ความมั่นคงทางอาหาร เรื่องจริงที่ควรรู้


เพิ่มเพื่อน    

เครดิต : http://cambridgeglobalist.org/?p=2303

 

        ความมั่นคงทางอาหารแท้จะต้องเป็นระดับชุมชนขึ้นไป เมื่อคนอิ่มท้องและมั่นใจว่าพรุ่งนี้มีกิน ความวิตกกังวลจะลดน้อยลง มีสติคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น สังคมไม่โกลาหลวุ่นวาย

 

        ภายใต้กระบวนทัศน์ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” องค์การสหประชาชาติกำหนด “วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030” (The 2030 Agenda for Sustainable Development) เป้าหมายหนึ่งคือโลกที่ปราศจากความหิวโหย (Zero Hunger) หมายความว่าปลอดภาวะความไม่มั่นคงทางอาหาร ภาวะทุพโภชนาการทุกรูปแบบ (รวมถึงการขาดน้ำสะอาด สารอาหารบางชนิด) ทุกคนเข้าถึงอาหารปลอดภัย มีคุณค่าโภชนาการอย่างเพียงพอตลอดทั้งปี

ปัญหาความมั่นคงทางอาหาร :

        ความมั่นคงทางอาหารเป็นเรื่องใกล้ตัวเพราะคนต้องกินทุกวัน ผู้คนนับพันล้านคิดถึงเรื่องปากท้องว่าวันนี้ พรุ่งนี้จะเอาอะไรกิน ผู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหารประเทศ องค์กรระหว่างประเทศถกแถลงว่ามนุษย์ในอีก 10 หรือหลายสิบปีข้างหน้าจะกินอยู่อย่างไร

        รายงาน The State of Food Security and Nutrition in the World 2019 รายงานว่าประชากรโลกกว่า 820 ล้านคน (จากทั้งหมด 7,700 ล้านคน หรือร้อยละ 10.6) อยู่ในภาวะหิวโหย ขาดสารอาหาร (undernourishment) ไม่มีทีท่าว่าสถานการณ์จะดีขึ้น

        ความอดอยากมาจากหลายสาเหตุ โดยเฉพาะภัยสงคราม การจลาจลวุ่นวายในประเทศ เศรษฐกิจถดถอยรุนแรงฉับพลัน บางครั้งมาจากการเพาะปลูกไม่ได้ผลดี ภัยแล้งยาวนาน สภาพภูมิอากาศแปรปรวน และโรคระบาดพืช

        โรคระบาดโควิด-19 เป็นเหตุซ้ำเติมเข้ามาในปี 2020 การที่คนตกงานจำนวนมาก จีดีพีหดตัวหนัก หนี้สินเพิ่ม ล้วนชี้ให้ว่าความมั่นทางอาหารลดลง โดยเฉพาะในระดับปัจเจก บางประเทศที่อ่อนแออยู่แล้ว

        แต่ปัญหาไม่ได้กระจุกตัวเฉพาะประเทศที่ยากจนเท่านั้น  ผลสำรวจขององค์กรการกุศล Turn2Us พบว่าครอบครัวอังกฤษ 45% หรือ 3.6 ล้านครัวเรือนต้องมีหนี้สินเพราะโควิด-19 สอดคล้องกับข้อมูลจากอีกหลายองค์กรที่ชี้ว่าต้องช่วยเด็กด่วน เพราะครอบครัวไม่พอกิน กลุ่มกุมารแพทย์สหราชอาณาจักรกว่า 2,200 คน เรียกร้องให้รัฐบาลเลี้ยงอาหารเด็กยากจนทั่วประเทศ สำหรับวันหยุดเรียน วันละ 3 มื้อ คาดว่ามีเด็กที่ต้องรับความช่วยเหลือ 4 ล้านคน

        ล่าสุด สำนักสถิติแห่งชาติอังกฤษเผยอัตราคนว่างงานประจำเดือนตุลาคม 4.9% สูงสุดนับตั้งแต่ฤดูร้อนปี 2016 เป็นต้นมา แม้รัฐบาลส่งเสริมให้กิจการร้านค้าต่างๆ เปิดทำการมาหลายเดือนแล้วก็ตาม

        ด้านสหรัฐองค์การ Feeding America รายงานว่าปี 2019 คนอเมริกัน 35 ล้านคน เข้าคิวรับบริจาคอาหาร ปีนี้ (2020) เพิ่มเป็น 50 ล้านคน หรือเท่ากับ 1 ใน 6 ของประชากร บางคนต้องคอยตามข่าวทุกวันว่าที่ไหนบริจาคอาหาร บริษัทห้างร้านองค์กรช่วยเหลือต่างๆ เพิ่มการสนับสนุน ระดมอาสาสมัครช่วยกันหีบห่อแจกจ่ายอาหาร

