เศรษฐกิจ 2021: ฟื้นแบบน่ากังวล


เพิ่มเพื่อน    

        ใกล้สิ้นปี 2563 แล้ว หากเรามองไปที่ปี 2564 ก็จะมีทั้งข่าวที่เริ่มให้ความหวังว่าเศรษฐกิจจะกระเตื้องขึ้นในระดับหนึ่ง เพราะวัคซีนอาจช่วยลดความรุนแรงของโควิด-19 ได้บ้าง

            แต่ความไม่แน่นอนก็มีอยู่ในหลายระดับ จำเป็นต้องจับตาและติดตามแนวทางการวิเคราะห์จากหลายๆ สำนักและนำมาประเมินด้วยตัวเราเอง

            เมื่อวานนี้ผมนำเสนอแนวทางวิเคราะห์ของ "ศูนย์วิจัยกสิกรไทย" ที่น่าสนใจ ในประเด็นประสิทธิภาพของวัคซีนและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เราพึงคาดหวังได้

            แต่อีกประเด็นคือ เศรษฐกิจเราจะฟื้นได้มากน้อยเพียงใดก็อยู่ที่อีกหลายมิติ

            ศูนย์วิจัยกสิกรไทยบอกว่า เพราะความไม่แน่นอนจากปัจจัยต่างๆ มีสูง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐจึงยังมีความจำเป็นที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง

            โดยประเมินว่างบประมาณภาครัฐที่เหลือจาก พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท รวมกับ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ราว 5 แสนล้านบาท น่าจะเพียงพอที่จะดูแลเศรษฐกิจ

            อาจไม่ต้องก่อหนี้เพิ่มเติม

            นั่นอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า จะไม่มีการแพร่ระบาดในประเทศอย่างรุนแรงจนต้องมีมาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง แปลว่าคนไทยต้องช่วยกันทุกหมู่เหล่าเพื่อไม่ให้มีการแพร่  Second Wave

            ด้านนโยบายการเงิน คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย  (ธปท.) คงประเมินสถานการณ์เป็นระยะ

            หากปรากฏสัญญาณลบของการฟื้นตัว คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังมีพื้นที่ในการลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมได้อีก 0.25%

            หรือไม่ก็มีทางเลือกอีกทางคือ ลดเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ เพื่อนำไปสู่การลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์

            แต่ทั้งนี้คงต้องดำเนินการควบคู่ไปกับนโยบายอื่นๆ ที่มีประสิทธิผลตรงจุดกว่า อาทิ Soft Loans และการค้ำประกันสินเชื่อโดย บสย.

            โจทย์สำคัญอีกด้านหนึ่งคือภาคการเงิน

            นั่นหมายถึงการดูแลเรื่องคุณภาพหนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ NPL พุ่งสูงเกินไป

            ที่จะต้องดูแลเป็นพิเศษคือ ลูกหนี้ที่ได้รับมาตรการช่วยเหลือทางการเงินที่ยังมีจำนวนมากกว่า 1 ใน 4 ของพอร์ตสินเชื่อรวม ให้สามารถประคองการจ่ายหนี้ปกติได้ต่อเนื่อง

            มาตรการผ่อนปรนเกณฑ์จัดชั้นหนี้ของ ธปท.คงทำให้  Reported NPLs ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย แม้จะเพิ่มขึ้นเข้าหา 3.53% ณ สิ้นปี 2564 จากระดับประมาณการที่ 3.35% ณ สิ้นปีนี้

            ในภาวะเช่นปัจจุบันนี้ย่อมถือได้ว่าเป็นระดับที่ไม่สูง

            "ท่ามกลางสถานะทางการเงินของระบบธนาคารพาณิชย์ (ธ.พ.) ไทยยังแข็งแกร่ง โดยมีค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญสูงกว่าเอ็นพีแอลถึง 1.4-1.5 เท่า อีกทั้งมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 สูงถึง 16-17% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำและประเทศพัฒนาแล้ว" ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ

            ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษคืออุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งประเมินว่าธุรกิจโรงแรมและที่พักในหลายพื้นที่จะยังไม่สามารถมีรายได้หล่อเลี้ยงที่เพียงพอ

            ภาครัฐและผู้เกี่ยวข้องกำลังพิจารณามาตรการช่วยเหลือที่เฉพาะเจาะจง แม้อาจไม่สามารถให้ความช่วยเหลือได้อย่างครอบคลุมจากจำนวนกิจการที่มีมาก

