EEC–HDC เร่งสร้างบุคลากร 1.2 หมื่นคน รับ “ศูนย์แพทย์ พัทยา” ก้าวสู่ “Medical Hub” ของอาเซียน


เพิ่มเพื่อน    

นายอภิชาต ทองอยู่ ประธานคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC-HDC) ให้ข้อมูลถึงโปรเจกต์ Medical Hub ว่าจะเป็นการพัฒนาไปสู่การแพทย์สมัยใหม่ที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก เพราะเทคโนโลยีและความก้าวหน้าทางการแพทย์เกิดขึ้นรวดเร็วจะทำให้เกิด “แพทย์ดิจิทัล” มากขึ้น

ซึ่งการดำเนินการหลัก ๆ ของศูนย์แพทย์ธรรมศาสตร์ พัทยา คือ การพัฒนาความก้าวหน้าทางการแพทย์ พัฒนาระบบการบริการสาธารสุขให้กับท้องถิ่น และปรับปรุงระบบการให้บริการทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โรงพยาบาลท้องถิ่น หรือสถานีอนามัยในพื้นที่ EEC ให้เป็น Digital Healthcare Solution ที่มีศักยภาพในด้านการรักษาและส่งเสริมสุขภาพทางดิจิทัล ซึ่งจะเป็นพื้นที่ Sandbox สำคัญที่จะสร้างความก้าวหน้าให้กับ EEC

หัวใจสำคัญที่จะทำให้ไทยก้าวสู่ “ผู้นำทางการแพทย์สมัยใหม่” ก็คือ การจัดการเรียนการสอน และผลิตบุคลากรทางการแพทย์ในแบบใหม่ที่จะมารองรับกับเป้าหมายนี้ ซึ่งจะไม่ได้จำกัดแค่การผลิตบุคลากรทางการแพทย์ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังสามารถยกระดับบุคลากรในอาเซียน ได้ด้วย เพื่อรองรับการลงทุนจากต่างประเทศ        

สำหรับ EEC-HDC ซึ่งดูแลเรื่องการพัฒนาการศึกษาและผลิตบุคลากรรองรับการลงทุน 12 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดย Medical Hub เป็น 1 ใน 5 อุตสาหกรรมใหม่ หรือ New S-curve ระยะเวลา 5 ปี (2562-2566) ที่จะมีความต้องการบุคลากรอย่างน้อย 12,000 คน จากเป้าหมายรวม 475,000 คน ใน 5 ปี อาทิ แพทย์ พยาบาล นักเทคนิควิทยา และโดยเฉพาะนักรังสีการแพทย์ หรือนักรังสีเทคนิค ซึ่งเป็นสาขาที่ยังคงมีปัญหาขาดแคลนบุคลากร จึงต้องเร่งปรับสร้างบุคลากรกลุ่มนี้ขึ้นมารองรับการเกิดขึ้นของโปรเจกต์ Medical Hub ซึ่งขณะนี้ วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ ได้เข้ามาร่วมผลิตบุคคลากรผ่านหลักสูตรปริญญาตรีใน 4 หลักสูตร ด้วยกัน   

“เป้าหมายของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ พัทยา จะเป็นโรงพยาบาลที่เป็น Smart Hospital ที่สามารถเชื่อมการให้บริการกับทุกคน ทุกที่ โดย EEC จะเป็นตัวหลักในการสนับสนุนให้เกิดระบบการแพทย์นี้ และผลักดันให้เป็นแกนในการขับเคลื่อนความก้าวหน้าใหม่ของประเทศและเป็นศูนย์กลางของอาเซียนทางด้านการแพทย์และการบริการทางสาธารณสุขสมัยใหม่ และวันนี้ ประเทศไทยเองก็ยังได้รับความเชื่อถือจากทั่วโลกว่ามีระบบสุขภาพที่ดีมากจากกรณีการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งต้องยกความดีให้กับการสาธารณสุขและการแพทย์ของไทย” ดร.อภิชาต กล่าว

 

EEC Model เร่งปั้นบุคลากร 1.5 แสนคน รองรับการลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย

นายอภิชาต ยังได้เปิดเผยภาพรวมการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ EEC โดย EEC-HDC ได้ทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนจัดการศึกษาในรูปแบบ “Demand-Driven” ที่ยึดความต้องการแรงงานของภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก จากเดิมที่เป็นแบบ Supply Side จัดการศึกษาตามความต้องการของสถาบันการศึกษา และครู-อาจารย์เป็นหลักจึงไม่สัมพันธ์กับความก้าวหน้าของประเทศ โดยการันตีว่าคนที่เข้ามาอยู่ในระบบการศึกษาใหม่นี้ไม่ว่าจะเป็นแบบ EEC Type A หรือ EEC Type B จะไม่มีใครตกงาน แน่นอน  

ซึ่งในการปรับแผนการพัฒนาการศึกษาและทักษะบุคลากรนั้น จะมีสภาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมที่เรียกว่า EEC Industrial Forum (EIF) ที่เป็นการรวมกลุ่มระหว่างภาคอุตสาหกรรม เข้ามาร่วมกันวางพื้นฐานหลักสูตรให้กับสถาบันการศึกษาเพื่อผลิตบุคลากรให้ตรงตามความต้องการที่เป็นจริง ขณะนี้มีมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน 8 แห่งในพื้นที่ EEC และมหาวิทยาลัยเครือข่ายนอกพื้นที่ EEC 18 แห่ง รวมทั้งวิทยาลัยระดับอาชีวศึกษาของรัฐ 12 แห่ง วิทยาลัยระดับอาชีวศึกษาของเอกชน 6 แห่ง และวิทยาลัยเครือข่ายนอกพื้นที่รวมทั้งหมดประมาณ 40 แห่ง ที่จะทำงานร่วมกัน   

