ศศก.-สสส.ถกทิศทางหยุด! การระบาดสารเสพติดทำลายชาติ ห่วงหลังโควิด-19 แนวโน้มรุนแรงเพิ่มมากขึ้น


เพิ่มเพื่อน    

 

ปัญหาสารเสพติดเป็นปัญหาระดับโลก ศศก.-สสส.ถกปัญหาการระบาดสารเสพติดและตลาดการค้า ระบุหลังโควิด-19 ปัญหายาเสพติดมีแนวโน้มรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ของค้างสต๊อกจำหน่ายราคาถูกหาซื้อได้ง่ายทางทวิตเตอร์ไม่ปลอดภัย เพราะมีการปลอมแปลง ส่งผลกระทบทั้งเศรษฐกิจ สังคม แนะให้ความรู้แก่ประชาชน เพื่อป้องกันการเสพติด หนังสือ “นโยบายสารเสพติดกับประโยชน์สาธารณะ” เป็นคู่มือเพื่อกำหนดนโยบายสารเสพติดในประเทศไทย

ประเทศต่างๆ ทั่วโลกล้วนเห็นความสำคัญของปัญหาสารเสพติด ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญอันดับต้นด้านสุขภาพและปัญหาสังคม มีผลออกฤทธิ์สำคัญที่สมอง เมื่อถูกนำเข้าสู่ร่างกายทำให้สมองและระบบความพึงพอใจเกิดการเปลี่ยนแปลงนำไปสู่ภาวะการติดสารเสพติด สารเสพติดที่ถูก กม. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่เป็นสาเหตุก่อให้เกิดโรคทางกายและจิต รวมถึงอุบัติเหตุและความรุนแรง ทั้งยังเป็นสารตั้งต้นที่เยาวชนใช้ก่อนจะนำไปสู่การเสพสารเสพติดชนิดอื่นที่มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะสารเสพติดที่ผิด กม. เช่น เมทแอมเฟตามีน กัญชา พืชกระท่อม เฮโรอีน ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผจก.สสส. เขียนคำนิยมแนะนำหนังสือ “นโยบายสารเสพติดกับประโยชน์สาธารณะ” จัดทำขึ้นเพื่อนำเสนอองค์ความรู้ มาตรการและนโยบายต่างๆ ทั่วโลกเป็นข้อมูลสำคัญที่มีประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายสารเสพติดในประเทศไทย

รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ

 

รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ

 

ชวนพิศ ชุ่มวัฒนะ

 

ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนาวิชาการเรื่อง “การระบาดสารเสพติดและตลาดการค้า” เพื่อร่วมกันหาแนวทางกำหนดนโยบายสารเสพติด เมื่อวันที่ 24 ก.พ. ที่โรงแรมแมนดาริน กรุงเทพฯ มีวิทยากร รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผจก.ศูนย์ศึกษาปัญหาสารเสพติด (ศศก.) ศ.ดร.พญ.สาวิตรี อัษณางค์กรชัย หน่วยระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ ชวนพิศ ชุ่มวัฒนะ ข้าราชการบำนาญสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กระทรวงยุติธรรม ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ คณะพยาบาลศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี อ.ดร.วิทย์ วิชัยดิษฐ หน่วยระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ นพ.ชลอวัฒน์ อินปา ผู้ช่วย ผอ.ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินรายการโดย ประพจน์ ภู่ทองคำ

 

รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวเปิดงานเสวนาว่าเป็นมิติใหม่ของสังคมไทย เมื่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตั้งคณะ กก.พิจารณาอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 ได้ปรับปรุง โดยการอนุญาตให้ใช้กัญชา และพืชกระท่อม ซึ่งเป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ให้มาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ การศึกษาวิจัย และการผลิตผลิตภัณฑ์สุขภาพได้ และต่อมามีการประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เพื่อปลดล็อกส่วนของกัญชาและกัญชงให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้โดยไม่จัดเป็นยาเสพติด ยกเว้นส่วนช่อดอก และเมล็ดกัญชา

         

