ไทยกับโจ ไบเดน (1)


เพิ่มเพื่อน    

 

      นี่เป็นภาพของโจ ไบเดน เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในสมัยประธานาธิบดีบารัค โอบามา เดินทางไปยังสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ในวันอังคารที่ 18 ตุลาคม พ.ศ.2559 เพื่อร่วมลงนามในสมุดแสดงความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยมีคุณพิศาล มาณวพัฒน์ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ต้อนรับ (ภาพโดยวีโอเอภาคภาษาไทย)

      เมื่อสหรัฐฯ เปลี่ยนประธานาธิบดี ไทยควรจะมียุทธศาสตร์เชิงรุกและตั้งรับอย่างไร เป็นหัวข้อสำคัญที่จะต้องขบคิดและออกแบบแนวทางกันอย่างรอบด้าน

      เพราะการเปลี่ยนจากโดนัลด์ ทรัมป์ มาเป็นโจ ไบเดน คือการปรับทิศทางนโยบายกลับด้านอีกครั้ง บางคนบอกว่านี่คือ U-Turn ของนโยบาย

      อีกบางคนบอกว่ามันคือการ Rewind เทปให้กลับไปสู่แนวทางเดิมยุคบารัค โอบามา

      แต่ที่แน่ๆ ก็คือการแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ กับจีนก็จะยังเข้มข้นในเนื้อหาต่อไป...แม้รูปแบบและลีลาจะต่างกันพอสมควร

      จีนกับอเมริกาจะต้องเผชิญหน้ากันในหลายๆ แนวรบ ทั้งการค้า, ความมั่นคงและด้านสังคม

      จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ไทยจะต้องวางยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกับภูมิทัศน์ใหม่ที่ยังมีตัวแปรอีกมากมาย

      แม้ว่านโยบาย Pivot to Asia (ปักหมุดเอเชีย) ยุคโอบามาอาจจะกลับมาอีกครั้งในชื่อใหม่และเนื้อหาที่แตกต่างตามสภาพที่เปลี่ยนไป แต่ความสำคัญของอาเซียนและไทยจะอยู่ที่การวางตัวของเราให้เป็นสะพานเชื่อมที่ทุกฝ่ายเห็นประโยชน์

      จดหมายของนายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ส่งไปแสดงความยินดีวันสาบานตนของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ตอกย้ำถึงความสัมพันธ์อันยาวนานของไทยกับสหรัฐฯ

      อีกทั้งยังเชิญให้ไบเดนมาเยือนไทย

      เป็นการแสดงท่าทีที่ถูกต้อง แต่ยังต้องทำอะไรอีกมากมายหลายด้านแห่ง “นโยบายต่างประเทศเชิงรุก” ที่ควรจะต้องมีการออกแบบเพื่อการแสวงหาสูตรที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของประเทศไทยมากที่สุด

      ลองอ่านจดหมายทางการจากนายกฯ ไทยไปถึงประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ดังนี้

      ท่านประธานาธิบดี:

      ในนามของประชาชนและรัฐบาลไทย ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่จะแสดงความยินดีอย่างจริงใจต่อท่านในโอกาสที่ท่านเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ ๔๖ อย่างเป็นทางการ ชัยชนะของท่านด้วยคะแนนเสียงสูงที่สุดในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ท่ามกลางความท้าทายมากมายในปัจจุบัน สะท้อนถึงความไว้วางใจ ความเชื่อมั่น และความหวังที่ชาวอเมริกันมอบให้กับท่าน

      ด้วยมิตรภาพอันแน่นแฟ้นระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาที่มีมายาวนานกว่า ๒๐๐ ปี และในฐานะประเทศหุ้นส่วนคู่สนธิสัญญาที่เก่าแก่ที่สุดของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคเอเชีย ไทยมีความภาคภูมิใจอย่างยิ่งในความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ของเราซึ่งพัฒนาผ่านร้อนผ่านหนาวมาด้วยกัน ความเป็นพันธมิตรที่ยาวนานและความร่วมมือระหว่างกันที่ครอบคลุมหลากหลายมิติ ไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์ต่อไทยและสหรัฐอเมริกา และประชาชนของทั้งสองประเทศเท่านั้น แต่ยังมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมความมั่นคง เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาค

      ดังที่ท่านได้กล่าวไว้อย่างคมคายในวันก่อนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีว่า ‘ในการที่เราจะเยียวยาได้ เราจำเป็นต้องจดจำ’ โลกต้องให้ความสนใจกับคำพูดของท่าน เพื่อที่เราจะได้เริ่มแก้ไข เยียวยา และสมานความแตกร้าวเจ็บปวด ทุกประเทศต่างต้องเผชิญกับปัญหาความแตกแยก ความขัดแย้ง และความเสียหายในรูปแบบต่างๆ ซึ่งถูกซ้ำเติมด้วยภัยจากโรคระบาด เราทุกคนต่างพยายามแสวงหาหนทางที่ดีที่สุดภายใต้บริบทและสถานการณ์เฉพาะของตน เพื่อเชื่อมช่องว่างที่แยกห่าง หาทางออกให้ความแตกต่าง และเพื่อกลับมายืนหยัดเหนือปัญหา หากวิกฤติโรคระบาดครั้งนี้ได้สอนบทเรียนบางอย่างแก่เรา บทเรียนนั้นก็คือในขณะที่โลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งประวัติศาสตร์ สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับพวกเราทุกคนคือการหันหน้าเข้าหากันเพื่อร่วมมือ มิใช่หันหลังให้กัน ไทยในฐานะประเทศคู่ภาคีสนธิสัญญาประเทศแรกและเก่าแก่ที่สุดของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคเอเชีย พร้อมที่จะเดินเคียงข้างท่านในการเดินทางครั้งนี้

      ผมมีความพร้อมอย่างยิ่งที่จะทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับท่านและรัฐบาลของท่าน เพื่อเสริมสร้างพลวัตของความสัมพันธ์ที่ยาวนานระหว่างทั้งสองประเทศ และส่งเสริมความร่วมมืออย่างรอบด้าน ทั้งในระดับทวิภาคี ระดับภูมิภาค และระดับโลก ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ในโอกาสนี้ ผมขอเรียนเชิญท่านและสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งเยือนกรุงเทพฯ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะมีโอกาสได้ต้อนรับท่านในอนาคตอันใกล้นี้

      ในโอกาสที่ท่านเข้ารับหน้าที่ซึ่งเป็นความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่และทรงเกียรตินี้ ผมขออำนวยพรให้ท่านมีสุขภาพที่ดีและประสบความสำเร็จในการปฏิบัติภารกิจสำคัญทุกประการที่รออยู่เบื้องหน้า

      ด้วยความปรารถนาดี

      พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

      นายกรัฐมนตรี

      สิ่งที่รัฐบาลและเอกชนไทยจะต้องทำเพื่อวางประเทศไทยให้อยู่ในจุดที่เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ระหว่างประเทศในยุคนี้เป็นอย่างไร จะได้ว่ากันในตอนต่อไป.

 

    


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"