วัคซีนโควิด-19 ความหวังที่ค่อยๆ โผล่ขึ้นมา


เพิ่มเพื่อน    

     ขณะนี้โรคโควิด-19 ระบาดหนักทั่วโลก เมื่อสิ้นปี 2020 องค์การอนามัยโลก (WHO) ประเมินว่าจะระบาดตลอดปีนี้ (2021) หรือจนกว่าจะเกิด "Herd immunity" (ภูมิคุ้มกันระดับชุมชน) วัคซีนต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนหรือเป็นปีกว่าจะเห็นผลชัด

ประเด็นความเข้าใจสำคัญ:

                ประการแรก ระบาดง่ายกว่าที่เคยเข้าใจ

            ในช่วงต้นปี 2020 เมื่อโควิด-19 ระบาดหนักในจีนจะเข้าใจกันว่าผู้ป่วยมักจะมีไข้ ไอ เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหอบ เมื่อเข้าสู่มิถุนายน แอนโทนี เฟาซี (Anthony Fauci) ผู้มีบทบาทสูงต่อการควบคุมโควิด-19 ของสหรัฐ ชี้ว่าผู้ป่วย 20-40% ไม่แสดงอาการ ใกล้เคียงกับข้อมูลใหม่ของ WHO ที่ประเมินว่า 16% ของผู้ป่วยจะไม่แสดงอาการ (asymptomatic) และสามารถแพร่เชื้อแก่คนอื่นๆ

            ต้นเดือนตุลาคม งานวิจัยของสำนักสถิติแห่งชาติสหราชอาณาจักร (ONS) พบว่า 86.1% ของผู้ป่วย (ช่วงเดือนเมษา.ถึงมิถุนา.) ไม่แสดงอาการหลัก (มีไข้ ไอ เสียการรับกลิ่นรส) ที่น่าตกใจคือในช่วงเวลาเดียวกันพบว่า 20% ของพนักงานร้านขายของชำสหรัฐติดโควิด-19 ส่วนใหญ่เป็นแบบไม่แสดงอาการ

            ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ลำพังความเข้าใจเรื่องอาการอย่างเดียวเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีคนจำนวนมากที่ติดโรคกำลังแพร่เชื้อโดยไม่รู้ตัว การล็อกดาวน์พยายามอยู่แต่ในบ้านเป็นมาตรการแยกผู้ติดเชื้อออกจากคนปกติ ไม่ว่าผู้ติดเชื้อแสดงอาการหรือไม่ เพราะหลังจาก 14 วันผู้ป่วยโควิด-19 จะแสดงตัวให้รู้หรือไม่ก็หายเอง ใครที่ไม่สนับสนุนการอยู่บ้านเท่ากับปล่อยให้โรคระบาดต่อไป

                ประการที่ 2 คำถามจะอดตายหรือป่วยตายดี

            บางคนคิดอย่างสุดโต่ง บ้างว่าจะอดตายเพราะล็อกดาวน์ บ้างว่าหากไม่ล็อกดาวน์จะป่วยตาย บางคนอ้างว่าส่วนใหญ่หายเอง เป็นความจริงที่ผู้เสียชีวิตเป็นเปอร์เซ็นต์ที่น้อยและน้อยลงทุกที ผู้เสียชีวิตเมื่อคำนวณทั้งโลกอาจแค่ 1-2% (หรือต่ำกว่านี้) แต่เนื่องจากแพร่ระบาดเร็ว เป็นไวรัสใหม่ ในเวลาปีเดียวเสียชีวิตแล้ว 1,900,000 คน  เฉพาะอเมริกาตาย 350,000 คน ลองคำนวณว่ามีกี่คนที่ต้องเจ็บปวดเมื่อคนในครอบครัวเสียชีวิต

            ต้องเข้าใจว่าโรคระบาดไม่ใช่เรื่องใหม่ มนุษย์เผชิญโรคระบาดมามาก ถ้าย้อนกลับ 20 ปี ไทยเคยเผชิญโรคระบาดหลายครั้ง จำได้ไหมไข้หวัดนก ไข้หวัดหมู ฯลฯ

            โลกมีองค์ความรู้เรื่องระบาดวิทยา มีการปรึกษาหารือระดับโลก องค์การอนามัยโลกเป็นพี่เลี้ยง สอบถามให้ข้อมูล รัฐบาลมองรอบด้าน ทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อ ภาวะเศรษฐกิจสังคม การตัดสินใจแต่ละครั้งมาจากการประมวลข้อมูลทุกด้านเข้าด้วยกัน ผ่านการปรึกษาหารือจากผู้เชี่ยวชาญทุกด้านจนได้ข้อสรุปที่ลงตัว นานาชาติรู้ดีอยู่แล้วว่าผลการปิดเมืองเป็นอย่างไร ไม่มีรัฐบาลใดอยากล็อกดาวน์ถ้าไม่จำเป็น   การจะพูดเรื่องผลกระทบต้องตั้งบนความรู้ความเข้าใจ จะอดตายหรือป่วยตายล้วนเป็นชีวิตคนมากมาย แต่ละประเทศไม่จำเป็นต้องทำเหมือนกันทุกกระเบียดนิ้ว เพราะบริบทต่างกัน ความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจต่างกัน ความพร้อมด้านสาธารณสุขไม่เท่ากัน แม้กระทั่งความร่วมมือจากประชาชนก็ต่างกันด้วย

