เมื่อการทูตไทยสิ้นมนต์ขลัง


เพิ่มเพื่อน    

           เมื่อเกิดรัฐประหารที่เมียนมา คำถามใหญ่สำหรับคนไทยคือรัฐบาลไทยควรจะมีจุดยืนอย่างไร

                ปฏิกิริยาแรกของรัฐบาลไทยต่อเหตุการณ์ในเพื่อนบ้านด้านตะวันตก คือการประกาศว่าการยึดอำนาจโดย พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย เป็น “กิจการภายใน” ของประเทศนั้น

                ต่อมาเมื่อมีแถลงการณ์ของคณะมนตรีความมั่นคง, สหประชาชาติ, และคำแถลงของบรูไนในฐานะประธานหมุนเวียนของอาเซียนปีนี้ ท่าทีของรัฐบาลไทยก็ปรับตาม

                จากประโยคของนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา จุดยืนของประเทศไทยก็คือจุดยืนของอาเซียนและของสหประชาชาติ

                เอาเข้าจริงๆ จุดยืนของไทยในเรื่องนี้คือท่าที “อ้อมๆ แอ้มๆ” เหมือนพูดจาไม่ได้เต็มปากเต็มคำ

                มีคนมองว่าเพราะผู้นำทหารของไทยใกล้ชิดสนิทสนมกับผู้นำทหารของเมียนมา จึงมีความเกรงอกเกรงใจ ไม่ต้องการแสดงออกในรูปแบบที่จะกระทบความรู้สึกของนายพลเมียนมา

                ทั้งๆ ที่ไทยเราก็คบหาเป็นทางการกับรัฐบาลเมียนมาภายใต้การนำของอองซาน ซูจี ตั้งแต่เลือกตั้งปี 2015 เป็นต้นมา

                “ท่าทีที่ไร้ท่วงท่า” ของไทยยิ่งถูกมองว่า “ไร้จุดยืน” หนักขึ้น เมื่อผู้นำอาเซียนอย่างน้อย 4 ประเทศ คือ บรูไน, อินโดนีเซีย, มาเลเซียและสิงคโปร์ได้ออกมาพูดจาชัดเจนว่า

                1.ต้องมีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนนัดพิเศษเพื่อปรึกษาหารือทางออกของเมียนมา

                2.ต้องตอกย้ำถึงความสำคัญของ “กฎบัตรอาเซียน” หรือ Asean Charter ที่รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียนำมากล่าวอ้างว่าได้ระบุถึงความรับผิดชอบร่วมของประเทศสมาชิกต่อเรื่องประชาธิปไตย, นิติธรรม, เสรีภาพ และธรรมาภิบาล

                3.ต้องใช้หลักคิดแบบอาเซียนเรื่อง Constructive Engagement (หรือ “ความพัวพันอย่างสร้างสรรค์) เพราะแม้อาเซียนจะเคารพในหลักการ “ไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน” แต่ก็ต้องตระหนักว่าหากสถานการณ์ของประเทศใดกระทบต่อเสถียรภาพและความมั่นคงของภูมิภาค ก็มีความจำเป็นที่อาเซียนจะต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อช่วยกันแก้ปัญหานั้นร่วมกัน

                รัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์แถลงข้อนี้ชัดเจนในรัฐสภาของเขาว่าอาเซียนจะต้องใช้ “Discreet and Constructive Engagement” ในการช่วยอำนวยความสะดวกที่จะหาทางออกให้กับเมียนมา

                คำว่า discreet ในที่นี้หมายถึงปฏิสัมพันธ์ที่ “ละเมียดละไม” ไม่โฉ่งฉ่าง และ constructive อันหมายถึงการทำงานร่วมกันอย่าง “สร้างสรรค์”

                เขาเรียกอาเซียนว่าเป็นคนใน “ครอบครัวเดียวกัน”

                ซึ่งแปลว่าหากเราถือว่าประชาชนของทั้ง 10 ประเทศจะต้องมีความห่วงใยเอื้ออาทรต่อกัน

                ความเชื่อมโยงที่อาเซียนใช้คำว่า connectivity นั้นย่อมไม่ได้หมายถึงเพียงการไปมาหาสู่ระหว่างผู้นำรัฐบาลหรือข้าราชการหรือนักธุรกิจเท่านั้น

                หรือการเชื่อมโยงของถนนหนทางและการค้าขายซึ่งกันและกันเท่านั้น

                แต่ยังต้องหมายถึงความรู้สึกผูกพันและห่วงใยของประชาชนที่มีต่อกันด้วย

                นั่นแปลว่าเมื่อประชาชนคนเมียนมาออกมาเรียกร้องให้นายทหารที่ยึดอำนาจฟื้นคืนสิทธิ์การบริหารประเทศไปยังรัฐบาลพลเรือนที่ได้รับเสียงสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากประชาชน ประชาชนในอาเซียนอื่นๆ ก็ควรจะต้องรับฟังและสนับสนุนตาม “มติมหาชน” ของ “คนในครอบครัวเดียวกัน”

                ความจริง ประเทศไทยมีความใกล้ชิดกับเมียนมาที่สุดในบรรดาสมาชิกอาเซียนด้วยกัน เพราะเราไม่เพียงแต่มีประวัติศาสตร์เกี่ยวโยงกันมายาวนานเท่านั้น หากแต่ยังมีชายแดนติดต่อกันยาวกว่า 2,000 กิโลเมตร

                อีกทั้งผู้นำของไทยกับเมียนมาในทุกระดับ (ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นถึงระดับชาติและภูมิภาค) มีความใกล้ชิดสนิทสนมกันมาตลอด

                แต่มีข้อสังเกตว่า เพื่อนอาเซียนบางประเทศอาจจะไม่ติดต่อให้ไทยเราเป็น “ผู้ประสาน” กับเมียนมาแทนอาเซียนอื่นๆ ก็เพราะเขาหวั่นเกรงว่าผู้นำไทยบางคนอาจจะมีความ “เกรงอกเกรงใจ” ผู้นำทหารเมียนมาจนไม่อาจจะทำหน้าที่เป็น “คนกลางที่ไร้ผลประโยชน์ทับซ้อน” หรือ honest broker ได้

                หากเป็นเช่นนั้นก็เป็นเรื่องน่าเสียดายสำหรับประเทศไทย เพราะเรากำลังจะพลาดโอกาสสำคัญที่จะแสดงความเป็นผู้นำในภูมิภาคนี้ในอันที่ช่วยระงับความขัดแย้งให้กับเพื่อนบ้านได้

                “การทูตไทย” ที่เคยเป็นจุดเด่นของภูมิภาค เคยเป็น “จุดแข็ง” เพราะความ “พลิ้วไหวแห่งศิลปะทางการทูตสากล” หมดความศักดิ์สิทธิ์ลงเพราะ “จุดอ่อน” ของผู้นำไทยที่นำตัวไปพัวพันกับปัจจัยที่เป็นผลลบต่อประเทศชาตินั่นเอง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"