15ก.พ.ชงเยียวยาม.33 รัฐบาลเมินฟ้องคนชรา


เพิ่มเพื่อน    

  “ประยุทธ์” ยาหอมประชาชน เข้าใจความเดือดร้อนทุกข์ใจไม่แพ้กัน “สุชาติ” ยันเยียวยาผู้ประกันตน ม.33 เข้า ครม. 15 ก.พ. ให้ลงทะเบียน 16-28 ก.พ.นี้ “บิ๊กตู่” ขอเวลาเร่งแก้ปัญหาเบี้ยคนชรา วิษณุเผยไม่มีแนวคิดฟ้องคนแก่ให้รกศาลแน่ ชี้มีคนแห่คืนเงินแล้วกว่า 130 ล้าน ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติเงิน 2 ทางทำได้

เมื่อวันศุกร์ที่ 5 ก.พ. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวในรายการ PM PODCAST นายกรัฐมนตรีเล่าเรื่อง ผ่านเพจเฟซบุ๊กไทยคู่ฟ้า ว่ายังให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบที่มีจำนวนมาก โดยเฉพาะโครงการเราชนะ ที่จะดูแลผู้ประกอบอาชีพอิสระ และผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐประมาณ 30 ล้านคน ซึ่งเข้าใจดีในความเดือดร้อนของท่าน และรู้สึกทุกข์ใจไม่น้อยไปกว่า เราจึงมาคิดว่าต้องทำกันยังไงถึงจะบรรเทาความเดือดร้อนให้กับท่าน อย่างน้อยก็มีชีวิตความเป็นอยู่ที่สามารถจะดูแลตนเองในเรื่องที่จำเป็นได้ ทั้งเรื่องอุปโภคบริโภค
“อาจยุ่งยากอยู่บ้างที่ต้องลงทะเบียนผ่านโทรศัพท์มือถือ แต่เราต้องพัฒนาตัวเองไปด้วย เพื่อวันหน้าโลกของเราจะต้องเปลี่ยนแปลงไปแล้วในเรื่องของสังคมที่ไม่ใช้เงินสด เราจะบอกว่าเราไม่เรียนรู้ก็ไม่ได้ นี่คือวัตถุประสงค์อีกประการหนึ่งเพื่อให้ทุกคนเข้าถึง และมีโอกาสเพิ่มความสัมพันธ์ในครอบครัว เช่น พ่อแม่ ปู่ย่าตา ยายใช้ไม่เป็น ก็ให้ลูกหลานมาสอนให้ แนะนำให้ ความใกล้ชิดก็จะเกิด นี่คือผลประโยชน์โดยอ้อม คือสังคมที่อบอุ่น” นายกฯ กล่าว และว่า กลุ่มที่ลงทะเบียนโครงการเราชนะที่ไม่มีสมาร์ทโฟน จะรับลงทะเบียนตั้งวันที่ 15 ก.พ.เป็นต้นไป
ขณะเดียวกัน น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า วันที่ 5 ก.พ.เป็นวันแรกที่ธนาคารกรุงไทยได้คัดกรองคุณสมบัติสำหรับประชาชนที่อยู่ในระบบฐานข้อมูลแอปพลิเคชันเป๋าตังในโครงการคนละครึ่งและเราเที่ยวด้วยกัน ที่ยืนยันตัวตนสำเร็จภายในวันที่ 27 ม.ค. 2564 ทั้งหมด 16.8 ล้านคน โดยพบว่ามีผู้ผ่านเกณฑ์เข้าร่วมมาตรการเราชนะ 8.39 ล้านคน ซึ่งการตรวจสอบและคัดกรองคุณสมบัติผู้ที่ผ่านเกณฑ์เข้าร่วมมาตรการเราชนะนั้น ถูกต้อง ชัดเจน และไม่พบข้อผิดพลาดแต่อย่างใด ส่วนประชาชนที่อยู่ในระบบฐานข้อมูลแอปเป๋าตังที่ไม่ผ่านการตรวจสอบสิทธิ์สามารถยื่นทบทวนสิทธิ์ได้ที่หน้าเว็บไซต์ w ww.เราชนะ.com ได้ตั้งแต่วันที่ 8 ก.พ.-8 มี.ค.2564 และสามารถตรวจสอบผลการยื่นทบทวนสิทธิ์ได้ที่หน้าเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นเดียวกัน
ด้านนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์หลังประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงโครงการ ม.33 เรารักกัน ว่าได้ข้อสรุปแล้วและจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันจันทร์ที่ 15 ก.พ. โดยจะจ่ายเงินเยียวยาผู้ประกันตนจำนวน 9 ล้าน 3 แสนคน คนละ 4,000 บาท แบ่งจ่ายสัปดาห์ละ 1,000 บาท เปิดลงทะเบียนออนไลน์วันที่ 16-28 ก.พ. ผ่าน w ww.ม.33 เรารักกัน.com ซึ่งในวันที่ 1-7 มี.ค.ตรวจสอบข้อมูลกับฐานข้อมูล และคัดกรองผู้ได้รับสิทธิ์ 8-14 มี.ค. ผู้ลงทะเบียนที่ผ่านคัดกรอง กดยืนยันรับสิทธิ์ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง และจะเริ่มจ่ายเงินผู้ประกันตนทุกวันจันทร์ที่ 15, 22, 29 มี.ค. และ 5 เม.ย. แต่มีเงื่อนไขผู้ที่มีเงินฝากเกิน 5 แสนบาทจะไม่ได้รับสิทธิ์ และสิ้นสุดวันที่ 31 พ.ค.
