ชมความงามปากปล่องภูเขาไฟ"เขากระโดง" พื้นที่ต้นแบบ"ไม่ว่าใครก็เที่ยวได้ "


เพิ่มเพื่อน    

 

 

 

     สถานการณ์ระบาดของโควิด 19 บ้านเราเริ่มคลี่คลาย มีมากกว่า50 จังหวัด ที่ไม่พบผู้ติดเชื้อนานเกิน 2 สัปดาห์ ซึ่งน่าจะทำให้บรรยากาศการเดินทางของผู้คนเริ่มดีขึ้น หรือถ้าใครอยากจะไปเที่ยวในพื้นที่ไม่แออัด ก็ยังพอทำได้ และวันนี้อยากมาแนะนำอีกสถานที่หนึ่ง ซึ่งในวันนี้ ถ้ายังไม่พร้อมจะไป ก็เก็บไว้เป็นหนึ่งในเป้าหมายของการเดินทางในวันต่อไปได้

      สถานที่ที่ว่านี้ก็คือ" เขากระโดง"จังหวัดบุรีรัมย์  ที่นี่มีดี ไม่เหมือนที่อื่นตรงที่มีเป็นปากปล่องภูเขาไฟที่สูงจากระดับน้ำทะเล 230 เมตร เป็น 1 ใน 6 ภูเขาไฟที่ดับแล้ว ของจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งได้ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองแห่งภูเขาไฟ   "เขากระโดง" เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับการพัฒนาและปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบ  เพราะได้รับการยกระดับเป็น“วนอุทยานภูเขาไฟเขากระโดง” มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ทุกเพศ ทุกวัย และทุกสภาพร่างกาย ให้สามารถเดินทางเข้าถึงและชื่นชมความงามตามธรรมชาติได้ถึงปากปล่องภูเขาไฟ  สมกับคอนเฃ็ปต์ความตั้งใจของหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่จะทำให้"เขากระโดง" เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ตรงกับความหมายที่ว่า “ไม่ว่าใครก็เที่ยวได้” 


           ป่าเขากระโดงมีเนื้อที่กว่า 8,000 ไร่ ชาวบ้านเรียกว่า “พนมกระดอง” เป็นภาษาเขมร แปลว่า “ภูเขากระดอง (เต่า)” ตามรูปลักษณ์ของภูเขาที่คล้ายกระดองเต่า ต่อมาจึงเพี๊ยนเป็น “กระโดง”  ในอดีตเป็นที่ดินสาธารณะประโยชน์ ที่ชาวบ้านนำสัตว์มาเลี้ยง ต่อมาปี 2521 จังหวัดบุรีรัมย์  จึงเสนอให้ป่าเขากระโดง ในท้องที่ตำบลเสม็ดและตำบลสวายจีก เนื้อที่ 1,450 ไร่ อยู่ห่างจากตัวเมืองราว 6 กิโลเมตร  ขึ้นเป็นวนอุทยาน เพื่อเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจสำหรับประชาชน ต่อมาเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2521 กรมป่าไม้ประกาศให้เขากระโดงเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า อีกปีถัดมา มีการเปลี่ยนชื่อเป็น “วนอุทยานภูเขาไฟกระโดง” เพื่อให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ปัจจุบันได้ประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าภูเขาไฟกระโดง
     สภาพของภูเขาแห่งนี้ ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูงเนินเขา เป็นป่าเต็ง-รัง มีเนินเขาขนาดเล็ก 2 ลูกติดกันสูงจากพื้นที่โดยรอบประมาณ 85 เมตร ตั้งอยู่ใจกลางเมือง เนินทางทิศใต้เรียกว่า “เขาใหญ่”  ส่วนเนินทางทิศเหนือเรียกว่า “เขากระโดง” หรือ “เขาน้อย”  ความสำคัญของผืนป่าแห่งนี้เสมือนเป็นธนาคารอาหารป่า เพราะอุดมไปด้วยพืชอาหารและสมุนไพรนานาประเภทกว่า 100 ชนิด  มีเห็ดกินได้กว่า 20 ชนิด นกน้ำและนกป่ากว่า 100 ชนิด สัตว์ที่พบบ่อยคืองูหลาม กระต่ายป่า ไก่ป่า กระรอกบินจิ๋วท้องขาว กระรอกหลากสี นกขุนแผนสีน้ำเงินนกบั้งรอกใหญ่ และนกกระรางหัวหงอก เป็นต้น

