เพราะว่าระบอบประชาธิปไตยไม่สมบูรณ์


เพิ่มเพื่อน    


ภาพ : อับราฮัม ลินคอล์น

เครดิตภาพ : https://unsplash.com/photos/i_9hgrmcUGw

 

    ตำราทั่วไปจะสอนว่าหลักประชาธิปไตยมาจากรากความคิดว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาเสมอภาค ปัจเจกบุคคลมีสิทธิเสรีภาพในการตัดสินใจด้วยตนเอง แต่ด้วยประโยชน์ของการอยู่ร่วมกันเป็นสังคม เกิดระบอบการปกครองที่ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน ดังคำพูดที่ว่าประชาธิปไตยคือการปกครองโดยประชาชน ประชาชนปกครองกันเอง (self-government) ดังที่อับราฮัม ลินคอล์น กล่าวว่า  “ประชาธิปไตยคือการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน”

                แต่หากพิจารณาบนพื้นฐานความจริงจะพบว่าประเทศที่ใช้ระบอบการปกครองดังกล่าวมีปัญหาไม่มากก็น้อย

กรณีตัวอย่าง ทรัมป์ควรถูกถอดถอนหรือไม่ :

                ตำราหลายเล่มยกย่องว่าสหรัฐคืออีกประเทศที่เป็นแบบอย่างประชาธิปไตย รัฐบาลอเมริกามักอ้างว่าตนเองเป็นผู้นำโลกเสรี ส่งเสริมเสรีภาพประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน

                แต่ใน 4 ปีที่ผ่านมา ประธานาธิบดีทรัมป์เป็นตัวอย่างล่าสุดที่แสดงให้เห็นความบกพร่อง ความไม่เป็นประชาธิปไตยของประเทศนี้อย่างเด่นชัด โจ ไบเดน กล่าวว่า แทนที่ประธานาธิบดีจะทำหน้าที่รวมคนทุกสีผิวทุกเชื้อสายเข้าเป็นหนึ่ง เขาทำตรงข้าม “แบ่งแยกประเทศ แบ่งประชาชน” ยึดแนวทางคนขาวสุดโต่งที่เหยียดผิวเหยียดเชื้อชาติ โหมกระพือ White Supremacy

                เป็นที่โจษจันความไม่เป็นประชาธิปไตยของผู้นำสหรัฐคนนี้ เป็นเหตุผลที่พรรคเดโมแครตยื่นเรื่องขอถอดถอนถึง 2 ครั้ง เนื้อหาถอดถอนครั้งล่าสุดชี้ว่าพฤติกรรมของทรัมป์เป็นภัยต่อประเทศต่อรัฐบาล คุกคามประชาธิปไตย ขัดขวางการส่งต่ออำนาจโดยสันติ ทำลายตัวท่านที่เป็นประธานาธิบดี

                ประเทศจะเป็นประชาธิปไตยมากหรือน้อยผู้นำประเทศย่อมเป็นดัชนีสำคัญตัวหนึ่ง

                ในความคิดของพวกเดโมแครตทรัมป์ยุยงปลุกปั่นต้องรับโทษ แต่ในมุมของรีพับลิกันส่วนใหญ่ทรัมป์ไม่ได้ผิดตามข้อกล่าวหา เป็นเหตุให้ทรัมป์รอดจากการถูกถอดถอนอีกครั้ง

                ไม่เพียงเท่านั้น ผลโพลของ Quinnipiac University  พบว่า 3 ใน 4 ของสมาชิกพรรคต้องการให้ทรัมป์มีบทบาทสำคัญในพรรคต่อไป 87% ต้องการให้ทรัมป์ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีก ผลโพลของ Politico-Morning Consult ที่ออกมาในช่วงเดียวกันรายงานทิศทางเดียวกัน 59% ของพวกรีพับลิกันต้องการให้ทรัมป์มีบทบาทสำคัญในพรรคต่อไป

                ดังนั้น คนอเมริกันจะแบ่งเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายที่สนับสนุนกับฝ่ายที่ต่อต้านทรัมป์ ถ้ามองจากหลักประชาธิปไตยนี่คือความสวยงามตามแบบฉบับ ทุกคนใช้สิทธิตามความคิดเห็นของตน แต่ถ้าคิดให้ดีเรื่องทรัมป์ควรถูกถอดถอนหรือไม่มีประเด็นอื่นๆ แฝงอยู่

