‘ถ้าอาเซียนไม่จับมือกันก็จะ กลายเป็นรัฐตัวแทนมหาอำนาจ’


เพิ่มเพื่อน    

       คำเตือนจากนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ ว่าด้วยแนวทางของอาเซียนต่อวิกฤติเมียนมา มีประเด็นน่าสนใจตรงที่พูดเตือนเพื่อนๆ ในแวดวงกันเองทั้งทางตรงและทางอ้อม

            ต้องไม่ลืมว่าสิงคโปร์เป็นต่างชาติที่มีการลงทุนในเมียนมาอันดับหนึ่ง

            จึงถูกต้องว่าเมื่อเกิดปัญหาวุ่นวายที่นั่น สิงคโปร์ก็ต้องเดือดร้อนหนักที่สุด

            ปกติหากเขาห่วง "เซ็งลี้" ในฐานะพ่อค้า ก็คงจะอยู่เฉยๆ รอดูว่าฝ่ายไหนชนะก็จะได้กระโดดเข้าข้างนั้น

            แต่ก็มีคนมองว่า สิงคโปร์เพิ่งจะเข้าไปลงทุนในเมียนมาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญก็ช่วงที่อองซาน ซูจีชนะเลือกตั้งเมื่อปี 2015

            ดังนั้น ผู้นำสิงคโปร์จึงออกมาใช้ภาษาดุดันต่อรัฐประหาร เหมือนจะเข้าข้างฝ่ายพลเรือนมากกว่าทหาร

            แต่นายกฯ หลี่ เสียนหลงตอบข้อสงสัยนี้ด้วยการยืนยันว่า การค้าและการลงทุนของสิงคโปร์ในเมียนมาไม่ได้มีมากมายถึงขั้นเป็นปัจจัยที่กำหนดจุดยืนของเขา

            หลี่ เสียนหลงเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นที่เมียนมาว่าเป็น "โศกนาฏกรรม" เพราะการที่ทหารและตำรวจติดอาวุธไล่ยิงพลเรือนที่ประท้วงมือเปล่านั้นเป็นเรื่องที่ "ยอมรับไม่ได้"

            รัฐมนตรีต่างประเทศวิเวียน บาลาคริสนัน ใช้คำแรงกว่านั้น

            เขาออกมาบอกว่า การที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของเมียนมาใช้กระสุนยางและกระสุนจริงไล่สังหารผู้ชุมนุมที่ไร้อาวุธนั้นเป็นเรื่องที่ "ให้อภัยไม่ได้"

            สิงคโปร์ไม่ยอมเรียกนายวูนนะ หม่อง ลวิน ว่าเป็น  "รัฐมนตรีต่างประเทศ" คนใหม่ของเมียนมา

            และยังเรียกอองซาน ซูจีว่าเป็น "ที่ปรึกษาแห่งรัฐ"  และวิน มินต์เป็น "ประธานาธิบดี"

            เท่ากับไม่ยอมรับรองสถานะทางกฎหมายของรัฐบาลทหาร

            อีกทั้งยังบอกว่า คนที่มาร่วมประชุมออนไลน์กับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเมื่อวันอังคารที่ผ่านมานั้นเป็น "ตัวแทนของเจ้าหน้าที่ทหารของเมียนมา"

            เหมือนรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน 9 คนเจอกับตัวแทนกองทัพเมียนมา ที่มาเล่าให้ฟังว่าเกิดอะไรขึ้นในประเทศของเขา

            เพราะสิงคโปร์, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ออกมาระบุชัดเจนว่า เหตุร้ายที่เมียนมาไม่ได้เพียงมีผลกระทบทางลบต่อประเทศเมียนมาเท่านั้น แต่ยังมีผลสะเทือนต่ออาเซียนและภูมิภาคนี้อีกด้วย

            จึงไม่อาจจะตีความว่าเป็น "กิจการภายใน" ของเมียนมาอีกต่อไป

            คำเตือนที่ต้องถือว่า "แรง" จากรัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ ที่ได้กล่าวในรัฐสภาของเขาประโยคหนึ่งที่ควรแก่การวิเคราะห์อย่างยิ่ง คือประโยคที่เขาบอกว่า

            เมื่อเผชิญกับวิกฤติของเมียนมาเช่นนั้น หากสมาชิกอาเซียนทั้งหมดสามารถจะรวมพลังเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างเหนียวแน่น ก็จะยังคงรักษาความสามารถในการต่อรองเพราะเป็นศูนย์กลางของกิจกรรมในภูมิภาค

            ภาษาในอาเซียนใช้คำว่า centrality ซึ่งสามารถตีความได้หลายแง่หลายมุม

            แต่ผู้คิดคำนี้เพื่อให้อาเซียนมีความสำคัญในสายตาประเทศอื่นๆ ก็คือพลังของการรวมตัวของอาเซียนนั้นมีสูง  ทุกคนต้องตระหนักในบทบาทของกลไกแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้

            แต่คุณวิเวียน บาลาคริสนันก็กล่าวต่อด้วยว่า

            หากอาเซียนแตกแยก ไม่มีจุดยืนร่วมกันในกรณีเมียนมา ก็เสี่ยงที่จะแตกเป็นเสี่ยงๆ

            อาจจะกลายเป็น "proxy state" หรือ "รัฐตัวแทน" ที่ต้องมาฟาดฟันกันเองก็ได้

            หรือไม่ก็เป็น "vassal state" คือเป็น "เมืองขึ้น" หรือ  "ประเทศในอาณัติ" ของชาติอื่น

            ไม่ต้องตีความหมายให้ยากก็เข้าใจได้ว่า เขากำลังเตือนว่าหากแต่ละสมาชิกอาเซียนมีท่าทีแบบ "ตัวใครตัวมัน" หรือเลือกที่จะอยู่ข้างมหาอำนาจบางประเทศ อาเซียนก็จะถึงแก่หายนะอย่างแน่นอน

            เขาคงหมายถึงจีนและสหรัฐฯ ที่กำลังแข่งขันกันสร้างอิทธิพลในภูมิภาคนี้

            และกรณีเมียนมาก็อาจจะเป็นกรณีของการแก่งแย่งอำนาจระหว่างสองยักษ์นี้

            หากอาเซียนไม่ผนึกกำลังกันให้เหนียวแน่น มีจุดยืนร่วมกันเพื่อปกปักรักษาอำนาจต่อรองของตน แต่เลือกที่จะไปเกาะเกี่ยวมหาอำนาจใดมหาอำนาจหนึ่ง

            นั่นก็คือจุดอวสานของอาเซียน

            ประโยคหลังนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ไม่ได้เอ่ยเอื้อนออกมาชัดเจนเช่นนั้น

            ผมเป็นคนตีความให้เห็นภาพชัดๆ เท่านั้นเอง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"