            หวังกันว่าจะช่วยประคองธุรกิจส่วนใหญ่ให้มีโอกาสไปต่อได้

            วงการอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยยังเผชิญกับความตึงตัวด้านสภาพคล่องอยู่ จากที่อยู่อาศัยเหลือขายสะสมที่มีปริมาณมากทำให้ยังต้องรอบคอบในการเปิดโครงการใหม่

            แต่ผู้ประกอบการก็มีการปรับตัวไประดับหนึ่งแล้ว และมีการสร้างรายได้ทางอื่นเพิ่มเติม

            แต่ที่ต้องวิเคราะห์กันต่อไปคือ ความต้องการที่อยู่อาศัยที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งถือว่าเป็นโจทย์ระยะกลางและระยะยาวสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องปรับตัวให้ได้หากจะอยู่รอดหลังโควิดผ่านไปแล้ว

            อุตสาหกรรมรถยนต์เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว แต่คงต้องใช้เวลาก่อนที่จะกลับไปสู่ระดับก่อนหน้า COVID-19

            ขึ้นอยู่กับกำลังซื้อทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งก็ยังมองไม่เห็นภาพชัดนักในช่วงปลายปีนี้ ต้องรอไตรมาสแรกของปีหน้าจึงจะพอเห็นความชัดเจนมากขึ้น

            ที่ท้าทายมากสำหรับวงการนี้คือ การยกระดับไปสู่การผลิตรถยนต์แห่งอนาคตที่กำลังจะเปลี่ยนโฉมเข้าสู่รถไฟฟ้ามากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

            อีกสำนักวิเคราะหนึ่งคือ Economic Intelligence  Center ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ (SCB  EIC) ที่นำเสนอแนวทางวิเคราะห์ที่น่าสนใจเช่นกัน

            คุณยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ SCB คาดว่า เศรษฐกิจไทยปี 2564 จะขยายตัว 3.8% จากฐานโดยที่มีปัจจัยสนับสนุนคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เม็ดเงินของภาครัฐทั้งจากงบประมาณและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม

            รวมถึงการกระจายวัคซีนในช่วงครึ่งหลังของปี

            แต่ยังจะมี "แผลเป็นทางเศรษฐกิจ (scarring effects)"  ที่จะกดดันการฟื้นตัวอุปสงค์ภาคเอกชนต่อเนื่อง

            การลงทุนภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัว 9.8% และยังมีวงเงินเหลือจาก พ.ร.ก.กู้เงินอีก 5 แสนล้านบาท ที่รัฐสามารถใช้ได้ในปี 2564 อีกทั้งการออกมาตรการคนละครึ่งระยะที่ 2 และให้เงินสนับสนุนเพิ่มเติมแก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการ

            รวมถึงขยายเวลามาตรการเราเที่ยวด้วยกัน

            เป็นสัญญาณว่ารัฐพร้อมใช้มาตรการเพื่อพยุงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลดีต่อการใช้จ่ายของภาคประชาชน

            ด้านภาคส่งออกของไทยคาดว่าจะขยายตัวที่ 4.7%  ตามทิศทางเศรษฐกิจและการค้าโลก

            แต่ปัญหาการขาดแคลนและต้นทุนที่สูงขึ้นของตู้คอนเทนเนอร์ โดยเฉพาะในช่วงปลายปีต่อเนื่องถึงช่วงต้นปีหน้า

            และแนวโน้มค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นตามทิศทางการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะเป็นปัจจัยกดดันต่อการส่งออกในปีหน้า

            สำนักนี้เชื่อว่าการค้นพบวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงจากหลายค่าย รวมทั้งการที่ไทยเป็นผู้ผลิตวัคซีน  AstraZeneca จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศในช่วงครึ่งหลังของปี

            คาดว่าประชากรในประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่จะได้รับการฉีดวัคซีนอย่างแพร่หลายในช่วงครึ่งแรกของปี 2564

            ส่วนประเทศไทยคาดว่าจะเริ่มต้นได้รับวัคซีนที่จองซื้อไว้ในช่วงกลางปี และจะมีการฉีดอย่างแพร่หลายในช่วงครึ่งหลังของปี

            ดังนั้นจึงคาดว่านักท่องเที่ยวต่างประเทศจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยในช่วงครึ่งหลังของปี 2564

            คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีหน้าจะอยู่ที่ประมาณ 8 ล้านคน ซึ่งยังต่ำกว่าตัวเลขปี 2562 ที่มีเกือบ  40 ล้านคนอยู่มาก

            จึงต้องหันมาปรับโมเดลธุรกิจกันขนานใหญ่

            จากปริมาณสู่คุณภาพ

            จากตลาดโหลสู่ตลาดบน!


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"