ล่าสุดคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 2 ฉบับ ให้สามารถใช้ส่วนของกัญชาและกัญชงในผลิตภัณฑ์อาหารได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดผลกระทบทางสังคมด้านอื่นตามมา ทั้งทางด้านบวก เช่น ประโยชน์ของกัญชาต่อการรักษาโรค การลดการตีตราหรือลดการมองว่าผู้ที่ใช้สารเป็นคนไม่ดี ในขณะเดียวกันทางด้านลบ จำเป็นต้องเฝ้าระวัง ซึ่งอาจทำให้เด็ก เยาวชน รวมถึงประชาชนมองไม่เห็นโทษที่ยังมีอยู่ของสาร โดยเฉพาะช่อดอกและเมล็ดกัญชา และอาจนำไปเสพเพื่อความรื่นเริงมากขึ้น เนื่องจากมองเห็นแต่ประโยชน์

         

รุ่งอรุณกล่าวต่อว่า สสส.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นความจำเป็นและให้ความสำคัญในการเฝ้าระวัง และการศึกษาวิจัยเพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงวิชาการที่จำเป็นต่อการเสนอแนวทางการป้องกันปัญหาที่เกิดจากการใช้สารเกินกฎหมายกำหนด หรือปริมาณเกินมาตรฐานที่อนุญาต ส่งผลก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา รวมถึงยังมีสารเสพติดผิดกฎหมายที่แพร่ระบาดต่อเนื่อง เช่น ยาบ้า ยาไอซ์ ซึ่งปัญหาของสารเสพติดยังคงเป็นปัญหาระดับประเทศ ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากบุคคลในทุกระดับเพื่อร่วมกันดำเนินงาน ทั้งด้านการปราบปราม การป้องกัน การบำบัดรักษา การฟื้นฟูสมรรถภาพ และการป้องกันการเสพติดซ้ำ

       

 การแพร่ระบาดของสารเสพติดส่งผลต่อความมั่นคง ปัญหาสังคม มีการลักลอบนำยาเสพติดเข้ามาขายในเมืองไทย ประเทศไทยเป็นเส้นทางขนส่งไปยังประเทศที่ 3 ด้วย ปัญหาการแก้ไขยาเสพติดภาครัฐจำเป็นต้องดำเนินงานในทุกมิติ การเปลี่ยนแปลง บำรุงรักษา การเฝ้าระวัง ทำให้สังคมลดปัญหาการใช้สารเสพติด เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติ จำนวนผู้ใช้สารเสพติดควบคุมอย่างไร งานเสวนาวันนี้จะมีคำตอบจากข้อมูลทั้งหมดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดทั้งหมด

 

รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้จัดการศูนย์ศึกษาปัญหายาเสพติด (ศศก.) กล่าวว่า เรื่องสารเสพติดอยู่กับเรามานาน แต่ในช่วงสถานการณ์โควิด สารเสพติดเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโควิด แต่เมื่อบรรยากาศเริ่มฟื้นตัวอยากเปลี่ยนวิถีชีวิต โควิดก็ระบาดอีกระลอก ขณะนี้รัฐบาลก็อนุญาตให้ใช้กัญชากัญชงกับประชาชน จึงเป็นเรื่องน่าสนใจ ขณะเดียวกันก็ต้องมีมาตรการให้ประชาชนดูแลตัวเอง

 

เมื่อ 2 ปีก่อน ปี 2003 เป็นต้นมา มีการปรับนโยบายสงครามยาเสพติด หลังจากนั้นมีการปราบปรามอย่างหนัก ผู้ใช้สารเสพติดสมัครใจเข้ารับการรักษาเพื่อไม่ต้องรับโทษ เห็นตัวเลขจำนวนผู้เข้ามาบำบัด ตัวเลขการจับกุมที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละปี ผู้ต้องขังที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดก็อยู่ในคุกเป็นจำนวนมาก ต้องมีการบริหารจัดการ การเปลี่ยนคำนิยามจากผู้เสพมาเป็นผู้ใช้ User เป็นคนธรรมดาที่ใช้สารเสพติด ส่งผลให้ผู้ที่อยู่ในเรือนจำลดลงด้วย คำว่าผู้เสพเหมือนกับสังคมตีตราเป็นการทำผิดกม.

