ปลุกชวนตามมหาเธร์ ปชป.รับอาจเป็นทางเลือกหนึ่ง สัญลักษณ์ซื่อสัตย์มานำปชต.


เพิ่มเพื่อน    

 

     “หมวดเจี๊ยบ” สวมบทแม่ค้าปากตลาดแขวะบิ๊กตู่ เลื่อนลงสระแก้วเพราะส้วมยังไม่เต็มเลยต้องเลื่อนพลังดูด ปชป.ได้ไอเดีย “มหาเธร์” คัมแบ็ก ปลุกกระแสดึง “นายหัวชวน” กลับมาเป็นผู้นำอีกระลอก ทนายแดงโผล่ฟุ้งลงการเมืองแน่ เผยพูดอะไรมีคนฟังมากกว่าเสนอผ่านกลุ่มก๊วน “พลังธรรมใหม่” เน้นชูปราบโกง

    เมื่อวันจันทร์ที่ 14 พฤษภาคม พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ย้ำถึงกรณีฝ่ายการเมืองครหาว่าการลงพื้นที่ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นการลงไปดูดอดีต ส.ส.เข้าพรรคทหาร จะเป็นอุปสรรคต่อการลงพื้นที่ในครั้งต่อไปหรือไม่ ว่าไม่มีปัญหา เรามีกำหนดการวางไว้อยู่แล้วตามตารางว่าเดือนไหนนายกฯ จะลงพื้นที่พบปะประชาชนที่ใดและจังหวัดไหนบ้าง ซึ่งการลงพื้นที่ก็เพื่อไปรับทราบปัญหาและดูข้อร้องเรียนของประชาชน เพื่อที่รัฐบาลจะได้นำกลับมาแก้ไขปัญหาให้ ยืนยันไม่มีการปรับแผนกำหนดการลงพื้นที่ต่างๆ ของนายกฯ แน่นอน

    “รัฐบาลไม่จำเป็นต้องปรับแผนการลงพื้นที่ใหม่ ยังเดินตามกำหนดแผนการเดิม และไม่ได้วิตกกังวลอะไรกับเรื่องดังกล่าว ส่วนที่นายกฯ ยกเลิกกำหนดการเดินทางไป จ.สระแก้ว เนื่องจากสมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาติดภารกิจ ไม่ใช่กลัวถูกครหาเรื่องนี้” พล.ท.สรรเสริญกล่าว

