ให้ใจ"ไบโอฟิน"กลไกพัฒนาวิถีชีวิตยุคนิวนอร์มอล พลิกวิกฤติเป็นโอกาสตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง


เพิ่มเพื่อน    

 

     ถือเป็นโอกาสสำคัญสำหรับงาน Big Cleaning Day ระดมทุนฟื้นฟูเกาะเต่า ภายใต้โครงการ Koh Tao, Better Together  บริหารจัดการโดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็นดีพี ประเทศไทย ร่วมด้วยพันธมิตรอย่างธนาคารกรุงไทย อีกทั้งมูลนิธิรักษ์ไทย และชุมชนเกาะเต่าจังหวัดสุราษฎร์ธานี ลงไปช่วยกันรณรงค์ช่วยกันเก็บขยะ เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เพื่อสร้างความตระหนัก และตื่นรู้ในการรักษาสิ่งแวดล้อม และฟื้นฟูระบบนิเวศ นอกจากนั้นยังมีการมอบอุปกรณ์ทำความสะอาดแก่คนขับเรือท่องเที่ยวขนาดเล็ก สำหรับทำความสะอาดชายหาด เพื่อให้มีอาชีพอยู่รอดจากวิกฤติโควิด-19

     บรรยากาศคึกคักเต็มไปด้วยความร่วมมือร่วมใจ เพราะมีทั้ง นายเรอโน เมแยร์ ผู้แทนยูเอ็นดีพี ประเทศไทย และนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย อีกทั้งนายไชยันต์ ธุระสกุล นายกเทศมนตรีตำบลเกาะเต่า ไปลงมือทำหน้าที่จิตอาสาด้วยสองมือของตนเอง ท่ามกลางคลื่นลมแรงเนื่องจากเป็นช่วงของฤดูมรสุมของพื้นที่ภาคใต้

     โครงการ Koh Tao, Better Together นับเป็นการจุดประกายที่น่าสนใจ เพราะมีการใช้ระบบกลไกหรือเครื่องมือที่เรียกว่า "ไบโอฟิน" หรือโครงการการเงินเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ The Biodiversity Finance Initiative (BIOFIN) มาใช้เพื่อระดมทุนช่วยเหลือคนขับเรือท่องเที่ยวขนาดเล็กที่เป็นกลุ่มเปราะบาง อันเนื่องมาจากผลกระทบของโควิด-19 ที่สำคัญคือสร้างความตระหนักรู้ในการรักษาสิ่งแวดล้อม อันเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยฝีมือของชุมชนเอง

     อาจจะเรียกว่าเป็นโครงการนำร่อง หรือเกาะเต่าโมเดลเลยก็ว่าได้

     เพราะกลไกอย่าง "ไบโอฟิน" จัดได้ว่าเป็นวิถีใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยในยุคดิจิทัล ที่พึงต้องปฏิบัติ และไม่อาจจะปฏิเสธกับโลกในศตวรรษที่ 21 นี้ มิใช่จำกัดอยู่แค่เรื่องของการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม เฉพาะที่เฉพาะทางเท่านั้น

    

ไบโอฟินกับการพัฒนาที่ยั่งยืน

    

     นายเรอโน เมแยร์ ที่นำกลไกของไบโอฟินมาสู่วิถีการพัฒนาในประเทศไทย เปิดเผยว่า ยูเอ็นดีพีมีโครงการต้นแบบในประเทศไทยอยู่บ้าง และเกาะเต่าก็เป็นหนึ่งในนั้น และสิ่งที่โครงการในเกาะเต่าและไบโอฟินจะทำคือการช่วยให้รายใหญ่คิดค่าธรรมเนียมแบบนักท่องเที่ยว แนวคิดคือคุณเป็นนักท่องเที่ยว คุณมาที่เกาะเต่า ทันทีที่คุณมาถึงคุณจะถูกขอให้จ่ายเงิน เพราะคุณใช้ทรัพยากรของเกาะเต่า และเงินนี้จะถูกรวบรวมและเข้ากองทุน 

     "ตอนนี้เรากำลังดำเนินการ และยังต้องการให้สิ่งนี้เป็นตัวอย่าง เป็นสิ่งที่สถานที่อื่นๆ สามารถทำซ้ำได้ แต่ขณะเดียวกันเราอยากทำตามกฎหมายประเทศไทย และสร้างความเข้าใจกับเจ้าของพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือเอกชน ถึงความถูกต้องเหมาะสม ไม่สร้างปัญหา แต่มีการบริหารจัดการเพื่อประโยชน์สูงสุดของชุมชน และผู้มาใช้บริการ"

