จ่อเยียวยาแสลงแจกเงิน แรงงานชงแพ็กเกจใหญ่


เพิ่มเพื่อน    

  “ประยุทธ์” ยันกำลังหารือมาตรการเยียวยา  โดยเฉพาะเรื่องค่าสาธารณูปโภค “ขุนคลัง” แย้มไม่ทันประชุม ครม. 12 ธ.ค.นี้ รอให้ตกผลึกก่อน แสลงคำ “แจกเงิน”  ชี้แค่มาตรการบรรเทาเดือดร้อน แบ่งรับแบ่งสู้เรื่องให้ 4  พันบาท “24 องค์กร” ชงแพ็กเกจใหญ่ดูแลแรงงาน ลั่น  “บิ๊กตู่” ต้องรับผิดชอบ นายกฯ ประชุมจัดงบปี 2565 วางยุทธศาสตร์ให้ขอโครงการใน 15 ม.ค. เพื่อไทยมึนไม่เคยเห็นการลดวงเงินเหยียบ 2 แสนล้าน    

    เมื่อช่วงเช้าวันจันทร์ที่ 11 ม.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้หารือกับทีมเศรษฐกิจบนตึกไทยคู่ฟ้า โดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง และต่อมาเวลา 11.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ได้โพสต์เฟซบุ๊กผ่านเพจ “ประยุทธ์ จันทร์โอชา  Prayut-Chan-o-cha” ระบุว่า "ช่วงเช้าได้ประชุมติดตามตัวเลขทางเศรษฐกิจ หารือมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งในเรื่องของค่าสาธารณูปโภคต่างๆ"  
    ด้านนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน กล่าวถึงผลประชุมสั้นๆ ว่า มีการหารือถึงมาตรการชดเชยเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ส่วนจะจ่ายเงินชดเชยเยียวยารอบ 2  จำนวน 4,000 บาท สองเดือนหรือไม่นั้น ขอให้รอผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 12 ม.ค. ซึ่งยืนยันการดำเนินการมาตรการใดๆ ทุกอย่างต้องเป็นไปอย่างรอบคอบ
    นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง กล่าวว่า  กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างสรุปมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่  ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะเป็นการแจกเงินหรือเป็นมาตรการเราไม่ทิ้งกันรอบใหม่ โดยต้องไปดูในรายละเอียดก่อนว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่ไม่อยากให้เรียกว่าแจกเงิน เพราะเป็นมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนมากกว่า
     นายอาคมกล่าวว่า ส่วนข้อเสนอภาคเอกชนที่ให้กระทรวงการคลังแจกเงิน 4 พันบาทเพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 นั้น ไม่รู้ว่าเอกชนเสนอมาบนพื้นฐานอะไร ไม่แน่ใจ แต่ไม่ใช่ข้อมูลจากกระทรวงการคลัง ต้องไปถามเขา ส่วนของรัฐบาลก็มีการเตรียมไว้อยู่ ยังต้องทำรายละเอียดอีก โดยจะยังไม่มีการเสนอให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาในวันที่ 12 ม.ค. ขอทำการบ้านให้จบก่อน
    “ขอให้รอดูมาตรการก่อนค่อยว่ากัน ไม่ใช่แจกเงิน แต่เป็นการบรรเทาความเดือดร้อน ขอให้รอดูรายละเอียด  เป็นการใช้เงินในวงเงินพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 1  ล้านล้านบาท ในส่วนเยียวยาผู้ได้รับกระทบ ยังเพียงพอ และไม่มีแผนต้องกู้เพิ่ม โดยมาตรการจะออกมาเร็วๆ นี้" นายอาคมกล่าว
