ไทยกับไบเดน (2)


เพิ่มเพื่อน    

 

              ภาพนี้ โจ ไบเดน เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐ ในสมัยประธานาธิบดีบารัค โอบามา เดินทางไปยังสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ในวันอังคารที่ 18 ตุลาคม พ.ศ.2559 เพื่อร่วมลงนามในสมุดถวายอาลัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ภาพโดยวีโอเอภาคภาษาไทย)

                สหรัฐภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะให้ความสำคัญกับเอเชียมากขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย

                แต่ต้องตระหนักว่าความสนใจที่ยกระดับขึ้นจากวอชิงตันนั้นเป้าหมายคือการสกัดอิทธิพลจีนเป็นหลัก

                วิธีการของ “ทีมเอเชีย” ของไบเดนคือการกลับมากระชับความสัมพันธ์กับมิตรเก่า เช่น ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, อินเดีย, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์

                และแน่นอนอาเซียน

                แถลงการณ์ของรัฐมนตรีอาเซียนที่ออกโดยบรูไนในฐานะประธานอาเซียนปีนี้ยืนยันว่าพร้อมจะทำงานกับรัฐบาลใหม่ของสหรัฐ “เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์เพื่อสันติภาพ, ความมั่นคง, เสถียรภาพและความเฟื่องฟูของภูมิภาคนี้”

                อีกทั้งยังตั้งความหวังว่าประธานาธิบดีไบเดนจะมาร่วมประชุมกับผู้นำอาเซียนและภูมิภาคนี้ในการประชุมสุดยอดผู้นำ

                ไบเดนจะมาร่วมประชุมกับผู้นำอาเซียนหรือไม่ในปีนี้จะเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความสำคัญที่เขาและทีมงานให้กับองค์กรภูมิภาคนี้อย่างชัดเจน

                เพราะในยุคของโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำอาเซียนมีความผิดหวังกับท่าทีที่เฉยชาของทรัมป์ต่ออาเซียน เพราะเขาไม่เชื่อในเรื่อง “พหุภาคี” แต่ต้องการจะมีความสัมพันธ์แบบ “ทวิภาคี” ที่ผู้นำสหรัฐคนนั้นเชื่อว่าจะสามารถกดดันให้ประเทศอื่นยอมตามเงื่อนไขของตน

                สำหรับประเทศไทย จดหมายจากนายกฯ ไทยและคำแถลงของอาเซียนในทางที่ยื่นมือแสดงความพร้อมจะร่วมมือกับไบเดนยังไม่พอที่จะกระตุ้นให้วอชิงตันต้องหันมาแสดงความกระตือรือร้นในการฟื้นความสัมพันธ์ให้คึกคักกว่าเดิม

                จำเป็นอย่างยิ่งที่ไทยเราจะต้องมีการจัดระบบการปฏิสัมพันธ์กับสหรัฐในทุกเวทีเพื่อกระชับการไปมาหาสู่อย่างใกล้ชิดและเป็นรูปธรรม

                สถานทูตไทยที่วอชิงตันเป็นช่องทางทางการของรัฐบาลไทย แต่การจะประสบความสำเร็จในการทำให้สหรัฐตระหนักถึงความสำคัญของไทยในฐานะเป็น “สะพานเชื่อม” ในหลายๆ มิตินั้นจำต้องมีการสานสัมพันธ์กันอย่างรอบด้าน

                ทั้งกลไกทางการผ่านกระทรวงต่างประเทศ, กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงกลาโหม, กระทรวงวัฒนธรรมและอื่นๆ

                แต่ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าช่องทางทางการคือ การติดต่อผ่านกระทรวงทบวงกรมของสหรัฐในทุกระดับ...ตั้งแต่ระดับรัฐมนตรี, ผู้ช่วยรัฐมนตรี, ปลัดกระทรวงและ “เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ” หรือ staffers ทั้งในกระทรวงและประจำสภาคองเกรส

                ฝ่ายเอกชนและวิชาการไทยจะต้องรวมพลังกับกระทรวงต่างประเทศในอันที่จะทำหน้าที่เป็น Thai Lobby ในวอชิงตันและรัฐต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวดองกับการค้าขาย, การทูตและวัฒนธรรมกับไทย

                คำว่า Team Thailand เคยเป็นแนวทางการประสานพลังของฝ่ายต่างๆ ของประเทศไทยในต่างแดน

                แต่ในทางปฏิบัติยังขาดความคล่องตัว, ต่อเนื่องและการประเมินประสิทธิภาพตลอดเวลา

                ที่ไม่ได้ผลเท่าที่ควรก็เพราะขาดการวางเป้าหมายร่วมกันว่าจะเน้นเป้าหมายในความสัมพันธ์กับอเมริกาไปทางใด และจะมีรายละเอียดของการทำงานของแต่ละฝ่ายเพื่อให้สอดคล้องต้องกันกับความเคลื่อนไหวด้านอื่นๆ ของเราอย่างไร

                ต้องมีการยกระดับและกระชับระบบ Friends of Thailand หรือกลุ่มคนในอเมริกา โดยเฉพาะคนอเมริกันที่เคยทำงานหรือมีความผูกพันกับประเทศไทยที่พร้อมจะพูดแทนผลประโยชน์ของประเทศไทย

                ต้องมีการสื่อสารกับกลุ่มคนในสหรัฐตลอดเวลาด้วยข้อมูลข่าวสารและกิจกรรมที่จะสะท้อนถึงเอกลักษณ์ของไทย

                ต้องให้นักวิชาการทั้งไทยและต่างชาติที่ศึกษาเรื่องเมืองไทยหรือที่คุ้นเคยกับประเทศไทยได้เข้าไปร่วมการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเวทีต่างๆ ที่สหรัฐเพื่อนำเสนอแนวคิดของไทย

                แน่นอนว่าการแสดงความเห็นเกี่ยวกับประเทศไทยจะต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ไม่หลับหูหลับตาชื่นชมประเทศไทยเหมือนเป็นโฆษณาชวนเชื่อของทางการ

                การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับไทยและอาเซียนบนเวทีสหรัฐจะต้องตรงไปตรงมา กล้าวิพากษ์จุดอ่อนของไทยและพร้อมจะฟังคำวิจารณ์จากผู้อื่นเกี่ยวกับประเทศไทย

                เนื้อหาสาระที่สำคัญที่สุดสำหรับการสร้างความน่าเชื่อถือใน “แบรนด์ประเทศไทย” คือการที่เราแสดงให้ประชาคมโลกเห็นว่าเราพร้อมจะบอกเล่าเรื่องราวและเป้าหมายของการสร้างประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของคนไทย

                ไทยต้องใช้ยุทธศาสตร์เชิงรุกอย่างจริงจังเท่านั้นจึงจะสามารถกระโดดขึ้นขบวนรถแห่งความเปลี่ยนแปลงอันหนักหน่วงรุนแรงของโลกวันนี้ได้.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"