ภาษีน้ำตาล (sugar tax) เพื่อสุขภาพ


เพิ่มเพื่อน    

สมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ (International Diabetes Federation : IDF) ประเมินว่าก่อนสิ้นปี 2045 ทั่วโลกจะมีผู้ป่วยโรคเบาหวาน 700 ล้านคน หรือราว 10 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลก

องค์การอนามัยโลกชี้ว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานเพิ่มจาก 108 ล้านคนในปี 1980 เป็น 422 ล้านคนในปี 2014 ร้อยละ 50 ของผู้ป่วยอยู่ในเอเชีย เฉพาะอินเดียกับจีนมีผู้ป่วยเบาหวานประเภท 2 ถึง 180 ล้านคน แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวานนับล้านคน และกำลังเพิ่มขึ้น

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่าพบผู้ป่วยเบาหวาน 4.8 ล้านคนจากประชาชนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ในจำนวนนี้ 2 ล้านคนที่ไม่ทราบว่าตนเองป่วยเป็นโรคเบาหวาน และยังไม่ได้รับการวินิจฉัย

คนกินหวาน พฤติกรรมเสี่ยงโรค :

            การติดหวานเสี่ยงเป็นโรคอ้วน ผลตามมาคือหลายคนเป็นโรคเบาหวาน โรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด โรคเหล่านี้เมื่อเป็นแล้วต้องรักษาตลอดชีวิต ไม่สามารถดำเนินชีวิตอย่างเป็นปกติสุข หลายคนเสียชีวิตก่อนวัยอันควร หลายคนเป็นภาระแก่ครอบครัวนับสิบปี

                Asian Development Bank Institute (ADBI) ชี้ว่าผู้ใหญ่ 2 ใน 5 คนของประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือราว 400 ล้านคนที่น้ำหนักเกิน หรือเป็นโรคอ้วน

                องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ระบุว่า ในรอบปี 40 ที่ผ่านมา จำนวนเด็กอ้วนเพิ่มขึ้นถึง 12 เท่า อัตราเด็กอ้วนในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และหมู่เกาะในแปซิฟิกเพิ่มเร็วกว่าภูมิภาคอื่นๆ ปัญหาที่พบส่วนใหญ่คือเด็กแวดล้อมด้วยอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการต่ำ อาหารแปรรูปที่มีแคลอรีสูง  กินขนมที่มีน้ำตาลกับไขมันสูง แทนที่จะกินอาหารพวกเมล็ดธัญพืช เนื้อและผัก มีข้อมูลว่าร้อยละ 90 ของอาหารกับเครื่องดื่มที่มุ่งขายให้เด็กเป็นอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว (saturated fats) ไขมันที่เป็นโทษต่อสุขภาพ น้ำตาล เกลือในปริมาณสูง

                เด็กอายุ 23 เดือนถึง 6 ขวบกว่าร้อยละ 20 ไม่ได้กินผัก ผลไม้ นมกับไข่ที่เป็นแหล่งโปรตีน

                ในอดีตคนอ้วนมักเกิดกับครอบครัวร่ำรวย ปัจจุบันทุกคนอ้วนได้จากอาหารแปรรูปและเครื่องดื่มน้ำตาลสูง  ของเหล่านี้พบเห็นทุกที่และราคาถูกกว่าอาหารสุขภาพ

ผลกระทบต่อสังคม :

                เมื่อเจ็บป่วยไม่ใช่เรื่องเฉพาะบุคคลเท่านั้น เป็นภาระต่อครอบครัว ระบบสาธารณสุข ฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ คนวัยทำงานป่วยก่อนเวลาอันสมควร ไม่สามารถทำงานตามปกติ ประสิทธิภาพการทำงานลดลง สรุปสั้นๆ  คือระยะเวลาเป็นแรงงานสั้นลง และเป็นผู้ป่วยนานปีมากขึ้น