    ร.ท.หญิง สุณิสา ทิวากรดำรง สมาชิกพรรคเพื่อไทย อดีตรองโฆษกประจำสำนักนายกฯ ตอบโต้เรื่องนี้ว่า ข้อแก้ตัวที่ระบุว่าเหตุเปลี่ยนใจไม่ไปเยือน จ.สระแก้ว เพราะสมเด็จฯ ฮุน เซน ไม่ว่างมาร่วมพิธีเปิดด่านชายแดน น่าจะเป็นเพียงข้ออ้างเพื่อเลี่ยงข้อครหาเรื่องพลังดูดมากกว่า เพราะเสียงนินทามันเยอะว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ใช้การประชุม ครม.สัญจรเป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมืองเพื่อหาเสียงล่วงหน้า ใช้งบประมาณแผ่นดินเป็นสิ่งล่อใจให้กลุ่มการเมืองในจังหวัดต่างๆ ยอมเป็นฐานเสียงสนับสนุนตัวเองในอนาคต หากนักการเมืองจังหวัดไหนยอมโดนดูดและเกณฑ์คนมาต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ เยอะๆ จังหวัดนั้นก็น่าจะได้รับอนุมัติโครงการสมใจอยาก ถ้าจังหวัดไหนไม่มี ส.ส.ให้ดูด จังหวัดนั้นจะของบประมาณยาก
“ไม่อนุมัติคำขอสร้างสนามบินที่ จ.สุรินทร์ โดยอ้างว่าต้องศึกษาความคุ้มค่าก่อน แต่ที่จริงเป็นเพราะไม่มี ส.ส.ให้ดูด และเป็นฐานเสียงพรรคเพื่อไทยใช่หรือเปล่า เลยต้องเก็บงบประมาณไว้ให้พวกของตัวเองก่อน แบบนี้ไม่ใช่การจัดสรรงบประมาณแผ่นดินที่ถูกต้อง ที่น่าตำหนิที่สุดคือ เวลาเดินทางไปประชุม ครม.สัญจร รัฐบาลทำเหมือนไม่ได้ตั้งใจเดินทางไปรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้าน  เพราะ พล.อ.ประยุทธ์มักปิดประตูใส่หน้าไม่ต้อนรับชาวบ้านที่เดินทางมาร้องทุกข์ และถ้ายังกวนใจมากๆ ก็ปล่อยให้ตำรวจจับเข้าคุกอีกต่างหาก เช่นชาวบ้านที่ อ.เทพา จ.สงขลา เป็นต้น” ร.ท.หญิงสุณิสากล่าว
เธอกล่าวต่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ควรทำให้การประชุม ครม.ทั้งที่ทำเนียบรัฐบาลและ ครม.สัญจรกลายเป็นงานอีเวนต์เพื่อสร้างกระแสและหาเสียงทางการเมือง เพราะมันไม่ได้ช่วยให้การแก้ปัญหาของประเทศมีประสิทธิภาพ ยิ่งทำก็จะยิ่งฉุดกระแสความนิยมให้ตกต่ำหนักลงไปอีก เห็นได้จากผลสำรวจนิด้าโพลล่าสุด คะแนนนิยม พล.อ.ประยุทธ์ลดลงถึง 6% จากผลสำรวจเดือน มี.ค เหลือแค่ 32.34% ในเดือน พ.ค. อาจเพราะกองหนุนหมดศรัทธา พล.อ.ประยุทธ์ที่มัวแต่อยากเป็นนายกฯ จนใช้พลังดูดสะเปะสะปะมั่วซั่วไปหมด แม้แต่นักการเมืองที่กองหนุนของตัวเองเคยขับไล่ก็ยังตามไปดูด 
แขวะส้วมสระแก้วไม่เต็ม
“ภาพลักษณ์ไม่ดีก็ไม่เป็นไร ขอเพียงเป็นนักการเมืองที่มีคะแนนสามารถยกมือให้ตัวเองเป็นนายกฯ ได้ก็ยอมจูบปากด้วยแล้ว ทำเหมือนคนเสพติดอำนาจ ทั้งๆ ที่บริหารประเทศไม่ได้เรื่องและไม่จริงใจปฏิรูปบ้านเมือง น่าสงสัยว่าที่จริงแล้วเหตุที่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ไป จ.สระแก้ว เป็นเพราะสมเด็จฯ ฮุน เซนไม่ว่าง หรือเป็นเพราะขณะนี้ส้วมที่ จ.สระแก้วยังไม่เต็ม ก็เลยยังไม่มีใครต้องการใช้บริการรถดูดส้วมกันแน่” ร.ท.หญิง สุณิสาระบุ

        ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงผลการเลือกตั้งมาเลเซียที่นายมหาเธร์ โมฮัมหมัด ได้รับเลือกเป็นนายกฯ อีกครั้งในวัย 92 ปี ว่าหลายคนเห็นว่าถ้าเราสามารถทำให้ประชาชนตื่นตัว ไม่ยอมรับหรือต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันการใช้อำนาจรัฐต่างๆ โดยสามารถใช้สิทธิ์นั้นผ่านกระบวนการการเลือกตั้ง ก็เป็นเรื่องที่บอกถึงความเข้มแข็งของระบอบประชาธิปไตย เพราะที่ผ่านมาเรามีปัญหาการใช้อำนาจในทางมิชอบ แม้มีการเลือกตั้งแล้วก็เป็นที่มาของวิกฤตการณ์การเมือง และประชาชนมีปัญหามาโดยตลอดในการต่อสู้กับสิ่งเหล่านี้ และยังเป็นเหตุผลที่ คสช.มักจะอ้างว่าหากมีการเลือกตั้งแล้วจะกลับไปมีปัญหาวุ่นวายเหมือนเดิมหรือไม่ ถ้าเราสามารถทำได้เหมือนที่มาเลเซียทำครั้งนี้ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี

    เมื่อถามว่า นายมหาเธร์อายุ 92 ปีเป็นนายกฯ ได้ แล้วนายชวน หลีกภัย สามารถเป็นนายกฯ ได้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ถ้าพูดถึงอายุนายชวนอายุน้อยกว่าเยอะ แต่ท่านยังเป็นบุคคลที่มีผู้คนเคารพนับถือศรัทธาจำนวนมาก ซึ่งท่านเป็นนักการเมืองแบบอย่างที่ดีในระบอบประชาธิปไตย ให้ความสำคัญกับการซื่อสัตย์สุจริต สนใจปัญหาของประชาชน ท่านทำงานไม่หยุด เดินทางไปทุกพื้นที่

      “ผมเชื่อว่าคนจำนวนไม่น้อยที่สนับสนุนท่าน แต่ที่ผ่านมาท่านเป็นคนที่แสดงออกว่าท่านไม่รับในทำนองนั้น แต่ก็เป็นเรื่องของอนาคตที่ต้องว่ากันไปตามกระบวนการ ซึ่งในส่วนของพรรคหลังจาก คสช.ปลดล็อก ก็ต้องตราข้อบังคับพรรคใหม่ เลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค และเมื่อมีกรรมการบริหารพรรคและหัวหน้าพรรคชุดใหม่แล้วถึงจะมาเริ่มพิจารณาเรื่องผู้สมัคร ส.ส. รวมถึงการเสนอชื่อผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกฯ ซึ่งก็ต้องว่ากันไปตามกระบวนการของพรรค จึงยังไม่รู้ว่ารายชื่อ 3 คนที่จะเสนอเป็นนายกฯ มีใครบ้าง แม้แต่ผมก็ไม่รู้เพราะตำแหน่งหัวหน้าพรรคอาจมีคนลงแข่งขันก็ได้ ผมยังไม่ทราบ”นายอภิสิทธิ์กล่าว
ปลุก 'ชวน' ตามรอยมหาเธร์

    นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และอดีต ส.ส.ปชป.กล่าวเรื่องนี้ว่า นายมหาเธร์ยังสามารถกลับมาเป็นนายกฯ ได้ หลายคนก็คิดถึงนายชวนที่อาจมาเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง มานำประชาธิปไตยไทย และเป็นสัญลักษณ์ของความซื่อสัตย์ และมั่นใจว่าหาก ปชป.มีการปฏิรูปตัวเอง สร้างวิสัยทัศน์ใหม่ ก็อาจสร้างปรากฏการณ์แบบนายมหาเธร์ได้ 
“อนาคตทางการเมืองของผมนั้น ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะกลับประชาธิปัตย์หรือไม่ เพราะจะต้องรอผลการวินิจฉัยร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. ก่อน เพราะจะมีผลต่อโรดแมปการเลือกตั้ง แต่ยืนยันส่วนตัวยังเป็นกลางทางการเมือง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด”นายอลงกรณ์กล่าว
นายอลงกรณ์ยังกล่าวถึงแนวคิดการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติว่า มีการพูดกันมาหลายยุคหลายสมัย  แต่สิ่งที่จะชี้ขาดว่าจะมีรัฐบาลรูปแบบใดนั้นต้องดูผลการเลือกตั้ง ส่วนที่รัฐธรรมนูญกำหนดช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปีอาจเป็นการสร้างโอกาสให้เกิดรัฐบาลแห่งชาติ ไม่ว่าตั้งใจหรือไม่ก็ตาม แต่จากสภาวะการเมืองปัจจุบันก็มีโอกาสเกิดรัฐบาลแห่งชาติมากที่สุด แต่ต้องขึ้นอยู่กับผลการเลือกตั้งที่จะเป็นตัวกำหนดรูปแบบรัฐบาลด้วย

