คมนาคมสั่งทุกหน่วยงานเตรียมพร้อมเปิดให้บริการสายสีแดง พ.ย.64


เพิ่มเพื่อน    

4 ก.พ.64-นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และหน่วยงานเกี่ยวข้อง เพื่อติดตามโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชันและพิจารณาความเหมาะสมและความจำเป็นในการเดินขบวนรถชานเมืองเข้าสู่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ว่า เมื่อเปิดให้บริการสถานีกลางบางซื่อใน พ.ย. 2564 โดยกำหนดเป้าหมายให้รถไฟเข้าใช้ 100% นั้น ได้สั่งการให้การรถไฟฯ ไปพิจารณาความเหมาะสมและความจำเป็นในการเดินขบวนรถ

ทั้งนี้โดยจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อการเดินทางของนักเรียน นิสิต/นักศึกษา ประชาชนผู้ใช้บริการ ให้สอดรับกับนโยบายการแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดเป็นหลักด้วย รวมถึงกำชับให้ไปพิจารณาว่า สามารถดำเนินการได้หรือไม่ หากไม่สามารถดำเนินการได้ ในส่วนการให้บริการที่มีความจำเป็นจะใช้วิธีการอย่างไร เช่น กรณีการเดินทางไป-กลับของนักเรียน นักศึกษา เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ได้สั่งการให้นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฯ ประสานงานกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เพื่อจัดทำระบบขนส่งสาธารณะรองเชื่อมระบบหลัก (Feeder) ในช่วงเปลี่ยนผ่าน และสอดคล้องกับแผนบริหารจัดการใหม่ของการรถไฟฯ ที่จะหยุดให้บริการสถานีหัวลำโพงในปี 2566 จากเดิมกำหนดไว้ที่ปี 2570

“การรถไฟฯ ต้องมาดูว่า ขบวนรถไฟมีผู้ใช้บริการในช่วงเวลาไหน จำนวนเท่าไหร่ และจะเดินทางไปที่ไหน ซึ่งไม่ต้องวิ่งทั้งวัน อาจจะเป็นการวิ่งแทนขบวนนั้น โดยการรถไฟฯ ต้องไปทำการบ้านใหม่ ไม่งั้นไม่จบ ก็จะกลายเป็นว่า รถไฟวิ่งมาตัดการจราจรทางบก โดยผมต้องการดูภาพใหญ่การจราจรในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ไม่มีขบวนรถไฟวิ่งตัดถนน หรือมีให้น้อยที่สุด และจะเกิดผลดีกับ กทม.ไหม ผมเชื่อว่า การรถไฟฯ มีศักยภาพ แต่ต้องวิเคราะห์ให้ออกว่า ขบวนที่จำเป็นเหลือกี่ขบวน เวลาใด ในส่วนของขบวนที่ไม่จำเป็น ให้หยุดที่สถานีที่กำหนด แล้วทำ Feeder ไปรอรับการเดินทางของประชาชน ซึ่งการทำวันนี้ ก็เพื่อส่วนรวม และทำเพื่อแก้ปัญหาใหญ่ได้มีประสิทธิภาพ” นายศักดิ์สยาม กล่าว

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า ในส่วนของการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดงนั้น ได้กำชับให้ผู้เกี่ยวข้องดำเนินงานให้สามารถเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีแดงได้ตามแผนงาน โดยจะเริ่มทดลองวิ่งเสมือนจริงใน มี.ค. 2564 ซึ่งจะต้องกำหนดรายละเอียดต่างๆ ว่า จะต้องดำเนินการอะไรบ้าง และต้องสรุปแผนเรื่องการเปิดทดลองวิ่งให้บริการประชาชนโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายใน ก.ค. 2564 ให้แล้วเสร็จ พร้อมให้บริการกับประชาชนได้อย่างสมบูรณ์แบบภายใน พ.ย. 2564

ทั้งนี้ มีข้อพิจารณาตามแนวทางการดำเนินงาน 8 เรื่อง ประกอบด้วย 1.แนวทางการดำเนินงานเปลี่ยนผ่านขบวนรถเข้าสถานีกลางบางซื่อ 2.ขบวนรถไฟแต่ละเส้นทางและปริมาณผู้โดยสารแต่ละเส้นทาง 3.เวลาที่ประหยัดได้และจำนวนจุดตัดทางรถไฟ 4.โครงสร้างการดำเนินงานรถไฟฟ้าสายสีแดง 5.แผนการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง 6.แผนการดำเนินงานของบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) เพื่อเดินรถไฟฟ้าสายสีแดง 7.อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดง และ 8.แผนการดำเนินงานเชิงพาณิชย์ของสถานีกลางบางซื่อ

นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กับการรถไฟฯ ไปพิจารณาแนวทางการกำหนดอัตราค่าโดยสารของรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) ที่มีความเหมาะสม ไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนและรายได้ของการรถไฟฯ ในส่วนของการโอนถ่ายอัตรากำลังนั้น ขอให้การรถไฟฯ และ รฟฟท. วางแผนขั้นตอนการดำเนินงานให้มีความชัดเจน เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป ขณะที่การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์โดยรอบสถานีกลางบางซื่อ ให้ทุกหน่วยงานบูรณาการร่วมกัน เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดสอดคล้องกับการพัฒนาพื้นที่โครงการ SMART CITY อย่างไรก็ตาม จะมีการประชุมติดตามในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในวันที่ 4 มี.ค. 2564 เวลา 14.30 น. สรุปรายละเอียดอีกครั้ง

รายงานข่าวจาก รฟท. ระบุว่า การรถไฟฯ เตรียมทดสอบการเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) ในวันที่ 26 มี.ค. 2564 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสถาปนากิจการการรถไฟฯ และเป็นวันปฐมฤกษ์จึงมีแผนให้ประชาชนเข้าใช้บริการบางส่วน และไม่ทุกสถานีในวันนั้นวันเดียวเท่านั้น จากนั้นจะเปิดให้บริการทดลองใช้บริการ (Soft Opening) คาดว่าจะเป็นในวันที่ 28 ก.ค. 2564 และเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบในช่วง ปลาย พ.ย. 2564


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"