 

ในการประชุมนานาชาติ United Nation Assembly 2016 ข้อที่น่าสังเกต การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมล่วงหน้า ในที่ประชุมระดับนานาชาติมีการพูดถึงเมืองไทยกันมาก เนื่องจากยังไม่มีการขับเคลื่อนให้มีการเฝ้าระวังในการใช้สารเสพติดมีผลกระทบ ผู้ค้าต้องมีบทลงโทษ มีตัวเลขการจับกุมเพิ่มมากขึ้น ในช่วงการระบาดโควิด-19 ระลอกแรกของปีที่แล้ว ได้สำรวจร่วมกับ Zact การใช้สารเสพติดว่าเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไรบ้าง พบว่าโดยรวมทั้งถูกและผิดกฎหมายมีการใช้ลดลง เพราะมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้ไม่ได้ติดต่อสังสรรค์ หาสารเสพติดได้ยากกว่าปกติ

       

ทั้งนี้ จากการสำรวจสถานการณ์ด้านยาเสพติดในประเทศไทยช่วงเดือน พ.ค.2563 ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา คนที่ใช้สารเสพติดที่พบมาก (อายุ 15 ปีขึ้นไป) คือ กัญชา กระท่อม ยาบ้าและไอซ์ร้อยละ 4.6 ส่วนใหญ่ตอบว่าลดลง มีผู้ตอบว่าเท่าเดิม ส่วนที่เพิ่มขึ้นคือกัญชา ซึ่งเป็นสารเสพติด ไม่ได้รับผลกระทบจากโควิดมากนัก ที่น่าเป็นห่วงคือทั่วโลกภาวะหลังคลี่คลายโควิดแล้ว คนจะผ่อนคลายมากขึ้น เพราะในช่วงเกิดโควิด-19 เกิดผลกระทบทั้งในด้านจิตใจ เศรษฐกิจและสังคม ปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้หลังผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์อาจกลับมาใช้สารเสพติดมากขึ้น และที่สำคัญยังพบว่าสารเสพติดที่ตรวจพบถูกดัดแปลงสูตร เพื่อลดต้นทุน ทำให้ความบริสุทธิ์ของสารไม่เหมือนเดิม โอกาสที่จะกระทบต่อร่างกายสูงขึ้น

สถานการณ์ยาเสพติด หากติดตามอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นว่ามีสารแบบแปลกๆ ที่เกิดอันตรายในหมู่เยาวชนและเป็นข่าวใหญ่โต อาทิ ยาเคนมผง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ายาเสพติดมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องอื่นๆ โดยเฉพาะสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการพนันและการดื่มแอลกอฮอล์

 

 “เมื่อเศรษฐกิจไม่ค่อยดี ผู้ค้าลดต้นทุนด้วยการเอาสารอื่นมาผสม ทำให้ขายได้ในราคาถูกลง แต่คนใช้ไม่รู้ เกิดความไม่ปลอดภัย รวมถึงการขนส่งที่ผ่านมาทำได้ยาก ของจึงล้นสต๊อก เมื่อเริ่มเอาออกมาขาย ทำให้ราคาถูกลง คนเข้าถึงได้ง่ายกว่าปกติ อาจทำให้มีการใช้สารเสพติดมากขึ้น จึงต้องระมัดระวังในเรื่องนี้” รศ.พญ.รัศมนกล่าว

 

ส่วนการใช้สารเสพติดแบบถูกกฎหมาย พบว่าร้อยละ 30 เป็นแอลกอฮอล์ ส่วนยาสูบพบมากกว่าร้อยละ 20 เป็นผู้สูบในปัจจุบัน ถ้าเป็นกัญชาที่ไม่ใช้ทางการแพทย์หรือใช้เพื่อสันทนาการ พบมากกว่าร้อยละ 2 และพบยาเสพติดที่ผิดกฎหมาย เป็นกระท่อมมากกว่าร้อยละ 2 ยาบ้าและไอซ์ ร้อยละ 0.4  ขณะเดียวกันมีการค้ายาเสพติดทางออนไลน์ทำให้เกิดความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น

  

รศ.พญ.รัศมนกล่าวว่า การใช้สารเสพติดเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ ต้องมองผลที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบด้าน ทั้งทางกฎหมายและผลกระทบทางสังคม เพราะหากเสพติดแล้วหยุดไม่ได้จะเกิดปัญหา หากใช้วิธีการลงโทษเช่นปัจจุบันคือ การจำคุกเกิดปัญหาล้นคุก ปล่อยตัวออกมาแล้วยังมีพฤติกรรมแบบเดิม กลับเข้าไปอีก วนเวียนอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ไม่ได้เกิดการแก้ปัญหาโดยตรง ดังนั้นควรให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไปว่าสารต่างๆ มีผลกระทบอย่างไร เพื่อป้องกันในระดับบุคคลก่อน

 

 

