ประธานศาลฎีกา เปิดโครงการเชิงรุก ยกระดับคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายในคดีอาญา


เพิ่มเพื่อน    

18 ก.พ.64 - ที่ห้องประชุม ชั้น 10 อาคารศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการยกระดับการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายในคดีอาญา โดยมี นายสิทธิโชติ อินทรวิเศษ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา, นางอโนชา ชีวิตโสภณ อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง และนายเผ่าพันธ์ ชอบน้ำตาล ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกา ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมดำเนินงานตามโครงการในศาลเยาวชนและครอบครัว และในศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาทั่วประเทศ  

นอกจากนี้ มีนายพงษ์เดช วานิชกิตติกูล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม, นายชนาธิป เหมือนพะวงศ์, นายพิศิษฐ์ วิริยะพาณิชย์ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา, นางกรกันยา สุวรรณพานิช เลขาธิการประธานศาลฎีกา, นายนาวี วงศ์สกุลธนา รองเลขาธิการประธานศาลฎีกา, นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม, นายชนุดม ปิติฤกษ์ เลขานุการศาลอาญา และผู้พิพากษา เจ้าหน้าที่ศาล และสื่อมวลชนเข้ารับฟัง 

นางเมทินี ประธานศาลฎีกา กล่าวเปิดงานว่า วันนี้หรือแม้กระทั่งนาทีนี้ มีคนจำนวนมากในประเทศไทย ที่ตกเป็นผู้เสียหายในคดีอาญา อาจจะโดนทำร้ายร่างกาย โดนประทุษร้ายต่อทรัพย์ หรืออาจจะเป็นอุบัติเหตุ เหตุการณ์เหล่านั้นทำให้คนตกเป็นผู้เสียหายโดยไม่ทันตั้งตัว อยากให้ลองนึกดูว่าถ้าเราตกอยู่ในฐานะผู้เสียหาย เราจะไปพึ่งใคร แม้บางครั้งสิ่งที่เราคาดหวังจากการจับกุมคนร้ายได้ มิใช่การนำผู้กระทำความผิดไปจองจำยังเรือนจำ แต่ในบางครั้งเราก็อยากได้คำขอโทษ และได้รับการชดใช้ สิ่งที่เราได้ในสิ่งที่เราสูญเสียไป การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นอีกหนึ่งทางเลือก แต่ก็ไม่อาจเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดได้ ความทุกข์ของการที่ถูกกระทำ ที่อาจทำให้เราเสียโอกาสไปตลอดชีวิต เคยมีข่าวนักศึกษานักศึกษาที่กำลังจะจบปริญญาถูกรถชนได้รับบาดเจ็บสาหัสสูญเสียอวัยวะ เรื่องนี้คือการเสียโอกาสของคนคนหนึ่ง ที่จะได้มีชีวิตที่ดีหลังจากการเรียนจบ สิ่งเหล่านี้เห็นได้ว่าเป็นความเสียหายที่ผู้เสียหายได้รับผลกระทบ ไม่ใช่เฉพาะแค่ค่ารักษาพยาบาล หรือค่าจัดการงานศพ แต่มันกลายเป็นความทุกข์ในใจและความกังวลของคนในครอบครัว ซึ่งศาลยุติธรรมคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้  

ก่อนหน้านี้หลายปีที่ผ่านมาเราก่อตั้ง ศูนย์คุ้มครองสิทธิเสรีภาพในคดีอาญา ซึ่งมีหน้าที่ดูแลในส่วนของผู้ต้องหา หรือจำเลย และในขณะเดียวกันก็ดูแลในส่วนของผู้เสียหายหรือเหยื่ออาชญากรรม ศาลยุติธรรมเรามุ่งหน้าขับเคลื่อนนโยบายให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ในส่วนผู้ต้องหาหรือจำเลย เราได้เพิ่มเรื่องการเข้าถึงสิทธิการปล่อยชั่วคราว มีการทำคำร้องใบเดียว ให้ประกันโดยไม่ต้องมีหลักประกันในคดีความผิดเล็กน้อย หรือการนำผู้กระทำความผิดที่โดนโทษปรับไปทำงานบริการสังคม เป็นต้น   

