บีโอไอไฟเขียว 6โปรเจ็กต์ใหญ่ ลงทุนพุ่ง247%


เพิ่มเพื่อน    

 

    "บิ๊กตู่" หัวโต๊ะถก "บีโอไอ" กำชับคำนึงประโยชน์ประชาชนในพื้นที่ ลดกระแสต้าน บอร์ดไฟเขียวหนุนลงทุน 6 โครงการใหญ่ 3.7 หมื่นล้าน ปลื้มยอดขอส่งเสริมไตรมาสแรกพุ่ง 247% มั่นใจทั้งปีทะลุตามเป้า 7.2 แสนล้าน

    ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม เวลา 09.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ครั้งที่ 2/2561 โดยมี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม 

    โดยนายกฯ กล่าวก่อนการประชุมว่า ขอเน้นย้ำการดำเนินการก่อสร้างจะทำให้เกิดสิ่งใหม่ ซึ่งต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงผลประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่ที่จะได้รับ เพื่อลดกระแสการต่อต้าน และเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตลอดจนขับเคลื่อนตามแผนบริหารราชการแผ่นดิน

    ภายหลังการประชุม นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เปิดเผยว่า ภาพรวมแนวโน้มการลงทุนดีต่อเนื่อง ผลสืบเนื่องจากเศรษฐกิจของไทยเติบโตดี สังเกตได้จากการขยายตัวของจีดีพีที่เป็นบวกต่อเนื่อง การส่งออกขยายตัว การใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ไตรมาสแรกปีนี้มียอดโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนรวม 366 โครงการ คิดเป็นมูลค่ารวม 205,140 ล้านบาท จำนวนโครงการเพิ่มขึ้นร้อยละ 27 มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 247 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมาที่มี 288 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 59,110 ล้านบาท   

    ขณะที่ยอดขอส่งเสริมในพื้นที่พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้อยู่ที่ 66 โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 12% ที่มี 59 โครงการ ด้านเงินลงทุนทำได้ 160,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ทำได้เพียง 12,440 ล้านบาท เนื่องจากส่วนใหญ่ปีนี้มีคำขอส่งเสริมการลงทุนที่เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และส่วนหนึ่งยังเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายอีกด้วย ดังนั้นเห็นได้ว่าเงินลงทุนส่วนใหญ่ในไตรมาสแรกของปีนี้ อยู่ในอีอีซีกว่า 81% ซึ่งบีโอไอมั่นใจอย่างยิ่งว่าทั้งปีนี้ คำขอส่งเสริมการลงทุนในอีอีซีจะสามารถทำได้ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ คือ 300,000 ล้านบาท 

    "ในช่วงที่เหลือของปีนี้ยังมั่นใจว่าแนวโน้มการลงทุนจะดีต่อเนื่องจนถึงสิ้นปีนี้ จึงมั่นใจว่าตลอดปีนี้จะมียอดโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนคิดเป็นมูลค่ารวม 720,000 ล้านบาท ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่ยอดโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงุทนรวม 640,000 ล้านบาท" นางสาวดวงใจระบุ

    เลขาธิการบีโอไอกล่าวว่า ที่ประชุมบอร์ดบีโอไอได้พิจารณาให้การส่งเสริมโครงการลงทุนจำนวน 6 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 37,726 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการที่ 1 ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตยาแผนปัจจุบัน โดยโครงการนี้จะผลิตยาแผนปัจจุบัน โดยจะผลิตยารักษาโรคและยาชีววัตถุ เงินลงทุนทั้งสิ้น 4,500 ล้านบาท ตั้งโครงการที่จังหวัดระยอง ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ และมีความมั่นคงทางยา รวมทั้งช่วยพัฒนาบุคลากรของประเทศให้สามารถผลิตยาที่ใช้เทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูงด้วย

