ภาษาและท่วงท่าของอาเซียน ต่อวิกฤติเมียนมา


เพิ่มเพื่อน    

            รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนนัดพบกันออนไลน์เป็นกรณีพิเศษเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เพื่อพิจารณาสถานการณ์ในเมียนมา

                แถลงการณ์ของประธานหมุนเวียนอาเซียนคือบรูไนไม่มีอะไรเกินคาด แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีการแลกเปลี่ยนความเห็นกัน

                ภาษาที่ใช้ไม่ได้ประณามการกระทำของกองทัพเมียนมาที่ยึดอำนาจ หรือการให้ทหารและตำรวจใช้อาวุธสังหารและทำร้ายร่างกายผู้ประท้วงจำนวนมากขึ้นทุกที

                แต่ก็เรียกร้องให้มีการหาทางยุติความรุนแรงทันทีเพื่อให้ “ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง” ได้ปรึกษาหารือและเจรจาเพื่อหาทางออกทางการเมืองที่สันติและยั่งยืน

                คำแถลงนั้นอ้างถึง “เสียงเรียกร้อง” จากบางฝ่ายให้กองทัพปล่อยตัวอองซาน ซูจี และผู้นำทางการเมืองเพื่อสร้างบรรยากาศแห่งการพูดจากัน

                อาเซียนเสนอตัวพร้อมที่จะช่วยหาทางออกให้กับเมียนมา “อย่างสร้างสรรค์และสันติ”

                ไม่มีการกล่าวถึงการจะให้เคารพในผลการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา (ซึ่งพรรค NLD ของอองซาน ซูจี ชนะอย่างท่วมท้นเกิน 80% ของคะแนนทั้งหมด) หรือจะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ตามที่พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย รับปากเอาไว้ในวันยึดอำนาจ 1 กุมภาพันธ์

                ประหนึ่งจะให้ประเด็นนี้เป็นหัวข้อการเจรจากันระหว่างฝ่ายทหารกับอองซาน ซูจี (ถ้าความหวังที่จะให้มีการเจรจาเกิดขึ้นได้จริง...ณ วันนี้โอกาสเช่นนั้นมีไม่ถึง 20%)

                แต่แม้ขณะที่มีการประชุมของรัฐมนตรีอาเซียนนั้น ทหารและตำรวจของเมียนมาก็ยังเดินหน้าปราบปรามผู้ต่อต้านอย่างต่อเนื่อง

                จำนวนคนตายและบาดเจ็บและที่ถูกจับก็เพิ่มขึ้นตามลำดับ

                พอจะตีความได้ว่าทหารเมียนมามาร่วมประชุมอาเซียนก็เป็นเพียงพิธีกรรมเท่านั้น

                หรือเพียงต้องการสร้างภาพว่าอาเซียน “ให้การรับรอง” รัฐประหารแว

                ไม่ได้มีความตั้งใจที่จะฟังเสียงเรียกร้องของรัฐมนตรีอาเซียนแต่อย่างไร

                ตัวแทนของฝ่ายทหารเมียนมาที่เข้าร่วมประชุมคือ มูนนะ หม่อง ลวิน ซึ่งมาที่กรุงเทพฯ เมื่อสัปดาห์ก่อนเพื่อพบนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ของไทย และประชุมกับรองนายกฯ และรัฐมนตรีต่างประเทศไทย คุณดอน ปรมัตถ์วินัย และรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย เร็ทโน มาร์ซูดี

                ทหารตั้งเขาเป็น “รัฐมนตรีต่างประเทศ” แทนอองซาน ซูจี

                แต่อินโดฯ และสิงคโปร์จงใจจะไม่เรียกขานเขาในตำแหน่งนั้น

                แต่เรียกเขาเป็น “ตัวแทนของกองทัพเมียนมา” ที่ได้รับเชิญมาเพื่อรับฟังความเห็นจากมุมมองของฝ่ายทหารเมียนมาเท่านั้น

                จึงน่าสนใจว่า หม่อง ลวิน อธิบายสถานการณ์ในเมียนมาว่าอย่างไร หรือถูกตั้งคำถามอะไรบ้าง