     แนวคิดการจัดเก็บค่ารักษาสิ่งแวดล้อม ที่เรียกว่า ใครมาใช้ ก็ต้องจ่ายนั้น อยู่ในขั้นตอนของการศึกษาและออกร่างกฎหมาย ซึ่งสามารถปฏิบัติได้ตามเทศบัญญัติท้องถิ่น อย่างไรก็ดีจะประสบความสำเร็จได้เมื่อไหร่นั้น นายเรอโนบอกว่า

    "คำตอบคือไม่ได้อยู่ที่เรา แต่คงเป็นรัฐบาล เราประสบความสำเร็จ เพราะเราได้รับความสนใจพวกเขาชอบความคิด งานของเราคือการโน้มน้าวอธิบายและผลักดัน เราต้องการให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวนมากเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นจึงไม่ใช่แค่ตัวเรา แต่ยังมีเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น บุคคลจากอีกหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพราะทำคนเดียวคงไม่ได้ ต้องมีแรงผลักดันจากหลายๆ ฝ่ายช่วยกัน และมันก็สมเหตุสมผล ดังนั้นฉันคิดว่ามันควรจะเป็นเช่นนั้น เราควรจะสามารถโน้มน้าวพวกเขาได้ แต่ท้ายที่สุดแล้วการตัดสินใจอยู่ที่รัฐบาล"

     นายเรอโนยังได้แสดงความเห็นว่า สำหรับประเทศไทยนั้นต้องพึ่งการท่องเที่ยว ธรรมชาติ วัฒนธรรม และอุตสาหกรรมการเกษตร ดังนั้นหากทรัพยากรนั้นหมด รูปแบบเศรษฐกิจทั้งหมดจะหายไป นั่นคือหนึ่งในงานที่เราทำในฐานะ UNDP คือการประเมินผลทางการเงินการประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจของความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย และในฐานะไบโอฟินเป็นแผนการเงินด้านความหลากหลายทางชีวภาพที่ได้รับการประกาศอย่างเป็นทางการ และเราสามารถเปรียบเทียบได้ว่าจะได้เท่าไร ค่าใช้จ่ายในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และทำให้เติบโตขึ้นเมื่อเทียบกับจำนวนเงินที่รัฐบาลใช้จ่ายด้านชีวภาพ

    "โครงการไบโอฟินเป็นข้อมูลเกี่ยวกับการสร้างรูปแบบการจัดหาเงินทุนที่สร้างสรรค์สำหรับความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นแนวคิดที่น่าสนใจ ที่ไม่ใช่แค่การขอจากรัฐบาลแต่สามารถให้ผู้คน สาธารณะ ผู้ใช้มาร่วมรับผิดชอบ" ผู้แทนยูเอ็นดีพีกล่าว และยังบอกด้วยว่า วิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นข้อพิสูจน์ที่สมบูรณ์แบบจากแนวคิดของยูเอ็นดีพีในการสร้างความตระหนักรู้ต่อการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยที่ทุกคนในโลกต้องร่วมมือกัน

     "คุณย้อนกลับไปที่ต้นกำเนิดของไวรัสมันก็คือไวรัสจากสัตว์ เหตุใด? เพราะมนุษย์และสัตว์ป่าอยู่ใกล้กันมากเกินไป ตอนนี้มันเกิดขึ้นที่อู่ฮั่นในตลาด แต่มันสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ มันเป็นวิกฤติสุขภาพอย่างมาก แต่สิ่งที่เรากำลังพูด ลองเรียนรู้จากมันและสำหรับเรามันเป็นสัญญาณว่าพวกเราทำไม่ถูกต้อง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นอีกสัญญาณหนึ่ง แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ส่งผลกระทบต่อพวกเรา มันจะส่งผลกระทบต่อเด็กๆ ธรรมชาตินั้นส่งเรามา แต่เราเห็นแก่ตัวเกินไป เป็นคนเห็นแก่ตัว เราไม่ฟัง โควิดบังคับให้เราฟัง ประเทศไทยเราจัดการกับสุขอนามัยได้เป็นอย่างดี เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ฉะนั้นการฟื้นตัวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างรูปแบบการพัฒนาขึ้นมาใหม่ นั่นคือเคารพพื้นที่ธรรมชาติมากขึ้น ผมคิดว่ามันสำคัญมาก เพราะชีวิตของเราขึ้นอยู่กับมัน" 

 

เศรษฐกิจพอเพียง = ไบโอฟิน

     สำหรับผู้บริหารจากแบงก์กรุงไทย นายผยง ศรีวณิช เปิดเผยว่า ไบโอฟินที่เกาะเต่านี้เป็นโครงการแรกของกรุงไทย ซึ่งกรุงไทยเคยมีแนวคิดลักษณะเดียวกันกับชุมชนประเภทอื่นๆ เช่น เรื่องข้าวที่ภาคอีสาน เพราะเราเชื่อว่าในแต่ละพื้นที่จะมีภูมิปัญญาชาวบ้าน มีอัตลักษณ์ของตัวเอง ซึ่งถ้ามันถูกบริหารจัดการและได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐหรือภาคประชาคมเอกชนต่างๆ แบบที่เหมาะที่ควร มันสามารถทำให้ชุมชนแข็งแรงแล้วก็บูรณาการยกระดับตัวเองขึ้นมาได้ บนหลักการที่เราคิดว่าเป็นเรื่องของแฟร์แชร์ หรือจะเรียกว่าหลักการแชริงอีโคโนมี ซึ่งมันก็เป็นแนวคิดภายใต้ SDG ( Sustainable Development Goals) หรือการพัฒนาที่ยั่งยืน