 ศ.ดร.พญ.สาวิตรี อัษณางค์กรชัย หน่วยระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ กล่าวถึงผลสำรวจ 2 ปี/ครั้ง ถึงเรื่องการกระจายตัวของผู้ใช้ยาเสพติด ตัวเลขปี 2562 คนที่เคยเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดครั้งหนึ่งในชีวิต (ยาเสพติด กัญชา กระท่อม ยาบ้า ยาไอซ์ ยาเค) ส่วนยาที่ถูก กม.เป็นยานอนหลับ ยากล่อมประสาท พบว่า คนไทย 3.75 ล้านคน เคยใช้ยาเสพติด ทั้งนี้ 7.5% เป็นคนไทยอายุ 12 ปีขึ้นไป ในจำนวนนี้ 1.9 ล้านคน ใช้ใน 1 ปี จำนวน 1.3 ล้านคน ใช้ในช่วง 30 วันก่อนสำรวจ มี 1.3 ล้านคน หรือ 2.6% ของประชากรไทยทั้งหมดใช้ยาเสพติดอย่างน้อย 1 ชนิด ใน 30 วันที่ผ่านมา ใช้กัญชา 6.7 แสนคน ยาบ้า 6.5 แสนคน คนที่เคยใช้กระท่อมแต่เดิมเป็นอันดับ 1 ขณะนี้เป็นอันดับ 3 จำนวน 4.9 แสนคน ยาไอซ์ 3.7 แสนคน ใน 1 ปีที่ผ่านมา เป็นตัวเลขที่น่าสนใจ คนใช้กัญชาเป็นอันดับ 1 ได้รับการยอมรับให้ใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ หากัญชาได้ง่ายขึ้น ผลสำรวจผู้ชายใช้ยาเสพติดมากกว่าผู้หญิง แต่แนวโน้มระยะหลังๆ ผู้หญิงเริ่มใช้มากขึ้น วัยที่ใช้ยาเสพติดคือวัยผู้ใหญ่ตอนต้น 20-24 ปี รองลงมาวัย 25-44 ปี  แนวโน้มวัย 45 ปีขึ้นไป อัตราการใช้ยาเสพติดลดลง

     

การป้องกันมีหลายองค์ประกอบ ต้องเริ่มต้นจากครอบครัว ทำไมถึงพึ่งยาเสพติด ต้องมองที่ตัวตน สังคม สารเสพติด เมื่อใช้ยาเสพติดมีผลต่อกลไกการทำงานของสมอง ยาเสพติดทุกตัวจะทำให้มีความสุขเหมือนได้รับรางวัล เกิดความพึงพอใจ เหมือนกับเราหิวข้าว ได้กินอาหารอร่อย เรารู้สึกเป็นสุขเหมือนกับการได้รับรางวัล ยาเสพติดหลายตัวมีฤทธิ์ลดความเจ็บปวด เคลิบเคลิ้มอารมณ์ดี เฮฮา กล้าได้กล้าเสีย เป็นปัจจัยของตัวยาทำให้คนเข้าไปใช้และคิดใช้ต่อไปเรื่อยๆ แต่ขึ้นอยู่กับชนิดของสารที่ใช้ ระยะเวลาที่ใช้ด้วย ปัจจัยหลายด้านทางจิตวิทยา อิทธิพลของครอบครัวเพิ่มความเสี่ยงต่อบางคนด้วย บางคนชอบทำอะไรที่หวาดเสียวแบบไม่คิดหน้าคิดหลัง อารมณ์ไม่เสถียร เปลี่ยนแปลงง่ายหวือหวา มีแนวโน้มจะทดลองใช้ยาเสพติด ติดกลุ่มเพื่อน ยิ่งอยู่ในครอบครัวที่มีความสัมพันธ์ไม่ดี พ่อใช้ยาเสพติด เล่นการพนัน แม่ดื่มเหล้า ทะเลาะเบาะแว้งกันเป็นประจำ ไม่มีใครอบรมสั่งสอน ลูกกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงให้ติดยาเสพติด

 

