แย่งชิงตู้คอนเทนเนอร์ เหมือนแข่งกันสั่งวัคซีน


เพิ่มเพื่อน    

          หนึ่งในปัจจัยวิกฤติเศรษฐกิจของไทยวันนี้โยงไปถึงการขาดแคลนคอนเทนเนอร์ ซึ่งมีผลกระทบต่อผู้ส่งออกของไทยอย่างรุนแรง

                ชาร์ตนี้แสดงให้เห็นถึงอัตราค่าระวางที่พุ่งขึ้นตั้งแต่เกิดวิกฤติโควิดที่กลายเป็นปัญหาหนักหน่วงทั่วโลก

                เป็นปัญหาที่รัฐบาลไทยต้องไม่มองว่าเป็นประเด็นของเอกชนเท่านั้น เพราะการต่อรองเพื่อให้ได้บริการคอนเทนเนอร์สำหรับผู้ส่งออกไทยวันนี้ต้องเป็นในระดับรัฐบาลต่อรัฐบาล

                สำหรับในภูมิภาคนี้โยงไปถึงจีนและเวียดนามที่ใช้คอนเทนเนอร์เป็นจำนวนมาก

                เกิดการ “แย่งชิง” ตู้คอนเทนเนอร์ที่ไม่เพียงแต่เป็นเรื่องการขึ้นราคาอย่างรุนแรงเท่านั้น แต่ยังเป็นประเด็นการเมืองที่เอกชนต้องพึ่งพาการต่อรองและประสานระดับรัฐบาลอีกด้วย

                เกือบจะเหมือนการแย่งซื้อวัคซีนของประเทศต่างๆ เพื่อมาฉีดให้กับประชาชนของตนเอง

                จนรัฐบาลทั้งหลายต้องเข้ามามีบทบาทในการเจรจาต่อรองระหว่างประเทศนอกเหนือไปจากการต้อง “แย่งชิง” วัคซีนที่ยื้อแย่งกันด้วยการประมูลแข่งขันกันอย่างน่ากลัว

                เมื่อเร็วๆ นี้ คุณอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่าการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์มีผลส่งให้ค่าระวางสินค้าเพิ่มขึ้น 3-5 เท่าตัว จากปี 2562

                อีกทั้งหลายประเทศเพิ่มส่งออก เช่น จีน ทำให้จำนวนตู้สินค้าคงค้างที่ท่าเรือ เช่น ยุโรป อเมริกา

                คาดว่ากว่าตู้สินค้าจะกลับเพิ่มขึ้นจะใช้มากกว่า 1 เดือน

                ซึ่งจะกระทบต่อการส่งออกไทยปี 2564 สูญเสีย 5,159 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 154,767 ล้านบาท และกระทบต่อส่งออกรวม 2.2%

                เรื่องคอนเทนเนอร์เป็นหนึ่งในประเด็นที่ควรจะต้อง “จับตา” นอกเหนือไปจากที่ทางสภาพัฒน์ตั้งข้อสังเกตเอาไว้

                คุณดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์นอกจากนำเสนอตัวเลขเศรษฐกิจของไทยปีที่ผ่านมา และพยากรณ์แนวโน้มปีนี้แล้วก็ยังบอกว่ามีเรื่องราวที่คนไทยต้องจับตาอีกหลายเรื่อง เช่น

                1.การควบคุมการแพร่ระบาดและการป้องกันการกลับมาระบาดรุนแรงภายในประเทศ โดยการดำเนินการตามมาตรการควบคุมและป้องกันการระบาดของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง

                และการจัดหาและบริหารจัดการวัคซีนให้ครอบคลุมทั่วถึงและเพียงพอต่อการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่อย่างรวดเร็วและจัดลำดับความสำคัญ

                โดยคำนึงถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ

                และการรักษาความต่อเนื่องของการผลิตในพื้นที่อุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ ควบคู่ไปกับการจัดลำดับความสำคัญตามหลักการทางสาธารณสุข

                2.การรักษาบรรยากาศทางการเมืองภายในประเทศ

                เพราะการขยายตัวเศรษฐกิจในปี 2564 จะต้องอาศัยเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก

                นอกจากการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศแล้ว จะต้องสนับสนุนให้มีเงินลงทุนจากต่างประเทศให้มากขึ้น ดังนั้นการรักษาบรรยากาศทางการเมืองจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างประเทศ

                3.การดูแลภาคเศรษฐกิจที่ยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว

                โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งการฟื้นตัวยังมีข้อจำกัดจากมาตรการควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศ รวมทั้งการพิจารณามาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเพิ่มเติม

                4.การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ

                5.การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าเพื่อสร้างรายได้เงินตราต่างประเทศ โดยการขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าที่ได้รับประโยชน์จากการระบาดของโรค, การสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของสินค้าไทยควบคู่ไปกับการดำเนินมาตรการป้องกันการระบาดของโรคในพื้นที่ฐานการผลิตสำคัญอย่างเข้มงวด, การขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าภายใต้กรอบความร่วมมือที่สำคัญ

                การให้ความสำคัญกับข้อตกลงระหว่างประเทศที่สำคัญๆ ที่อาจถูกหยิบยกเป็นเครื่องมือสำหรับการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้า, การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสินค้า, การลดต้นทุนการผลิตสินค้าที่สำคัญๆ เพื่อลดแรงกดดันจากการแข็งค่าของเงินบาท และการป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงิน

                6.การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน โดยให้ความสำคัญกับการเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2561-2563 ให้เกิดการลงทุนจริง, การแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจ, การดำเนินมาตรการส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกและอำนวยความสะดวกสำหรับนักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย, การขับเคลื่อนการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และการขับเคลื่อนมาตรการสร้างศักยภาพ, การขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาวอย่างต่อเนื่อง

                7.การเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

                8.การเตรียมมาตรการรองรับความเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยแล้งและการดูแลรายได้เกษตรกร

                9.การติดตามและเตรียมการรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนในระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกที่ยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์สูง และอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มเติมควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญกับการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

                นั่นแปลว่า “ตัวแปร” ที่ยังไม่นิ่งและเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลายังเป็นอุปสรรคสำหรับการฝ่าวิกฤติได้ตลอดเวลา

                การบริหารวิกฤติของรัฐและเอกชนจึงต้อง “คาดการณ์ในสิ่งที่คาดไม่ถึง” (Expect the Unexpected)

                ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ยังไม่มีสถาบันศึกษาใดสอนไว้...ทุกคนล้วนต้องเรียนรู้และปรับตัวจากประสบการณ์ของจริงที่ไม่มี “บทเรียนอดีต” ให้อ้างอิงทั้งสิ้น!.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"