     เป็นแนวคิดที่เป็นกลไกประเภทหนึ่งที่ลดความเหลื่อมล้ำ มันแปลว่าให้สังคมรอบๆ มีความแข็งแรง ความพร้อมหรือแม้กระทั่งภาครัฐ ซึ่งมีทรัพยากรจากตัวกิจกรรมอื่นๆ ในระบบของประเทศ นำมาจัดสรรบางส่วนเพื่อที่จะมาไม่ใช่แค่เพื่อเยียวยาหรือจะเป็นลักษณะการสร้างอนาคตให้กับชุมชนให้เขารู้จักช่วยตัวเอง ให้เขารู้จักดูแลบ้านตัวเอง ซึ่งทั้งหมดนี้ในมุมของกรุงไทยเรา ก็จะเชื่อว่าเป็นแนวคิดเดียวกับเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง

    "เราคุยเรื่องของแชริงอีโคโนมีเรื่องของตัวทำให้ชุมชนแข็งแรง ถ้ามองลึกๆ มองกลับมาคือเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง ทำให้ทรัพยากรในชุมชน ทำให้ภูมิปัญญาในชุมชนสามารถเลี้ยงตัวเองได้อย่างยั่งยืน และดูแลและสร้างทรัพยากรให้คนรุ่นต่อๆ ไปเข้ามาสามารถใช้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างชีวิตสร้างสังคมอีกด้วย"

    นายผยงระบุว่า เป็นแนวคิดใหม่สำหรับหลายๆ คน แต่สำหรับกรุงไทย เป็นการต่อยอด เพราะว่าไบโอฟิน สิ่งที่ต้องเรียนว่าแนวคิดแบบนี้ตอนต้นเราทำอยู่แล้ว เราทำของเราอยู่แล้ว แต่การทำของเราอาจจะเป็นแนวที่เราคิดและศึกษาและพัฒนาเอง แต่ตอนนี้เราได้พันธมิตรคือยูเอ็นดีพี เข้ามาซึ่งเขาให้องค์ความรู้และนำวิธีคิดวิธีบริหารจัดการระดับโลกมาประยุกต์กับเมืองไทย ซึ่งก็ทำให้เราสามารถที่จะลดในเรื่องของการเรียนรู้การนำมาใช้ ซึ่งระบบเทคโนโลยีและการวางระบบโครงสร้างและสามารถต่อยอด ซึ่งอย่างโครงการไบโอฟิน เราใช้เครือข่ายทั่วโลกของยูเอ็นในเรื่องของระบบชำระเงิน ในเรื่องของการเข้าถึงผ่านเน็ตเวิร์กของยูเอ็นดีพีเอง กับในประเทศไทยซึ่งเราก็ใช้เน็ตเวิร์กของกรุงไทย และเน็ตเวิร์กของแพลตฟอร์มในประเทศที่เราได้มีโอกาสพัฒนาร่วมกับทางรัฐบาล รวมไปถึงช่องทางดิจิทัลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ทางตัวแพลตฟอร์มของกรุงไทยเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของไลน์และใช้วิธีสื่อสารประชาสัมพันธ์บนแพลตฟอร์มของเราด้วย มันก็เป็นอะไรที่ทำให้โครงสร้างส่วนหนึ่งของกรุงไทยที่เราใช้เชิงพาณิชย์มาสามารถมีส่วนร่วมในการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน และเป็นกลไกในการจัดสรรทรัพยากรบางส่วนให้กลับมาสู่ชุมชน

    "ไบโอฟิน" เป็นภาคหนึ่งของฟินเทค (Financial  Technology) ในมิติที่ใช้เทคโนโลยีมาเชื่อมและให้โอกาสกับคนในการเข้าถึงด้วยการเชื่อมโยงเครือข่ายดิจิทัล ซึ่งสมัยก่อนนั้นเป็นการเชื่อมโยงด้วยระบบกายภาพ ต้องเดินด้วยรถ ต้องส่งไปรษณีย์ ตอนนี้เชื่อมต่อระบบดิจิทัลแบบเรียลไทม์ทันทีทันควัน และสามารถรู้สึกและสัมผัสได้ง่ายใกล้ชิดโดยที่ตัวไม่ต้องมาเอง เมื่อไหร่เวลาไหนก็ได้ อันนี้ก็เป็นจุดที่ใช้แนวคิดของฟินเทคส่วนหนึ่ง"

