ประชุม 'นัดพิเศษอาเซียน' เรื่องเมียนมาจะเกิดขึ้นไหม?


เพิ่มเพื่อน    

    รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนจะประชุม “วาระด่วน” เรื่องวิกฤติเมียนมาเมื่อไหร่หรือไม่ เป็นประเด็นที่มีความสำคัญที่ประเทศไทยควรจะต้องถือเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาให้ครบทุกมิติ
    เร็ทโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของอินโดนีเซีย เพิ่งเดินสายเพื่อซาวเสียงเพื่อนๆ อาเซียนว่าจะเอาอย่างไรกับเหตุการณ์ในเมียนมา
    สัปดาห์ที่ผ่านมา เธอไปบรูไนซึ่งเป็นประธานกลุ่มอาเซียนบรูไน เพื่อพร้อมแนวความคิดที่ว่า ประชาคมอาเซียนควรจะเป็นกลไกที่ช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในเมียนมาได้ดีกว่าที่เห็นอยู่
    นอกจากนี้เธอก็บอกว่า ได้หารือกับแอนโธนี บลิงเคน รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐ 
    อีกทั้งยังได้ต่อสายคุยกับบรรดารัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของอินเดีย ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร รวมไปถึงทูตขององค์การสหประชาชาติ
    ไม่ใช่แค่อินโดนีเซียเท่านั้นที่เคลื่อนไหวเรื่องพม่า
    รัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ วิเวียน บาลากริชนัน ก็ได้แสดงความกังวลต่อการที่กองทัพเมียนมาได้ปราบปรามผู้ประท้วงอย่างรุนแรง การจับกุมนักการเมือง และการตัดอินเทอร์เน็ต 
    เขาเรียกร้องอย่างเปิดเผยให้กองทัพเมียนมาปล่อยตัวนางอองซาน ซู จี และประธานาธิบดีวิน มินต์ 
    ปล่อยแล้วก็จะได้หาทางให้ทั้งสองฝ่ายได้นั่งลงเจรจากัน 
    หาทางออกทางการเมืองที่ประชาชนคนเมียนมาจะยอมรับ 
    สิงคโปร์แสดงจุดยืนก่อนหน้านี้ว่าไม่สนับสนุนการคว่ำบาตรเมียนมาแบบ “เหวี่ยงแห” เพราะจะมีผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมากที่เผชิญกับความยากจนอยู่แล้ว
    สหรัฐเรียกวิธีการคว่ำบาตรแบบเฉพาะเจาะจงว่า Targetted Sanctions ซึ่งหมายถึงการใช้มาตรการที่พุ่งเป้าไปที่ผู้นำกองทัพและธุรกิจที่กองทัพมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง
    สิงคโปร์ต้องเดือดร้อนด้วยเหตุผลหลายประการ 
    สิงคโปร์เป็นประเทศที่ลงทุนในเมียนมาสูงที่สุดใน 2-3 ปีที่ผ่านมา เป็นยอดการลงทุนที่มากกว่าจีนและไทยด้วยซ้ำไป ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงที่มีชายแดนติดกัน
    แรงกดดันมาลงที่บริษัทร่วมลงทุนของสิงคโปร์ในเมียนมากำลังมาจากหลายแหล่ง รวมถึงนักเคลื่อนไหวรณรงค์ต่อต้าน เพราะต้องการให้สิงคโปร์แสดงจุดยืนว่าไม่ทำธุรกิจกับรัฐวิสาหกิจที่มีกองทัพเมียนมาเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์อยู่ด้วย
    ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม
    ประเทศอาเซียนอื่นๆ ที่มีจุดยืนคล้ายกันคือมาเลเซีย
    ก่อนหน้านายกฯ มูยิดดิน ยัสซิน ของมาเลเซีย ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกับประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ว่าอาเซียนต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อแสดงถึงความกังวลต่อสถานการณ์ในเมียนมา
    ตอกย้ำคำว่า “อาเซียนเป็นเสมือนครอบครัวเดียวกัน”
    แปลว่าสมาชิกทั้ง 10 ต้องมีความรู้สึกว่ามีชะตากรรมเดียวกัน ร้อนก็ร้อนด้วยกัน หนาวก็หนาวด้วยกัน
    แต่บางประเทศก็มีท่าทีหันรีหันขวางอยู่เหมือนกัน
    แรกเริ่มที่เกิดเรื่อง ฟิลิปปินส์บอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในเมียนมาเป็น ”กิจการภายใน”
    แต่เมื่อเรื่องราวบานปลาย มะนิลาก็เรียกร้องให้มีการ “ฟื้นฟูสถานะทางการเมืองของเมียนมาให้กลับไปดั่งเดิม”
    เวียดนามเรียกร้องให้เมียนมากลับมา “ฟื้นฟูให้สถานการณ์กลับมามั่นคงตามปกติ”
    เป็นการใช้ภาษากว้างๆ ที่ยังแฝงไว้ด้วยความเกรงใจ แต่ไม่แสดงความห่วงใยเลยก็ไม่ได้ 
    ไทยกับกัมพูชาบอกว่าการยึดอำนาจของกองทัพเมียนมาถือเป็น ”กิจการภายในประเทศ” 
    นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา บอกว่าจุดยืนของไทยก็เหมือนกับของอาเซียนและสหประชาชาติ ซึ่งก็เหมือนไม่ได้บอกอะไร
    เพราะจุดยืนอาเซียนถึงวันนี้มีแต่เพียงแถลงการณ์ของประธานอาเซียนปีนี้คือบรูไน
    และแถลงการณ์ร่วมของผู้นำอินโดฯ, มาเลเซียและสิงคโปร์ที่มีดีกรีของเสียงเรียกร้องที่ชัดเจนกว่าของไทยเราอย่างมาก
    เท่ากับว่าไทยเราได้สูญเสียความเป็นผู้ร่วมริเริ่มให้มีการแก้ไขปัญหาของเพื่อนบ้านที่สำคัญอย่างเมียนมาไปโดยปริยาย
    ทั้งๆ ที่ไทยเราอยู่ในฐานะที่สามารถเป็นแกนประสานกับสมาชิกอาเซียนอื่นๆ กับมหาอำนาจทั้งหลายเพื่อเป็น “สะพานเชื่อม” กับผู้นำในเมียนมาเพื่อหาทางออกร่วมกันอย่างสันติ
    โดยเคารพในความต้องการของประชาชนคนเมียนมามากกว่าความกังวลต่อผลกระทบที่จะมีต่อความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างผู้นำทหารไทยและเมียนมา
    การทูตไทยที่หมดมนต์ขลังในช่วงหลังนี้มาจากสาเหตุอันใด จะได้วิเคราะห์กันต่อไปในคอลัมน์นี้ครับ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"