                ประการที่ 3 คุณภาพของวัคซีนรุ่นแรก

            วัคซีนที่ใช้ขณะนี้เป็นวัคซีนรุ่นแรก ไม่มีวัคซีนตัวใดให้ผลเต็มร้อย หมายความว่ายังมีคนที่จะติดโรคแม้ได้รับวัคซีนแล้ว นอกจากนี้แอนโทนี เฟาซี ชี้ว่า คนที่ฉีดวัคซีนแล้วไม่ได้แปลว่าจะไม่ติดเชื้อโรคโควิด-19 อีก เพียงแต่เมื่อติดเชื้อจะไม่ป่วยหนักหรือไม่รู้สึกว่าป่วยและยังเป็นผู้แพร่เชื้อได้ด้วย

                ประการที่ 4 ต้องใช้เวลากี่ปีกว่าจะฉีดวัคซีนได้มากพอ

            ความเข้าใจอีกข้อคือ เนื่องจากต้องฉีดทั่วโลก ฉีดให้มากที่สุด เรื่องนี้จำต้องใช้เวลาและจะกินเวลาไม่เท่ากัน Robert Redfield ผอ.ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐ (CDC) คาดว่าอเมริกาจะใช้เวลา 6-9 เดือน ในขณะที่ชาร์วิล พาเทล (Sharvil Patel) เจ้าของบริษัท ไซดัส คาดิลา (Zydus Cadila) ของอินเดีย ผู้วิจัยวัคซีน ZyCov-D ประเมินว่าต้องใช้เวลาถึง 3 ปีกว่าคนอินเดียได้วัคซีนครบ ใกล้เคียงกับที่รัฐบาลฟิลิปปินส์ประเมินว่าจะต้องใช้เวลา 3-5 ปีกว่าจะฉีดวัคซีนให้ประชากร 60-70% เพียงพอต่อการควบคุมโรคระบาด

            ดังนั้น บางประเทศอาจใช้เวลาไม่เกิน 1 ปี แต่ไม่ใช่ทุกประเทศทำได้เช่นนี้

                ประการที่ 5 กระแสคนไม่ฉีดวัคซีน

            ในอีกด้านหนึ่ง ในขณะที่หน่วยงานรัฐเร่งฉีดวัคซีน มีกระแสต่อต้านวัคซีนเคลื่อนไหวเป็นขบวนการ ยกตัวอย่างกลุ่ม Ohio Advocates for Medical Freedom ย้ำว่าการฉีดหรือไม่เป็นเสรีภาพ รัฐบังคับไม่ได้ ทำนองเดียวกับการสวมใส่หน้ากากอนามัย

            ผลสำรวจของ Gallup ที่นำเสนอสิงหาคมพบว่า คนอเมริกันร้อยละ 65 เท่านั้นที่ยอมให้ฉีดวัคซีน ร้อยละ 35 บอกว่าจะไม่ฉีด แม้ อย.สหรัฐรับรองและฉีดให้ฟรี ใกล้เคียงกับผลสำรวจของ USA TODAY/Suffolk เมื่อปลายสิงหาคม พบว่า คนอเมริกัน 2 ใน 3 (67%) ไม่อยากฉีดวัคซีน ร้อยละ 23 ประกาศว่าจะไม่ใช้เด็ดขาด บางคนให้เหตุผลว่าไม่อยากเป็นหนูทดลอง บางคนคิดว่าหากยิ่งรัฐบาลบังคับฉีดจะยิ่งน่าสงสัยว่ามีอะไรเบื้องหน้าเบื้องหลังหรือไม่

            ส่วนผลโพลของ AP-NORC เมื่อต้นธันวาคม คนอเมริกัน 47% ยินดีไปฉีดวัคซีน 27% ไม่แน่ใจ 26% บอกว่าไม่ไปฉีดแน่นอน

            จะเห็นว่าผู้ใหญ่อเมริกันอย่างน้อย 20% ยืนยันว่าจะไม่ฉีดวัคซีนเด็ดขาด

            ด้านยุโรป ผลโพลของสื่อ Le Journal du Dimanche พบว่าคนฝรั่งเศส 41% เท่านั้นที่คิดจะฉีดวัคซีนโควิด-19

