โควิด-19 เร่งมนุษย์ สู่นวัตกรรมรูปแบบใหม่


เพิ่มเพื่อน    

      เมื่อเร็วๆ นี้ผมขึ้นเวทีเสวนาเรื่อง "นวัตกรรมกับโควิด" ดับ ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA)  เพื่อช่วยกันมองว่าประเทศไทยจะไปทิศทางไหนหลังวิกฤติโรคระบาดผ่านพ้นไป

            หัวข้อสนทนาโยงไปถึงการช่วยให้ธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (SMEs) จะเอาตัวรอดจากวิกฤติด้วยนวัตกรรมได้อย่างไร

            ตอนหนึ่งของการเสวนา ผมถาม ดร.พันธุ์อาจว่าโควิดทำให้เรามองภาพระบบนวัตกรรมเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

            คำตอบของนักบริหารการนวัตกรรมของชาติท่านนี้ลำดับเรื่องได้น่าสนใจมากครับ    

            ท่านบอกว่า                    

            COVID-19 ทำให้เรามองภาพระบบนวัตกรรมเปลี่ยนไป แต่ไม่ทั้งหมดที่มองว่าระบบกำลังถูกเร่งให้เปลี่ยน  อย่างน้อยสิ่งที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงในอีก 3-5 ปี มีใน 5  ประเด็น

            1.โลกจะเข้าสู่อุตสาหกรรมยุค Clean Manufacturing 

            บริษัทเอกชนทั่วโลกในหลายสาขาจะหายไปเยอะเพราะขาดกระแสเงินสด และคำสั่งซื้อหดหาย Global  Value Chain เปลี่ยนเป็นการรีชอริง (Reshoring) เพราะค่าแรงและต้นทุนการผลิตในประเทศแม่ไม่แพงมากกว่าประเทศ OEM อีกต่อไป

            ผนวกกับ Industry 4.0 ที่สร้างงานรูปแบบใหม่ การนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาใช้ และลดความต้องการแรงงานไร้ฝีมือลงไปอย่างมีนัย และจะมีความพยายามในการลดการใช้ระบบโลจิสติกส์เป็นจำนวนมาก เราจะเห็นบริษัท  Shipping และ Air Freight ปรับตัวอย่างรุนแรง  อุตสาหกรรมการผลิตจะ lean และต้องสะอาดมากขึ้น

            2.เมืองห่างๆ อย่างห่วงๆ (Urban Distancing)

            พื้นที่เมืองจะมี "5E แห่งความปกติใหม่ (5E New  Normal) ที่น่าจะมีให้เห็นถี่ขึ้น นั่นคือพลเมืองในเมืองหลักและเมืองมหานคร จะมีความต้องการนวัตกรรมการรักษาระยะห่าง (Social Distancing Innovation) มากขึ้น สังคมหมุนเวียนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมคือ megatrend ตัวใหม่

            E1) การเผชิญการระบาดของเชื้อโรคต่างๆ ในระดับเมือง (Epidemic) ก่อนที่จะกลายเป็นการระบาดใหญ่  (Pandemic)

            E2) ระบอบการเรียนรู้ (Edtech Regime) เมื่อโรงเรียนไม่สามารถปรับตัวในการให้บริการการเรียนการสอนได้เต็มที่ เพราะปัญหาการปิดและเปิดเรียนในภาวะเสี่ยง รวมทั้งพฤติกรรมการเรียนรู้และความคาดหวังของผู้เรียนเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว จะเกิดการเปลี่ยนแปลงคุณค่าของสถาบันการศึกษาอย่างรุนแรง

            โดยสถาบันการศึกษาระดับสูงกำลังเผชิญกับคลื่นการเปลี่ยนแปลงในขณะนี้ เด็กรุ่นใหญ่มองคุณค่าการศึกษาในระบบหรือในโรงเรียนเปลี่ยนไปมาก

