'โมเดลสิงคโปร์' ว่าด้วย โควิด-19 กับแรงงานต่างด้าว


เพิ่มเพื่อน    

 

 

     รัฐบาลบอกว่าจะใช้ “สิงคโปร์โมเดล” ในการบริหารปัญหาโควิด-19 ของแรงงานต่างด้าว

                ยกตัวอย่างการแยกคนงานเหล่านี้ให้อยู่ในบริเวณจำกัด

                มีการตั้งโรงพยาบาลสนามเพื่อรักษาคนป่วยต่างด้าวเหล่านี้

                แต่หากเป็น “สิงคโปร์โมเดล” จริง ไม่น่าจะเป็นเฉพาะเรื่องการแยกดูแลคนงานต่างชาติ

                ต้องพูดถึงนโยบายระดับชาติว่าด้วยการดูแลสวัสดิการและความเป็นอยู่ของแรงงานต่างด้าวด้วย

                นายกรัฐมนตรีหลี่ เสียนหลง ของสิงคโปร์ ออกทีวีรายงานให้คนสิงคโปร์ได้เข้าใจว่าต้องดูแลสวัสดิภาพของคนงานจากข้างนอกอย่างเป็นระบบ เพราะเศรษฐกิจของเกาะแห่งนี้ต้องอาศัยแรงงานต่างด้าวมาก

                เพราะคนสิงคโปร์ไม่ทำงานที่คนงานต่างด้าวเหล่านี้ทำ

                และหากไม่มีคนงานต่างด้าวสิงคโปร์จะไม่มีมาตรฐานชีวิตดีอย่างที่เห็นอยู่

                แน่นอนว่าก่อนหน้านี้คนสิงคโปร์บางส่วนก็คงจะมีทัศนคติต่อคนงานจากต่างประเทศในแง่ที่ไม่ค่อยจะเป็นบวกนัก

                แต่เมื่อตระหนักถึงบทบาทของแรงงานเหล่านี้ต่อวิถีชีวิตของตนแล้ว ก็ยอมรับว่าจะต้องดูแลคนงานต่างด้าวเพื่อประโยชน์ของตนเอง

                แต่ปัญหาของคนงานต่างด้าวของไทยมีความแตกต่างจากของสิงคโปร์ในหลายมิติ

                หนึ่งในนั้นคือชายแดนของไทยกับเพื่อนบ้านที่ยาวเหยียด ป้องกันไม่ให้มีการลักลอบเข้ามาอย่างผิดกฎหมายได้ยาก

                ยิ่งเมื่อมีโรคระบาดด้วยแล้วยิ่งกลายเป็นปัญหาสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

                นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา แถลงวันก่อนเรื่องโควิด-19 ที่กำลังกลับมาแพร่อย่างน่ากังวล

                ตอนหนึ่งของคำปราศรัยของนายกฯ เมื่อค่ำวันอังคารที่ผ่านมา นายกฯ พูดถึงเรื่อง “ขบวนการนำแรงงานเถื่อนเข้าประเทศ”

                ท่านบอกว่าจะต้องดำเนินคดีและถูกทำลายให้สิ้นซาก “ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือประชาชนที่เกี่ยวข้อง

                “เพราะการแพร่ระบาดครั้งนี้ตรวจพบผู้ติดเชื้อจากแรงงานต่างด้าวมากที่สุด”

                แม้ว่ากองทัพบกจะออกแถลงการณ์ยืนยันว่าได้ทำหน้าที่ดีที่สุดแล้วในการสกัดไม่ให้มีการลักลอบเข้าประเทศทางบก แต่ก็ยังมีการโยนความรับผิดชอบกันไปมาในบรรดาหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง

                ทั้งๆ ที่จะต้องเป็นความรับผิดชอบร่วมที่นายกรัฐมนตรีต้องแสดงความรับผิดชอบ และกำหนดทิศทางของการทำกฎหมายให้ศักดิ์สิทธิ์ในเรื่องนี้อย่างจริงจัง

                เพราะข้อเท็จจริงเกี่ยวกับขบวนการลักลอบคนเข้าเมืองนั้นไม่ได้เป็นความลี้ลับแต่อย่างไร มีข้อมูลและหลักฐานพยานในเชิงประจักษ์มากมาย และที่โยงใยกับกลุ่มผลประโยชน์ทั้งในหน่วยราชการและเอกชนก็เป็นเรื่องที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางมาตลอด

