ทำไม ‘การทูตลับ’ ที่ ดอนเมืองจึง ‘ไม่ลับ’


เพิ่มเพื่อน    

 

       แรกเริ่ม รัฐบาลไทยอาจจะคิดว่ามันคือ “การทูตราชการลับ” เมื่อรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียจะบินไปเมียนมาเมื่อวันพุธก่อนโดยผ่านมาทางกรุงเทพฯ

                แต่ความแตกเสียก่อน

                เกิดเสียงทักท้วงอย่างแรงจากกลุ่มผู้ประท้วงชาวเมียนมาที่ประกาศต่อต้านแนวคิดที่อินโดฯ อาจจะเสนอให้อาเซียนบอกกล่าวกับกองทัพพม่าให้ “รักษาคำพูด” เรื่องจะจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่

                เพราะคนเมียนมาส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้งใหม่

                แต่ยืนยันว่าต้องการจะเคารพในผลการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

                เพราะประชาชนคนเมียนมากว่า 80% ลงคะแนนให้กับพรรค NLD ของอองซาน ซูจี ให้กลับมาบริหารประเทศอีก 5 ปี

                คนเมียนมาจึงไปนั่งประท้วงที่หน้าสถานทูตอินโดฯ ที่ย่างกุ้งและกรุงเทพฯ

                ผู้ประท้วงสงสัยว่ารัฐบาลสิงคโปร์ก็อาจจะมีความคิดไปในแนวเดียวกัน จึงไปประท้วงที่หน้าสถานทูตสิงคโปร์ที่ย่างกุ้งด้วย

                ไม่นานหลังจากนั้น กระทรวงต่างประเทศอินโดฯ ก็ออกมาปฏิเสธข่าวนั้นที่ปลิวว่อนในโซเชียลมีเดีย

                โฆษกกระทรวงต่างประเทศอินโดฯ บอกว่า รัฐบาลอินโดฯ ไม่มีนโยบายจะเสนอให้มีการเลือกตั้งรอบใหม่ในเมียนมา

                ช่วงเดียวกันนั้นรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดฯ เร็ทโน มาร์ซูดี ก็ใช้ “การทูตเดินสาย” หรือ shuttle diplomacy ไปเยี่ยมเยือนหลายประเทศในอาเซียน หรือไม่ก็ยกหูถึงผู้นำทั้งในอาเซียนและประเทศใหญ่อย่างจีน, อินเดีย, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, เวียดนาม, กัมพูชา, ฟิลิปปินส์และลาวเพื่อปรึกษาหารือว่าจะช่วยหาทางออกจากวิกฤตเมียนมาได้อย่างไร

                ว่าแล้วเธอก็เตรียมจะบินตรงไปเมียนมาเพื่อซาวเสียงผู้นำรัฐประหารว่าจะมีทางออกจากความปั่นป่วนของเมียนมาได้อย่างไรบ้าง

                พอเธอบินลงกรุงเทพฯ ก็มีข่าวแพร่สะพัดว่าเธอเตรียมจะบินจากไทย-เมียนมาและบินกลับมาภายในวันเดียวกันนั้น

                คำถามคือ เธอจะพบกับผู้นำทหารฝ่ายเดียว หรือจะมีโอกาสได้พบกับฝ่ายอองซาน ซูจี หรือไม่

                และเธอจะสามารถพูดแทนอาเซียนทั้งหมดได้หรือไม่อย่างไร เพราะปฏิกิริยาของสมาชิกอาเซียนทั้งหลายก็ไม่ได้เหมือนกันหมดทีเดียว

                พอมีเสียงคัดค้านจากผู้ประท้วงชาวเมียนมาเรื่องข่าวลือ (ตอนแรกผ่านสำนักข่าวรอยเตอร์) และมีคำแถลงปฏิเสธจากจาการ์ตา เธอก็เปลี่ยนแผน

                ข่าวลือเริ่มแพร่สะพัดว่ารัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลรัฐประหารเมียนมาจะบินมากรุงเทพฯ แทน

                ตรวจสอบข่าวกันจ้าละหวั่น หากเป็นจริงก็จะเป็นข่าวใหญ่ เพราะตั้งแต่รัฐประหารเมียนมา วันที่ 1 กุมภาพันธ์เป็นต้นมา คนระดับนำของรัฐบาลทหารพม่ายังไม่มีใครออกนอกประเทศ เพราะไม่แน่ใจว่าประเทศไหนจะยอมรับให้เป็นแขกหรือไม่

                แต่แล้วข่าวลือตลอดทั้งวันพุธก็กลายเป็นความจริง

                จริงกว่าที่ลือตอนต้นด้วยซ้ำไป

                เพราะนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ของไทยยอมให้ U Wunna Maung Lwin ของพม่าเข้า “เยี่ยมคารวะ” อีกต่างหาก

                เกิดคำถามทันทีว่า เขาประชุมกันที่ไหน

                ถ้าการประชุมเกิดขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาลของไทยก็จะเป็นเรื่องใหญ่แน่ เพราะเท่ากับว่าประเทศไทยจะเป็นรัฐบาลแรกของโลกที่ยอมรับการรัฐประหารของเมียนมา 

                ว่าแล้วก็จัดให้มีการพบปะกันที่สนามบินดอนเมืองแทน

                นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ไม่ยอมตอบคำถามนักข่าวว่าได้พบกับ “รัฐมนตรีต่างประเทศ” ของคณะทหารของเมียนมาหรือไม่

                นายกฯ ไทยตอบว่าเป็น “เรื่องไม่เป็นทางการ” และนักข่าว “ไม่ควรถามทุกเรื่อง”

                พลเอกประยุทธ์อ้างว่าเมื่อเมียนมาเป็นเพื่อนบ้าน รัฐบาลไทยก็ถือว่าเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน ก็ต้องให้กำลังใจ เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างเรียบร้อย

                คำว่า “เรื่องไม่เป็นทางการ” ย่อมแปลว่ารัฐบาลไทยไม่ได้ทำอะไร “ที่เป็นทางการ”

                แต่หนีไม่พ้นว่าผู้คนก็ต้องมองว่าผู้นำไทย ซึ่งเป็นนายทหารและเคยก่อรัฐประหารมาก่อนก็ย่อมจะมีความเห็นอกเห็นใจพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ที่เพิ่งยึดอำนาจ

                การที่นายกฯ ไทยไปให้ “รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ของเมียนมา” (ภาษาที่แถลงการณ์ทางการของกระทรวงต่างประเทศไทยใช้) พบถึงที่ดอนเมือง ทั้งๆ ที่มีตำแหน่งสูงกว่า และในบรรยากาศที่ “ละเอียดอ่อน” เช่นนั้นย่อมถือว่าเป็นก้าวย่างที่ผิดทั้งมารยาททางการทูต, หลักการสากลและจุดยืนของความเป็นประชาธิปไตยที่ประเทศไทยอ้างว่ามีอยู่

                (พรุ่งนี้ : ทำไม “การทูตลับ” จึงไม่ลับ?”  


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"