White Supremacy รากเหง้าความไม่เป็นประชาธิปไตย :

                ดังที่เคยนำเสนอแล้วว่า White Supremacy คือเรื่องที่คนผิวขาวบางกลุ่มเห็นว่าตนเป็นผู้ปกครองประเทศอันชอบธรรม มีอภิสิทธิ์เหนือพลเมืองอเมริกันเชื้อสายอื่นๆ เป็นความชอบธรรมที่คนผิวขาวใช้ชีวิตอย่างหรูหรา ส่วนคนผิวสีต้องเป็นผู้รับใช้ เป็นรากเหง้าของหลักคิดยุคล่าอาณานิคมเห็นว่าการที่คนผิวขาวไปยึดอาณานิคมทั่วโลกเป็นความชอบธรรมดีงาม

                การเหยียดผิวเหยียดเชื้อชาติในสหรัฐไม่ใช่เรื่องส่วนตัวหรือทัศนคติส่วนตัวเท่านั้น เป็นพัฒนาการเป็นประวัติศาสตร์ที่สืบเนื่องยาวนาน มีการถ่ายทอดหลักคิดวิธีการจากรุ่นสู่รุ่น เป็นวัฒนธรรมค่านิยมของกลุ่ม คนขาวเหล่านี้ไม่คิดว่าการแบ่งแยกเช่นนี้เป็นปัญหา เมื่อไม่เป็นปัญหาจึงไม่ต้องแก้ไข

                ตลอด 4 ปีประธานาธิบดีทรัมป์แสดงท่าทีสนับสนุนพวกผิวขาวสุดโต่ง เป็นเหตุผลที่หลายคนโจมตีว่าผู้นำประเทศเป็นพวกเหยียดผิวเหยียดเชื้อชาติ ยุยงปลุกปั่นสร้างความเกลียดชังภายในชาติ เพราะหวังจะได้คะแนนจากฐานเสียงที่ส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาวนั่นเอง

            แต่ต้องเข้าใจว่า หลักประชาธิปไตยไม่ได้พูดเรื่องเสรีภาพส่วนบุคคลเท่านั้น ยังให้ความสำคัญกับเรื่องความเสมอภาคเท่าเทียม ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนซึ่ง White Supremacy อยู่ตรงข้ามสิ่งเหล่านี้

ต้องแยกอุดมคติกับความจริง :

            หลายคนชอบยกคำพูด “การปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน” พูดถึงความดีงามของประชาธิปไตย ลัทธิประชาธิปไตยมีข้อดีหลายอย่างเหนือลัทธิการเมืองอื่น แต่ก็มีข้อเสียเช่นกัน ที่สำคัญกว่านั้นคือต้องแยกให้ออกระหว่างอุดมคติกับความจริง

                ความจริงคือประชาธิปไตยที่เป็นอยู่ปัจจุบัน (ประเทศปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย) บางคนเรียกว่าประชาธิปไตยที่ยังไม่สมบูรณ์ไม่เต็มใบ แต่ ความไม่สมบูรณ์นี่แหละคือความจริง อันที่จริงแล้วทุกประเทศล้วนอยู่ภายใต้ประชาธิปไตยที่ไม่สมบูรณ์ แม้กระทั่งสหรัฐก่อตั้งประเทศมากว่า 240 ปียังไม่สมบูรณ์ ฝรั่งเศส อังกฤษที่ตำราตะวันตกยกว่าเป็นต้นแบบประชาธิปไตยล้วนไม่สมบูรณ์

                การปฏิวัติเป็นเพียงจุดเริ่มของการปกครองใหม่ ตอบไม่ได้ว่าจะเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์เมื่อไหร่ อีกทั้ง ระดับความเป็นประชาธิปไตยมีขึ้นมีลง สหรัฐเป็นตัวอย่างที่ในระยะหลังระดับความเป็นประชาธิปไตยลดลงและลงหนักในสมัยทรัมป์

            ดังนั้น ถ้าอ้างตามหลักวิชาการความเป็นประชาธิปไตยของอเมริกา (และอีกหลายประเทศ) กำลังลดน้อยลง หรืออาจสรุปว่าระบอบประชาธิปไตยอเมริกาเป็นอย่างที่เป็นอยู่นั่นเอง เป็นความจริงที่เกิดขึ้น ดำรงอยู่ชั่วขณะและกำลังเปลี่ยนไป

