรักผูกพันธ์ในการทอผ้า  และเป็นหนึ่งในเรื่ยวแรงสำคัญของกลุ่ม เล่าว่า  ลายดั้งเดิมของที่นี่ก็จะเหมือนกับชุมชนอื่นๆ ตนจึงได้ออกแบบลายที่เอกลักษณ์ คือ ลายบ่อสวก ที่ประยุกต์มาจากลายนกฮูกและอินธนูที่ปรากฎบนเครื่องปั้นดินเผาโบราณอายุ 700 ปี สร้างเป็นลายคั้น ผสมผสานกับลายอื่นๆ  สร้างความสวยงามให้กับผืนผ้ามาก  ที่นี่มีกว่า 20 กี่  ผลิตสินค้านอกจากซิ่นแล้ว ยังมีเสื้อทั้งผู้หญิงและผู้ชาย เน้นสีที่ใส่ง่ายไม่จัดจ้าน ปัจจุบันยังทำช่องทางการขายผ่านออนไลน์เพิ่มขึ้นด้วย  ทำให้ได้กลุ่มลูกค้าทั้งวัยรุ่น วัยทำงาน หากนักท่องเที่ยวเข้ามาเราจะสอนการทอผ้าตั้งแต่เริ่มต้น  เพราะบางคนที่สนใจก็ชอบการทำกิจกรรมนี้ และยังสามารถไปทำกิจกรรมปั้นดินเผาภายในชุมชนได้อีกด้วย 

กรกฎ แปงใจ

 

ลายบ่อสวก นำมาทอคันลายผ้าอื่นๆสร้างความงดงามยิ่งขึ้น


    จุดสุดท้าย  กลุ่มส่งเสริมอาขีพบ้านเชียงราย มีเอกลักษณ์ที่ชัดเจนของผ้าสีดำ-แดง ทอด้วยลายตาโก้ง หรือสมัยก่อนเรียกว่าลายตาแสง พวงทอง สุทธิจินดา เลขากลุ่ม เล่าว่า ผ้าห่มในครัวเรือนที่ใช้จะมีการทอด้วยฝ้ายลายตาโก้ง  ที่ต้องทอโดยผู้หญิง เพราะมีความหมายที่สื่อถึงความพร้อมในการออกเรือน หรือพร้อมแต่งงานเพื่อสร้างครอบครัว แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป  ชาวบ้านได้รวมกลุ่มกันเพื่อพัฒนาลายตาโก้งให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น จึ งได้พัฒนาลายใหม่ขึ้นมาคือ ลายก้างปลา ซึ่งจริงๆ เกิดจากการทอลายพลาดของช่าง แต่กลับทำให้ได้ลายใหม่ที่สวยงาม อีกลายคือลายลูกแก้ว ที่ทำให้ลายตาโก้งมีลูกเล่นมากขึ้น นอกจากพัฒนาลายยังได้ปรับรูปแบบการใช้โทนสี ให้เข้ากับยุคสมัยด้วย  โดยมีสินค้าอาทิ กระเป๋า เสื้อ พวงกุญแจ ผ้ารองจาน เพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าเข้าถึงง่าย และยังมีกิจกรรมปักกระเป๋า ที่นักท่องเที่ยวสามารถปักด้วยฝีมือตนเอง เป็นของที่ระลึกจากชุมชน 

ผู้หญิงต่องสืบทอดทักษะการทอผ้าห่มลายตาโก้ง

พวงทอง สุทธิจินดา ถือผ้าห่อทอลายตาโก้ง

 

ลายกางปลา(ซ้าย)-ลายตาโก้ง(ขวา)

 

กิจกรรมปักกระเป๋าเป็นของฝาก

 

    การมาเที่ยวชมวิถีชีวิตของช่างทอผ้า ทำให้เข้าใจว่าผ้าแต่ละผืนไม่ได้ทอกันง่ายๆ ต้องใช้ทั้งใจรัก ความชำนาญ ทุ่มเท และความคิดสร้างสรรค์  ผ้าทอหนึ่งผืน จึงสมกับราคาที่ขาย และคุณภาพที่ลูกค้าได้รับ หากใครมาน่านลองเปิดประสบการณ์เที่ยวชุมชนทอผ้าดูสักครั้งแล้วจะไม่ผิดหวังแน่นอน 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"