ปัญหาท้าทาย "รัฐบาล" ผลพวงหลัง "โควิด-19"


เพิ่มเพื่อน    

     แต่ก็ใช่ว่ารัฐบาลจะรอดจากการถูกกดดันเรียกร้องจากสังคม เพราะโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายฝีมือของผู้นำคือผลพวงจากโควิดในอนาคตที่จะถาโถมเข้ามาเป็นระลอก ซึ่งถือเป็นโจทย์ยากและหินกว่า


     ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่จะรุนแรงช็อกโลกขนาดไหน แต่การเมืองก็ยังเดินหน้า ขับเคลื่อนไปตามวาระที่วางไว้ต่อเนื่อง เพียงแต่การเดินหน้าเหล่านั้นอาจจะมีการชะงักงัน ล่าช้า เลยถึงปรับรูปแบบใหม่ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง   
     ไล่ตั้งแต่กลุ่มราษฎรที่ประกาศชุมนุมต่อสู้ให้ได้มาทั้ง 3 ข้อเรียกร้อง โดยแกนนำประกาศปรับกลยุทธ์ในการจัดกิจกรรมเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ หลังจากที่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา กลุ่ม “วีโว่” จัดกิจกรรมเปิดพื้นที่กลางกรุงเทพฯ ซื้อขายกุ้งจากเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนจากการที่จำหน่ายอาหารทะเลไม่ได้ เพราะประชาชนวิตกกังวลจากเหตุการณ์แพร่เชื้อโควิดจาก “แพกุ้งสมุทรสาคร”    
     จนกระทั่งแกนนำและสมาชิกถูกจับกุม เนื่องจากฝ่าฝืนพระราชกำหนดฉุกเฉินฯ จัดกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมกัน หรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันง่าย, ชุมนุมทำกิจกรรมหรือมั่วสุมกัน โดยเครือข่ายกลุ่มราษฎรก็ยังมาชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยสมาชิกกลุ่มวีโว่ที่ถูกจับกุมเป็นหัวเชื้อของสถานการณ์ที่พร้อมนำไปสู่การประกาศชุมนุมใหญ่อีกครั้ง 
     กระนั้นการประกาศชุมนุมในช่วงนี้นอกจากเสี่ยงจากการแพร่ระบาดโควิดแล้ว ยังขัดต่อข้อกำหนด ข้อห้าม และกฎหมายที่ควบคุมสถานการณ์พิเศษในขณะนี้อยู่ ที่สำคัญคือกระแสสังคมที่อาจจะไม่เห็นด้วยกับการจัดกิจกรรมในช่วงเสี่ยงต่อชีวิตของคนในสังคม และอาจไม่ตอบสนองต่อการออกมาชุมนุม 
     ขณะที่ฝ่ายค้านที่เคยประกาศยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ในฐานะประธานคณะทำงานเตรียมการอภิปรายไม่ไว้วางใจพรรคเพื่อไทย ระบุว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจจะเน้นหนักที่ปัญหาเศรษฐกิจที่รัฐบาลบริหารงานล้มเหลว ผิดพลาด มุ่งไปที่การเอื้อประโยชน์ให้โครงการใหญ่ๆ ในอีอีซี เรื่องปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ และมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น โดยชี้ว่าเป็นการบริหารจัดการที่ผิดพลาดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ในฐานะที่เป็นประธานศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (ศบค.) เองด้วย รวมถึงกรณีการปล่อยปละเลยละเลยและอาจมีการทุจริตของเจ้าหน้าที่กรณีแรงงานต่างด้าว
     และกรณีการขยายสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่ พล.อ.ประยุทธ์ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ยกเว้น ทำให้ไม่ต้องผ่าน พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ถือเป็นการยกเว้นกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชนรายเดียว 