    เมื่อถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) กับพรรคประชาธิปัตย์จะจับมือเพื่อสู้กับพรรค คสช. นายอลงกรณ์กล่าวว่า การจับขั้วระหว่างประชาธิปัตย์กับเพื่อไทยเป็นเรื่องยากที่จะเกิดขึ้น เพราะมีความแตกต่างกันในเชิงนโยบาย และในประวัติศาสตร์ยังต่อสู้รุนแรง เกิดการร่วมมือยาก แต่มีจุดร่วมบางประการที่เหมือนกันคือต่อต้านเผด็จการ ซึ่งการเลือกตั้งที่จะมาถึงนั้นคาดว่าจะมีการต่อสู้เพียง 2 กลุ่ม คือกลุ่มหนุน พล.อ.ประยุทธ์ กับกลุ่มต้าน พล.อ.ประยุทธ์เท่านั้น
นายศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ย้ำจุดยืนพรรคในประเด็นนายกฯ ว่าเราชูนายกฯ คนใน ซึ่งเป็นไปตามกติกาและเป็นไปตามลำดับ แต่ถ้าปรากฏว่านายกฯ คนในไม่อาจเกิดขึ้น  เราก็ต้องไปที่นายกฯ คนนอก ซึ่งก็เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ เพราะถ้ายังหานายกฯ ไม่ได้แล้วรัฐธรรมนูญกำหนดให้ คสช.บริหารงานไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีนายกฯ การตัดสินใจเลือกนายกฯ ให้เสร็จสิ้นตามรัฐธรรมนูญจึงเป็นสิ่งที่พึงกระทำให้เร็วที่สุด โดยพรรคพูดอยู่เสมอว่าเราจะตกลงอะไร ก็ต้องว่ากันเมื่อรู้ผลการเลือกตั้งเท่านั้น
ส่วนนายคารม พลพรกลาง ทนายความแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)  กล่าวว่าได้ตัดสินใจทำงานการเมือง ขอเป็นทางเลือกให้ประชาชน โดยกำลังตัดสินใจ 2 พรรคการเมืองที่จะไปร่วมงานด้วย มีทั้งพรรคการเมืองเก่าและพรรคก่อตั้งใหม่ที่ติดต่อเข้ามา ซึ่งเป็นพรรคที่ยืนฝั่งประชาธิปไตย แต่ขอดูนโยบายที่ชัดเจน ก่อนประกาศให้ทราบอีกครั้งว่าจะไปอยู่พรรคใด 
“เหตุที่ตัดสินใจมาลงงานการเมือง เพราะการนำเสนอความคิดผ่านพรรคการเมืองมีน้ำหนักมากกว่าการเสนอในนามกลุ่มก้อน แม้รัฐธรรมนูญจะเขียนกีดกันนักการเมืองและพรรคการเมืองก็ตาม” นายคารมกล่าว