                สังคมที่แนวโน้มมีคนเจ็บป่วยจำนวนมากเป็นเหมือนระเบิดเวลา หลายประเทศจะประสบปัญหางบประมาณในอนาคตที่ต้องใช้เงินมหาศาลดูแลผู้ป่วย หนึ่งในต้นเหตุคือโรคอ้วนที่เป็นบ่อเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ

                คนยากจนคือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด มีข้อมูลว่าต้องใช้รายได้ถึงร้อยละ 25 ของครัวเรือนเป็นค่ารักษาพยาบาล สุขภาพที่ย่ำแย่ยิ่งทำให้ตกอยู่ในวัฏจักรความยากจน

                ในแง่เศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ความอ้วนกระทบจีดีพีโดยตรงร้อยละ 0.56 และกระทบโดยอ้อมอีกร้อยละ 0.22

                ผลกระทบจีดีพีทางตรง เช่น ค่าใช้จ่ายเพื่อการรักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายอื่นๆ อันเนื่องจากความอ้วนกับโรคอ้วน ส่วนผลกระทบทางอ้อมนั้นวัดจากมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูญเสียอันเนื่องจากการไร้สมรรถภาพกับตายก่อนวัยอันควร

                รัฐบาลทั่วโลกตระหนักภัยจากโรคเบาหวานที่กำลังก่อตัวอย่างรวดเร็ว การที่รัฐบาลกับสังคมต้องเสียเงินมหาศาลกับโรคเรื้อรังจึงสมผลกับการเก็บภาษีน้ำตาลตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก และนำภาษีที่ได้รณรงค์ส่งเสริมให้คนดูแลรักษาสุขภาพ

น้ำตาลและภาษีน้ำตาล :

            องค์การอนามัยโลกเผยว่า “เครื่องดื่มที่มีน้ำตาล”  คือเหตุผลหลักที่คนกินหวานเกิน ยกตัวอย่าง ชานมไข่มุกบางแห่งมีน้ำตาลถึง 70 กรัมต่อแก้ว เครื่องดื่มกระป๋องเฉลี่ยมีน้ำตาล 40 กรัมต่อกระป๋อง ในขณะที่องค์การอนามัยแนะนำว่าไม่ควรกินน้ำตาลเกิน 25 กรัมต่อวัน (6 ช้อนชา)

                ความเจริญแบบเมือง ชีวิตที่เร่งรีบ การทำงานในบริษัท ทำให้คนออกกำลังน้อย ไม่ทำอาหารด้วยตัวเอง เลือกกินอาหารสะดวกซื้อ พวกฟาสต์ฟู้ด ความนิยมดื่มชากาแฟในร้านสมัยใหม่มักจะสั่งอาหารเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง

                องค์การอนามัยโลกแนะนำว่ารัฐบาลสามารถทำหลายอย่างเพื่อลดปัญหาอันเนื่องจากคนกินหวานเกิน หนึ่งในนั้นคือเก็บภาษีน้ำตาล (sugar tax) เหมือนกับภาษียาสูบ เป็นการแทรกแซงที่มีประสิทธิภาพ ช่วยลดการบริโภคน้ำตาล มีหลักฐานว่ายอดขายเครื่องดื่มผสมน้ำตาลในเม็กซิโกลดลงร้อยละ 7.6 หลังขึ้นภาษีน้ำตาลเมื่อปี 2014 ช่วยลดปัญหาโรคเรื้อรังที่มาจากการกินหวาน

                อินเดีย ไทย บรูไนและฟิลิปปินส์ ใช้มาตรการเก็บภาษีน้ำตาลแล้ว รัฐบาลสิงคโปร์ห้ามโฆษณาเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง

                อย่างไรก็ตาม ลำพังการเก็บภาษีน้ำตาลเพียงอย่างเดียวไม่ช่วยแก้ปัญหาทั้งหมด ต้องร่วมกับมาตรการอื่นๆ  เช่น การป้องกันไม่ให้เด็กกินหวานและกลายเป็นคนติดหวาน ต้องปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมเด็กไม่ให้มีอาหารเครื่องดื่มรสหวานจัด จัดระเบียบการขายสิ่งเหล่านี้ในสถานศึกษา บริเวณโดยรอบ ฉลากสินค้าต้องระบุคุณค่าโภชนาการอย่างชัดเจน

                บางประเทศใช้มาตรการที่น่าสนใจ เช่น บรูไนจัดงานวันอาทิตย์ปลอดรถ (carless Sundays) ห้ามใช้รถในเขตเมืองหลวง ทุกคนต้องใช้เท้าเดินหรือจักรยานส่งเสริมการออกกำลังกาย และตั้งเป้าว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าจะลดการดื่มเครื่องดื่มผสมน้ำตาลในเด็กให้ได้ถึงร้อยละ 50

ความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม :

                ทุกครั้งที่พูดถึงการดูแลรักษาสุขภาพ จะเอ่ยถึงการศึกษา การศึกษาไม่ใช่เพียงให้เด็กท่องจำและตอบข้อสอบได้  ควรเน้นให้เด็กฝึกปฏิบัติจนเป็นนิสัย เป้าหมายคือเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ไม่ให้ติดหวานตั้งแต่เด็ก ผลักดันให้บริษัทผลิตสินค้าที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ

                ในระดับประเทศคือการปรับเปลี่ยนทัศนคติเรื่องการกินอาหาร วิถีการดำเนินชีวิต ส่งเสริมการออกกำลังกาย เผยแพร่ความรู้เรื่องเหล่านี้อย่างต่อเนื่องกว้างขวาง รู้จักดูแลสุขภาพด้วยตัวเอง มียุทธศาสตร์ป้องกันโรคเรื้อรังอย่างครบวงจร

                เป็นเวลานานแล้วที่เด็กฟันผุเพราะกินขนมหวาน ปัจจุบันหลายคนเป็นโรคอ้วนตั้งแต่เด็ก เหล่านี้เกิดจากอาหารเครื่องดื่มที่ขาย หากเอกชนมีความรับผิดชอบต่อสังคมย่อมไม่ควรคิดถึงแต่เรื่องกำไร สร้างปัญหาแก่สังคม เป็นเรื่องแปลกเมื่อองค์การอนามัยโลกแนะนำว่าไม่ควรกินน้ำตาลเกิน 25 กรัมต่อวัน แต่มีเครื่องดื่มผสมน้ำตาลจำนวนมากที่มีน้ำตาลถึง 40 กรัมต่อกระป๋อง

                ดังที่เคยนำเสนอแล้วว่า ประเทศเสรี เศรษฐกิจเสรี ไม่ใช่การปล่อยให้ใครทำอะไรตามอำเภอใจ ทุกประเทศจึงมีกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ ผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคนภายใต้กฎจราจร เรื่องอาหารการกินก็เช่นกัน การปล่อยให้ขายอาหารทำลายสุขภาพเท่ากับปล่อยให้ทำลายสังคม บั่นทอนความมั่นคงแห่งชาติ

                หากรัฐบาลมีความรับผิดชอบ เป็นรัฐบาลที่ดีย่อมไม่ปล่อยปละละเลยให้ประชาชนนับล้านๆ มีปัญหาสุขภาพ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วส่งผลต่อประเทศ

                เมื่อเป็นโรคเบาหวานต้องดูแลรักษาตลอดชีวิต ทางที่ดีคือป้องกันตั้งแต่เด็กให้มีพฤติกรรมการกินที่ถูกต้อง รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ความจริงแล้ว “คุณป้องกันครอบครัวจากโรคเบาหวานได้”.

---------------------

รูป : ข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก

เครดิต : https://www.who.int/diabetes/global-report/WHD2016_Diabetes_Infographic_v2.pdf

---------------------

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"