     แต่ดูเหมือนว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือแม้กระทั่งการประชุมของคณะกรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญเอง อาจจะไม่มีเวทีของห้องประชุมสภาฯ ในการทำสงครามน้ำลายเหมือนเช่นที่ผ่านมา เนื่องจากตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศนั้นกระจายไปทั่วประเทศ ซึ่ง ส.ส.ที่มาทำงานในสภาฯ นั้นก็มาจากหลากหลายจังหวัด การเดินทางมาทำงานที่สภาผู้แทนราษฎรนั้นอาจเสี่ยงให้เกิดการแพร่เชื้อมากขึ้น
     ทำให้ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ​นัดหารือหัวหน้าพรรคการเมืองและวิปฝ่ายค้าน รวมถึงวิปรัฐบาลเพื่อพิจารณว่าจำเป็นต้องงด หรือเลื่อนออกไปหรือไม่  
     โดย นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ระบุว่า การจะงดหรือเลื่อนประชุมนั้น ต้องกำหนดช่วงเวลาให้ชัดเจน เช่น 10 วัน หรือ 15 วัน เพื่อให้สถานการณ์ระบาดคลี่คลาย ขณะเดียวกันมาตรการป้องกันในพื้นที่รัฐสภาต้องยกระดับขั้นสูงสุด ตรวจคัดกรองให้เข้มข้น เช่นเดียวกับห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่นอกจากเว้นระยะห่างแล้วควรมีมาตรการเพิ่มเติมตามประกาศของสาธารณสุขอย่างเข้มงวด หรือพิจารณาการประชุมทางอิเล็กทรอนิกส์
    ซึ่งมีแนวโน้มว่าอุณหภูมิในการตรวจสอบการทำงานรัฐบาลน่าจะลดลง!!!
ตามที่มีการวิเคราะห์ว่า ต้นปี 2564 การเมืองจะเข้มข้นร้อนแรงเข้าขั้นปรอทแตกนั้น อาจไม่เป็นไปตามการฟันธงของนักสังเกตการณ์ทั้งหลาย เพราะเมื่อมี “โควิด-19” เข้ามาคั่นเวลา จึงทำให้คนในสังคมคาดหวังให้รัฐบาลที่มีระบบราชการเข้มแข็งสามารถเอื้ออำนวยในการบรรเทา แก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดให้เบาบางลง เพราะเชื่อมือว่าจากผลงานการแพร่ระบาดในระลอกแรก รัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้อยู่หมัด
    การเปลี่ยนม้ากลางศึก หรือการทำให้รัฐบาลต้องมาสาละวนกับเรื่องแก้เกมการเมืองนั้น จึงไม่มีเหตุผลที่ฝ่ายตรงข้ามจะรุกหนักในขณะนี้ และควรปล่อยให้รัฐบาลทุ่มเทในการช่วยเหลือประชาชนที่กำลังเจอภัยจากโรคระบาด ซึ่งน่ากลัวกว่าภัยที่มองเห็น 
แต่ก็ใช่ว่ารัฐบาลจะรอดจากการถูกกดดันเรียกร้องจากสังคม เพราะโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายฝีมือของผู้นำคือผลพวงจากโควิดในอนาคตที่จะถาโถมเข้ามาเป็นระลอก ซึ่งถือเป็นโจทย์ยากและหินกว่า
    ต้องยอมรับว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม รับฟังข้อมูลอย่างรอบด้านจาก “ทีมหมอ” และบริหารจัดการหน่วยงานต่างๆ ในการขับเคลื่อนมาตรการที่ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของการติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ ศบค. ได้ประกาศออกมาอย่างเป็นเอกภาพนั้น น่าจะสามารถสร้างสมดุลระหว่างศักยภาพทางด้านสาธารณสุขในการรับมือกับการไม่ทำให้ภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กล่มสลาย 
    เมื่อประกอบกับห้วงเวลาที่ประเทศไทยจะได้รับวัคซีนและใช้ได้กับคนในประเทศนั้น ก็น่าจะทำให้ยืดระยะเวลาในการล็อกดาวน์ออกไป จนถึงวันที่มีการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเป้าหมายแรกๆ ลดผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ โดยมีผู้ติดเชื้อในอัตราที่ไม่ก้าวกระโดดจนเข้าสู่หลักพันหรือหลักหมื่นคนเหมือนในต่างประเทศ