        บางรัฐเช่นเนวาดาอาการหนักกว่ารัฐอื่น เพราะรายได้หลักมาจากนักท่องเที่ยว การโรงแรม กาสิโน แม้รัฐบาลยกเลิกมาตรการปิดเมือง ส่งเสริมให้บริษัทเอกชนทำงานเต็มที่ แต่คนยังตกงานมากอยู่ดี หรือได้งาน parttime รายได้ไม่พอรายจ่าย แม้รัฐบาลให้เงินช่วยเหลือหลายรอบแล้วก็ตาม (มีข้อมูลว่าคนอเมริกันราว 10 ล้านยังตกงานเฉพาะเหตุโควิด-19)

        2 ประเทศที่ยกตัวอย่างได้ชื่อว่าเป็นประเทศพัฒนาแล้ว

ข้อคิดและข้อเสนอแนะ :

        ความมั่นคงทางอาหารสามารถมองผ่านกรอบหลายระดับ ตั้งแต่ระดับโลก ระดับประเทศ จังหวัด ชุมชนหมู่บ้าน จนถึงครอบครัว ปัญหาและแนวทางแก้ไขของแต่ละกรอบแต่ละคนแตกต่างกันไป

      ประการแรก อาหารเพื่อสุขภาพ เป็นมากกว่าแค่อิ่มท้อง

      โดยพื้นฐานแล้วคำว่า “อาหาร” หมายถึงสิ่งที่บำรุงร่างกายให้มีสุขภาพแข็งแรง ดังนั้นสิ่งที่กินเข้าไปแล้วทำลายสุขภาพชัดเจนไม่ว่าจะระยะสั้นหรือยาวไม่สมควรเรียกว่าอาหาร

        การบริโภคแต่พอเหมาะไม่มากหรือน้อยเกินไปคือการบริโภคที่ถูกต้อง การบริโภคมากไปย่อมเป็นภัยทำร้ายร่างกาย โรคอ้วนเป็นตัวอย่างชัดเจน

        ดังนั้น ความมั่นคงอาหารไม่ใช่เรื่องเฉพาะปริมาณเท่านั้น รวมถึงคุณภาพอาหาร วิถีการบริโภคด้วย พูดให้ชัดคือการมีอาหารด้อยคุณภาพหรือทำลายสุขภาพไม่ถือว่ามีความมั่นคงทางอาหาร เพราะแม้กินอิ่มแต่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เป็นอาหารก่อโรค อาจทำให้น้ำหนักเกิน (บางคนเข้าใจผิดคิดว่าดีต่อสุขภาพ ไม่ขาดสารอาหาร) ในอดีตคนอ้วนมักเกิดกับครอบครัวร่ำรวย ปัจจุบันทุกคนอ้วนได้จากอาหารแปรรูปและเครื่องดื่มน้ำตาลสูง ของเหล่านี้พบเห็นทุกที่และราคาถูกว่าอาหารสุขภาพ

      ดังที่เคยนำเสนอแล้วว่า รัฐบาลต้องไม่คิดว่าการดูแลภาวะโภชนาการคือช่วยคนยากไร้ให้มีกินเท่านั้น เพราะการกินอิ่มอาจหมายถึงกินของทำลายสุขภาพจนเต็มท้อง เศรษฐกิจเสรีไม่ใช่การเปิดโอกาสแก่อาหารด้อยคุณภาพหรือสิ่งที่ไม่ควรเรียกว่าเป็นอาหาร การพัฒนาประเทศต้องคำนึงเรื่องเหล่านี้ ประเทศที่พัฒนาแล้วคือประเทศที่ประชาชนเข้าถึงอาหารมีคุณภาพอย่างพอเพียงและบริโภคตามหลักโภชนาการ

      ประการที่ 2 ต้องให้ชุมชนคนรอบข้างได้กินด้วย

        บางคนอาจคิดว่าตัวเองกับครอบครัวกินอิ่มก็เป็นพอ ในโลกแห่งความจริงความหิวโหยสามารถกระตุ้นให้คนทำผิดกฎหมาย กระตุ้นให้เข้าปล้นชิง (ดีกว่านั่งอดตาย) ชุมชนที่เข้มแข็งคือชุมชนที่ทุกคนมีกิน รัฐบาลที่มั่นคงต้องให้ทุกคนมีกินมีใช้ ความมั่นคงทางอาหารที่แท้ต้องเป็นความมั่นคงระดับสังคมใหญ่ขึ้นไป

        เริ่มจากชุมชนต้องมีความพอเพียงในตัวเอง มีห่วงโซ่อาหารของตนเองที่เชื่อมโยงภายในกับภายนอก เช่น ชุมชนควรผลิตอาหารหลักอย่างพอเพียงและสามารถรับอาหารหลักจากชุมชนใกล้เคียง มีระบบกระจายอาหารส่วนเกินให้พื้นที่ห่างไกลออกไป มีทั้งผลิตเพื่อกินเองกับเพื่อขาย

