ทักษิณเทแก้ม.112 โผล่คลับเฮาส์เชียร์คนรุ่นใหม่รื้อรธน.ไม่แตะปฏิรูปสถาบัน


เพิ่มเพื่อน    


     "ทักษิณ" โผล่คลับเฮาส์ เชียร์คนรุ่นใหม่อยากได้การเมืองดีต้องแก้ รธน. เมินตอบปฏิรูปสถาบัน-แก้ ม.112 สาวกผิดหวังบ่นอุบในโซเชียล "บิ๊กตู่" สั่งหน่วยงานจับตาป้องบิดเบือน ปรามอย่าให้เครดิตทำคนผิดกฎหมาย สภาถกแก้รัฐธรรมนูญวาระ 2  "รังสิมันต์" ยันหมวด 1 หมวด 2 ต้องแก้ไข อ้างประชาชนจำนวนมากเห็นด้วยให้สอดคล้องนิติรัฐและประชาธิปไตยมากขึ้น ด้าน "สุทิน" เผยศาล รธน.นัดตีความอำนาจรัฐสภา 4 มี.ค.นี้ ถ้าออกมาลบน่าเป็นห่วง
     เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) แถลงผลการประชุมวิปฝ่ายค้านว่า การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 2 วันที่ 24-25 ก.พ. ฝ่ายค้านเป็นห่วงกรณีศาลรัฐธรรมนูญรับตีความอำนาจรัฐสภาในการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยนัดพิจารณาในวันที่ 4 มี.ค. ซึ่งเป็นวันที่มีนัยสำคัญส่งผลต่อการพิจารณาการแก้รัฐธรรมนูญ วาระ 3 ช่วงกลางเดือน มี.ค.2564 ถ้าศาลรัฐธรรมนูญตีตกว่าไม่สามารถแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้ จะส่งผลทางสังคมเกิดความขัดแย้งตามมา 
    "เกิดความไม่ไว้วางใจกันมากขึ้นไปอีก อาจเกิดวิกฤติรัฐธรรมนูญได้ เพราะเป็นการหักมุมแบบ 360 องศา อุตส่าห์เดินมาไกลขนาดนี้ แต่ถูกหัก น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง แม้ศาลรัฐธรรมนูญตีตกการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ฝ่ายค้านจะหาวิธีอื่นแก้รัฐธรรมนูญต่อไป อาจเป็นการแก้รายมาตราที่ฝ่ายค้านเคยเสนอไป 6 มาตราก่อนหน้านี้ ถ้าไม่ผ่านก็ต้องสู้ต่อ"
    นายสุทินกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ฝ่ายค้านยังเป็นห่วงเนื้อหารัฐธรรมนูญวาระ 2 มีหลายประเด็นที่ฝ่ายค้านเห็นต่าง แม้จะให้ส.ส.ร. 200 คนมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด แต่ กมธ.เสียงข้างมากอยากให้เลือก ส.ส.ร. โดยแบ่งเขตย่อยในจังหวัดเหมือนเลือกตั้ง ส.ส. แต่ กมธ.เสียงข้างน้อยอยากใช้เขตจังหวัดเลือก ส.ส.ร. ไม่อยากแบ่งเป็นเขตย่อย ให้เกิดการล็อกเสียงในพื้นที่ได้ง่าย รวมถึงเนื้อหาการรับหลักการและการโหวตวาระ 3 การแก้รัฐธรรมนูญที่ต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของรัฐสภา หรือ 500 เสียง จากเดิม 3 ใน 5 หรือ 450 เสียง ฝ่ายค้านไม่เห็นด้วย ถ้าใช้เสียง  2 ใน 3 โอกาสจะแก้รัฐธรรมนูญสำเร็จยากมาก ฝ่ายค้านจะสู้เพื่อให้มีการแก้ไข 
     ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่าหากให้ไปทำประชามติเพื่อถามประชาชนว่าเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ สภาก็พร้อมและเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งและรัฐบาลไปกำหนดวันที่จะลงประชามติ การดำเนินการทั้งหมดจะส่งผลให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือการร่างรัฐธรรมนูญคงช้ากว่ากำหนดเดิมคือปี 2565 คงไม่ได้เห็นรัฐธรรมนูญใหม่ รัฐบาลมีการวางกับดักรัฐธรรมนูญไว้เพื่อไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจ คสช.
