ไทยควรศึกษาการฉีดวัคซีน จากอินเดีย, อินโดนีเซีย


เพิ่มเพื่อน    

 

            เรื่องวัคซีนเป็นหัวข้อใหญ่สำหรับคนไทย เพราะกำลังรอการฉีดให้คนไทยกลุ่มแรกในเดือนหน้า

            มีคำถามหลายประเด็นที่ต้องการความชัดเจนในแต่ละขั้นตอน

            ต้องยอมรับว่านี่เป็นประสบการณ์ใหม่และใหญ่ที่เรายังไม่เคยทำมาก่อน และประเทศอื่นๆ ทั่วโลกก็มีปฏิบัติการแจกจ่ายและฉีดวัคซีนโควิดเป็นครั้งแรกเช่นกัน

            ที่ผมสนใจติดตามเป็นพิเศษคือสองประเทศใหญ่ในเอเชียที่ได้เริ่มการฉีดวัคซีนให้ประชาชนของตนแล้ว

            อินโดนีเซียเตรียมฉีดฟรีให้ประชาชน 181.5 ล้านคน และจะเริ่มด้วยวัคซีนของจีนจาก Sinovac ที่รัฐบาลไทยกำลังจะได้รับมาชุดแรกในเดือนหน้าเหมือนกัน

            อินเดียก็กำลังแจกวัคซีนเพื่อฉีดให้ประชาชนอย่างน้อย 300 ล้านคนใน 8 เดือน

            ต้องถือว่าเป็นปฏิบัติการเรื่องนี้ในระดับใหญ่ที่สุดในโลก

            ข่าวบอกว่าประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ของอินโดนีเซียเป็นคนแรกของประเทศที่เข้ารับการฉีดวัคซีนจากประเทศจีนในช่วงเช้าวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา

            อินโดนีเซียกำลังเจอศึกหนักเรื่องโควิด มีจำนวนคนติดเชื้อสูงที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชีย

            รัฐบาลมีนโยบายฉีดวัคซีนฟรีให้บุคลากรทางการแพทย์ ข้าราชการ และกลุ่มประชาชนผู้มีความเสี่ยง

            รัฐบาลอินโดฯ มีแผนจะฉีดให้กับประชาชน 181.5 ล้านคน หรือราว 67% ของประชาชนทั้งหมด

            เพราะประเทศนี้เป็นเกาะแก่งหลายพันแห่ง กิจกรรมฉีดวัคซีนจึงเป็นเรื่องท้าทายมาก

            ที่หนักเป็นพิเศษคือ การต้องนำวัคซีนเข้าไปถึงจุดที่ระบบสาธารณูปโภคยังไม่ได้มาตรฐาน

            แผนการฉีดคือ 2 โดส ต้องมีการเก็บรักษาวัคซีนเอาไว้ที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส

            วัคซีนได้รับการอารักขาอย่างแน่นหน้าโดยกองกำลังติดอาวุธ

            ที่ 'อินเดีย' ก็เริ่มการแจกวัคซีนที่ใหญ่ที่สุดในโลกโดยเริ่มจากวัคซีนของ AstraZeneca

            วัคซีนจะมีการแจกจ่ายจากสถาบันเซรุ่มของประเทศอินเดีย เริ่มวันที่ 12 มกราคม ด้วยรถบรรทุกที่ติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมอุณหภูมิเอาไว้

            จากนั้นก็ขนย้ายจากรถบรรทุกไปยังเครื่องบินของสายการบินอินเดีย ที่จะแจกจ่ายไปยังจุดฉีดวัคซีนไปทั่วประเทศอินเดีย คนกลุ่มแรกที่จะได้รับวัคซีนนั้นจะเป็นบุคลากรทางการแพทย์และผู้ที่ทำงานอยู่ในกลุ่มเสี่ยงจำนวน 30 ล้านคน

            ต่อมาก็จะเป็นกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงทางด้านสุขภาพ หรือกลุ่มประชากรที่อายุเกิน 50 ปี จำนวนกว่า 270 ล้านคน

            เริ่มตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม สายการบินมีกำหนดการจะจัดส่งวัคซีนจำนวนกว่า 5.65 ล้านโดสไปยังหลายเมืองทั่วประเทศ

            รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ได้มีการเซ็นสัญญาจัดซื้อวัคซีน Covishild ซึ่งผลิตจากสถาบันเซรุ่มของอินเดีย เมื่อประมาณ 1 สัปดาห์

            สถาบันเซรุ่มของอินเดียได้ดำเนินการจัดส่งวัคซีนเป็นจำนวน 11 ล้านโดสให้กับรัฐบาลอินเดียแล้ว ราคาโดสละ 200 รูปี (ประมาณ 82 บาท)

            หน่วยงานกำกับดูแลด้านยาของอินเดียยังได้มีการอนุมัติฉุกเฉินให้กับวัคซีนจากบริษัท Bharat Biotech ที่มีชื่อวัคซีนว่า Covaxin แล้วเช่นกัน

            แต่ถึงวันนี้ยังต้องประเมินประสิทธิภาพของวัคซีนตัวนี้ และต้องรอความชัดเจนเรื่องช่วงเวลาและสถานที่ที่วัคซีน Covaxin จะเริ่มกระบวนการจำหน่ายด้วย

            ประสบการณ์ของสองประเทศนี้น่าจะเป็นบทเรียนสำหรับประเทศไทยที่จะนำมาปรับใช้กับการแจกจ่าย, ระบบกระจายวัคซีนและวิธีการรับมือกับ “ผลข้างเคียง” ที่เกิดขึ้นเมื่อคนไทยเริ่มได้รับการฉีดวัคซีน

            เพราะท้ายที่สุด “ความน่าเชื่อถือ” และ “ความน่าไว้วางใจ” ของทางการในความรู้สึกของประชาชนคือหัวใจที่จะตัดสินว่าการฉีดวัคซีนของประเทศไทยจะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด

            รัฐบาลต้องวางแผนการแจกจ่ายและทำความเข้าใจกับประชาชนอย่างใกล้ชิด และตอบทุกคำถามอย่างจะแจ้งหากไม่ต้องการมีปัญหาที่ไม่ควรจะเกิดระหว่างทาง

            เพราะความรู้สึกของคนไทยยามนี้มีความ “เปราะบาง” ต่อข่าวลือข่าวปล่อยและข่าวซุบซิบที่จริงบ้างเท็จบ้างเต็มโซเชียลมีเดียตลอดเวลา.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"