    เมื่อถามว่าเหตุใดไม่ไปเลือกลงในนามพรรคเพื่อไทย นายคารมกล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทยหรือพรรคใดต้องทำไพรมารีโหวต แต่ไม่ใช่ ส.ส. ไม่ใช่นักเลง ไม่ใช่นักการพนัน แต่ชอบพัฒนา อาจถือเป็นคนรุ่นใหม่ทางการเมือง แม้จะไม่ใช่หน้าใหม่ เพราะเคยลงเลือกตั้งพรรคพลังธรรมในปี 2539 ที่นนทบุรี ได้คะแนนเสียงกว่า 5 พันคะแนน เคยเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทยตั้งแต่ปี 2542 เคยเสนอตัวต่อพรรคหลายรอบจนถึงยุคเพื่อไทย แต่ว่าไม่มีโอกาส เราเลยอยากมีโอกาสให้คนได้เลือก วันนี้มีความพร้อมทั้งด้านความคิด ครอบครัวเองก็เห็นด้วย การเมืองควรมีคนรุ่นใหม่เสนอตัวเข้ามา เราตั้งใจมาก เคยทำงานให้กับ นปช. นำคดีชุมนุมการเมืองปี 2553 ไปสู่ศาลโลก 
ทนายแดงลงการเมือง
“ขอย้ำว่าพรรคที่จะไปอยู่ด้วยนั้น เป็นพรรคฝั่งประชาธิปไตยแน่นอน แม้ฝั่งอื่นจะมีอะไรมาให้ก็ตาม  แต่ไปไม่ได้ เปลี่ยนจุดยืนยาก เราต้องเคารพทั้งครอบครัว เพื่อนฝูง พรรคพวก” นายคารมกล่าว    
นายคารมกล่าวถึงกระแสข่าวการตั้งพรรคคนเสื้อแดงว่า ได้ยินเพียงจากข่าวว่านายสิระ พิมพ์กลาง  แนวร่วมเสื้อแดงสกลนครมีแนวคิด แต่ขั้นตอนไปถึงไหนแล้วไม่ทราบ ก่อนหน้านี้นายเยี่ยมยอด ศรีมันตระ อดีตสมาชิกพรรคเพื่อไทย ที่อยู่ในส่วนสหายเก่าได้ก่อตั้งพรรคสังคมประชาธิปไตยประชาชน ได้พูดถึงนโยบายต่างๆ ก็น่าสนใจ ที่จะเน้นไปในเรื่องเกษตรกร คนจน และจะทำให้ที่ดินทำกินอย่าง ส.ป.ก.ให้คนรากหญ้ามีกรรมสิทธิ์ได้ ถือว่าน่าสนใจดี พร้อมกับชักชวนให้ไปร่วมงานด้วย ซึ่งต้องขอบคุณ แต่พรรคที่จะไปร่วมงานในวันข้างหน้าเหลือเพียง 2 พรรคที่มีแนวคิดฝั่งประชาธิปไตยเท่านั้น

    วันเดียวกันที่มหาวิทยาลัยรังสิต สมาชิกพรรคพลังธรรมใหม่จัดประชุมใหญ่เพื่อเลือกหัวหน้าพรรค  เลขาธิการพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรคชุดแรก รวมทั้งร่างข้อบังคับพรรค นโยบายพรรค และอุดมการณ์การทางการเมืองของพรรค โดยมีผู้ลงทะเบียนร่วมประชุมจัดตั้ง 642 คน ทั้งนี้ในที่ประชุมมีการลงมติเลือก นพ.ระวี มาศฉมาดล เป็นหัวหน้าพรรคตามคาด รวมทั้งรับรองรายชื่อคณะกรรมการบริหารพรรครวม 32 คน และลงมติเลือกคณะกรรมการธรรมาภิบาลของพรรค 5 คน โดยมีนายนาม ยิ้มแย้ม อดีตประธานคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เป็นประธานคณะกรรมการ
นพ.ระวีกล่าวภายหลังการประชุมพรรคว่า ภารกิจของพรรคถือว่าได้ฝ่าด่านแรกของการตั้งพรรคการเมืองไปได้แล้ว แม้พรรคจะไม่มี พล.ต.จำลอง ศรีเมือง อดีตหัวหน้าพรรคนำเหมือนเดิม แต่ก็ยังเหลืออีกหลายด่านที่ต้องฝ่าฟัน ทั้งการหาสมาชิกพรรคประจำจังหวัด เพื่อให้สามารถส่งผู้สมัครเลือกตั้งครบทุกเขตได้ โดยเราตั้งเป้าจะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งให้ครบ 350 เขต และหวังที่จะยุติความขัดแย้งทั้งเหลืองและแดงเพื่อรวมประเทศไทยให้กลับมาเป็นหนึ่งเดียว 
“พรรคจะให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ ทุกเรื่อง โดยหากภายหลังการเลือกตั้งแล้วพรรคเข้าไปเป็นพรรคร่วมรัฐบาลและต้องเลือกนายกฯ จากพรรคอื่น พรรคจะทำประชามติจากสมาชิกว่าสมควรเลือกใครเป็นนายกฯ หรือหากไม่สามารถเลือกนายกฯ คนในได้ พรรคก็จะทำประชามติถามสมาชิกเพื่อให้เลือกนายกฯ คนนอกที่ดีที่สุด” นพ.ระวีกล่าว

