สถานการณ์โลกและการทูตจีน 2021


เพิ่มเพื่อน    

       บทความนี้สรุปสาระที่นายหวัง อี้ (Wang Yi) มนตรีเเห่งรัฐเเละรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวถึงสถานการณ์โลกและทิศทางการทูตจีนในประเด็นสำคัญๆ ช่วงปี 2020 จนถึงต้นปี 2021 มีสาระสำคัญดังนี้

            ประการแรก โควิด-19

                หวัง อี้ ให้ความสำคัญกับโรคระบาดโควิด-19 เป็นอันดับแรก โควิด-19 เร่งเปลี่ยนโลกอย่างรวดเร็ว ท้าทายมนุษยชาติ จำต้องอาศัยความร่วมมือทั้งโลก ส่งเสริมการพัฒนาวัคซีนร่วมกัน ความสามัคคีและความร่วมมือเป็นอาวุธทรงพลังที่สุดในการปราบโรคระบาดนี้

                จีนควบคุมการแพร่ระบาดเร็ว เสียหายน้อย ฟื้นตัวเร็ว  แนะนำการควบคุมโรคระบาดแก่นานาชาติตามหลักวิทยาศาสตร์

                ประการที่ 2 หลักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

                จีนยึดหลักร่วมมือรอบด้าน สร้างความมั่นคงที่ยั่งยืน เน้นพูดคุยหารือ ไม่แทรกแซงกิจการภายในของอีกประเทศ เป็นหลักพื้นฐานความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เช่นเดียวกับที่ฮ่องกงเป็นเขตอธิปไตยเรื่องภายในของจีน จีนมุ่งมั่นเป็นมิตรกับทุกประเทศ และจะไม่อ่อนข้อให้ใครหากประเทศนั้นไม่เป็นมิตร

                ตลอดปี 2020 การทูตจีนมุ่งตอบโจทย์ความต้องการภายในประเทศและบริบทโลก สร้างประโยชน์ทั้งแก่จีนและโลก รักษาเสถียรภาพโลก

                ส่งเสริมพหุภาคีนิยม ประสานตลาดในและต่างประเทศ เปิดเศรษฐกิจขยายความร่วมมือ ลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ได้ข้อสรุปข้อตกลงการลงทุนจีน-อียู เดินหน้าตามข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (BRI)

                มีส่วนร่วมในการปฏิรูปธรรมาภิบาลโลก (Global Governance) ส่งเสริมความเข้าใจระหว่างกัน แนวทางของจีนที่ยึดมั่นการพัฒนาโดยสันติ อยู่ร่วมกับนานาชาติ ให้ความสำคัญกับมวลมนุษยชาติ สร้างสันติภาพถาวร มั่นคงมั่งคั่งร่วมกัน ผลักดันแผนริเริ่มความปลอดภัยของข้อมูลระดับโลก (Global Initiative on Data Security)

                และส่งเสริมความร่วมมือแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

                ตรงข้ามกับความร่วมมือคือลัทธิเอกภาคีนิยม (unilateralism) ลัทธิปกป้องการค้า (protectionism) การเมืองเรื่องของอำนาจ (power politics) ขัดขวางความร่วมมือระหว่างประเทศ

                จีนยังคงสร้างสัมพันธ์อันดีกับนานาชาติต่อไป ยกระดับความสัมพันธ์ให้ลึกซึ้งขึ้น ร่วมมือกันมากขึ้น หวังสร้างประชาคมโลกร่วมกัน เป็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศรูปแบบใหม่ พหุภาคีนิยมที่ให้ความยุติธรรมมากกว่าเดิม ความร่วมมือที่ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์ ตระหนักว่าการแบ่งแยกนำสู่การเป็นศัตรูนำสู่ความโกลาหลวุ่นวายและลงเอยด้วยความอดอยากยากจน

                จีนไม่ต้องการเป็นคู่ขัดแย้งกับชาติใด ยินดีอยู่ร่วมกับประเทศอื่นๆ ที่ใช้ระบบเศรษฐกิจการเมืองแตกต่าง

