‘ทรัมป์กร้าวกับจีนด้วยวาทะ ไบเดนจะเอาจริงกับจีนด้วยเนื้อหา’


เพิ่มเพื่อน    

       เมื่อวานเขียนถึง "คนวงใน" วิเคราะห์ทิศทางนโยบายของรัฐบาลโจ ไบเดนต่อเอเชีย

            คุณ Daniel Russel เคยเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ในยุคโอบามา-ไบเดน จึงใกล้ชิดกับไบเดนมาก

            รัสเซลให้สัมภาษณ์ NiKKei Asia หลายประเด็นที่น่าสนใจ โดยเฉพาะคำถามที่ว่าท่าทีของไบเดนต่อจีนจะกร้าวน้อยกว่าทรัมป์ไหม?

            เขาตอบว่า

            "คงจะมีความต่อเนื่องในระดับหนึ่งจากทรัมป์มาสู่ไบเดน เหตุผลส่วนหนึ่งคือ ที่รัฐบาลทรัมป์ได้ระบุบางประเด็นที่เกี่ยวกับความท้าทายต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ แต่ทรัมป์ไม่ได้ทำอะไรมากนักในการแก้ปัญหาเหล่านั้น..."

            รัสเซลเน้นว่า "แน่นอน ประธานาธิบดีไบเดนจะกร้าวกับจีน ไม่ต้องสงสัยเลย"

            แต่ต้องลงรายละเอียดว่าคำว่า "กร้าว" ของไบเดนต่างกับของทรัมป์อย่างไร

            "จริงๆ แล้วทรัมป์ไม่ได้กร้าวกับจีนจริงๆ...กร้าวเฉพาะวาทะเท่านั้น"

            เขาบอกว่าทรัมป์ใช้การพูดจาข่มขู่และประณามปักกิ่งบ่อยๆ พยายามจะมีทีท่าว่าแข็งกร้าวต่อจีน

            "แต่เราก็รู้ว่าทรัมป์ปล่อยให้จีนหลุดรอดเรื่องสิทธิมนุษยชน และทรัมป์ยืนอยู่ข้างเดียวกับสี จิ้นผิงในการคุกคามพลังประชาธิปไตยในฮ่องกง และทรัมป์อนุญาตให้ปักกิ่งเพิ่มแรงกดดันต่อไต้หวัน..."

            รัสเซลบอกว่ารัฐบาลทรัมป์ใช้วาทะกล่าวร้ายจีนมาก  วิพากษ์เยอะ และประกาศขึ้นภาษีสินค้าจีน...แต่ก็ทำแบบเดียวกันนี้กับญี่ปุ่นและพันธมิตรของสหรัฐฯ ด้วย

            "และสิ่งที่ทรัมป์ทำเกี่ยวกับหัวเว่ย ไล่นักศึกษาและนักข่าวจีนออกจากประเทศ...แต่มันก็ไม่ได้แก้ปัญหา ไม่ได้เปลี่ยนพฤติกรรมของฝ่ายจีนแต่อย่างใด..."

            อดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ คนนี้บอกว่า ทรัมป์ทำอะไรต่างๆ เหล่านี้ต่อจีนโดยไม่ได้ปรึกษาหารือกับญี่ปุ่น

            "นายกฯ ญี่ปุ่นมารู้เรื่องเกี่ยวกับการตัดสินใจต่างๆ  ของทรัมป์ในเวลาเดียวกันเหมือนทุกๆ คน...คือจากการอ่านทวิตเตอร์" รัสเซลบอก

            เขาบอกว่าความแตกต่างที่สำคัญที่สุดระหว่างทรัมป์กับไบเดนคือ

            ทรัมป์เป็น showman

            ไบเดนเป็น statesman เป็น doer

            รัสเซลบอกว่าไบเดนจะไม่ทำอะไรที่ไม่ได้ผล และจะไม่ทำอะไรที่ทำให้ปัญหาแย่ลงกว่าเดิม

            "ไบเดนจะทำอะไรที่แก้ปัญหา หากมีอะไรที่แก้ไม่ได้ก็จะบริหารปัญหานั้นในแนวทางที่จะปกป้องผลประโยชน์ของเราและของเพื่อนเรา..."

            เขาเน้นว่าไบเดนจะทำงานร่วมกับพันธมิตรเช่นญี่ปุ่นเพื่อจะเอาชนะการแข่งขันกับจีน

            แต่ขณะเดียวกันไบเดนก็พร้อมที่จะร่วมมือกับจีนในเรื่องที่สหรัฐฯ ได้ประโยชน์ร่วมกัน เช่นการต่อสู้กับโควิด-19 และเรื่องโลกร้อน

            "เราจะทั้งร่วมมือและแข่งขันไปพร้อมๆ กัน" รัสเซลบอก

            "ประธานาธิบดีไบเดนจะรับช่วงหลายเรื่องจากการตัดสินใจของทรัมป์ เช่นเรื่องการขึ้นภาษีสินค้าจีน..."

            อีกเรื่องหนึ่งคือข้อตกลงการค้ากับจีนที่รัฐบาลทรัมป์ได้ทำไปแล้ว

            และจะต้องตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไรกับเรื่อง TPP  (Trans-Pacific Partnership) ที่โอบามาริเริ่มเอาไว้และทรัมป์บอกยกเลิกบทบาทของอเมริกา

            รัสเซลยอมรับว่าประเด็นเรื่อง TPP สำหรับไบเดนมีมิติทั้งด้านการเมืองในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจะต้องนำมาพิจารณาก่อนตัดสินใจว่าจะกลับมาร่วมหรือจะทำอย่างไรต่อไป

            "แต่ผมไม่คาดว่าไบเดนจะรีบร้อนตัดสินใจเรื่องเหล่านี้  เพราะท่านได้ประกาศเอาไว้ว่าจะทำอะไรหลายเรื่องในวันแรกที่เข้ารับตำแหน่ง และนั่นหมายถึงการยกเลิกสิ่งที่ทรัมป์ทิ้งเอาไว้..."

            รัสเซลบอกว่านโยบายต่างประเทศของไบเดนคงไม่ได้เริ่มด้วยจีน

            "ผมไม่เชื่อว่านโยบายต่างประเทศของรัฐบาลไบเดนจะเน้นเรื่องจีนเป็นหลัก แต่จะอยู่บนพื้นฐานของการประเมินว่าสหรัฐฯ จะได้ประโยชน์อะไร เพื่อนของเราจะได้ประโยชน์อะไร และการทูตที่มีเนื้อหาสาระอย่างเป็นรูปธรรม..."

            คำบอกเล่าของรัสเซลสะท้อนถึงวิธีคิดและทำงานของไบเดน ที่เน้นความสัมพันธ์กับพันธมิตรและการรวมตัวเพื่อกดดันจีนให้เข้าสู่กฎกติกาที่อเมริกาเห็นว่าสำคัญสำหรับ  "ระเบียบโลก" ใหม่

            สี จิ้นผิงของจีนอาจจะชอบทรัมป์มากกว่าเพราะคุยเรื่อง "เซ็งลี้" ได้เป็นอันจบ

            แต่กับไบเดนนั้น สี จิ้นผิงต้องตั้งหลักคุยเรื่องค้าขายเคียงคู่กับเรื่องสิทธิมนุษยชน, โลกร้อน, และไต้หวันด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

            เกมใหม่ของมหาอำนาจโลกกำลังเริ่มบทใหม่อีกครั้ง!


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"