ประชาธิปไตยเมียนมาในวัยเตาะแตะ


เพิ่มเพื่อน    

เครดิตภาพ : https://kafkadesk.org/2019/06/03/myanmars-aung-san-suu-kyi-visits-czech-republic-and-hungary/

    ในมุมของกองทัพแผนสร้างประชาธิปไตยเมียนมาคือรัฐบาลพลเรือนที่กองทัพมีบทบาทร่วมดูแลบริหารประเทศ แต่ความเป็นประชาธิปไตยมีมากกว่าการเป็นรัฐบาลพลเรือนหรือเป็นรัฐบาลทหาร
                

    
    เลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2020 พรรค National League for Democracy (NLD) ของนางอองซาน ซูจี (Aung San Suu Kyi) ชนะถล่มทลายได้ 920 จาก 1,117 ที่นั่ง เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล (พรรคทหารคงได้เป็นฝ่ายค้าน) ขณะที่ฝ่ายกองทัพชี้ว่าเลือกตั้งไม่สุจริต อย่างไรก็ตาม นับจากวันเลือกตั้งจนข้ามปีความพยายามจัดตั้งรัฐบาลยังคงเดินหน้า กำหนดเปิดประชุมรัฐสภา 1 กุมภาพันธ์ ทั้งๆ ที่ฝ่ายกองทัพขอให้เลื่อนการเปิดรัฐสภาไปก่อน และกลายเป็นวันที่กองทัพเข้ายึดอำนาจ U Myint Swe รักษาการประธานาธิบดีประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศเป็นเวลา 1 ปีตามรัฐธรรมนูญปี 2008 โอนอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจฝ่ายบริการและอำนาจตุลาการมาอยู่ที่ ผบ.สส. พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ซึ่งเป็นการทำตามรัฐธรรมนูญเช่นกัน
    ย้อนหลังพฤศจิกายนปีก่อนมีข่าวผู้นำกองทัพขู่ขับประธานาธิบดีเมียนมาออกจากตำแหน่ง กองทัพชี้ว่าการเตรียมเลือกตั้งส่อผิดปกติ การยึดอำนาจรอบนี้เป็นไปได้ว่าฝ่ายซูจีรู้ล่วงหน้าว่าจะเกิดอะไร แต่ทั้งกองทัพกับซูจียังเลือกเดินหน้าเพื่อให้ปรากฏผลอย่างที่เห็น เป็นแนวทางการต่อสู้ทางการเมืองที่ทั้ง 2 ฝ่ายเลือกเดิน 
กองทัพเคยไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งมาแล้ว :
    การที่กองทัพไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง เรื่องนี้เคยเกิดกับซูจีมาก่อนเมื่อพฤษภาคม 1990 ที่พรรค NLD ชนะเลือกตั้งถล่มทลาย 
    หลายปีต่อมากองทัพปรับท่าทีเปิดทางให้พลเรือน พฤศจิกายน 2010 พรรคของกองทัพชนะเลือกตั้ง ซูจีเป็นฝ่ายค้าน ตามด้วยการปล่อยตัวซูจี และเธอได้เป็น ส.ส.จากการเลือกตั้งซ่อม
    พฤศจิกายน 2015 เลือกตั้งรอบนี้ NLD ชนะเลือกตั้ง แต่ฝ่ายกองทัพยังกุมอำนาจหลายส่วนตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2008 ซูจี ในตอนนี้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล 
    การเลือกตั้งล่าสุดพฤศจิกายน 2020 ที่ล่วงเลยจนตอนนี้ซ้ำรอยเดิมตอกย้ำอำนาจ “กองทัพ”
ขอแก้รัฐธรรมนูญรอยแตกกองทัพกับซูจี :