            ประการที่ 3 ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐ

                ความสัมพันธ์ทวิภาคีเสื่อมลง รัฐบาลทรัมป์มองจีนเป็นภัยคุกคามร้ายแรงอันดับแรก ยึดแนวคิดแบบสงครามเย็น เริ่มสงครามเย็นอีกรอบ พยายามกดดันบีบบังคับจีน

                ถ้ามองย้อนอดีตสมัยประธานาธิบดีนิกสันได้ปรับสัมพันธ์กับจีนแล้ว รัฐบาลสหรัฐสมัยนั้นยอมรับความแตกต่างของจีน แสวงหาความร่วมมือในเรื่องที่ทำได้ ปรากฏเป็นความร่วมมือทางการทูต เศรษฐกิจ บริษัทอเมริกันกว่า 70,000 บริษัทลงทุนในจีนรวม 700,000 ล้านดอลลาร์ ในจำนวนนี้ 97% ได้กำไร ประชาชน 2 ฝั่งเดินทางไปมาหาสู่ถึง 5 ล้านคนต่อปี

                ความแตกต่างไม่เป็นเหตุให้ร่วมมือไม่ได้หรืออยู่ร่วมกันไม่ได้ แต่รากปัญหาความสัมพันธ์ทวิภาคีมาจากนักการเมืองอเมริกันที่อคติมองจีนเป็นปรปักษ์ หวังผลักให้ 2 ประเทศขัดแย้งกัน แบ่งแยกโลกเป็นฝักฝ่าย จีนต่อต้านแนวทางสงครามเย็นยุคใหม่ (new Cold War) โลกได้เรียนรู้ผลเสียหายจากสงครามเย็นมาแล้ว ไม่ควรปล่อยให้เกิดซ้ำ ในศตวรรษที่ 21 นี้แนวทางแบ่งข้างแบบสงครามเย็นใช้ไม่ได้ผลอีกแล้ว

                ทุกวันนี้สหรัฐยังเป็นประเทศที่เข้มแข็งที่สุด ใช้ทุกวิถีทางเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตน แม้ต้องขัดแย้งกับนานาชาติ  กฎหมายระหว่างประเทศ ทำลายระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีอยู่

                หลักนโยบายจีนต่อสหรัฐยังคงเดิม หวังสร้างสัมพันธ์บนพื้นฐานประสานงานกันร่วมมือและมีเสถียรภาพ จีนไม่เคยเข้ายุ่งเกี่ยวกิจการภายในสหรัฐ หวังอยู่กันโดยสันติ อย่างไรก็ตามสหรัฐต้องเคารพระบบสังคมและแนวทางพัฒนาที่ประชาชนจีนเป็นผู้เลือก

                ใครบางคนในสหรัฐอาจวิตกการพัฒนาของจีน ทางออกที่ดีคือสหรัฐต้องพัฒนาตนเอง ไม่ใช่ปิดกั้นผู้อื่น ไม่ว่าจะสหรัฐหรือจีนต่างต้องมุ่งพัฒนาตัวเองด้วยกันทั้งสิ้น ความขัดแย้งใดๆ แก้ได้ด้วยการหารือและร่วมมือกัน วางระบบโลกที่ 2 มหาอำนาจอยู่ร่วมกัน

            ประการที่ 4 ความสัมพันธ์จีน-รัสเซีย

                ความร่วมมือต้านโรคระบาดโควิด-19 เป็นอีกสถานการณ์กระชับความสัมพันธ์ทวิภาคี รัสเซียเป็นชาติแรกที่ส่งมอบความช่วยเหลือยากับเวชภัณฑ์แก่จีน ร่วมกันค้นคว้าวิจัยวัคซีน ยารักษาโรค

                จีนกับรัสเซียเปิดตลาดการค้าการลงทุนแก่กัน รักษาห่วงโซ่อุปทาน โครงการร่วมมือหลายโครงการคืบหน้าด้วยดี รวมทั้งด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เศรษฐกิจดิจิทัล ฯลฯ