    ด้านนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ยังไม่มีข้อสรุปเรื่องการแจกเงินในตอนนี้ และยังไม่มีการเสนอให้ รมว.การคลังพิจารณา
ส่วน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า การที่รัฐบาลประกาศมาตรการเข้มข้นขั้นสูงสุดในการควบคุมการเดินทางเข้าออกนอกพื้นที่ โดยเลี่ยงใช้คำว่าล็อกดาวน์ เพราะจะมีผลผูกพันทางข้อกฎหมายที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบเยียวยาการฟื้นฟูพื้นที่  ส่วนที่รัฐบาลออกมายืนยันว่ายังมีงบประมาณเพียงพอในการช่วยเหลือประชาชน ที่น่าสนใจคือการเยียวยาโควิดรอบแรกรัฐยังล้มเหลว ดังนั้นหากมีเงินเหลือจริงทำไมไม่ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่
"น่าสงสัยว่ากรณีที่รัฐบาลประวิงเวลา ไม่ยอมเปิดเผยว่ามีมาตรการในการเยียวยาอย่างไร พรรคพร้อมจะเป็นกระบอกเสียงแทนประชาชน ในการทวงถามรัฐบาลถึงมาตรการดูแลประชาชนที่ชัดเจน รัฐบาลต้องรับผิดชอบ ประชาชนมากกว่านี้ ไม่ควรทิ้งภาระทั้งหมดให้ประชาชนรับผิดชอบตัวเองอย่างปัจจุบัน" นพ.ชลน่านกล่าว
แรงงานชงแพ็กเกจเยียวยา
    ขณะเดียวกัน เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน และองค์กรภาคี 24 องค์กร ได้แถลงข้อเรียกร้องถึงรัฐเพื่อเยียวยาประชาชนจากโควิด-19 โดยระบุว่า มาตรการเยียวยาแรงงานครั้งใหม่ต้องชัดเจน เพียงพอ ครอบคลุมทุกคนในประเทศ เพราะถือเป็นคนกลุ่มใหญ่ 99% และเป็นผู้สร้างสรรค์ความเจริญให้ประเทศ สร้างความมั่งคั่งกว่า  99% ให้เศรษฐกิจทั้งระบบที่มีนายทุนผู้ร่ำรวยเพียง 1%
สำหรับข้อเรียกร้องประกอบด้วย 1.ขยายมาตรการการชดเชยรายได้พื้นฐานให้ประชาชนทุกคนตั้งแต่อายุ 18  ปีขึ้นไป รวมถึงแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่อาศัยในประเทศไทย ยกเว้นภาคราชการ โดยจ่ายเดือนละ 5,000  บาทต่อคน เป็นเวลา 3 เดือนจนถึงช่วงรับวัคซีน 2.ปรับปรุงขั้นตอนการเข้าถึงสิทธิการได้รับเงินชดเชยดังข้างต้น  3.พักหนี้ครัวเรือนเป็นการทั่วไปอย่างน้อย 1 ปี และลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคและอินเทอร์เน็ตเป็นเวลา 3  เดือน
    4.ยกเลิกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)  โดยจัดสรรเงินทุนให้เปล่าแก่นักเรียนนักศึกษาทุกคนขึ้นมาแทน 5.ประชาชนทุกคนที่อาศัยอยู่ในไทยต้องเข้าถึงการตรวจโรคฟรี รวมถึงได้รับวัคซีนฟรีเมื่อแสดงเจตจำนงที่โรงพยาบาล และผู้ที่แสดงเจตจำนงไม่ฉีดวัคซีนต้องไม่มีความผิดตามกฎหมาย เช่นเดียวกับการมีสิทธิ์เลือกดาวน์โหลดแอปพลิเคชันตระกูลชนะของรัฐหรือไม่ก็ได้
6.จากบทเรียนการออกมาตรการเยียวยาครั้งที่ผ่านมา  ที่ประสบปัญหาสับสน คลุมเครือ มีการแบ่งแยกกีดกันระหว่างแรงงานบางกลุ่ม และให้สิทธิ์ไม่ถ้วนหน้า ครั้งนี้รัฐไม่ควรทำผิดพลาดซ้ำเดิม ต้องให้แรงงานทุกกลุ่มอาชีพเข้าถึงมาตรการเยียวยาของรัฐโดยไม่แบ่งแยก และต้องไม่นำเงินประกันสังคมของลูกจ้างไปใช้เยียวยาอีก โดยหากนายจ้างสั่งให้ลูกจ้างหยุดงาน หรือถูกทางราชการสั่งปิดด้วยเหตุโรคระบาด นายจ้างและรัฐต้องร่วมจ่ายเงินแก่ลูกจ้างครบ 100% ส่วนผู้ประกันตน มาตรา 33 กรณีที่นายจ้างสั่งหยุดงานชั่วคราวโดยมิใช่เหตุสุดวิสัย แต่เป็นเหตุอื่น ตามมาตรา 75 ของ พ.ร.บ.แรงงาน นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้าง 75% ของค่าจ้างนั้น และให้รัฐจ่ายเงินส่วนต่างให้แก่ลูกจ้างอีก 25%