    โครงการที่ 2 และโครงการที่ 3 เป็นโครงการต่อเนื่อง โดยโครงการที่ 2 เริ่มจากกิจการผลิตสารสกัดจากหญ้าหวานที่ใช้เทคโนโลยีชีวภาพเงินลงทุนทั้งสิ้น 4,097 ล้านบาท และโครงการที่ 3 กิจการผลิตสารให้ความหวานจากหญ้าหวานที่ใช้เทคโนโลยีชีวภาพจากการนำสารสกัดจากหญ้าหวานมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสารให้ความหวานแทนน้ำตาล เงินลงทุนทั้งสิ้น 4,589 ล้านบาท ตั้งโครงการที่จังหวัดระยอง ซึ่งโครงการนี้จะช่วยส่งเสริมให้หญ้าหวานเป็นทางเลือกในการสร้างรายได้ของเกษตรกร เพิ่มโอกาสและช่องทางให้ประชาชนบริโภคสารให้ความหวานโดยไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ และจะเป็นโครงการต้นแบบสำหรับการนำเทคโนโลยีชีวภาพมาพัฒนาพืชหรือสมุนไพรอื่นๆ

    โครงการที่ 4 เป็นกิจการผลิตเม็ดพลาสติก POLYPROPYLENE (PP) ซึ่งสามารถนำไปใช้ผลิตในอุตสาหกรรมอื่นๆ อาทิ เฟอร์นิเจอร์ บรรจุภัณฑ์ ยานยนต์ และเส้นใยต่างๆ เงินลงทุนทั้งสิ้น 12,200 ล้านบาท ตั้งโครงการที่จังหวัดระยอง โดยโครงการนี้จะใช้วัตถุดิบจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นกลางในประเทศ มูลค่าปีละกว่า 10,600 ล้านบาท

    โครงการที่ 5 เป็นกิจการขนส่งทางท่อ เงินลงทุนทั้งสิ้น 9,500 ล้านบาท โดยจะวางท่อสำหรับขนส่งน้ำมันทางใต้ดินจากจังหวัดสระบุรี ถึงจังหวัดขอนแก่น ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว ยังช่วยลดปัญหาการจราจรและมลพิษจากการขนส่งน้ำมันโดยรถบรรทุกอีกด้วย

    โครงการที่ 6 เป็นกิจการศูนย์กระจายสินค้าระหว่างประเทศด้วยระบบที่ทันสมัย เงินลงทุนทั้งสิ้น 2,840 ล้านบาท ตั้งโครงการที่จังหวัดระยอง โดยจะให้บริการจัดเก็บและกระจายสินค้าประเภทเม็ดพลาสติก เหล็กแผ่นม้วน และอื่นๆ อย่างเป็นระบบ และสอดคล้องกับนโยบายพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของรัฐบาล

    นอกจากนี้ ที่ประชุมบอร์ดบีโอไอยังได้เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนกิจการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (สมาร์ทซิตี้) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน กำหนดใน 6 ด้าน ได้แก่ ด้านคมนาคมขนส่ง,  ด้านการศึกษาและความเท่าเทียมกันในสังคม, ด้านความปลอดภัย, ด้านความสะดวกในการทำธุรกิจ, ด้านบริการจากภาครัฐ และด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม 

    โดยการส่งเสริมการลงทุนจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1.กิจการพัฒนาพื้นที่เมืองอัจฉริยะ ซึ่งจะให้ส่งเสริมแก่ผู้ที่จะเข้ามาพัฒนาและบริหารจัดการพื้นที่เมืองอัจฉริยะซึ่งต้องลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารที่รองรับระบบอัจฉริยะด้านต่างๆ เช่น Fiber Optic, Public Wifi ด้านการบริหารจัดการข้อมูล และต้องจัดให้มีบริการระบบอัจฉริยะพื้นฐานทั้งตามที่ได้กล่าวมา 6 ด้าน 2.ให้ส่งเสริมแก่ผู้ที่จะมาพัฒนาระบบอัจฉริยะในด้านต่างๆ ซึ่งต้องพัฒนา ติดตั้ง และให้บริการระบบเมืองอัจฉริยะที่เหมาะสมอย่างน้อย 1 ด้านจาก 6 ด้านข้างต้น โดยทั้งสองกิจการนี้จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"