รมต.คลังมะกันหญิงคนแรก: ต้องปราบโควิดเศรษฐกิจจึงฟื้น!


เพิ่มเพื่อน    

         ถ้าต้องการรู้ว่าทิศทางนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะไปทางไหน ต้องดูแนวทางของสาวใหญ่วัย 74 คนนี้

            เธอคือผู้หญิงคนแรกในอเมริกาที่ได้เป็นประธาน Fed  หรือธนาคารกลางระหว่าง 2014-2018 ภายใต้ประธานาธิบดีบารัก โอบามา

            และวันนี้เธอสร้างประวัติศาสตร์อีกครั้งหนึ่ง ด้วยการได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่เป็นผู้หญิงคนแรกเช่นนี้โดยการเสนอชื่อของประธานาธิบดีโจ ไบเดน

            เจเน็ต เยลเลน (Janet Yellen) ได้รับการรับรองจากวุฒิสภาสหรัฐฯ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนที่ 78 ของสหรัฐฯ ถือเป็นสตรีคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้นั่งในตำแหน่งนี้นับตั้งแต่มีการก่อตั้งกระทรวงการคลังเมื่อ 232 ปีก่อน

            วุฒิสภารับรองเธอในตำแหน่งนี้ด้วยคะแนนเสียง 84-15

            เป็นรัฐมนตรีคนที่ 3 ในคณะทำงานของนายไบเดนที่ผ่านการรับรองจากวุฒิสภาสหรัฐฯ

            เธอมีบทบาทสำคัญ เพราะจะเป็นแรงสำคัญในการผลักดันมาตรการบรรเทาทุกข์จากโควิด-19 ชุดใหม่  มูลค่า  1.9 ล้านล้านดอลลาร์ หรือเท่ากับเงินไทยกว่า 57 ล้านล้านบาท

            เงินก้อนนี้มากกว่างบประมาณรายจ่ายประจำปีของไทยเกือบ 20 เท่า

            งบพิเศษก้อนนี้ถูกคัดค้านอย่างแข็งขันจากฝั่งพรรครีพับลิกัน ทำให้ไบเดนต้องต่อรองและประนีประนอมกับซีกของรีพับลิกันเพื่อให้คลอดออกมาโดยเร็ว

            หาไม่แล้วรัฐบาลใหม่ของสหรัฐฯ จะตกอยู่ในสภาพที่ลำบาก ไม่อาจทำให้คนอเมริกันเห็นว่ามีความสามารถมากกว่ายุคของโดนัลด์ ทรัมป์

            สมาชิกวุฒิสภาสังกัดพรรครีพับลิกันหลายคนบอกว่า แม้จะไม่เห็นด้วยกับนโยบายบางอย่างของเธอ โดยเฉพาะการเพิ่มภาษีสำหรับภาคธุรกิจและผู้มีรายได้สูง แต่ก็เชื่อว่าเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องรีบจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่โดยเร็ว

            เยลเลนมีแนวทางที่จะต้อง "ลุย" ไปข้างหน้า เพราะหากขืนรอช้าคนอเมริกันจำนวนมากจะตกอยู่ในสภาพทุกข์ยากด้านปากท้องอย่างหนักหน่วง

            เธอบอกว่า "ถ้าเราไม่รีบคลอดความช่วยเหลือชุดใหม่นี้ เราก็อาจตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยอันยาวนาน และจะเกิดแผลเป็นทางเศรษฐกิจในระยะยาว"

            แต่คนของพรรครีพับลิกันแย้งว่า มาตรการเยียวยาก้อนใหม่นี้มากเกินไป สร้างหนี้สินให้รัฐบาลสูงเกินจะรับได้  หรือไม่ก็ต้องปั๊มเงินจำนวนมหาศาลออกมาโดยไม่มีอะไรรับรองว่าจะเกิดผลดีทางปฏิบัติต่อคนอเมริกัน

            เพราะที่เห็นชัดๆ อยู่ก็คือรัฐบาลสหรัฐฯ กำลังขาดดุลงบประมาณสะสมเป็นมูลค่าสูงเป็นประวัติการณ์

            นับถึงปีที่ผ่านมา ขนาดของการขาดดุลงบประมาณรวมกันถึง 3.1 ล้านล้านดอลลาร์ หลังจากที่ผ่านมาตรการช่วยเหลือมาแล้วก่อนหน้านี้ 2 ชุด มูลค่ารวม 3 ล้านล้านดอลลาร์

            เยลเลนปลอบใจเหล่าบรรดาวุฒิสมาชิก ด้วยการบอกว่าเธอและประธานาธิบดีไบเดนตระหนักดีถึงปัญหาหนี้สะสมที่รัฐบาลกำลังเผชิญ

            แต่ในภาวะเช่นที่เป็นอยู่ปัจจุบัน การควบคุมการระบาดและบรรเทาทุกข์ประชาชนต้องถือเป็นภารกิจอันดับแรกที่สำคัญกว่าเรื่องอื่นใด

            ภายใต้มาตรการช่วยเหลือชุดใหม่นี้ ประชาชนอเมริกันจะได้รับเงินช่วยเหลือโดยตรงอีกคนละ 1,400  ดอลลาร์สำหรับผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 75,000 ดอลลาร์ต่อปี

            นอกจากนั้นจะเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็นชั่วโมงละ 15  ดอลลาร์

            และยังจะมีงบประมาณสำหรับการแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 อย่างทั่วถึงทั่วประเทศด้วย

            เธอยืนยันว่าทางรอดของประเทศในเรื่องนโยบายการเงิน คือต้องเดินหน้าเชิงรุกอย่างเต็มที่อย่างไม่ลังเล

            เยลเลนใช้คำว่า "Act Big" สำหรับการฝ่าข้ามวิกฤติครั้งนี้

            คืออีกนัยหนึ่ง "เล็กๆ ไม่ ใหญ่ๆ ทำ"

            เธอรับปากว่าจะทำทุกอย่างเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และสู้ภัยโลกร้อน

            อีกทั้งยังตอกย้ำความสำคัญของการต้องสู้กับจีน ในเรื่องที่ปักกิ่งยังถูกวอชิงตันมองว่าเอารัดเอาเปรียบทางด้านการค้า และยังใช้เงินรัฐอุดหนุนการส่งออกที่ไม่เป็นธรรมต่อสหรัฐฯ

            เธอยืนยันว่าที่ต้องขึ้นภาษีธุรกิจใหญ่และคนรวย ก็เพื่อจะได้เอาเงินมาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน, งานวิจัยและพัฒนา และฝึกฝนคนงานอเมริกันเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของสหรัฐฯ ในเวทีโลก

            "แต่ก่อนอื่นเราต้องใช้งบพิเศษนี้ปราบโควิด-19 ให้ราบคาบเสียก่อน"

            นั่นคือความท้าทายหนักหน่วงที่รอคอยทีมเศรษฐกิจของไบเดน ที่ก็ยังตอบไม่ได้ว่าจะบรรลุเป้าหมายที่ประกาศไว้เมื่อไหร่!

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"