"ลดเงินสมทบสำหรับผู้ประกันตน มาตรา 39 และ 40  ชั่วคราว โดยรัฐจ่ายสมทบเข้ากองทุนแทน ในระยะกลาง เนื่องจากมีแรงงานจำนวนมากยังไม่ได้เข้าสู่ระบบประกันสังคม รัฐควรสนับสนุนให้แรงงานเหล่านี้เข้าถึงหลักประกันสังคม และรัฐควรมีมาตรการช่วยเหลือแรงงานกลุ่มที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด โดยเฉพาะแรงงานในธุรกิจส่งอาหารตามสั่ง ส่งพัสดุ พนักงานทำความสะอาด และพนักงานนวด" แถลงการณ์ระบุ
7.รัฐต้องดูแลแรงงานภาคส่วนศิลปวัฒนธรรม ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากคำสั่งของราชการ โดยต้องอุดหนุนค่าเช่าสถานที่ประกอบการที่สั่งงด เช่น ผับบาร์ โรงมหรสพ และโรงละคร ในช่วง 3 เดือน เปิดสถานที่ของรัฐหรือจัดสรรงบประมาณแก่รัฐวิสาหกิจ ให้ผู้สร้างสรรค์งานศิลปะเข้าใช้เพื่อทำงานโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายหรือจ่ายในอัตราย่อมเยา รัฐต้องประกาศจ้างงานการผลิตสื่อสาธารณะ  เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนด้วยช่องทางศิลปะ และในระยะยาวรัฐควรมีมาตรการสนับสนุนศิลปะร่วมสมัยอย่างจริงจัง
8.มาตรการช่วยเหลือแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน  อาทิ ปรับลดค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติ กำหนดมาตรการที่ทำให้แรงงานข้ามชาติที่ถูกกักตัวตามมาตรการของรัฐ ขาดรายได้เนื่องจากปิดกิจการชั่วคราว  รวมถึงกรณีเลิกจ้าง ให้สามารถเข้าถึงการชดเชยการขาดรายได้ 9.มีมาตรการลดและป้องกันช่องว่างความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย และ 10.การแพร่ระบาดรอบสองถือเป็นความบกพร่องของเจ้าหน้าที่รัฐ ดังนั้นรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ต้องแสดงความรับผิดชอบ ในฐานะที่เป็นตัวการสร้างความเสียหายให้กับประเทศมาเป็นเวลามากกว่า 6 ปี รวมถึงเป็นผู้ไร้ความสามารถอย่างสิ้นเชิงในการบริหารประเทศในสถานการณ์วิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19
    วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ได้มอบแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ผ่านทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) ว่า 1.แนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ  พ.ศ.2565 จะต่อเนื่องจากงบประมาณปี พ.ศ.2564 โดยยังคงเป็นงบประมาณแบบขาดดุลในจำนวนที่ไม่ส่งผลกระทบต่อวินัยและความยั่งยืนทางการคลัง เพื่อขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวพ้นจากภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวมทั้งเพื่อฟื้นฟูให้เศรษฐกิจกลับมาเติบโตได้อย่างปกติตามศักยภาพ  
ส่งคำของบ 65 ใน 15 ม.ค.
