โควิดฉุดยอดใช้พลังงานปี63ร่วง5.8%


เพิ่มเพื่อน    

 

20 ม.ค.2564นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์พลังงานปี 2563 พบว่า ความต้องการใช้พลังงานเกือบทุกชนิดเชื้อเพลิงลดลง ภาพรวมใช้พลังงานขั้นต้นลดลง 5.8% ซึ่งเป็นการลดลงจากเกือบทุกภาคส่วน แบ่งเป็นการใช้น้ำมันสำเร็จรูป ลดลง 11.5% โดยการใช้น้ำมันดีเซลลดลง 2.6% ส่วนหนึ่งมาจากการขนส่งผลผลิตทางการเกษตรที่ลดลงจากสถานการณ์ภัยแล้งช่วงต้นปี ประกอบกับปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ในช่วงปลายปี รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลให้การใช้รถเพื่อเดินทางลดลง การใช้น้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล ลดลง 1.2% จากมาตรการทำงานจากที่บ้าน (เวิร์ค ฟอร์ม โฮม) และลดการเดินทางข้ามจังหวัด  

ขณะที่การใช้น้ำมันเครื่องบิน ลดลง 61.8% เนื่องจากมาตรการระงับการบินจากต่างประเทศและลดการบินในประเทศ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการท่องเที่ยวในช่วงปลายปีทำให้การบินในประเทศเพิ่มขึ้น ขณะที่ การใช้ก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี) ลดลงเกือบทุกสาขา โดยเฉพาะการใช้ในภาคขนส่ง ลดลง 26.3% จากการปรับลดลงของราคาขายปลีกน้ำมัน ส่งผลให้ผู้ใช้รถยนต์แอลพีจีบางส่วนหันมาใช้น้ำมันทดแทน การใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ลดลง 17.7% การใช้ในภาคอุตสาหกรรม ลดลง 7.9% และภาคครัวเรือนมีการใช้ลดลง 4.5% 

ด้านการใช้ก๊าซธรรมชาติ ลดลง 8.2% โดยลดลงทุกสาขาเศรษฐกิจ ซึ่งลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว  และในส่วนของการใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ (เอ็นจีวี) ลดลง 28.5% จากผู้ใช้รถยนต์เอ็นจีวีบางส่วนเปลี่ยนมาใช้น้ำมันเนื่องจากราคาไม่สูงมากนัก ขณะที่การใช้ไฟฟ้า ลดลง 2.9% โดยลดลงเกือบทุกสาขา โดยกลุ่มธุรกิจหลักที่มีการใช้ไฟฟ้าลดลงอย่างชัดเจน ได้แก่ โรงแรม ห้างสรรพสินค้า ภัตตาคารและไนต์คลับ ซึ่งมีผลมาจากมาตรการล็อก ดาวน์  

“การใช้พลังงานที่ลดลงส่งผลให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์(CO2) จากการใช้พลังงานของประเทศไทย ปี 63 ลดลงในทุกภาคเศรษฐกิจ ทั้งการผลิตไฟฟ้า ภาคขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม และภาคเศรษฐกิจอื่นๆ โดยคาดว่าการปล่อย CO2 จากการใช้พลังงานอยู่ที่ระดับ 222.8 ล้านตัน CO2  ลดลงจากปีก่อน 11.1% และยังมีเชื้อเพลิงบางส่วนที่เพิ่มขึ้นคือการใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ เพิ่มขึ้น 0.2% โดยเป็นการเพิ่มขึ้นจากการใช้ถ่านหินในภาคอุตสาหกรรม ในขณะที่พลังงานทดแทนมีการใช้เพิ่มขึ้น 0.4% และไฟฟ้านำเข้ามีการใช้เพิ่มขึ้น 7.1% เนื่องจากปลายปี 2562 มีโรงไฟฟ้าพลังน้ำของประเทศลาวเริ่มจ่ายเข้าระบบจำนวน 3 โรง”นายวัฒนพงษ์ กล่าว 

อย่างไรก็ตามแนวโน้มการใช้พลังงานปี 2564 ซึ่ง สนพ. ได้มีการพยากรณ์โดยอ้างอิงสมมุติฐานด้านเศรษฐกิจ และนโยบายที่เกี่ยวข้องมาเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการใช้พลังงาน โดย สศช. คาดว่าในปี 2564 อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะขยายตัว 3.5 - 4.5% ด้านราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก สศช. คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปี 2564 คาดว่าจะอยู่ในช่วง 41– 51 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนคาดว่าจะอยู่ในช่วง 30.3 – 31.3 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และคาดว่าเศรษฐกิจโลกปี 64 จะขยายตัวลดลง 4.9% 

ทั้งนี้ สนพ. ได้คำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวเนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้น โดย สนพ. ได้ประมาณการความต้องการใช้พลังงานในปี 2564 ออกเป็น 2 กรณี คือกรณีที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ 1 ครั้ง และกรณีที่เกิดการระบาดมากกว่า 1 ครั้ง โดยสามารถสรุปได้ดังนี้ การใช้พลังงานขั้นต้น ปี 64 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.2-1.9% จากการเพิ่มขึ้นของพลังงานเกือบทุกประเภท ยกเว้นการใช้น้ำมันที่ลดลง -1.9 ถึง -2.9% โดยคาดการณ์ว่าการใช้ก๊าซธรรมชาติจะมีการใช้เพิ่มขึ้น 0.1-4.1% การใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์คาดว่าจะมีการใช้ค่อนข้างทรงตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.1-0.4% ส่วนการใช้พลังงานทดแทน คาดว่าจะมีการใช้เพิ่มขึ้น 5.0% จากนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนของภาครัฐ และไฟฟ้านำเข้า คาดว่าจะมีการใช้เพิ่มขึ้น 0.1%  


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"