    กระนั้นต้องยอมรับว่าคนในสังคมบาดเจ็บจากการแพร่ระบาดในระลอกแรก กิจการร้านค้าเพิ่งเริ่มเปิดดำเนินการได้ไม่นาน การทำมาค้าขายยังทำได้เฉพาะกับคนในประเทศเป็นส่วนใหญ่ ภาครัฐต้องอาศัยแคมเปญในการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งทำได้แค่ประครองตัวให้รอดพ้นไปเดือนต่อเดือน 
    ในส่วนที่ต้องหาเช้ากินค่ำ รัฐบาลก็ทยอยออกโครงการ “คนละครึ่ง” ซึ่งช่วยได้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย สร้างกระแสความพึงพอใจ เพราะบรรเทาความเดือดร้อนได้ตรงจุดกว่าโครงการในการแพร่ระบาดในระลอกแรกที่อานิสงส์ตกอยู่กับนายทุน และผู้ประกอบธุรกิจขนาดใหญ่มากกว่า รวมไปถึงโครงการ “ชิม ช็อป ใช้” ที่ช่วยแบ่งเบาการใช้จ่ายของทุกครอบครัว ส่งผลให้เงินในระบบหมุนเวียน เนื่องจากมีการกระตุ้นการใช้จ่ายมากขึ้น 
    แต่การระบาดรอบใหม่ที่ดูหนักหน่วงและรุนแรง และส่อเค้าที่รัฐอาจต้องยกระดับมาตรการในการป้องกันของร้านอาหารและร้านค้ามากขึ้นในสัปดาห์หน้า อาจจะต้องยืนระยะในการเข้มงวดมาตรการอย่างน้อย 1 เดือน เพื่อให้กราฟของผู้ติดเชื้อลดลงกว่าที่เป็นอยู่ ส่งผลให้ผู้ประกอบการเหล่านั้นต้อง “กลืนเลือด” อีกรอบ 
    ผลกระทบที่จะตามมา คือธุรกิจขนาดกลางและย่อมอาจต้องหยุดบริการอีกครั้ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้างชั่วคราวตามห่วงโซ่ของกิจการ ส่วนธุรกิจบริการ ร้านอาหาร ซึ่งเป็นจุดเสี่ยงก็ต้องปฏิบัติตามมาตรการของจังหวัด และ ศบค. ก็ต้องยอมที่จะหยุดกิจการชั่วคราวเช่นกัน
    มีแนวโน้มว่าตัวเลขของผู้ตกงาน และหนี้สินครัวเรือนในช่วงไตรมาสต่อไปจะมีมากขึ้น จากปัญหาเศรษฐกิจ การล่มสลายของภาคธุรกิจ ปัญหาปากท้องคนยากจน และต่างก็มุ่งหวังให้รัฐยื่นมือเข้ามาช่วยต่อลมหายใจ ยังไม่นับปัญหาสังคมอีกมากมายที่จะเกิดขึ้น ที่สำคัญคือผู้ได้รับความเดือดร้อนต่างๆ อาจถูกกลุ่มการเมืองนำไปใช้เป็นประเด็นทางการเมือง โดยโจมตีรัฐบาลแก้ไขปัญหาโควิดล้มเหลว และปลุกไปสู่การโค่นล้มในที่สุด
    ไม่นับรวม “บ่อนการพนัน” ธุรกิจสีเทา ซึ่งเป็น “คลัสเตอร์” ที่มีส่วนในการแพร่ระบาดระลอกใหม่ สะท้อนภาพธุรกิจสีเทา ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐปล่อยปละละเลย ปล่อยให้มีการลักลอบเล่นในพื้นที่กลางเมือง โดยมี “ขาใหญ่” ที่พ่วงท้ายด้วยเครือข่ายระบบอุปถัมภ์ ไม่ต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแม้แต่น้อย 
    กลายเป็นภาพการดำรงอยู่ของธุรกิจผิดกฎหมายที่ประจานการทำหน้าที่ของตำรวจ ที่ต้องอยู่ในห่วงโซ่การเข้าสู่ตำแหน่งด้วยวิธีพิเศษ เชื่อมโยงไปสู่คนในเครือข่ายผู้มีอำนาจ จนทำให้การแก้ไขปัญหาเรื่อง “บ่อน” หรือสถานที่อโคจรที่เปิดโดยผิดกฎหมาย เป็นไปไม่ได้ เมื่อทุกฝ่ายต่างต้องจ่าย ตั๋วผู้ใหญ่-ตั๋วเด็ก เพื่อดำเนินการธุรกิจเหล่านั้นได้ กลายเป็นเรื่องเทาๆ ที่รัฐบาลต้องจัดการ ก่อนที่จะถูกนำไปผูกโยงกับรัฐบาล 
    อย่างไรก็ตาม ในปี 2564 จึงน่าจะเป็นช่วงที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องประคับประคองสถานการณ์ให้รอดพ้นวิกฤติโควิดไปให้ได้ และตั้งหลักในการวางมาตรการระยะยาวเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ การลงทุน ขจัดเงื่อนไขปัญหาที่เกิดจาก “เนื้อใน” มุ่งหน้าปฏิรูปองค์กรที่ทำงานใกล้ชิดประชาชน 
    ก่อนรับมือการเมือง ซึ่งถือเป็น “ศึกใหญ่” ที่จ่อเข้าคิวถล่ม เมื่อคลื่นลมของโรคระบาดสงบลงในไม่ช้า!!.

    
    


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"