                รายละเอียดการซักถามระหว่างการประชุมครั้งนี้ไม่เป็นที่เปิดเผย

                แต่รัฐมนตรีต่างประเทศของอินโดฯ, มาเลเซีย, สิงคโปร์และฟิลิปปินส์ต่างก็ออกมาให้สัมภาษณ์ต่อด้วยน้ำเสียงที่เข้มข้นกว่าในแถลงการณ์ของประธานอาเซียน

                รัฐมนตรีของ 4 ประเทศนี้ (ของไทยหายไปไหน?) กล่าวด้วยน้ำเสียงละม้ายกันคือ ให้หยุดยั้งการใช้อาวุธต่อผู้ประท้วง, ตามด้วยการปล่อยอองซาน ซูจี และผู้นำทางการเมืองทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไข และให้มีการพูดจาเพื่อหาทางออกร่วมกัน โดยถือ “ผลประโยชน์ของประชาชน” เป็นหลัก

                รัฐมนตรีอาเซียนบอกว่าพร้อมที่จะมีบทบาทช่วย “อำนวยความสะดวก” ทุกวิถีทางเพื่อให้การเจรจาทางการเมืองของเมียนมาเกิดขึ้นและบรรลุเป้าหมายแห่งสันติภาพ, เสถียรภาพและสวัสดิภาพของประชาชนคนเมียนมาเอง

                จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ถ้อยคำลักษณะนี้ไม่ปรากฏว่ารัฐมนตรีต่างประเทศไทยได้นำเสนอต่อสาธารณชน ทั้งๆ ที่เราเป็นเพื่อนบ้านใกล้ชิดกับเมียนมาที่สุด

                ถามว่าบทบาทของอาเซียนจะนำไปสู่การแก้ปัญหาเมียนมาหรือไม่

                คำตอบ ณ ตอนนี้ก็คือ ยังมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เพราะผู้นำทหารเมียนมายังดื้อดึงแข็งขืน ยืนยันว่าตัวเองมีอำนาจปกครองประเทศ เพราะมี “รัฏฐาธิปัตย์”

                แต่ความเป็นจริงก็คือ ยังน่าสงสัยว่ากองทัพเมียนมาอ้าง “ความชอบธรรม” ที่จะบริหารประเทศได้อย่างไร ในเมื่อประชาชนส่วนมากออกมาประท้วงไม่ยอมรับรัฐบาลจากรัฐประหาร

                และยืนยันว่า อองซาน ซูจี และพรรค NLD ได้ “อาณัติ” จากประชาชนจากการเลือกตั้งอย่างชัดเจน

                ขณะที่มีคำถามอีกว่า หากสมาชิกสหประชาชาติเกินครึ่งไม่ยอมรับอำนาจของรัฐบาลทหารเมียนมาในการแต่งตั้งทูตประจำยูเอ็นคนใหม่มาแทนจอโมตุนที่ได้ประกาศต่อต้านรัฐประหาร จะเกิดอะไรขึ้นกับสถานะของรัฐบาลทหารเมียนมาในเวทีระหว่างประเทศ?

                คำว่า “รัฐบาลเถื่อน” ก็จะเกิดขึ้นทันที

                เพราะขณะที่ฝ่ายยึดอำนาจตั้ง State Administration Council (SAC) หรือสภาบริหารประเทศ

                ฝ่าย ส.ส.ที่ได้รับการเลือกตั้ง ประชาชนก็ตั้ง Committee Representing Pyidaungsu Hluttaw (CRPH) หรือ “คณะกรรมการตัวแทนรัฐสภา”

                ที่เรียกตัวเองว่าเป็น “รัฐบาลที่ชอบธรรม”

                และออกแถลงการณ์เรียก SAC ของทหารว่าเป็น “กลุ่มก่อการร้าย” เพราะใช้อาวุธไล่ล่าประชาชนอย่างโหดร้ายทารุณ

                การต่อสู้เพื่อ “ความชอบธรรม” ระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยกับเผด็จการกระจายไปในทุกสมรภูมิทั้งระดับท้องถิ่น, ระดับชาติและระดับโลก!.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"