     ความเห็นสอดคล้องกันระหว่างนายเรอโนและนายผยงว่า มุมบวกวิกฤติไวรัสโควิด คือช่วยให้เราขับเคลื่อนได้เร็วขึ้น เป็นเพราะว่าตัวหนึ่งที่วิกฤติของไวรัสที่สร้างวิกฤติให้เป็นโอกาสคือชุมชนในเกาะเต่าเขามีผลกระทบโดยตรง ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเหตุการณ์โควิด ก็ทำให้เขาตื่นตัว ตระหนักรู้ตระหนักสร้าง ซึ่งอันนี้ก็เป็นในสถานการณ์ปกติ เป็นเรื่องยากที่จะสร้างการรับรู้ ให้เขารู้สึกว่าเขาไม่สามารถละเลยชุมชนได้

     "วันนี้เขารู้แล้วว่าสองเรื่อง เรื่องหนึ่งก็คือนักท่องเที่ยวไม่มาเขารู้สึกอย่างไร และการใช้ชีวิตของเขาเปลี่ยนไปแบบไหน และในขณะเดียวกัน ระหว่างที่นักท่องเที่ยวไม่มา กลับมีคนที่เคยมาสัมผัสดูดดื่มทรัพยากรของเกาะเต่า ก็ยังเห็นความสำคัญของการยื่นมือเข้ามามีส่วนร่วมให้ทรัพยากรบางส่วน คือทรัพยากรเงินบริจาคให้กับชุมชนเกาะเต่า เพื่อเป็นการสร้างอาชีพ และในขณะเดียวกันก็ดูแลสิ่งแวดล้อมที่เขาไม่ต้องมีโอกาสไปทำงานอื่น เขาก็สามารถมีรายได้เจือจุนได้ และในขณะเดียวกันก็ถือโอกาสเป็นการบูรณาการสิ่งแวดล้อมให้กลับมามีชีวิตชีวาและมีการเติบโต ที่เมื่อหลังจากโควิดกลับมาเหมือนเดิม และคนกลับมาเดินทางท่องเที่ยวเหมือนเดิม เขาสามารถที่จะรักษาสิ่งแวดล้อมของเขาของบ้านเขาให้อยู่ยั่งยืนไป"

     กรรมการผู้จัดการใหญ่แบงก์กรุงไทยชี้ว่า  โครงการ Koh Tao, Better Together เป็นการตอกย้ำภารกิจของธนาคารพาณิชย์ของรัฐในการดูแลสังคมชุมชนคนไทย โดยไม่คิดจะทิ้งใครไว้ข้างหลัง ยูเอ็นดีพีเข้ามาพร้อมกับทรัพยากร ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องเงินโดยตรง แต่เป็นเน็ตเวิร์ก เป็นแบรนดิ้งของเขา เป็นเครดิตของเขา ที่สามารถทำให้โครงการนี้ได้รับการยอมรับอย่างรวดเร็ว เป็นจุดที่เกื้อกูลกันอย่างมาก และยูเอ็นมีการประยุกต์แนวคิดนี้เป็นคอนเซ็ปต์คราวด์ฟันดิ้ง ผ่านไบโอฟิน เพื่อให้ชุมชนสามารถดูแลตนเองและใช้วิกฤติให้เป็นโอกาสได้แบบครั้งแรกในโลกด้วย

     "ผมเชื่อว่าโครงการนี้จะต้องสำเร็จ และชุมชนเกาะเต่าเองสามารถนำไปต่อยอดเพื่อให้เป็นโครงสร้างพื้นฐาน ตราบใดที่ยังไม่มีภาษีสิ่งแวดล้อม ก็สามารถใช้กลไกไฟแนนเชียลเทคโนโลยีตรงนี้ กับโซเชียลมีเดียในการสร้างความรู้ เข้าถึงตระหนักทราบ ให้ชุมชนสามารถที่จะจัดสรรทรัพยากรที่คนที่เคยรู้จักเกาะเต่าหรือมีความประสงค์อยากจะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมสามารถที่จะโอนเข้ามาสนับสนุนได้เป็นกองทุน ซึ่งจำนวนเงินไม่จำเป็นต้องเยอะ ห้าเหรียญ สิบเหรียญ มีเงินร้อยบาทเราก็สามารถเข้ามาสะสมตรงนี้ได้"

     สำหรับผู้สนใจ สามารถสมทบทุนผ่านกรุงไทย e-Donation มูลนิธิรักษ์ไทย UNDP กรุงไทยรักเกาะเต่า หรือโอนเงินเข้าบัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทยเลขที่ 034-1-81121-1 ชื่อบัญชี มูลนิธิรักษ์ไทย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"