แต่ในส่วนผู้เสียหายก็มีคำถามกลับมาว่า แล้วผู้ที่ถูกกระทำ ศาลยุติธรรมได้มีการดูแลคนเหล่านี้อย่างไร ตนขอตอบตอนนี้ว่าศูนย์คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของศาลยุติธรรมในคดีอาญาได้ดูแลผู้เสียหายจากเหตุการณ์อาชญากรรมตลอดมา แต่ขณะนี้เราจะไม่ทำงานในเชิงรับอย่างเดียว ตอนนี้ศูนย์ดังกล่าวได้ทำงานในเชิงรุกออกไปในการนำผู้เสียหายเข้ามาในคดี เพื่อที่จะได้เข้ามาสู่กระบวนการของศาล ไม่ว่าจะเป็นการประนอมข้อพิพาท หรือพูดคุยในเรื่องการดูแลเยียวยาจิตใจ ที่ผ่านมาเรายอมรับว่ามีผู้เสียหายเข้ามาในกระบวนการในศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้เสียหายจำนวนไม่มาก ซึ่งในแต่ละปีคดีอาญาที่เกิดขึ้นในศาลยุติธรรมมีหลายแสนคดี ในคดีเหล่านั้นมีชื่อผู้เสียหายปรากฏ และก็มีผู้เสียหายมาเบิกความเป็นพยานในคดีเพื่อนำไปสู่การลงโทษ แต่ไม่ได้เข้ามาในกระบวนการของศูนย์คุ้มครองสิทธิ์ตั้งแต่ต้น   

โดยจากการเก็บข้อมูลสอบถาม พบว่าผู้เสียหายไม่ได้รับรู้ถึงสิทธิของตน ว่ามีสิทธิอะไรบ้าง และผู้เสียหายไม่ได้คาดหวัง กับกระบวนการที่เข้ามา เพราะคิดว่าเป็นแค่พยานในคดีเท่านั้น ผู้เสียหายยังมองไม่เห็นถึงสิ่งที่ได้รับหลังจากนั้น จุดนี้เป็นสิ่งที่เรากลับมานั่งคิดกันว่า ถึงเวลาแล้วที่ศาลยุติธรรมจะต้องออกหน้าทำงานในเชิงรุก ดูแลผู้เสียหายให้มากขึ้น เข้าใจถึงความกังวล ความทุกข์ ที่มากกว่าค่าสินไหมทดแทนที่กฎหมายหรือศาลพิพากษาให้อยู่แล้ว ศูนย์คุ้มครองสิทธิฯ จะขยายวงกว้างให้ประชาชนที่ตกเป็นผู้เสียหายรับรู้ว่า การเข้ามาในศาลยุติธรรมสามารถวางใจได้ และบอกถึงความทุกข์ร้อนโดยมีคนที่รับฟัง นำมาประกอบดุลยพินิจในการพิจารณาคดีทุกขั้นตอน ตั้งแต่การพิจารณาปล่อยชั่วคราวจำเลย จนถึงการพิจารณา สืบพยาน และการใช้ดุลยพินิจในการกำหนดโทษจำเลย  

ในเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ตนได้ออกคำแนะนำประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติต่อผู้เสียหายในคดีอาญา ซึ่งตอนนี้ผู้พิพากษาทั่วประเทศได้รับทราบในคำแนะนำประธานศาลฎีกาฉบับนั้น ได้เน้นย้ำหลักการที่เป็นสาระสำคัญ ว่าผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่ศาลพึงรับฟังผู้เสียหายเกี่ยวกับความทุกข์ กังวลใจ ด้วยความเมตตาอย่างเป็นธรรมและเป็นกลาง เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของจำเลยกับการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหาย ซึ่งก็คือการสร้างดุลยภาพแห่งสิทธิ  

ในคดีอาญาเราอยู่ตรงกลาง เราจะทำอย่างไรให้เขาเห็นว่าเราอยู่ตรงกลาง และสามารถสร้างดุลยภาพ ในการคุ้มครองทั้งสองฝ่ายได้อย่างเท่าเทียม เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงและข้อยุติให้กับคนทั้งสองฝ่าย ที่พึงพอใจและรับได้ ผู้เสียหายหลายคนไม่ได้ต้องการให้จำเลยติดคุกอย่างเดียว บางครั้งเขาต้องการแค่คำขอโทษ หรือเยียวยาทางด้านจิตใจ มีหลายที่ที่ผู้เสียหายกับจำเลยสามารถปรองดองและกอดคอกันออกจากศาล แม้จำเลยจะถูกพิพากษาว่ากระทำความผิด แต่ต่างฝ่ายต่างให้โอกาสกันและกัน อยากให้ผู้เสียหายไม่รู้สึกว่าเขาเดียวดาย คำพูดของเขามีหน่วยงานมีคนรับฟัง ซึ่งหน่วยงานนั้นเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้รับรู้นำสิ่งที่กังวล และต้องการมาประกอบการพิจารณาคดี ถ้าต้องลำบากอยู่แล้ว แล้วต้องมาขึ้นศาลอีก คงไม่มีใครอยากมา 