                ประการที่ 6 โรคระบาดจะยุติหากประชากรโลก 70% ได้รับวัคซีน

            ไม่ว่าจะฉีดช้าหรือเร็ว WHO ประเมินว่าการระบาดจะยุติหากประชากรโลก 65-70% ได้รับวัคซีน (หมายถึง 70% ในทุกพื้นที่) Amesh Adalja จาก Johns Hopkins Center for Health Security กล่าวทำนองเดียวกันว่า สหรัฐจะปลอดโรคระบาดหากคนในประเทศ 70% ขึ้นไปได้รับวัคซีน ทั้งนี้ขึ้นกับประสิทธิภาพวัคซีนด้วย หากประสิทธิภาพต่ำตัวเลขผู้ฉีดวัคซีนต้องมากกว่านี้

            ประโยชน์ของวัคซีนรุ่นแรกคือป้องกันเจ็บป่วยรุนแรงแต่ยังติดเชื้อและแพร่เชื้อแก่คนอื่นโดยไม่รู้ตัว นั่นหมายความว่าหากคนที่ได้รับวัคซีนแล้วใช้ชีวิตแบบไม่ควบคุมการแพร่เชื้อคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนยังเสี่ยงติดโรค

            ข้อเสียสำคัญอีกประการคือ หากฉีดล่าช้ายิ่งเสี่ยงกลายพันธุ์ Jeremy Farrar จาก Wellcome Trust ชี้หากฉีดวัคซีนล่าช้ายิ่งเปิดโอกาสให้เชื้อกลายพันธุ์ เสี่ยงเกิดสายพันธุ์ก่อโรครุนแรง บางประเทศที่ระบบสาธารณสุขอ่อนแออาจเป็นที่มาของสายพันธุ์ใหม่ เช่น แอฟริกา

                ประการที่ 7 ต้องรออีก “หลายปี” กว่าจะได้วัคซีนรุ่นใหม่

            ดังที่เคยนำเสนอแล้วว่าเป็นความเข้าใจผิดถ้าคิดว่าโลกจะฟื้นคืนสู่สภาพเดิมอย่างรวดเร็วหลังมีวัคซีนรุ่นแรก ต้องติดตามว่าวัคซีนให้ภูมิคุ้มกันกี่เดือนกี่ปี ป้องกันได้มากน้อยแค่ไหน ครอบคลุมไวรัสที่กลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ หรือไม่

            ล่าสุดยังไม่มีวัคซีนใดที่ทดลองใช้กับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ต้องติดตามว่าจะมีวัคซีนตัวใดใช้ครอบคลุมทุกวัยหรือต้องวิจัยวัคซีนที่ใช้เฉพาะกลุ่มวัย

            การมีวัคซีนในปีนี้ (2021) ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นแต่ไม่เป็นเหตุฟื้นคืนสู่สภาพเดิม คงต้องรออีก “หลายปี” ในการพัฒนาวัคซีนรุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากพอ

                ประการที 8 ป้องกันไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์แต่ควบคุมได้

            ต้องยอมรับว่าโรคระบาดโควิด-19 ไม่สามารถป้องกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ โจทย์ใหม่จึงอยู่ที่ทำอย่างไรจะควบคุมให้การระบาดอยู่ในระดับที่รับได้ เช่น แพร่ระบาดในพื้นที่จำกัด ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจแต่น้อย คนป่วยไม่ล้นโรงพยาบาล

            ประเด็นผู้ป่วยไม่ล้นโรงพยาบาลเป็นเรื่องสำคัญ ต้องเริ่มจากเข้าใจว่าระบบสาธารณสุข ขีดความสามารถในการรับผู้ป่วยของแต่ละประเทศมีจำกัด ไม่สามารถผลิตแพทย์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขชั่วข้ามคืน

            อีกทั้งในภาวะปกติโรงพยาบาลมีคนไข้ประจำอยู่แล้ว มีคนเจ็บป่วยรายใหม่ที่ต้องรับการรักษา โควิด-19 เป็นโรคใหม่ที่เพิ่มเข้ามาและเพิ่มภาระงานแก่ระบบสาธารณสุขอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

            โควิด-19 ไม่ได้กระทบเฉพาะผู้ป่วยโรคนี้เท่านั้นแต่จะกระทบต่อคนป่วยอื่นๆ คนไข้เดิมที่ต้องรับการตรวจรักษาเป็นประจำ กรณีเลวร้ายสุด หากมีผู้ป่วยมากจนโรงพยาบาลรับไม่ไหว แพทย์มีสิทธิเลือกรับรักษาและปล่อยทิ้งบางคน นี่คือเหตุผลว่าทำไมทุกประเทศต้องระวังไม่ให้คนป่วยล้นโรงพยาบาล ต้องจำกัดการแพร่ระบาดให้อยู่ในระดับที่รับได้

            การป้องกันไม่ให้เจ็บป่วยย่อมดีกว่าแน่นอน การป้องกันตัวเองคือการป้องกันคนอื่น การป้องกันคนอื่นคือการป้องกันตนเอง

ชาญชัย คุ้มปัญญา

[email protected]

---------------------------

ภาพ : วัคซีนโควิด-19

เครดิต : https://news.un.org/en/story/2020/12/1080422


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"