โดยในปีงบประมาณ 2564 ตั้งเป้าหมายการพัฒนาบุคลากรประมาณ 1.5 แสนคน แบ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายตามแผน EEC Model ประมาณ 40,612 คน การพัฒนาบุคลากรในภาพรวม 6,504 คน และการพัฒนาบุคลากรตั้งแต่ระดับขั้นพื้นฐาน 103,939 คน ใช้งบประมาณรวมประมาณ 800 ล้านบาท 

โดยในส่วนของ EEC Model Type A ที่ให้เอกชนจ่าย 100% เป็นการพัฒนาทักษะบุคลากรระดับอุดมศึกษาและสถาบันอาชีวศึกษา ตั้งเป้าปี 2564 พัฒนาไม่น้อยกว่า 2,000 คน หรือรวมมากกว่า 10,000 คน นับตั้งแต่ปี 2562 จนถึงสิ้นปี 2564

ส่วน EEC Model Type B ที่เป็นการฝึกอบรมระยะสั้น (Short Courses) เพื่อผลิตกำลังคนปรับทักษะ (Re-Skill) เพิ่มทักษะ (Up-Skill) ระยะเร่งด่วน และปรับทักษะใหม่ (New-Skill) รัฐจะสนับสนุนงบไม่เกิน 50% ที่เหลือเอกชนจ่ายเพื่อให้ตรงกับความต้องการของแต่ละอุตสาหกรรมเป้าหมาย ในปีงบประมาณ 2564 ตั้งเป้าพัฒนาไม่น้อยกว่า 25,000 คน หรือรวมมากกว่า 60,000 คน นับตั้งแต่ปี 2562 จนถึงสิ้นปี 2564 ซึ่งได้รวมมาตรการพิเศษ อาทิ การช่วยเหลือบุคลากรเพื่อชะลอการว่างงานในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนให้พัฒนาบุคลากร 10,000 คน เข้าไปด้วย        

ขณะนี้มีสถานประกอบการที่ได้ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาออกแบบหลักสูตรระยะสั้น ได้รับการอนุมัติแล้ว 89 หลักสูตร ได้แก่ หุ่นยนต์ 54 หลักสูตร, ยานยนต์แห่งอนาคต 25 หลักสูตร, การบิน 4 หลักสูตร, โลจิสติกส์ และอิเล็กทรอนิกส์ อย่างละ 3 หลักสูตร จะช่วยลดค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกอบการ ขณะที่ผู้เข้ารับการอบรมมีงานทำต่อเนื่อง เพราะในเงื่อนไขกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องรับเข้าไปทำงาน 1 ปี

 

สำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้มีความร่วมมือกับ 800 โรงเรียน โดยผ่านกระทรวงศึกษาธิการ ในการส่งเสริมการพัฒนาทักษะด้านภาษา คือ ภาษาอังกฤษ และภาษาธุรกิจ อาทิ จีน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เยอรมัน อิหร่าน ตั้งแต่อนุบาล ปรับทักษะเรื่อง STEM และเพิ่มการเรียนเรื่อง Coding เพื่อสร้างพื้นฐานการทำงานร่วมกับเทคโนโลยี นอกจากนั้น ยังเปิดให้โรงเรียนบางส่วน เช่น ปรับให้โรงเรียนมัธยมต้นในพื้นที่บ้านบึง มีสภาพเหมือนโรงเรียนเตรียมวิศวกร ปรับพื้นฐานการเรียนใหม่ ทำให้เด็กที่เรียนจบ ม.3 ไม่ต้องมุ่งมหาวิทยาลัย แต่สามารถเข้าเรียนระดับอาชีวศึกษา และเรียนต่อไปถึงปริญญาตรีได้

ส่วนสถาบันการศึกษาระดับอาชีวศึกษา กำลังร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ ปรับสร้างคุณภาพใหม่ ไม่ปล่อยให้อาชีวเลื่อนไหลไปแบบเดิม ๆ และตำราเก่า ๆ มาสู่การยกระดับให้มีความพร้อมเป็น Excellence Center เช่น วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี ที่ปรับหลักสูตรการเรียนเพียงแค่ 6 เรื่องสำคัญ เช่น ระบบราง แมคคาทรอนิกส์ โลจิสติกส์ ดิจิทัล ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นต้น โดยปรับหลักสูตรการเรียนให้ตรงตามความต้องการ เน้นเวลาเรียนน้อย แต่มีความชำนาญและประสบการณ์สูงขึ้น เพื่อยกระดับมาตรฐานอาชีวศึกษาขึ้นมาให้ได้มาตรฐานสากล

การจัดการศึกษารูปแบบใหม่ในพื้นที่ EEC เพื่อรองรับการลงทุนของอุตสาหกรรมแห่งอนาคต นอกจากจะหยุดความสูญเปล่าทางการศึกษา เปลี่ยนจากระบบการศึกษาแบบตัดขาด ทิ้งช่วง และการเรียนการสอนในห้องเรียน มาเป็นแบบ Life Long Education หรือการศึกษาตลอดชีวิต ซึ่งจะเชื่อมโยงกับความเป็นจริงในโลกของการทำงาน มีความต่อเนื่องในการพัฒนาทักษะและประสบการณ์ไปจนตลอดชีวิต ทำให้นักศึกษาที่จบจากระบบใหม่มีความเชี่ยวชาญ และแม่นตรงกับความต้องการในสาขาที่ขาดแคลน ควบคู่กับการพัฒนาความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นทิศทางของ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” และที่สำคัญ ยังก่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพคนและทรัพยากรครั้งใหญ่ของประเทศที่จะตอบโจทย์เทคโนโลยีและเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่     


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"