    ด้านนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ จากพรรคก้าวไกล เผยว่า หมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ที่ผ่านมาฝ่ายรัฐบาลและ ส.ว.พยายามตลอดที่จะไม่ให้ ส.ส.ร. สามารถจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ในหมวดนี้ได้ ตนและพรรคก้าวไกล ยืนยันมาตลอดว่า ในเมื่อเราจะได้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่แล้ว ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะเปิดให้สามารถจำทำได้ในทุกหมวด เพื่อให้ตรงกับเจตนารมณ์ของประชาชนมากที่สุด
    "เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทุกวันนี้มีประชาชนจำนวนมากเห็นว่าหมวด 1 และหมวด 2 นั้นสมควรต้องมีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับหลักนิติรัฐและประชาธิปไตยมากขึ้น เราจึงควรเปิดโอกาสให้ประชาชนกลุ่มนี้ได้นำเสนอข้อเรียกร้องของตัวเอง แล้วสุดท้ายประชาชนทั้งประเทศจะเป็นผู้ตัดสินว่าจะรับข้อเรียกร้องเหล่านั้นหรือไม่ มากน้อยเพียงใด"
    นายรังสิมันต์ยังระบุว่า การพิจารณาวาระที่ 2 แบบรายมาตรานี้ อาจเป็นโอกาสสุดท้ายแล้วที่จะได้ตัดสินใจว่าจะยังห้ามต่อไป หรือจะเปิดให้ ส.ส.ร.พิจารณาได้ (หลังจากนี้ในวาระที่ 3 จะต้องลงมติว่าจะรับ/ไม่รับทั้งฉบับ ยากแล้วที่จะพิจารณาเป็นเรื่องๆ ไป) ทั้ง 2 ข้อนี้เป็นเรื่องสำคัญที่พี่น้องประชาชนต้องร่วมกันติดตาม และเรียกร้องไปยัง ส.ส.และ ส.ว.ทุกคน อย่าปล่อยให้มันเกิดขึ้นได้เด็ดขาด
    ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่ารัฐบาลไม่ได้เข้าร่วม ซึ่งการพิจารณาในวาระ 2 จะพิจารณาได้ทีละมาตรา และสามารถแก้ไขได้ เพราะขั้นตอนยังไม่สิ้นสุด 
    เมื่อถามว่ารัฐบาลมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมในเรื่องดังกล่าวหรือไม่ รองนายกฯ ตอบว่า ไม่รู้ ไม่ทราบ ทางรัฐบาลไม่มีข้อเสนออะไรไป เพราะเป็นเรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขจะเพิ่มเติมกันเอง
    ช่วงค่ำวันที่ 22 ก.พ.ที่ผ่านมา นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมพูดคุยผ่านแอปพลิเคชัน Clubhouse ในห้องสนทนา “ไทยรักไทย ใครเกิดทัน มากองกันตรงนี้”  โดยใช้ชื่อ Tony Woodsame ในห้องสนทนาดังกล่าวมีอดีตสมาชิกพรรคไทยรักไทยและอดีตรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลทักษิณหลายคน อาทิ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช, นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี, นายจาตุรนต์ ฉายแสง ซึ่งได้มีการพูดคุยกันในหลากหลายประเด็น อาทิ กองทุนหมู่บ้าน, 30 บาทรักษาทุกโรค, 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ (OTOP) โดยมี นายธีรัตถ์ รัตนเสวี อดีตโฆษกรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นผู้ดำเนินรายการ พูดคุยกันนานถึง 2 ชม. และหลังจากเปิดห้องไม่กี่นาที มีผู้เข้าฟังเต็มห้อง 8,000 คน จนมีการนำเสียงขยายไปอีกไม่ต่ำกว่า 5 ห้อง มีคนเข้าร่วมฟังไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นคน
    โดยมีคำถามที่น่าสนใจ เมื่อผู้ร่วมพูดคุยคนหนึ่งถามว่า เด็กรุ่นใหม่จะเชื่อมั่นระบบการเมืองอย่างไร ในเรื่องนี้นายทักษิณตอบว่า  "ผมว่าน่าจะผลักดันแก้รัฐธรรมนูญดีกว่า รัฐบาลจะดีหรือเฮงซวยอยู่ที่รัฐธรรมนูญ ผมมาจากรัฐธรรมนูญปี 40 นั้นดีมาก ซึ่งรัฐธรรมนูญที่มาจากทหารไม่มีทางดีหรอก เพราะจะ serve เผด็จการ คนรุ่นใหม่ ถ้าจะผลักดันให้ได้การเมืองดีๆ ผลักดันรัฐธรรมนูญดีกว่า ตอนผมอยู่ รัฐธรรมนูญดี 4 ปีนี่สบาย ตอนหลังที่มีปัญหา เพราะต้องการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญ ถ้าเรามาทำ พิทักษ์รัฐธรรมนูญเหมือนอเมริกา จะดีมาก เพราะ Trust and Confidence นี่สำคัญมากสำหรับเศรษฐกิจทุนนิยม เรามาทำรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยและเป็นของประชาชนดีกว่า เพราะรัฐธรรมนูญที่มาจากการปฏิวัติรัฐประหาร ยังไงก็ทำเพื่อทหาร"