    รัฐธรรมนูญ 2008 ฉบับปัจจุบันออกแบบมาเพื่อรักษาอำนาจอิทธิพลของผู้นำกองทัพ อีกทั้งบัญญัติว่า 25% ของที่นั่งในสภาฝ่ายกองทัพเป็นผู้แต่งตั้ง เพียงพอที่จะยับยั้งการแก้รัฐธรรมนูญ (การแก้รัฐธรรมนูญต้องมีเสียงไม่ต่ำกว่า 75%)  เป็นเหตุผลหนึ่งที่ฝ่ายกองทัพยอมให้จัดเลือกตั้ง NLD เป็นพรรคร่วมรัฐบาลให้ซูจีมีบทบาทสำคัญในรัฐบาล แต่ฝ่ายซูจีไม่หยุดเท่านี้ เริ่มเอ่ยขอแก้รัฐธรรมนูญ ฝ่ายกองทัพแสดงท่าทีหลายครั้ง เช่น กุมภาพันธ์ 2019 เตือนว่าการปรับแก้รัฐธรรมนูญต้องไม่ทำลายหลักสำคัญที่อยู่ในรัฐธรรมนูญเดิม  หนึ่งในนั้นคือปิดกั้นไม่ให้ซูจีดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี
    ตุลาคม 2019 อองซาน ซูจี กล่าวว่า ฝ่ายกองทัพไม่กระตือรือร้นแก้รัฐธรรมนูญ แม้กองทัพพูดซ้ำหลายรอบว่าจำต้องแก้เพื่อได้ประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ เธอจะยื่นเรื่องขอแก้อีกครั้งหลังเลือกตั้ง 2020 (เลือกตั้งที่ผ่านมานั่นเอง)
    จะเห็นว่า กองทัพพยายามชี้ว่าห้ามแก้รัฐธรรมนูญเพื่อลดอำนาจพวกตน ดูเหมือนซูจีก้าวข้ามเส้นต้องห้าม ผลการเลือกตั้งและการเดินหน้าเปิดสภาคือตัวชี้ขาดว่ากองทัพต้องทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง
    ในมุมมองกองทัพเป็นไปได้ว่าการตัดไฟแต่ต้นลมย่อมดีกว่า อย่างไรก็ตาม เมียนมาคงไม่ถอยกลับสู่ยุคปิดประเทศอีก  มีผู้อธิบายว่าการเปิดต้อนรับนักลงทุนสร้างผลกำไรมหาศาลจากการขายทรัพยากร ผลประโยชน์ก้อนใหญ่มักตกอยู่ในมือของผู้มีอำนาจมากกว่าที่จะเข้ากระเป๋ารัฐบาล การลงทุนหลายอย่างถูกควบคุมจากอำนาจที่มีอาวุธในมือ
    ทุกคนได้ประโยชน์จากการเปิดประเทศต่างกันที่ใครได้มากกว่า และควรพูดด้วยว่าต่างชาติอยากให้เปิดเช่นกัน
การขับเคี่ยวของผู้นำการเมือง 2 กลุ่ม :
    ความกลัวสูญเสียอำนาจน่าจะเป็นเหตุให้กองทัพต้องกระทำการในครั้งนี้ พูดอีกอย่างคือเป็นปฏิบัติการรักษาอำนาจกองทัพเหมือนที่ทำเรื่อยมา
    จากนี้อีก 1 ปี หรือหลายปี ฝ่ายกองทัพน่าจะปล่อยให้จัดเลือกตั้งใหม่อีกรอบ อาจตีความว่าเป็นการคืนอำนาจให้ประชาชนส่วนหนึ่ง เป็นส่วนหนึ่งของแผนเปิดประเทศสู่ความทันสมัย หรืออาจตีความว่าคือวิธีการรักษาอำนาจกองทัพให้คงอยู่ตลอดไป 
    การขับเคี่ยวระหว่างฝ่ายกองทัพกับฝ่ายซูจี จะดำเนินต่อไป ทั้งนี้ต้องดูว่าซูจีในวัย 75 ยังสู้ได้อีกกี่ปี ในอนาคตมีผู้นำรุ่นใหม่ที่เข้มแข็งมากพอหรือไม่ ด้านกองทัพที่การส่งทอดอำนาจเป็นระบบต้องดูว่ามีเอกภาพเพียงใด เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อประชาธิปไตยวัยเตาะแตะของประเทศนี้
ประชาธิปไตยในกรอบที่กว้างขึ้น : 
    ถ้าจะพูดถึงความเป็นประชาธิปไตยในกรอบที่กว้างขึ้น หนึ่งในประเด็นที่ควรเอ่ยถึงคือเรื่องโรฮีนจา (Rohingya) ธันวาคม 2019 อองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมา (State Counselor) เป็นตัวแทนรัฐบาลนำทีมกฎหมายต่อสู้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ว่ารัฐบาลเมียนมาไม่ได้ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โรฮีนจา หลังคณะทำงานของสหประชาชาติมีข้อสรุปว่ามี “เจตนาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” (genocidal intent) โรฮีนจากว่า 730,000 คน หนีออกจากประเทศ