            E3) สภาพแวดล้อมรุนแรงใกล้ขีดสุด (Global-Scale  Extreme Environment) มีกว่า 30 ประเทศที่กำลังเผชิญกับ PM2.5 ประเด็นจาก Paris Agreement ที่ค้างคา

            รวมทั้งก๊าซเรือนกระจกหรือขยะในเมือง แล้วยังมี 11  เมืองทั่วโลกกำลังจะจมน้ำภายในปี 2100

            หนึ่งในนั้นคือกรุงเทพมหานคร คนเมืองจะมีต้นทุนชีวิตที่แพงมากขึ้น

            E4) ความบันเทิงที่ปลอดภัย (Entertainment-that-Care)

            สถานบันเทิง ร้านอาหาร โรงแรม โรงภาพยนตร์ ห้างสรรพสินค้า รวมทั้งอุตสาหกรรม MICE ล้วนได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง การอพยพของปัจเจกเข้าสู่การใช้ชีวิตออนไลน์ได้สร้างพฤติกรรมการใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ แต่คนส่วนใหญ่ยังคงโหยหาการพบปะเจอะเจอกันอยู่

            กิจกรรมนี้คือเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงความมีชีวิตชีวาของเมือง และสนับสนุนคนทุกชนชั้นในการดำรงชีพในเมือง นวัตกรรมที่ช่วยลดความตื่นตระหนก และอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตจึงยิ่งจำเป็นอย่าเร่งด่วน

            E5) พลังงานแห่งเมืองอัจฉริยะ (Smart Energy City)  พลเมืองที่อาศัยอยู่ในเมืองเริ่มใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้นเพราะการ Lockdown และพฤติกรรมใหม่

            เช่น WFH แนวคิดการนำเอายานยนต์ไร้คนขับ  พลังงานสีเขียว ตลาดดิจิทัล สังคมไร้เงินสด ล้วนแล้วแต่นำไปสู่การใช้พลังงานทั้งสิ้น

            3.ยุคสมัยแห่งชีววิทยาศาสตร์ (Era of Life Science)

            อุตสาหกรรมดิจิทัลอาจเป็นเงาทะมึนปกคลุมอุตสาหกรรมหลายสาขา แต่สภาพแวดล้อมของโลกที่กำลังเป็นอยู่ได้สร้างอุปสงค์ในการกำเนิดอุตสาหกรรมชีวภาพ ให้โดดเด่นเป็นอย่างมาก Startups ด้าน Life Science,  Biotech จึงจำเป็นมากพอๆ กับ Ai, Robots, Immersive  Startups

            4.การเงินทั่วถึง (Inclusive Finance)

            แนวคิดธนาคารแบบดั้งเดิมกำลังถูกท้าทาย การเงินของคนใต้ฐานพีระมิดคือประเด็นความมั่นคงรูปแบบใหม่  (Non-Traditional Security) ในยุคสมัยที่การดำเนินธุรกิจปกติทำได้ยาก ระบบการเงินและธนาคารแบบดั้งเดิมกำลังปรับตัวอย่างงงๆ แต่มีความตื่นตัวเป็นอย่างมาก

            5.การลงทุนเน้นผลลัพธ์แบบองค์รวม (Comprehensive Impact Investment)

            นวัตกรรมสังคมต้องการ Impact Investment และเศรษฐีใจดี แต่ในยุค COVID-19 การระดมทุนบนก้อนเมฆ  (Cloud Funding) เริ่มมีผลกระทบเชิงบวกมากขึ้น แต่ยังไม่เพียงพอ บรรษัทที่เริ่มลงทุนในรูปแบบที่เน้นโจทย์ทางสังคมเริ่มมีให้เห็น เพราะต้องปรับตัวเพื่อการอยู่รอด

            ดร.พันธุ์อาจบอกว่า 5 ข้อนี้อาจส่งสัญญาณด้วยแรงขึ้นแตกต่างกัน

            "แต่ที่แน่ๆ คือสัญญาณไม่อ่อนแล้วครับ"

            ทำให้ผมต้องรีบทำการบ้านทั้งห้าหัวข้อโดยด่วน.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"