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ครม.ได้มีมติเมื่อวันที่ 5  มกราคม 2564 เห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 จำนวน 3,100,000 ล้านบาท ลดลงจากงบประมาณรายจ่ายตาม พ.ร.บ.งบประมาณปี 2564 ที่มีวงเงิน 3,285,962.5 ล้านบาท เป็นจำนวน 185,962.5 ล้านบาท เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ซึ่งวงเงินงบประมาณรายจ่ายที่มีอยู่อย่างจำกัด จึงต้องขอความร่วมมือดำเนินการดังนี้ 1.บริหารงบประมาณรายจ่ายประจำอย่างประหยัด คุ้มค่า  มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับความจำเป็นในสถานการณ์ 2.ให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ เด็ก  ผู้สูงอายุ และคนพิการ เพื่อให้มีรายได้เพียงพอในการดำรงชีวิต 3.ส่งเสริมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4.จัดทำงบประมาณให้ครอบคลุมทุกแหล่งเงิน
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า ประเด็นสำคัญในการจัดทำคำของบประมาณปี พ.ศ.2565 ให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกกับประเด็นการพัฒนาตามแผนแม่บทเฉพาะกิจ 4  ประเด็นที่ต้องเร่งดำเนินการ คือ 1.การเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากภายในประเทศ 2.การยกระดับขีดความสามารถของประเทศเพื่อรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว 3.การพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของคนให้เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ และ 4.การปรับปรุงและพัฒนาปัจจัยพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศ โดยขอให้หน่วยรับงบประมาณนำประเด็นสำคัญทั้งหมดที่ได้กล่าวมาแล้ว มาใช้ประกอบการจัดทำคำขอรับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 จัดส่งให้สำนักงบประมาณภายในวันที่ 15  ม.ค.นี้
    ด้านนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม  พรรค พท.กล่าวว่า ตนเป็น ส.ส.มา 20 ปี ไม่เคยเห็นรัฐบาลใดตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีลดลงกว่า  200,000 ล้านบาทเหมือนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ งบปี  2565 ในช่วงที่ประเทศกำลังประสบวิกฤติเศรษฐกิจอย่างหนักจากเชื้อโควิด รัฐบาลมีหน้าที่สำคัญสุดคือกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ คือการลงทุน โครงการภาครัฐต้องเพิ่มขึ้น  แต่ พล.อ.ประยุทธ์ให้ประหยัดงบประมาณ และไม่มีนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจและช่วยเหลือภาคธุรกิจกับประชาชนได้อย่างไร
    “อยากทราบว่าเหตุใด พล.อ.ประยุทธ์กลับไม่แตะต้องงบกองทัพต่างๆ แม้แต่น้อย ไม่พูดถึงการปรับลดงบประมาณปี 2565 ของกองทัพ โครงการจัดซื้ออาวุธต่างๆ  ยังเดินหน้าเต็มที่ ทำไม พล.อ.ประยุทธ์จึงไม่ปรับลดงบประมาณของ 3 กองทัพ มีความจำเป็นเร่งด่วนอะไร ต้องซื้อเรือดำน้ำใหม่จากจีน 2 ลำในงบปี 2565 ในสภาวะประชาชนกำลังเดือดร้อนแสนสาหัส" นายยุทธพงศ์กล่าว
    ส่วนที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายศรีสุวรรณ  จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้มายื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบและแสวงหาข้อเท็จจริงของมาตรการรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการแก้ปัญหาการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 รวม 3 กรณี คือ 1.กรณีการปิดตลาดนัดชุมชน ภายหลังตรวจพบประชาชนที่ติดเชื้อโควิด-19 ต่างจากห้องแอร์หรือในห้างสรรพสินค้าเป็นการเลือกปฏิบัติ 2.กรณีการผลิตหน้ากากอนามัยของโรงงานที่เครือเจริญโภคภัณฑ์สร้างและมอบให้ทางราชการ และกรณีการนำวัคซีนโควิด-19 มาฉีดให้คนไทยล่าช้า.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"