    ซูจีชี้แจงว่ารัฐบาลปฏิบัติต่อโรฮีนจาอย่างถูกต้อง เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นความขัดแย้งภายในประเทศ (internal conflict) ไม่ใช่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ประเด็นนี้อาจมองว่าซูจีซึ่งมักเป็นตัวแทนประเทศเข้าร่วมงานระหว่างประเทศเป็นประจำ มีความรู้ความสามารถได้รับการยอมรับจากนานาชาติกำลังทำหน้าที่นี้อีกครั้ง ช่วยแก้ข้อกล่าวหาที่นานาชาติประณามผู้นำกองทัพ ในขณะเดียวกันต้องเข้าใจด้วยว่าพรรคของซูจีต่อต้านโรฮีนจาเช่นกัน 
    ในสายตาของหลายประเทศ องค์กรสิทธิมนุษยชน ประเด็นโรฮีนจาเป็นจุดอ่อนประชาธิปไตยเมียนมา แต่สำหรับฝ่ายกองทัพกับซูจีไม่คิดเช่นนั้น เพราะยึดว่าโรฮีนจาไม่ใช่พลเมือง 
    เมษายน 2012 ฮิลลารี คลินตัน ขณะเป็นรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ กล่าวว่า “อนาคตของเมียนมาไม่ชัดเจนและไม่แน่นอน” ความจริงแล้วการปฏิรูปตอนนี้จำกัดอยู่ในเมืองหลวงกับเมืองใหญ่ๆ เท่านั้น แต่ในพื้นที่ชนกลุ่มน้อย ทหารรัฐบาลยังต่อสู้กับพวกคะฉิ่น การละเมิดสิทธิมนุษยชนโรฮีนจายังดำเนินต่อไป
    ถ้าจะพูดว่ามีรัฐบาลพลเรือนเท่ากับมีประชาธิปไตย ความคิดเช่นนี้ดูเหมือนจะมองแคบเกินไป เหมือนจำกัดกรอบให้เลือกระหว่าง "ซูจี" กับ “กองทัพ” เลือกระหว่าง “ประชาธิปไตย” กับ “ไม่เป็นประชาธิปไตย” ความจริงแล้วมีอีกหลายประเด็นที่บ่งชี้อยู่แล้วว่าเมียนมาในยามนี้มีความเป็นประชาธิปไตยมากเพียงไร ทั่วโลกรับรู้กันทั่วไปอยู่แล้ว 
สุดท้ายคือจุดยืนกองทัพ :
    มกราคม 2010 นายกรัฐมนตรี เต็ง เส่ง (Thein Sein) ประกาศว่าจะมีเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤศจิกายน พร้อมกับกล่าวว่า รัฐบาลใหม่จะเป็นรัฐบาลพลเรือนที่กองทัพมีบทบาทร่วมดูแลบริหารประเทศ ตามแผนสร้างประชาธิปไตยเมียนมา
    จะเห็นว่าหลักการนี้ยังไม่เปลี่ยน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อต้นกุมภาพันธ์ตอกย้ำจุดยืนกองทัพ 
    ถ้ายึดประชาธิปไตยเป็นที่ตั้ง เมียนมาเป็นอีกตัวอย่างที่การสร้างประชาธิปไตยต้องใช้เวลา ไม่มีสูตรสำเร็จ บางประเทศไม่เคยฉีกรัฐธรรมนูญขณะที่บางประเทศต้องฉีกหลายรอบ ยึดอำนาจหลายครั้ง และถ้าพูดประชาธิปไตยในกรอบที่ไกลกว่าใครเป็นผู้นำรัฐบาล เห็นได้ชัดว่าหนทางนั้นอีกยาวไกล และอาจเป็นการตั้งโจทย์ผิด.
---------------------------
เครดิตภาพ : https://kafkadesk.org/2019/06/03/myanmars-aung-san-suu-kyi-visits-czech-republic-and-hungary/


 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"