เพราะว่าระบอบประชาธิปไตยไม่สมบูรณ์ :

            เพราะว่าระบอบประชาธิปไตยไม่สมบูรณ์ และอาจไม่มีวันสมบูรณ์ แต่สามารถทำให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากขึ้นด้วยการที่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างจริงจัง

                หลักคิดผิดๆ คือ ส.ส. ส.ว. นักการเมืองท้องถิ่นคือตัวแทนประชาชน เป็นผู้จัดการดูแลทุกเรื่องแทนประชาชน ขอเพียงมีนักการเมืองแล้วประชาชนจะอยู่เย็นเป็นสุข หลักคิดที่ถูกคือ ส.ส. ส.ว. กินเงินเดือนภาษีประชาชน ดังนั้นประชาชนเป็นเจ้านายนักการเมือง เป็นเจ้าของประเทศ และ ระบอบประชาธิปไตยคือการเมืองที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง การเมืองที่ไม่ใช่ของนักการเมืองเท่านั้น

            การมีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นมากกว่าตรวจสอบนักการเมือง

                การมีส่วนร่วมทางการเมืองทำได้หลายระดับ เริ่มตั้งแต่สนใจติดตามเรื่องบ้านเมือง เปิดรับข้อมูลหลายด้าน ฟังความเห็นมุมมองที่หลากหลาย การติดตามเรื่องบ้านเมืองเป็นจุดเริ่มที่สำคัญ คือวิธีการเรียนรู้การเมืองที่ดีที่สุด (เรียนรู้จากของจริง จากเรื่องที่กระทบตัว) ความเข้าใจเรื่องราวที่เกิดขึ้นมีผลสำคัญ เช่น ตัดสินใจว่าจะสนับสนุนพรรคใด นักการเมืองคนไหน คนที่ติดตามการเมืองจะเข้าใจการเมืองเพิ่มขึ้นและต่างไปจากเดิม นี่แหละคือการเรียนรู้
                การมีส่วนช่วยเพื่อนบ้านเป็นอีกจุดเริ่มต้นที่ดี ชุมชนหมู่บ้านเขตอำเภอตัวเองคือพื้นที่เก็บประสบการณ์ที่ดีเยี่ยม สนใจแก้ไขปัญหาใกล้ตัวก่อน ขยะหมู่บ้าน น้ำคลองเน่า สินค้าเกษตรตกต่ำ ปัญหาคนในชุมชนติดยา

                คนที่เรียนรู้สิ่งเล็กน้อยอย่างจริงจังจะค่อยๆ มองเห็นปัญหาในระดับกว้างขึ้น จะเริ่มเห็นว่าปัญหาหมู่บ้านเกี่ยวข้องกับจังหวัด เกี่ยวข้องกับนโยบายรัฐบาลจนถึงระดับโลก เช่น วิกฤติโควิด-19 ในขณะนี้

                ผลอีกประการคือจะเข้าร่วมกลุ่มต่างๆ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ สื่อโซเชียลมีเดียช่วยได้มาก กลุ่มที่ดีควรรวมกลุ่มทำกิจกรรม ชาวนาสมัยก่อนช่วยกันเกี่ยวข้าว หมู่บ้านที่เข้มแข็งจะจัดระบบเฝ้ายามป้องกันคนแปลกหน้าด้วยตัวเอง ฯลฯ นี่คือพลังของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย

                การมีส่วนร่วมทางการเมืองต้องพิจารณากรอบกฎหมายด้วย ไม่ควรทำเรื่องสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย ยกตัวอย่างกรณีม็อบบุกสภาเมื่อ 6 มกราคม ไมว่าคนเหล่านี้ทำผิดกฎหมายเพราะโดนยั่วยุหรือไม่ สุดท้ายคนรับเคราะห์คือผู้ที่บาดเจ็บล้มตาย (เสียชีวิต 5 ราย) กับผู้ที่โดนคดีบุกสภา ฆ่าทำร้ายผู้อื่น (อาจติดคุกถึง 20 ปี) ส่วนทรัมป์รอดตัวไม่มีความผิดใดๆ สามารถลงเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีก เรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เป็นอุทาหรณ์เตือนสติว่าอะไรควรอะไรไม่ควรทำ การมีส่วนร่วมทางการเมืองทำได้หลายวิธี ไม่จำต้องพาตัวเองเสี่ยงอันตราย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"