        เทคโนโลยีปัจจุบันเอื้อการค้าขายแลกเปลี่ยนระหว่างชุมชน แทนการขายให้พ่อค้าคนกลางอย่างเดียว และนำเงินไปซื้อสินค้าอื่นๆ จากพ่อค้าคนกลางอีกที แน่นอนว่าสินค้าเกษตรที่ชุมชนเสนอขายต้องมีคุณภาพ มีมาตรฐานน่าเชื่อถือ ผ่านการตรวจสอบอยู่เสมอ

        ชุมชนใหญ่เล็กมีแผนความมั่นคงทางอาหารของตน เป็นการตัดสินใจร่วมกันของชุมชน ให้ทุกคนเรียนรู้และจัดการชุมชุนของตนเอง

      ประการที่ 3 ใช้ทุกตารางนิ้วเพื่อเกษตรกรรม

        การใช้พื้นที่ทุกตารางนิ้วเพื่อเกษตรกรรม (ทั้งผิวดิน ใต้ดิน บนอากาศ ในน้ำ ที่บ้าน-โรงเรียน-ที่ทำงาน) พัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสม และบรรจุคนไปทำงานหรือทำเกษตรอย่างน้อยให้อิ่มท้อง (การทำงานมีประโยชน์หลายอย่างมากกว่าได้เงินใช้สอย) พร้อมกับสร้างมูลค่าเพิ่ม สะสมส่วนเกินทางเศรษฐกิจ ให้อารยธรรมก้าวไปข้างหน้าต่อไป น่าจะเป็นแนวทางที่เป็นไปได้

        ใครๆ ก็รู้ว่าแค่ปลูกพริกปลูกมะเขือตามรั้วบ้านก็ช่วยลดรายจ่ายครอบครัวแล้ว

สรุป :

        โรคระบาดโควิด-19 ทำให้ความมั่นทางอาหารลดลงกะทันหัน ในเวลาอันสั้นมีนับร้อยล้านคนกลายเป็นพวกขาดอาหารฉับพลัน (ส่วนคนที่ยากจนอยู่แล้วยิ่งซ้ำเติมปัญหาของพวกเขา) เหตุการณ์นี้กระตุ้นให้คิดถึงการกินอยู่อย่างจริงจัง ที่ผ่านมาหลายคนอาจคิดว่าเป็นเรื่องตลกที่คนจำพวกหนึ่งสร้างคลังอาหารส่วนตัว เก็บตุนอาหารให้กินอยู่ได้หลายเดือน (กระทั่งน้ำดื่ม กระดาษชำระ) นับจากนี้ การสร้างคลังเก็บอาหารอาจไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไป บางคนไปไกลถึงขั้นซื้อที่ดินทำเกษตรแม้ตัวเองไม่เคยทำเกษตรมาก่อน ไม่ว่าจะได้ผลผลิตมากน้อยแค่ไหน อย่างน้อยช่วยให้อุ่นใจขึ้น รู้สึกว่ามีที่ปลอดภัย

        ความมั่นคงทางอาหารแท้จะต้องเป็นระดับชุมชนขึ้นไป และขยายใหญ่ออกไปจนเป็นระดับประเทศ และดีที่สุดคือระดับโลก เมื่อคนอิ่มท้องและมั่นใจว่าพรุ่งนี้มีกินความวิตกกังวลจะลดน้อยลง มีสติคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น สังคมไม่โกลาหลวุ่นวาย

        หากเชื่อว่าโรคระบาดนี้ไม่จบง่ายๆ ยุคโควิด-19 จะกินเวลายาวนานหลายปี ปัญหาความมั่นคงทางอาหารระดับโลกจะรุนแรงขึ้นในอีกหลายปีข้างหน้า มองในด้านบวกโควิด-19 อาจช่วยลดสงครามกลางเมืองที่เกิดจากความขัดแย้งทางการเมือง ประเทศคู่กรณีหยุดยิง บางประเทศที่ฟื้นตัวเร็ว ผลิตผลทางการเกษตรสูงให้ความช่วยเหลือประเทศที่ขาดแคลน ชุมชนตระหนักเห็นความสำคัญลงมือสร้างความมั่นคงทางอาหาร เช่นนี้สถานการณ์โดยรวมอาจดีขึ้นก็เป็นได้.

 

        ความมั่นคงทางอาหารแท้จะต้องเป็นระดับชุมชนขึ้นไป เมื่อคนอิ่มท้องและมั่นใจว่าพรุ่งนี้มีกิน ความวิตกกังวลจะลดน้อยลง มีสติคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น สังคมไม่โกลาหลวุ่นวาย


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"