‘ประยุทธ์’ชวนต้านโกง ก้าวข้ามค่านิยมอุปถัมภ์


เพิ่มเพื่อน    

 

"บิ๊กตู่" เปิดงานต้านโกงผ่านวีดิทัศน์ ลั่นรัฐบาลชูแก้ทุจริตวาระชาติ ลุยแก้กฎหมายอย่างเป็นระบบ ก้าวข้ามค่านิยมอุปถัมภ์ "วัชรพล" ยก 3 ปรากฏการณ์ ทำคอร์รัปชันในไทยลดลง  ป.ป.ช.ประสาน ปปง.สอบเส้นทางการเงินบุคคลเอี่ยวคดีบอส รวมถึงพยานปากเอก "จารุชาติ มาดทอง"  
    ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม สำนักงาน ป.ป.ช. จัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวเปิดงานผ่านวีดิทัศน์ ตอนหนึ่งว่า วันนี้รัฐบาลกำหนดให้การแก้ไขปัญหาการทุจริตเป็นวาระแห่งชาติ โดยดำเนินการปรับปรุงกฎหมายต่างๆ ให้ครอบคลุมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างเป็นระบบ ก้าวข้ามค่านิยมอุปถัมภ์ ผลประโยชน์ทับซ้อน ตลอดจนเร่งรัดให้มีการดำเนินคดีต่อผู้กระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในด้านวินัยและอาญาอย่างจริงจัง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน และสร้างวัฒนธรรมการทำงานอย่างมีคุณธรรมและความโปร่งใสในสังคมไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
    “ในนามของรัฐบาล ผมขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมมือกันดูแลปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและทุกหน่วยงานที่ได้ทุ่มเท เสียสละแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันอย่างจริงจัง ขอให้พลังแห่งคุณความดี จงปกป้องคุ้มครองท่าน และนำพาประเทศไทยให้เจริญรุ่งเรือง ในโอกาสนี้ ผมขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนชาวไทยและทุกภาคส่วนร่วม แสดงเจตนารมณ์ที่จะประพฤติปฏิบัติตนด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ยึดถือประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน เพื่อสร้างสังคมไทยให้ปลอดจากการทุจริตคอร์รัปชันตลอดไป” พล.อ.ประยุทธ์ระบุ
    จากนั้น พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ ‘TaC Team ไทย ลดทุจริต’ ตอนหนึ่งว่า ในปี 2563 ที่ผ่านมา สำนักงาน ป.ป.ช.จัดทำมาตรการสำคัญหลายอย่าง โดยเน้นถึงความโปร่งใสที่เป็นตัวชี้วัดสำคัญที่บ่งบอกถึงความปลอดทุจริตของประเทศ ที่จะทวีความสำคัญอย่างต่อเนื่อง จนถึงขั้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีกลไกและเครื่องมือที่สามารถนำไปสู่การพัฒนา และขยายผลต่อได้อย่างกว้างขวาง สำนักงาน ป.ป.ช.จึงเตรียมการพัฒนา Anti Corruption Toolbox เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อแท็กทีมกับทุกภาคส่วน
    อย่างไรก็ตาม แม้การทุจริตยังคงปรากฏอยู่ทั่วประเทศ จะเรียกได้หรือไม่ว่าการทุจริตเป็นเรื่องปกติ แต่ห้วงปีที่ผ่านมามีแนวโน้มในทางบวก เช่น ปรากฏการณ์ที่ 1 ประเมินผลคะแนนเพื่อความโปร่งใสหน่วยงานรัฐ (ITA) ที่เป็นการประเมินหน่วยงานรัฐที่ใหญ่ที่สุดในไทย โดยปี 2563 มีประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนร่วมมากถึง 1.3 ล้านราย มากกว่าปี 2562 ถึง 2 แสนราย โดยหน่วยงานรัฐ 8,303 แห่ง ได้คะแนนเฉลี่ย 67.90 คะแนน สูงกว่าปี 2562 เล็กน้อย ขณะที่หน่วยงานภาครัฐส่วนกลางมีผลการประเมินเฉลี่ยผ่านค่าเป้าหมาย 85 คะแนน ส่วนหน่วยงานภาครัฐรายจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีคะแนนเฉลี่ย 72.57 คะแนน ยังต่ำกว่าค่าเป้าหมาย
    ส่วนปรากฏการณ์ที่ 2 คือการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนของชมรม Strong ต่อต้านการทุจริต ทวีความเข้มแข็งอย่างน่าจับตามอง เช่น การแจ้งเบาะแส ประเด็นการเสี่ยงทุจริต โดยเมื่อเร็วๆ นี้ มีการเปิดโปงขบวนการเงินทอนโครงการเที่ยวด้วยกันในจังหวัดแห่งหนึ่ง ส่งผลให้มีการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นับเป็นการป้องกันการทุจริตเชิงรุกจากภาคประชาชน และปรากฏการณ์ที่ 3 คือ คำกล่าวหาร้องเรียนการทุจิตสู่สำนักงาน ป.ป.ช.ในปี 2563 มีจำนวน 6,893 เรื่อง ลดลงจากในปี 2562 กว่า 1,900 เรื่อง ขณะที่วงเงินงบประมาณตามการร้องเรียนในปี 2563 มีประมาณ 9 หมื่นล้านบาท ลดลงจากปี 2562 ที่มีกว่า 2.3 แสนล้านบาท
    ทั้ง 3 ปรากฏการณ์ดังกล่าว มีความสัมพันธ์กันและมีแนวโน้มในทางบวก โดยความโปร่งใสมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เป็นประเด็นสำคัญในการป้องกันการทุจริตที่เป็นสากล การมีส่วนร่วมของประชาชน ส่งผลต่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หยุดยั้งก่อนกระทำผิด อาจส่งผลให้จำนวนการกล่าวหาเรื่องทุจริตในปี 2563 ลดลง และอาจอนุมานได้ว่าความโปร่งใสหน่วยงานรัฐและการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นปัจจัยสำคัญป้องกันและลดการทุจริต อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 9 ธ.ค. เป็นวันสัญลักษณ์ที่ผู้นำประเทศประสานพลังแท็กทีมทำ Together Against Corruption (TaC) เพื่อต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่อง ให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลก" ประธาน ป.ป.ช.ระบุ
    ส่วนความคืบหน้าภายหลังได้รับรายงานผลข้อเท็จจริงคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ชุดคณะทำงานของนายวิชา มหาคุณนั้น พล.ต.อ.วัชรพลกล่าวว่า ขณะนี้เรื่องดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงอยู่ และดูข้อกฎหมายอะไรต่างๆ ก่อนที่จะนำเสนอที่ประชุมเพื่อพิจารณา
     แหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักงาน ป.ป.ช.เผยว่า ปัจจุบันคดีนี้ยังอยู่ระหว่างการสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น โดยดูรายละเอียดข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในคดี รวมถึงข้อเท็จจริงในรายงานของคณะทำงานชุดนายวิชา และได้มีประสานข้อมูลไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอให้ตรวจสอบเส้นทางการเงินบุคคลที่เกี่ยวข้องในกรณีนี้ทั้งหมดแล้ว เพื่อนำมาตรวจสอบว่ามีการได้รับเงินหรือผลประโยชน์อื่นใดหรือไม่ รวมถึงบัญชีเงินฝากของนายจารุชาติ มาดทอง พยานปากเอกที่เสียชีวิตไปแล้วด้วย.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"