ทูตจีนยืนยัน ‘สิ่งที่เกิดขึ้นในเมียนมา วันนี้มิใช่สิ่งที่จีนอยากเห็น’


เพิ่มเพื่อน    

     ผู้ประท้วงการยึดอำนาจของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ของเมียนมาจำนวนไม่น้อย สงสัยว่าจีนจะยืนเคียงข้างกองทัพในการก่อรัฐประหารครั้งนี้
    เพราะประวัติศาสตร์หลายตอนบ่งชี้ว่า รัฐบาลจีนคบหากับผู้นำทหารใกล้ชิดกว่ารัฐบาลพลเรือนภายใต้การนำของอองซาน ซูจี
    ถึงกับมีข่าวลือตั้งแต่เกิดเหตุร้ายเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ว่าจีนได้ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีมาช่วยรัฐบาลทหารเมียนมาในการสร้างระบบ "กำแพงอินเทอร์เน็ต" เพื่อสกัดไม่ให้คนเมียนมาเข้าถึงแพลตฟอร์มต่างๆ ในโลกโซเชียลมีเดียเพื่อต่อต้านรัฐบาลทหาร
    แรกเริ่มตอนเกิดรัฐประหารในเมียนมา สื่อทางการและโฆษกของกระทรวงการต่างประเทศจีนเรียกการยึดอำนาจที่เมียนมาว่าเป็นเพียงการ "ปรับคณะรัฐมนตรีใหญ่"  เท่านั้น
    ไม่ใช่เรื่องของการก่อรัฐประหารแต่อย่างใด
    ทำให้ผู้ประท้วงจำนวนหนึ่งไปปักหลักหน้าสถานทูตจีน (และสถานทูตรัสเซีย) เพื่อส่งเสียงคัดค้านไปยังปักกิ่ง ว่าจีนไม่ควรสนับสนุนฝ่ายทหารที่คว่ำกระดานประชาธิปไตย
    รัฐบาลจีนคงเห็นว่า ความเข้าใจเช่นนี้ของคนเมียนมาจำนวนมากต่อจีนจะเป็นเรื่องเสียหายต่อตนแน่ จึงเกิดการให้สัมภาษณ์ของเอกอัครราชทูตจีนประจำเมียนมาในเวลาต่อมา
    ประโยคที่มีความหมายเด่นชัดที่สุดของทูต "เฉิน ไห่"  คือ "สถานการณ์ในเมียนมาเวลานี้ ไม่ใช่สิ่งที่จีนอยากเห็น"

              (ภาพ:MYANMARTIMES)


    ปักกิ่งรู้ว่าไม่เพียงแต่คนเมียนมาจำนวนไม่น้อยที่มองจีนอย่างระแวงสงสัยเท่านั้น แต่ในเวทีสากลนักการทูตจีนก็ถูกประชาคมโลกมองอย่างคลางแคลงใจว่าเข้าข้างกองทัพเมียนมา ไม่เคารพในความต้องการประชาธิปไตยของประชาชนที่นั่น
    ความสงสัยทำนองนี้มีให้ได้เห็นชัดเจนทั้งในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ 
    ผู้แทนจีนกับรัสเซียได้ขอแก้ไขแถลงการณ์ โดยตัดข้อความประณามการกระทำของนายทหารเมียนมาว่า "รัฐประหาร" ออก 
    ทูตเฉิน ไห่จึงออกแถลงการณ์ มีประโยคหนึ่งบอกว่า
    "การรัฐประหารโดยคณะทหารเมียนมาและความวุ่นวายที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหาร ไม่ใช่สิ่งที่รัฐบาลจีนอยากเห็นมันเกิดขึ้นอย่างแน่นอน"
    ตอนหนึ่งของแถลงการณ์ทูตจีนประจำเมียนมาระบุว่า
    "จีนรับทราบปัญหาความขัดแย้งอันเนื่องมาจากการเลือกตั้งทั่วไปมาโดยตลอด แต่ไม่เคยรับรู้มาก่อนว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเมียนมาลักษณะนี้" 
    เท่ากับเป็นการบอกว่า จีนไม่ได้รับรู้เรื่องนี้จากกองทัพเมียนมาก่อนจะเกิดกรณียึดอำนาจ
    เป็นการบอกปัดทฤษฎี "สมรู้ร่วมคิด" ที่ผู้คนสงสัยกัน
    ทูตเฉิน ไห่ยืนยันว่า รัฐบาลจีนปรารถนาให้ทุกฝ่ายในเมียนมาขจัดความคิดเห็นที่แตกต่างกันด้วยวิธีการที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดเสถียรภาพทางสังคมและการเมืองในเมียนมา
    และอ้างถึงจุดยืนของจีนในเวทีสหประชาชาติด้วยว่า
    "แถลงการณ์ร่วมของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่มีมติเรียกร้องให้ปล่อยตัวนางอองซาน ซูจี  และผู้ที่ถูกควบคุมตัวด้วยเหตุผลทางการเมืองทุกคน เพื่อให้เกิดการปรองดองสมานฉันท์ในเมียนมา เป็นสิ่งที่ชัดเจนว่าเป็นจุดยืนของประชาคมโลก รวมทั้งรัฐบาลจีนด้วย"
    นอกจากแถลงการณ์ของทูตเองแล้ว ก็ยังมีการให้สัมภาษณ์ลักษณะตีพิมพ์คำถาม-คำตอบแบบคำต่อคำทั้งในสื่อเมียนมาและของทางการจีนด้วย
    "จีนกับเมียนมาเป็นเพื่อนบ้านกัน เราไม่สามารถหนีออกจากกันได้ เพื่อนบ้านที่เป็นมิตรต่อกันย่อมต้องการให้มีความสงบสุข เราหวังว่าทุกอย่างจะเป็นไปด้วยดีในเมียนมา แทนที่จะเกิดความไร้เสถียรภาพหรือตกอยู่ในสภาพสับสนอลหม่าน..." ทูตเฉิน ไห่บอกนักข่าว
    และย้ำว่า "หลายประเทศที่กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ก็กำลังฝ่าข้ามความยากลำบากและความท้าทายด้วยความพยายามของตนเอง อีกทั้งกำลังแสวงหาเส้นทางที่เหมาะสมกับสถานการณ์ของตนเอง..."
    "เราหวังว่าทุกภาคส่วนในเมียนมาจะสามารถตั้งรับปัญหาขณะนี้ ด้วยการพูดจาและปรึกษาหารือกันอย่างเหมาะสม และนำประเทศกลับสู่แนวทางที่เหมาะสมโดยเร็ว..."
    ถ้อยแถลงของทูตอย่างนี้จะสร้างความน่าเชื่อถือในหมู่คนเมียนมาหรือไม่ ย่อมอยู่ที่การกระทำมากกว่าเพียงแค่ภาษาไพเราะทางการทูต
    ไม่ช้าก็คงจะเห็นภาพชัดเจนจากปักกิ่งและมอสโก.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"