นางเมทินี กล่าวช่วงท้ายว่า วันนี้ศาลยุติธรรมทั่วประเทศพร้อมแล้ว ที่จะยกระดับการคุ้มครอง สิทธิของผู้เสียหายในคดีอาญาให้มากยิ่งขึ้น วันนี้ถ้ามีคนตกเป็นผู้เสียหายสามารถมาแจ้งความประสงค์ผ่านระบบของศาลยุติธรรม แม้จะยังไม่มีคดีในศาล ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งที่ศาลยุติธรรมจะทำให้ประชาชนเพิ่มมากขึ้น เราเปิดศูนย์กลางรวบรวมข้อมูลของผู้เสียหาย ที่ถูกละเมิดในทุกด้าน และเมื่อมีคดีเข้าสู่ศาล ข้อมูลเหล่านี้จะถูกดึงไป เพื่อให้ผู้พิพากษาที่ประจำศูนย์ได้รับรู้ข้อมูล มาใช้ประกอบ ดำเนินกระบวนการพิจารณา นับจากนี้ผู้พิพากษาที่อยู่ในศาลชั้นต้นทั่วประเทศจะรับฟังผู้เสียหาย ด้วยความเป็นกลางปราศจากอคติโดยเป็นความลับที่ใช้ในการพิจารณาคดีเท่านั้น แม้สิ่งเหล่านี้จะเป็นงานที่เพิ่มขึ้นของผู้พิพากษา แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นนี้มันเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างมากมายมหาศาล และผู้พิพากษาของศาลทั่วประเทศมีความยินดี ที่จะรับที่จะรับเอางานนี้เป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน เพื่อดูแลประชาชน ตรงนี้เป็นความภูมิใจของผู้พิพากษา  

ด้าน นายสิทธิโชติ อินทรวิเศษ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กล่าวถึงความสำคัญของศูนย์ฯ ว่า ตั้งแต่วินาทีแรกที่ตำรวจจับกุมคนร้ายได้ในชั้นสอบสวนคือ สถานีตำรวจ ผู้เสียหายก็สามารถใช้สิทธิที่จะพูดหรือระบายกับทางศูนย์ฯ นี้ได้ หากท่านมีความทุกข์ร้อนอะไรก็สามารถเขียนข้อมูลลงไปได้ ดังนั้นเมื่อท่านไปแจ้งความดำเนินคดีแล้ว ท่านอาจจะกังวลเรื่องความไม่ปลอดภัย หรือกังวลใจว่าเมื่อดำเนินคดีไปแล้วก็ไม่ทราบว่าคดีคืบหน้าไปถึงไหน จะขอให้ศาลช่วยแจ้งเป็นระยะๆ เช่น คดีมาฝากขังแล้วหรือยัง จำเลยได้ประกันตัวหรือไม่ เหล่านี้ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้เสียหายสามารถทำได้ทั้งสิ้น ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องที่ผู้เสียหายอยากเรียกร้องเท่านั้น ความทุกข์ใจต่างๆ ศาลเรายินดีจะรับฟัง ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นข้อมูลกลางที่ศูนย์ฯ เก็บไว้ จนกระทั่งเมื่อคดีดำเนินมาถึงในชั้นศาล ที่พนักงานสอบสวนนำคดีมาผัดฟ้อง-ฝากขัง เจ้าหน้าที่เราก็จะเปิดดูข้อมูลซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญ ที่ทางศาลได้ประสานงานกับพนักงานสอบสวนไว้แล้วว่า ควรจะต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับผู้เสียหายให้มากที่สุด  

เมื่อเรามีข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้กับทางศูนย์ฯ แล้วว่า ได้แสดงความกังวล หรือประสงค์จะใช้สิทธิของผู้เสียหายอย่างไรบ้าง เจ้าหน้าที่ศาลก็จะเอาข้อมูลเหล่านี้นำเสนอผู้พิพากษา ซึ่งมีหน้าที่ปฏิบัติงานในขณะนั้น เช่นกรณีที่ผู้ต้องหาขอประกันตัวในชั้นสอบสวน ถ้ามีข้อมูลอยู่เจ้าหน้าที่ก็จะนำข้อมูลเสนอผู้พิพากษาเพื่อใช้ประกอบดุลยพินิจว่าศาลควรจะสั่งอย่างไร ให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพราะฉะนั้นสิ่งนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมาก อย่างไรก็ตาม ศาลเองก็ได้คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้เสียหาย เพราะฉะนั้นข้อมูลที่ผู้เสียหายให้ไว้นั้น ขอให้ผู้เสียหายมั่นใจว่าจะเป็นความลับสุดยอด รับรู้ได้แต่เฉพาะแต่ท่านผู้พิพากษาที่มีหน้าที่พิจารณาในส่วนขั้นตอนดังกล่าวเท่านั้น   

อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กล่าวอีกว่า นับว่าเป็นโอกาสดีที่ประธานศาลฎีกามีนโยบายสร้างดุลยภาพแห่งสิทธิ ตนขอยืนยันว่าผู้พิพากษาศาลอาญาและผู้พิพากษาทั่วประเทศภูมิใจที่เราได้ปฏิบัติหน้าที่ไปดูแลคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายด้วยความห่วงใย คำนึงถึงศักดิ์ศรี สถานภาพทางสังคม สถานภาพส่วนตัวในเรื่องสุขภาพอนามัย ขอให้ไว้วางใจ อบอุ่นใจว่าข้อมูลของท่านนั้นเป็นประโยชน์ต่อสังคม เป็นประโยชน์ในเรื่องที่ศาลจะนำมาใช้ประกอบดุลยพินิจต่อไป จึงขอให้ผู้เสียหายเข้ามาใช้บริการนี้ ซึ่งศาลยุติธรรมได้ยกระดับการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายให้เทียบเท่ากับที่เคยทำให้ฝ่ายจำเลย  

ส่วน นางอโนชา ชีวิตโสภณ อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนฯ กล่าวถึงการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายคดีอาญาที่เป็นเด็กและเยาวชนว่า เราให้ความสำคัญในด้านที่เยียวยาผู้เสียหายทางด้านจิตใจและการชดใช้ค่าเสียหาย โดยที่ผ่านมาศาลเยาวชนฯ เองก็ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้เสียหายตามกฎหมายเด็กและเยาวชนมาแล้วเช่นกัน ซึ่งหลังจากนี้เราก็จะพัฒนาช่องทางการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาให้ทั่วถึงต่อไปด้วย 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการนี้ศาลยุติธรรมได้จัดตั้ง “ศูนย์กลางข้อมูลผู้เสียหาย” ให้เป็นศูนย์กลางรวบรวมข้อมูลและความประสงค์ในการใช้สิทธิทางศาลของผู้เสียหาย ซึ่งสามารถแจ้งสิทธิได้โดยสะดวกตั้งแต่แจ้งความดำเนินคดีโดยไม่ต้องรอให้มีคดีมาถึงศาลก่อน ทั้งนี้ ผู้เสียหายสามารถให้ข้อมูลตามแบบแสดงความประสงค์ได้ตาม 4 ช่องทาง ดังนี้ 1. กรอกแบบแสดงความประสงค์ส่งไปยังศูนย์กลางข้อมูลผู้เสียหาย ทางเว็บไซต์ https://cios.coj.go.th ได้ตลอด 24 ชั่วโมง 2. แจ้งความประสงค์ต่อเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในคดีอาญาประจำศาลชั้นต้นทุกแห่งที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาทั่วราชอาณาจักร เช่น ศาลอาญา ศาลจังหวัด ศาลแขวง ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัด โดยไม่จำกัดว่าเป็นศาลที่มีเขตอำนาจหรือไม่ ในวันและเวลาราชการ3. ดาวน์โหลดและพิมพ์แบบแจ้งความประสงค์จากเว็บไซต์ของศาลยุติธรรม https://cios.coj.go.th กรอกข้อความแล้วจัดส่งทางไปรษณีย์มาที่ "ศูนย์กลางข้อมูลผู้เสียหาย" ที่อยู่ สำนักกิจการคดี อาคารศาลอาญา ชั้น 6 แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900  โทร 02-512-8138 4. กรณีที่มีการยื่นคำร้องขอผัดฟ้อง ฝากขัง หรือยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว ผู้เสียหายสามารถแสดงความประสงค์ในการใช้สิทธิที่ศูนย์คุ้มครองสิทธิฯ ของศาลดังกล่าว เพื่อความรวดเร็ว ในวันและเวลาราชการ เริ่มตั้งแต่วันที่ 18 ก.พ. 2564 เป็นต้นไป.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"