              "เขากระโดง" เป็น 1 ใน 6 ภูเขาไฟในบุรีรัมย์ ที่ดับมอดมานานนับแสนปี จึงรับรองได้ว่าปลอดภัย ทุกวันนี้ คงเหลือไว้ซึ่งความอุดมสมบูรณ์และความสวยงามของธรรมชาติและป่าไม้  มีพันธุ์ม้หายากอย่าง "ต้นโยนีปีศาจ" หรือที่คนพื้นเมืองเรียกว่า"ต้นหีผี" และอีกหลายๆชื่อ เช่น ต้นมะกอกเผือก ต้นมะกอกโคก  โดยภาษาเขมรจะเรียกต้นนี้ว่า ต้นกะนุยขมอย   เป็นที่ตั้งของปราสาทหินเขากระโดง สร้างขึ้นก่อนสมัยสุโขทัย เดิมเป็นปรางค์หินทรายก่อบนฐานศิลาแลงองค์เดียวโดดๆ ฐานสี่เหลี่ยมขนาด 4x4 เมตร มีช่องทางเข้า 4 ด้าน  ต่อมาหินดังกล่าวได้พังลง  จึงได้มีผู้นำหินมาเรียงขึ้นใหม่แต่ไม่ตรงตามรูปเดิม ต่อมาตระกูลสิงห์เสนีย์ ได้สร้างพระพุทธบาทจำลองมาประดิษฐานไว้ในปราสาท และสร้างมณฑปครอบทับไว้บนปราสาท พร้อมประกาศในราชกิจจานุเบกษาขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ

 

 

     ที่นี่ยังมีจุดชมวิว ซึ่งเป็นที่ประดิษฐสถานของพระสุภัทรบพิตรจำลององค์ใหญ่ ที่ตั้งตระหง่านอยู่ ณ จุดชมวิว ให้ผู้คนได้ชมทั้งทิวทัศน์ความงามของเมืองบุรีรัมย์ในมุมสูง และยังได้กราบสักการะพระภัทรบพิตร องค์พระขนาดใหญ่มีหน้าตักกว้าง 12 เมตร ฐานกว้าง 14 เมตร ภายในเศียรบรรจุพระธาตุหรือพระบรมสารีริกธาตุ ประทับอยู่ขอบปากปล่องภูเขาไฟ รูปจันทร์เสี้ยว หันหน้าไปทางทิศเหนือเข้าเมือง เพื่อความเป็นสิริมงคล
       ไฮไลท์ของเขากระโดง คือ การขึ้นไปถึงปากปล่องภูเขาไฟ  แต่เพื่อให้เขาแห่งนี้ เป็นแหล่งท่องเที่ยว"ไม่ว่าใครก็เที่ยวได้"จริงๆ ทางเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ และจังหวัดบุรีรัมย์ได้สร้างสะพานแขวน ให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินชมปากปล่องภูเขาไฟได้อย่างใกล้ชิด    และล่าสุดองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ได้มองเห็นศักยภาพความเป็นแหล่งท่องเที่ยวของเขากระโดง ยังได้หารือร่วมกับจังหวัดบุรีรัมย์ องค์กรภาคีเครือข่ายในจังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดสุรินทร์ อาทิ ชมรมทูตอารยสถาปัตย์จังหวัดบุรีรัมย์ / ทกจ.บุรีรัมย์ / พมจ.บุรีรัมย์ / ททท. สำนักงานบุรีรัมย์และสำนักงานสุรินทร์ / สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดบุรีรัมย์ / สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดบุรีรัมย์ / และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าภูเขาไฟกระโดง เพื่อกำหนดแผนพัฒนา ให้พื้นที่แห่งนี้ เป็น"พื้นที่ต้นแบบแหล่งท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล  (Tourism for All)"  ซึ่งเป็นไปตามแผนการพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมอีสานใต้

      ใครที่มาบุรีรัมย์ นอกจากการเที่ยวชมความงามของปราสาทหินพนมรุ้ง และปราสาทเมืองต่ำ หรือชมความยิ่งใหญ่ของสนาม ‘ช้างอารีน่า’ นักท่องเที่ยวที่แม้ไม่ใช่คอบอล ไม่ควรพลาด แวะไปสัมผัสบรรยากาศ "เขา กระโดง"  หรือเยี่ยมเยียน อีกหลายแหล่งท่องเที่ยว ที่หลากกิจกรรม ตามชุมชนต่างๆ ซึ่งจะได้อิ่มเอมกับ อัตลักษณ์และวิถีชีวิต ภูมิปัญญาท้องถิ่น ตลอดจนสินค้า และบริการของชุมชนซึ่งจะประทับใจ จนอยากมาอีก.

 

 


 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"