เมื่อทูตเมียนมาที่ยูเอ็น ปฏิเสธรัฐประหารที่บ้าน


เพิ่มเพื่อน    

    ภาพนี้จะถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์การเมืองสหประชาชาติไปอีกนาน
    เพราะไม่เคยมีปรากฏการณ์ที่ผู้แทนถาวร หรือทูตประจำสหประชาชาติของประเทศใด ที่จะแถลงต่อสมัชชาสหประชาชาติว่าเขาไม่ยอมรับการรัฐประหารในประเทศตัวเอง
    อีกทั้งยังยืนยันว่า "รัฐประหารโดยกองทัพของเมียนมาจะต้องล้มเหลว"
    และขอให้ประชาคมโลกร่วมกันทำทุกอย่าง เพื่อกดดันให้กองทัพเมียนมาต้องคืนอำนาจให้แก่ประชาชน
    คำปราศรัยที่ใช้ภาษาตรงไปตรงมา มีพลัง และเป็นที่ประทับใจของนานาประเทศนี้มาจากนายจอ โม ตุน ทูตเมียนมาประจำองค์การสหประชาชาติ ที่เรียกร้องให้ยูเอ็นใช้มาตรการที่จำเป็นทุกทางเพื่อขัดขวางกองทัพเมียนมา และนำประชาธิปไตยกลับคืนสู่ประเทศ
    ไม่แต่เท่านั้น เขายังได้ชูสัญลักษณ์สามนิ้วแสดงอารยะขัดขืน ไม่ยอมรับการก่อรัฐประหารของกองทัพเมียนมากลางที่ประชุมยูเอ็นด้วย
    นายจอ โม ตุน กล่าวต่อหน้าสมาชิกสมัชชาสหประชาชาติ 193 ประเทศเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังจากนายอันโตนีโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ และนางคริสติน ชราเนอร์ เบอร์กเนอร์ ทูตพิเศษว่าด้วยกิจการเมียนมาออกมาเตือนว่า
    "ไม่ควรมีชาติใดให้การรับรองหรือความชอบธรรมแก่รัฐบาลทหารของเมียนมา"
    จอ โม ตุนอ่านจากแถลงการณ์ที่เขาร่างเอง ตอนหนึ่งบอกว่า
    "เราจำเป็นที่จะต้องให้ประชาคมนานาชาติปฏิบัติอย่างแข็งกร้าวที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อยุติการก่อรัฐประหารของกองทัพโดยเร็วที่สุด เพื่อหยุดยั้งการกดขี่ข่มเหงประชาชาติผู้บริสุทธิ์ เพื่อคืนอำนาจสู่ประชาชน และเสริมสร้างประชาธิปไตย" 
    ระหว่างที่พูดไป ทูตเมียนมาท่านนี้ก็เหมือนจะมีเสียงสะอื้นที่มาจากความรู้สึกอัดอั้นและกดดัน ที่ต้องแสดงจุดยืนเพื่อสะท้อนถึงความรู้สึกของประชาชนชาวเมียนมาที่กำลังลุกขึ้นประท้วงอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ
    พูดเสร็จก็ได้รับเสียงปรบมือแสดงความชื่นชมจากสมาชิกสมัชชาสหประชาชาติ ทั้งจากชาติตะวันตกและชาติที่นับถือศาสนาอิสลาม
    ขณะที่นางชราเนอร์ เบอร์กเนอร์ ทูตพิเศษว่าด้วยกิจการเมียนมา ต้องการให้ชาติสมาชิกยูเอ็นร่วมกันส่งสัญญาณแสดงการสนับสนุนประชาธิปไตยอย่างชัดเจน
    และร้องขอให้ชาติต่างๆ ที่มีอิทธิพลระหว่างประเทศช่วยกดดันให้กองทัพเมียนมายอมรับให้คณะผู้สังเกตการณ์อิสระเข้าไปประเมินสถานการณ์ในประเทศ
    หากมี "คณะผู้สังเกตการณ์อิสระนานาชาติ" เข้าไปสอบถามและประเมินสถานการณ์ ก็อาจจะสามารถหาทางออกร่วมกันให้เมียนมาได้
    โดยไม่ถูกกล่าวหาว่า "แทรกแซงกิจการภายใน" ของเมียนมา
    เพราะประชาชนของประเทศนี้ได้เรียกร้องให้องค์การระหว่างประเทศ และมิตรประเทศเข้ามาสกัดการรุกคืบของกองทัพที่ใช้อาวุธปราบปรามการลุกฮือของประชาชนอย่างต่อเนื่อง
    การที่ทูตเมียนมาท่านนี้ลุกขึ้นแสดงจุดยืนต่อต้านรัฐประหารในบ้านของตัวเองเช่นนี้ไม่น่าจะเคยเกิดขึ้นในการเมืองระหว่างประเทศ
    เท่ากับเป็นการยืนยันว่าเขายังเป็นตัวแทน "ที่ชอบธรรม" ของประเทศเมียนมาในองค์การสหประชาชาติ
    เพราะเขาได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลของพรรค NLD  ที่ประชาชนเลือกมาด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น
    เขาจึงต้องการจะบอกกล่าวกับชาวโลกว่า จะไม่ยอมให้กองทัพยึดอำนาจและอ้างสิทธิที่จะบริหารประเทศด้วยการประกาศยกเลิกผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุด
    เมื่อเป็นเช่นนี้ย่อมจะเกิดประเด็น "ความชอบธรรม"  ระหว่างกองทัพกับพรรค NLD ที่มีอองซาน ซูจีเป็นแกนนำที่สำคัญ
    จะเกิดอะไรขึ้นหากสหประชาชาติไม่ยอมรับทูตที่รัฐบาลรัฐประหารแต่งตั้งมาแทนจอ โม ตุน?
    จะเกิดอะไรขึ้นถ้าประเทศต่างๆ ยอมรับตัวแทนของรัฐบาลอองซาน ซูจีเท่านั้น?
    และปฏิเสธคำประกาศตนเป็นรัฐบาลของพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย?
    ผ่านมาเพียง 24 ชั่วโมง รัฐบาลทหารเมียนมาก็สั่งปลดทูตคนนี้ออกจากตำแหน่ง...ทำให้เกิดประเด็นว่า ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติที่มีสมาชิก 193 ประเทศจะรับรองรัฐบาลทหารหรือไม่?
    หากทูตจอ โม ตุนไม่ยอมออกจากตำแหน่ง และขอให้สหประชาชาติตัดสินว่ายูเอ็นรับรองรัฐบาลเมียนมาชุดไหนกันแน่ ก็จะกลายเป็นความท้าทายใหม่ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนเช่นกัน
    กลายเป็นกรณีศึกษาระดับสากลที่ว่า ความชอบธรรมของรัฐบาลในประเทศนั้นๆ ขึ้นอยู่กับปัจจัยอะไรบ้าง และจะเป็นบทเรียนสำหรับประเทศใดก็ตามที่กองทัพก่อรัฐประหาร โดยอ้าง "รัฏฐาธิปัตย์" เพื่อความชอบธรรมในการปกครองประเทศด้วยกลุ่มของตนเท่านั้น แต่ประชาชนไม่ยอมรับ และนานาชาติหลายส่วนก็ปฏิเสธที่จะรับรองเช่นกัน?
    สถานการณ์อย่างนี้ไม่เคยเกิดขึ้นกับประเทศไหนมาก่อน 
    เมียนมากำลังจะกลายเป็น "กรณีศึกษารัฐประหารที่นานาชาติปฏิเสธ" บทแรกของโลกเลยทีเดียว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"