จีนกับการ ‘รักษาระยะห่าง’ ระหว่างพลเรือนกับกองทัพเมียนมา


เพิ่มเพื่อน    

    ท่าทีของจีนต่อรัฐประหารในเมียนมามีความสำคัญต่อ  "สมการแห่งอำนาจ" ในสถานการณ์ที่ล่อแหลมขณะนี้
    ปักกิ่งเคยถูกมองว่าเอียงข้างผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จ ในอดีตก็คบกับรัฐบาลทหารของเมียนมามายาวนาน
    เพราะจีนเคยประกาศว่าจะไม่ "ก้าวก่าย" กิจการการเมืองภายในของประเทศอื่น
    แต่หากติดตามพฤติกรรมของจีนในช่วงหลัง จะเห็นว่าผู้นำรัฐบาลปักกิ่งได้ปรับท่าทีของตนให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของโลกในหลายมิติทีเดียว
    สองภาพที่ผมเอามาให้ดูนี้คือ คุณเฉิน ไห่ เอกอัครราชทูตจีนประจำเมียนมา ที่พบปะกับผู้นำเมียนมาทุกภาคส่วน
    เขาพบปะสังสรรค์กับทั้งผู้นำพลเรือนอย่างอองซาน ซูจี และนายพลทหารของกองทัพเมียนมา
    เดิมตอนที่อองซาน ซูจียังถูกกักบริเวณยาวนาน เข้า ๆ ออกๆ การถูกจำกัดความเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่ไม่น้อยกว่า 15 ปีนั้น ผู้นำจีนยืนเคียงข้างผู้นำทหารอย่างชัดเจน
    แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มเปลี่ยนในเมียนมา และมีแนวโน้มว่าประชาชนคนเมียนมาจะมีสิทธิ์เลือกผู้นำของตน  ปักกิ่งก็เริ่มหันมาคบหาอองซาน ซูจี
    จีนเริ่มปรับท่าทีเพื่อ "รักษาระยะห่างอันเหมาะสม"  กับทั้งอองซาน ซูจีและพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย
    เพราะในท้ายที่สุดจีนก็ต้องรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองกับความมั่นคงของตนเป็นหลัก
    เมื่อชนะเลือกตั้งและขึ้นมาบริหารประเทศในปี 2015  อองซาน ซูจีก็ปรับท่าทีของตนกับจีนเช่นกัน
    เราจึงเห็นผู้นำจีนเชิญอองซาน ซูจีไปเยือนปักกิ่ง และผู้นำจีนแวะเวียนมาพบปะหารือกับทั้งอองซาน ซูจีและนายพลมิน อ่อง หล่ายอย่างต่อเนื่อง
    จนเกิดรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
    ทูตเฉิน ไห่อ้างว่า จีนไม่ได้รู้ล่วงหน้าว่าจะมีการยึดอำนาจของทหาร 
    ปักกิ่งต้องการจะสลัดข้อกล่าวหาที่ว่า จีนเป็นผู้รับรู้การกระทำของนายพลมิน อ่อง หล่าย อีกทั้งยังสนับสนุนการยึดอำนาจ
    คนเมียนมาไม่น้อยเชื่อว่าจีนพร้อมจะอุ้มนายพลมิน อ่อง หล่าย เพราะปักกิ่งจะได้ประโยชน์จากการคบหาใกล้ชิดกับกองทัพ
    บางคนเชื่อว่าเมื่อนายพลมากุมอำนาจรัฐแล้ว โครงการต่างๆ ที่ถูกตัดทอนหรือยกเลิกไปในช่วงของรัฐบาลพลเรือน (เช่นกรณีสร้างเขื่อนมยิโซน) อาจจะได้รับอนุญาตให้ฟื้นคืนกลับมาได้


    อีกทั้งหากสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปคว่ำบาตรผู้นำทหาร นายพลมิน อ่อง หล่ายก็จะวิ่งเข้า "ซบอก" จีนมากขึ้น ยิ่งทำให้จีนมีอำนาจต่อรองในเมียนมาสูงขึ้น
    แต่จีนภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงวันนี้ ไม่ใช่จีนในอดีตที่มุ่งเน้นอุดมการณ์การเมืองและคบกับ  "สหายร่วมศึก" เหมือนแต่ก่อน
    เพราะวันนี้จีนต้องการจะเป็นประเทศอันดับต้นๆ ของโลก ต้องแข่งรัศมีกับสหรัฐฯ ในฐานะที่เป็น "พี่ใหญ่" ที่จะต้องมีทั้งคุณวุฒิ วัยวุฒิ และชาติวุฒิที่มีบารมีสูสีกับอเมริกา
    นั่นหมายความว่าจีนต้องการมีภาพลักษ์ที่เป็น "คนดีมีศีลธรรม เคารพในหลักการธรรมาภิบาล" เพื่อจะได้เสริมส่งสถานภาพของตนเองในเวทีระหว่างประเทศ
    หากจีนถูกมองว่ายังหลับหูหลับตาสนับสนุนกองทัพเมียนมา ทั้งๆ ที่ประชาชนของประเทศลุกฮือขึ้นมาต่อต้านอย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง การที่จะดำรงไว้ซึ่งฐานะของการเป็นผู้คิดดีทำดีก็อาจจะสั่นคลอนได้
    แน่นอนว่าจีนคงจะไม่ถึงกับกระโดดมาอยู่ข้าง "ฝ่ายประชาธิปไตย" หรือฝ่ายต่อต้านในเมียนมา แต่จีนจะฟังเสียงของฝ่ายที่ไม่เอากองทัพในเหตุการณ์ครั้งนี้ด้วย
    จึงเป็นที่มาของการที่ทูตจีนให้สัมภาษณ์สื่อที่เมียนมาว่า "สิ่งที่กำลังเกิดในเมียนมา ไม่ใช่สิ่งที่จีนอยากเห็น"
    และยังยอมตามแถลงการณ์ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่ให้รัฐบาลทหารเมียนมาปล่อยตัวอองซาน ซูจีและผู้นำการเมืองอื่นๆ
    รวมทั้งให้ "ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย" นั่งลงพูดจาเพื่อหาทางออกทางการเมืองที่สันติและยั่งยืน
    นั่นแปลว่า จีนไม่ได้ประกาศตนอยู่ฝ่ายกองทัพเมียนมาเต็มตัวเหมือนก่อน
    ส่วนปักกิ่งจะช่วยผลักดันให้ทหารเมียนมายอมรับมติมหาชน จากผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ประชาชนโหวตให้อองซาน ซูจีและพรรค NLD อย่างท่วมท้นมากน้อยเพียงใด จะเป็นเครื่องพิสูจน์ "ความจริงใจ" ที่แท้จริงของจีน!


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"