    ซึ่งในประเด็นนี้มีผู้ร่วมพูดคุยมาแสดงความเห็นต่อว่า ในมุมคนรุ่นใหม่ปัจจุบันแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่พอ คนรุ่นใหม่อยากเสนอปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย แต่ในเรื่องนี้นายทักษิณไม่ได้ตอบ มี นพ.พรหมินทร์มาตอบแทนว่า เรื่องปฏิรูปสถาบัน นายทักษิณอยู่นอกประเทศ คงไม่ได้ลึกซึ้งกับปัญหาขณะนี้ ทั้งนี้สถาบันอยู่มานาน มีข้อเสนอให้แก้ไขก็เป็นเรื่องที่เสนอได้ ถ้าเกี่ยวข้องกับกฎหมาย เรามีสภาที่ต้องสะท้อนเสียงประชาชนส่วนใหญ่ จะมีการแก้กฎหมายต้องเป็นตัวแทนประชาชน มีความต้องการประการใด จึงเสนอและมีความเห็น ในนักการเมืองที่เป็นตัวแทนประชาชน ต้องไปรับฟังเสียงประชาชน
    ในขณะที่ผู้ถามซึ่งเป็นผู้สื่อข่าวจากบีบีซีไทยถามว่า วันที่ 24 ก.พ. เป็นวันครบรอบ 30 ปีรัฐประหารปี 2534 ยังมีคนที่ถูกคุกคามจากรัฐบาลที่นำมาตรา 112 มาใช้ ถ้านายทักษิณเป็นรัฐบาลจะบริหารจัดการเรื่องนี้อย่างไร นายทักษิณไม่ตอบ โดยระบุว่า “เราไว้คุยกันเรื่องอื่นดีกว่า ไว้ผมไปลอนดอน แล้วได้คุยกัน”
ภายหลังนายทักษิณพูดในคลับเฮาส์ โลกโซเชียลมีการกล่าวถึงนายทักษิณอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เคยชื่นชอบนายทักษิณ ได้แสดงความเห็นชื่นชมนโยบายยุคทักษิณว่าทำเพื่อประชาชน เพื่อปากท้องอย่างเป็นรูปธรรม แต่ได้วิพากษ์วิจารณ์กรณีนายทักษิณไม่กล้าตอบคำถามเรื่องปฏิรูปสถาบัน-แก้ไขมาตรา 112 ว่านายทักษิณสู้ไปกราบไป เป็นรอยัลลิสต์ และเสนอให้ประชาชนไม่ยึดติดตัวบุคคล ให้ต่อสู้ด้วยตัวเอง
    ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่าจะพิจารณาหรือทดลองเล่นแอปพลิเคชันคลับเฮาส์หรือไม่ หลังนายทักษิณได้เข้ามาเล่นเป็นครั้งแรก ว่าไม่มีเวลาขนาดนั้น แต่ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตาม ซึ่งเป็นการติดตามตามกฎหมาย ในเมื่อทุกคนเข้าไปฟังได้ ก็ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปฟังได้ เพื่อจะได้ชี้แจงให้ถูกต้องกรณีที่มีการบิดเบือน เรื่องนี้สุดแล้วแต่ประชาชนว่าจะอย่างไร ใครจะเข้ามาพูดก็แล้วแต่ ถือว่าวันนี้เป็นเรื่องของโลกใบใหม่ โลกยุคใหม่ 
    "เราต้องดูว่าเรื่องอะไรที่ทำให้บ้านเมืองเราสงบสุข มีเสถียรภาพ ไม่งั้นก็วุ่นวายไปหมด สับสนอลหม่านไปหมดประชาชนก็เสียขวัญ ต้องนึกถึงประชาชนเขาบ้าง เขาจะเสียผลประโยชน์อย่างไรกับการกระทำที่ไม่ถูกต้องของท่าน นั่นคือสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยทั่วไปตามรัฐธรรมนูญที่เป็นของปวงชนชาวไทย ไม่ใช่ของประชาชน ปวงชนคือคนทั้งหมดของประเทศ เป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว 
    ทั้งนี้ ภายหลังการแถลงข่าวระหว่างเดินกลับขึ้นตึกไทยคู่ฟ้า เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าที่นายทักษิณพูดในคลับเฮาส์เมื่อคืนวันที่ 22 ก.พ. มีการบิดเบือนหรือไม่ และนายทักษิณยังถามด้วยว่าทำไมเวลาเอ่ยชื่อถึงต้องโมโห ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า "ผมไม่ได้ฟัง ต้องไปถามเขาดู คนผิดกฎหมายอยู่ต่างประเทศ ฉันจะฟังทำไมเล่า ชอบฟังนักนะไอ้คนผิดกฎหมายนี่ทำลายกฎหมาย ให้เครดิตกันอยู่ได้" 
    ทั้งนี้ ระหว่างเดิน พล.อ.ประยุทธ์ยังได้ชี้ไปยังต้นอโศกน้ำ เมื่อผู้สื่อข่าวพยายามถามถึงเรื่องนายทักษิณอีก พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "นี่แหละกระพี้ กระพี้ นี่เปลือกกระพี้นี่ไง".


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"