                กลับมาเรื่องของ “สิงคโปร์โมเดล”

                เมื่อเขาเจอคนติดเชื้อในหมู่แรงงานต่างด้าวตามหอพักต่างๆ ก็ใช้วิธีการตั้งโรงพยาบาลสนามโดยใช้ค่ายทหารเป็นหลักก่อน

                (ที่สมุทรสาครก็มีการพูดถึงโรงพยาบาลสนาม เริ่มด้วยตัวเลข 100 เตียง แต่ต่อมาก็พูดถึง 400-500 เตียง โดยที่มีประเด็นว่าจุดที่เลือกนั้นอาจจะมีประชาชนบางส่วนไม่เห็นด้วย เพราะกลัวจะกลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อใหม่ จึงควรที่ทางการจะต้องใช้สถานที่ราชการเป็นหลักในการเดินเรื่องอย่างรวดเร็วทันการ)

                สิงคโปร์พบว่าคนงานต่างด้าวจำนวนหนึ่งถูกจำกัดสิทธิต่างๆ ที่มีผลต่อเนื่องโยงไปถึงการติดเชื้อโควิด

                เหตุเพราะเมื่อเกิดป่วยไม่กล้าบอกนายจ้าง กลัวถูกให้ออกจากงาน

                ก่อนหน้านี้ คนงานต่างชาติในสิงคโปร์มีความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่ กินนอนกันอย่างแออัดบนหอพักหรือแฟลต

                รัฐบาลสิงคโปร์ตัดสินใจระดมสร้างหอพักขึ้นมาเพื่อรองรับแรงงานหลายแสนคน

                โดยรัฐบาลสิงคโปร์เป็นเจ้าภาพ ไม่โยนให้นายจ้างหรือเอกชน

                ต่อมารัฐบาลก็รณรงค์ให้ประชาชนมีทัศนคติทางบวก เห็นความสำคัญของบทบาทของแรงงานข้ามชาติต่อเศรษฐกิจของประเทศ

                ไม่ถึงกับต้องรัก แต่ก็ต้องไม่แสดงความรังเกียจ

                ไม่เพียงแต่สิงคโปร์เท่านั้นที่ต้องเจอกับปัญหานี้ เพื่อนบ้านมาเลเซียก็เช่นกัน

                ผมเคยเห็นคนงานต่างชาติขึ้นเครื่องบินเที่ยวเดียวกันเป็นสิบๆ คน ถามได้ความว่ามาจากบังกลาเทศ เปลี่ยนเครื่องบินที่กรุงเทพฯ มุ่งหน้าสู่โรงงานที่มาเลเซีย

                ไทยเราไม่ตระหนักเรื่องการดูแลคนงานต่างด้าวเท่าที่ควร

                ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัย เจล หรืออาหารการกินต่างๆ ในช่วงล็อกดาวน์ ทางการไม่ค่อยได้ดูแลเขาเหล่านั้นนัก

                คนที่ช่วยต้องอาศัยเอ็นจีโอหรือภาคประชาชนช่วยกันบริจาค

                เพราะหน่วยงานรัฐอ้างปัญหาข้อติดขัดเรื่องระเบียบราชการ

                เริ่มต้นด้วยคนไทยต้องตระหนักในข้อเท็จจริงว่าเศรษฐกิจไทยต้องอาศัยแรงงานต่างด้าวไม่น้อย ตัวเลขทางการเป็นเท่าไหร่ก็ต้องคูณ 2 หรือ 3

                วงการเอ็นจีโอและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ประมาณว่าแรงงานข้ามชาติมีไม่น้อยกว่า 3-4 ล้านคน

                เมื่อรัฐบาลไม่มีนโยบายเรื่องนี้ชัดเจนก็เกิดขบวนการผิดกฎหมายมากมายที่เอารัดเอาเปรียบคนงานเหล่านี้ ได้เวลาปฏิรูปนโยบายต่อแรงงานข้ามชาติในไทยอย่างจริงจังแล้วหรือยัง?.

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"