                จีนกับรัสเซียยืนเคียงบ่าเคียงไหล่ปกป้องผลประโยชน์ของกันและกันในโลกการเมืองเรื่องของอำนาจ ทั้งคู่จะร่วมมือกันต่อไป เป็นตัวอย่างการเป็นเพื่อนบ้านที่ดี การสัมพันธ์ของ 2 ประเทศผู้เป็นมหาอำนาจ ร่วมกันฟื้นฟูและรักษาเสถียรภาพโลก

            ประการที่ 5 ความสัมพันธ์จีน-อียู

                ประเด็นใหญ่ที่จีน-อียูหารือร่วมกันตลอดคือการอยู่ร่วมกันโดยสันติ ขยายความร่วมมือ ยึดถือพหุภาคีนิยม ทั้งคู่ต่างเห็นว่าความร่วมมือดีกว่าการแข่งขันและแตกแยก ดังนั้น จีนกับอียูจึงเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้าน ไม่ใช่ปรปักษ์ภายใต้ระบบโลก พันธกิจที่มีร่วมกันคือร่วมแก้ปัญหาระดับโลก ส่งเสริมโลกพหุภาคี เศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น (greater democracy in international relations) ส่งเสริมเสถียรภาพโลก

                ปี 2020 จีนกลายเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของอียู

                จีนกับอียูเป็นอีกตัวอย่างของการเจรจาหารือเพื่อประโยชน์เท่าเทียม และด้วยฐานะเท่าเทียม

            ประการที่ 6 ความสัมพันธ์จีน-อาเซียน

                อาเซียนเป็นเพื่อนบ้านใกล้ชิด ติดต่อกันทางบกทางทะเล จีนเป็นมหาอำนาจชาติแรกที่ลงนามในสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia) แสดงเจตจำนงที่จะอยู่ร่วมกับอาเซียนฉันมิตร เคารพอธิปไตย ไม่แทรกแซงกิจการของกันและกัน

                ความสัมพันธ์ทางการค้าเพิ่มขึ้นตามลำดับ เกิดเขตการค้าเสรีกับอาเซียนและกลายเป็น RCEP

                ปี 2021 ครบรอบความสัมพันธ์ 3 ทศวรรษจีน-อาเซียน  จีนหวังร่วมมือกับอาเซียนต่อต้านโรคระบาดโควิด-19 ความร่วมมือด้านวัคซีน ระบบสาธารณสุข สร้างเขตเวชภัณฑ์ฉุกเฉินระดับภูมิภาค ฟื้นฟูเศรษฐกิจร่วมกันด้วยการสร้างระบบขนส่งช่องทางด่วนพิเศษซึ่งเท่ากับเร่งกระชับความสัมพันธ์ตาม RCEP เปิดโอกาสให้แก่กันโดยเฉพาะเรื่องอีคอมเมิร์ซ เมืองอัจฉริยะ ดำเนินตาม Strategic Partnership Vision 2030 ที่ได้ตกลงกันไว้

                เมื่อเทียบจีน 50 ปีก่อน (ช่วงที่รัฐบาลนิกสันมาผูกสัมพันธ์จีน) กับปัจจุบัน เห็นได้ชัดว่าระบบเศรษฐกิจสังคมจีนมีความเป็นทุนนิยมที่เปิดกว้างมากขึ้นทุกที หลายประเทศแม้กระทั่งสหรัฐ อียู อาเซียน ต่างเป็นคู่ค้ารายใหญ่กับจีน พลังอำนาจแห่งชาติของจีนเพิ่มขึ้นจนกระทั่งสหรัฐยังหวั่นเกรง ปฏิเสธไม่ได้ว่าจีนพัฒนามากขึ้นทุกที และน่าจะไปไกลกว่านี้.

---------------------------

ภาพ : หวัง อี้ มนตรีเเห่งรัฐเเละรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน

เครดิต : https://www.fmprc.gov.cn/mfa_eng/zxxx_662805/t1804328.shtml

---------------------------


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"