    นพ.ระวีกล่าวอีกว่า พรรคจะสืบทอดอุดมการณ์ของพรรคพลังธรรมเป็นหลัก โดยนโยบายสำคัญที่พรรคต้องทำอย่างแรกคือการหยุดการทุจริต เช่นรื้อคดีที่ค้างอยู่ในการทำงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ภายใน 1 ปี และคดีใหม่ต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน  ขณะเดียวกันต้องแก้ระเบียบศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้เป็นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาคดีทุจริตแทน เพื่อให้ครอบคลุมทั้งนักการเมืองและข้าราชการ นอกจากนั้นยังมีนโยบายปฏิรูปพลังงาน ปฏิรูประบบสาธารณสุขไทย ปฏิรูปการศึกษา และแก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกร 
ไฟเขียว 47 พรรคใหม่แล้ว

    ด้าน พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา นายทะเบียนพรรคการเมือง กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณารับรองคำขอจดจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ของกลุ่มการเมืองต่างๆ ว่า สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อยู่ระหว่างตรวจสอบเอกสารและคุณสมบัติของกลุ่มการเมืองที่ยื่นคำขอเข้ามา เบื้องต้นขณะนี้มีจำนวน 47 พรรคการเมืองที่ได้ลงนามและออกหนังสือรับแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมือง (แบบ พ.ก.7/2)  ไปแล้ว ส่วนกลุ่มการเมืองที่ยังไม่ได้ออกหนังสือรับรองนั้น ขณะนี้เรากำลังเร่งทยอยตรวจสอบเอกสารและคุณสมบัติต่างๆ แต่สำหรับบางกลุ่มการเมืองที่ยื่นคำขอเข้ามาแล้วและ กกต.แจ้งว่าเอกสารไม่เรียบร้อย ก็ได้แจ้งให้ไปปรับปรุงแก้ไขและส่งกลับมาใหม่ โดยอยากฝากให้กลุ่มการเมืองที่ กกต.ขอให้กลับไปแก้ไขหรือปรับปรุงเร่งดำเนินการโดยเร็ว เนื่องจากหลังจากจัดตั้งพรรคแล้วจะมีกระบวนการที่พรรคต้องดำเนินการอีกมาก ทั้งนี้พยายามเร่งดำเนินการตรวจสอบเอกสารและคุณสมบัติต่างๆ ของกลุ่มการเมืองที่ยื่นคำขอเข้ามาโดยเร็วที่สุด โดยหน่วยงานที่ร่วมตรวจสอบก็ให้ความร่วมมือกับ กกต.เป็นอย่างดี

    สำหรับข้อมูลรายชื่อ 47 พรรคที่ได้รับรองแล้ว ประกอบด้วย พรรคทางเลือกใหม่, กรีน, ประชานิยม, พลังสยาม, พลังชาติไทย, เครือข่ายประชาชนไทย, เศรษฐกิจใหม่, พลังธรรมใหม่, ประชาชนปฏิรูป, สังคมประชาธิปไตยประชาชน, ประชาชาติ, พลังพลเมืองไทย, พลังประชารัฐ, ประชาภิวัตน์,  ภาคีเครือข่ายไทย, ไทยเอกภาพ, อนาคตใหม่, พลังลูกหนี้ไทย, พลังปวงชนไทย, ประชาธรรมไทย, แผ่นดินธรรม, เพื่อชาติไทย, ผึ้งหลวง, ภูมิพลังเกษตรกรไทย, รวมใจไทย, ไทยศรีวิไลย์, นำไทยพัฒนา, ประชาไทย, ไทยสาธุชน, ไทยธรรม, พลังรัก, ไทยรุ่งเรือง, รากแก้วไทย, สุบาล, ชาติพันธุ์ไทย, พลังศรัทธา, พลังแรงงานไทย, ธรรมาธิปัตย์, เพื่อสตรีไทย, ไทยก้าวข้าม, อุดมคติ, พันปีธรรมดีเพื่อแผ่นดิน,  พัฒนาแผ่นดิน, พลังเสียงประชาชน, พลังแผ่นดินทอง, เพื่อคนไทย และพลังสตรี.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"