“ส่วนข้อเรียกร้องให้คืนเงินสมทบชราภาพเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน เบื้องต้นมีแนวคิดดึงเงินออกมาคืนให้ผู้ประกันตน 30%  ซึ่งคณะอนุกรรมการศึกษาข้อเรียกร้องกำลังพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะนำเงินกำไรจากกองทุนสังคมไปลงทุนหากำไรต่างๆ มาช่วยเหลือผู้ประกันตนที่เดือดร้อน คาดใช้เวลา 2-3 เดือนจะชัดเจน และหากทำได้ จะต้องแก้พระราชบัญญัติ ซึ่งต้องใช้เวลาดำเนินการ 1 ปี” นายสุชาติกล่าว
    ขณะที่นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีผู้ประกันตนมีเงินฝาก 5 แสนบาทไม่ได้รับการเยียวยาว่า ไม่รู้ว่าใครใช้อะไรคิดหรือสมองส่วนไหนทำงาน นายสุชาติจะออกมาบอกว่าเกณฑ์การใช้เป็นเรื่องของกระทรวงการคลัง ขอฝากบอกไปยังนายสุชาติ เวลาโดนด่าคนด่าไปที่รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน
ขณะที่กลุ่มสร้างไทยออกแถลงการณ์ถึงมาตรการเยียวยาผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ว่าหากจะมีการใช้เงินจากกองทุนประกันสังคมเพื่อเยียวยาแก่ผู้ใช้แรงงานต้องเยียวยาแก่ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ทุกคนโดยเสมอภาคและเท่าเทียมกัน กลุ่มสร้างไทยจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกข้อจำกัดที่กำหนดให้ผู้ประกันตนจะต้องไม่มีเงินฝากในบัญชีเกิน 500,000 บาท เพื่อให้การเยียวยาเกิดความเป็นธรรม
วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวถึงปัญหาการเรียกคืนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุว่า เรามีนโยบายอยู่แล้ว โดยย้ำว่าให้ดูแลผู้สูงอายุให้ดีที่สุด รวมถึงกลุ่มเปราะบางต่างๆ โดยได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยแจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายให้ชัดเจน พร้อมชะลอการเรียกคืนหรือการฟ้องร้องเอาไว้ก่อน เรื่องนี้ต้องมีทางออกอยู่แล้ว โดยไม่มีใครต้องเดือดร้อน แต่ขอให้รอสักหน่อย และไม่ต้องกังวลว่าจะไปหาเงินมาใช้เงินหลวงหรือต้องขึ้นศาล จะดำเนินการให้ทุกอย่างเรียบร้อยโดยเร็ว
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวหลังหารือกับคณะกรรมการค่าเบี้ยยังชีพถึงปัญหาการจ่ายเบี้ยยังชีพคนชราที่ซ้ำซ้อน ว่าที่ประชุมไม่ได้มีมติใดๆ เพราะแค่ต้องการรับฟังความก้าวหน้าของแต่ละหน่วยงาน โดยผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจทั้งหมดสุดท้ายคือ ครม. แต่เบื้องต้นสามารถตอบคำถามได้ 3 เรื่อง คือ 1.จะไม่มีการดำเนินคดีอาญากับผู้สูงอายุที่ไม่คืนเบี้ยยังชีพคนชรา โดยเรื่องนี้ไม่เคยดำเนินการในอดีตและจะไม่ดำเนินการในอนาคตด้วย 2.การรับผิดทางแพ่ง หรือการคืนเงิน สรุปง่ายๆ หากได้มาโดยสุจริตไม่ต้องคืน ซึ่งหลักมีอยู่แล้ว แต่ถ้าเงินยังเหลืออยู่จะต้องคืน หากไม่เหลืออยู่ก็ไม่ต้องคืน ส่วนกรณีถ้ามีเงินเหลืออยู่ แต่ไม่ใช่เงินที่ได้รับจากเบี้ยยังชีพคนชราไม่ต้องคืน ส่วนแต่ละรายจะสุจริตหรือไม่ จะดูเป็นรายบุคคล มีผู้อยู่ในข่ายเช่นนี้ที่ต้องถูกไต่สวนทวนพยานว่าสุจริตหรือไม่ ประมาณ 6,000 คนทั่วประเทศ              
“ถ้าเป็นเช่นนี้ การปล่อยให้เป็นคดีอาญา 6,000 คดีทั่วประเทศ คดีจะรกโรงรกศาล เป็นภาระอัยการในฐานะโจทก์ เป็นภาระของคุณตาคุณยายในฐานะจำเลยที่จะต้องไปจ้างทนาย เขากินไม่ได้ นอนไม่หลับ เป็นทุกข์ จึงกำลังคิดว่าจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดคดีอาญา ดังนั้นอย่าไปคิดเลยว่าจะมีการฟ้อง” นายวิษณุระบุ             
นายวิษณุกล่าวต่อว่า และ 3.เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่เข้าไปเกี่ยวข้อง ซึ่งรับผิดชอบจ่ายเงินดังกล่าว จะมีส่วนต้องรับผิดด้วยหรือไม่ เป็นเรื่องที่จะต้องดูอีกครั้ง ทั้งนี้ ผู้สูงอายุบางส่วนที่รับเงินเบี้ยยังชีพคนชราและซ้ำซ้อนกับเงินสวัสดิการอื่น ก่อนหน้านี้มีทั้งหมด 15,300 คน ที่สุดแล้วเมื่อตรวจสอบรายละเอียดเหลือผู้สูงอายุที่รับเงินซ้ำซ้อนประมาณ 6,000 คน ส่วนนี้จำเป็นที่ต้องหยุดจ่ายเงินเบี้ยยังชีพคนชราไว้ก่อน แต่ยืนยันว่าไม่นาน            
“วันนี้ขอให้ผู้สูงอายุสบายใจได้ว่าไม่ติดคุกแน่ นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลระบุว่ามีผู้สูงอายุที่รู้ข่าวแล้วตกใจจึงรีบเอาเงินมาคืน มียอดรวมทั้งหมด 130 ล้านบาท ส่วนจะต้องพิจารณาคืนเงินกลับไปให้ผู้สูงอายุที่คืนเงินมาแล้วหรือไม่นั้น โดยหลักเรื่องลาภที่มิควรได้ เมื่อคุณเอามาคืนและถ้าไม่มีอะไรเกิดขึ้นจะมาขอคืนไม่ได้ เพราะถือว่าเป็นการชำระหนี้ และถือว่ารัฐรับกลับคืน เว้นแต่จะผ่อนผันให้ ซึ่งเป็นเรื่องที่กำลังคิดอยู่” นายวิษณุกล่าว             
พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวหลังประชุมเรื่องดังกล่าวเช่นกันว่า ที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติว่า เงินบำนาญพิเศษเป็นคนละก้อนกับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จึงมีสิทธิ์ได้เงินทั้ง 2 ก้อน ดังนั้นจึงมีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการปรับปรุงแก้ไขระเบียบตามมาตรา 33 ของ พ.ร.บ.ผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ไปแก้ไขระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจ่ายเงินเลี้ยงยังชีพผู้สูงอายุขององค์กร?ปกครอง?ส่วนท้องถิ่น 2552 โดยให้ผู้ที่ได้รับบำนาญพิเศษสามารถได้รับเบี้ยผู้สูงอายุด้วยให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน โดยหวังว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขโดยเร็ว  
“ผู้ที่ได้รับเงินไปแล้วต้องไปกำหนดบทเฉพาะกาล ซึ่งถือเป็นการได้โดยสุจริต และเมื่อเทียบเคียงกับคำพิพากษาศาลฎีกาหมาย คดีหมายเลขแดงที่ 10850 ซึ่งถือว่าเป็นลาภที่ไม่ควรได้ ก็ไม่ต้องไปเรียกเงินคืนจากบุคคลนั้นๆ สำหรับกรณีบุคคลที่นำเงินมาคืนภาครัฐแล้วถือว่าท่านแสดงสิทธิเจตนารมณ์ที่จะมาคืน ไม่ได้อยู่ในฐานะที่เดือดร้อน หรือเป็นผู้มีรายได้น้อย ก็แสดงว่ามีเจตนาว่าจะไม่รับเงินก้อนนี้ ทั้งนี้ หากมีการแก้ไขระเบียบแล้วผู้ใดที่เห็นว่าตนเองมีสิทธิ์ที่จะได้รับเบี้ยผู้สูงอายุ ก็ไปยื่นแสดงเจตจำนงได้”พล.อ.วิทวัสกล่าว.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"