ชวนพิศ ชุ่มวัฒนะ ข้าราชการเกษียณ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ยาเสพติดอยู่กับเรามาโดยตลอด มีคนใช้ยาอยู่ทุกที่ ใช้หลักเศรษฐศาสตร์ มี Demand มี Supply บางครั้งก็ใช้ Supply เพื่อให้คนมี Demand มีการลักลอบนำเข้าตามตะเข็บชายแดนไทย ปรากฏเป็นข่าวยาบ้าทะลักชายแดน สามเหลี่ยมทองคำแหล่งยาเสพติด ไทย สปป.ลาว เมียนมา สกัดรถบรรทุกขนยาเสพติด มีการขายยาเกลื่อนทวิตเตอร์ ฯลฯ หน้าที่ของ ป.ป.ส.ป้องกันและปราบปราม แต่ก็ยังมีคนใช้ยาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การสร้าง demand เทียม คนขายทำทุกอย่างเพื่อให้มีคนซื้อ มีการใช้สารเคมีกับยาเสพติดยิ่งทำให้เกิดอันตรายมากขึ้น แต่เดิมยาเสพติดโฆษณาไม่ได้ เป็นสินค้าผิด กม. เป็นบูมเมอแรง คนใช้ยาเป็นอาชญากร เป็นผู้ป่วย มีการสร้างกระแสว่ายาเดิม out แล้ว ให้ทดลองใช้ยาตัวใหม่นี้เป็นยาสังเคราะห์ คนขายคนซื้อก็ไม่รู้ถึงพิษภัย ทำให้มีคนตาย เพราะกลไกการตลาด

         

“ดิฉันทำงานกับ ป.ป.ส.มา 40 ปี เกษียณอายุแล้ว ทุกประเทศทั่วโลกพูดถึง demand, supply เมื่อรวมคนจากสหวิชาชีพเข้ามาทำงานด้วยกัน ความหลากหลายของสินค้าเป็นตัวกระตุ้นยอดขาย คนขายใช้การตลาด ลด แลก แจก แถม ตลาดส่วนใหญ่อยู่ตามรอยตะเข็บแนวชายแดนอยู่นอกประเทศ ใครๆ ก็เข้าไปไม่ถึง ต้องใช้ กม.ระหว่างประเทศ ไม่ใช่ใครเดินเข้าไปแล้วใช้ กม.ได้ ต่อให้รู้แหล่งก็เข้าไปปราบไม่ได้ เราข้ามเขตออกไปเป็นพื้นที่ของประเทศอื่นเป็นการล่วงละเมิด ผู้ผลิตมีเพียงไม่กี่เจ้า แต่เข้าถึงพื้นที่ได้ยาก ผู้ผลิตยาเสพติดทำเรื่องอื่นๆ ด้วย ทั้งการต่อสู้เรียกร้องสิทธิ มีขบวนการแบ่งแยกดินแดน”

         

หน้าที่ ป.ป.ส.ก็ต้องตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ต้องลดจำนวนลงให้ได้ บางครั้งมีการแลกเปลี่ยนยาเสพติดเป็นกำลังอาวุธ ไม่ใช่เฉพาะตัวเงิน มีข่าวจับรายใหญ่ 100 กก. มีการต่อสู้กัน โทษหนักต้นทุนสูง ผู้ค้าต้องคุ้มกันต่อสู้เพื่อป้องกันทรัพย์สินที่มีราคาสูง เพราะเขาก็ต้องป้องกันอนาคตของเขา บางครั้งคนถามว่าจับยาเสพติดได้ล็อตใหญ่ แต่ทำไมจับตัวการไม่ได้ เพราะส่วนใหญ่คนขนก็เป็นคนรับจ้าง ถึงเวลาก็หนีกันหมด จับได้แต่ผู้ค้ารายย่อย แม้แต่ในชุมชน ใครๆ ก็รู้ว่าบ้านไหนใครขายยา แต่ถ้าบอกให้เข้าไปจับมีปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย สังเกตว่าในบางประเทศในยุโรป สหรัฐ เนเธอร์แลนด์ ปล่อยให้มีการขาย เขารู้ว่ามีใครขาย ใครเป็นคนซื้อ ถ้ามีการจับตีกระจายหนีลงใต้ดินเหมือนปลวก

       

 นโยบายเกี่ยวกับยาเสพติดถือเป็นนโยบายสาธารณะ เพราะมีผลบังคับกับคนทั่วประเทศ จึงมีผลเกี่ยวข้อง ทั้งเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงกับต่างประเทศ ต้องพิจารณาให้ดี โดยคำนึงผลประโยชน์ต่อประเทศสูงสุด ทั้งนี้ ยาเสพติดส่วนหนึ่งมีประโยชน์ทางยา แต่หากใช้นอกเหนือจากการรักษาจะกลายเป็นยาเสพติดเกิดผลเสียต่อสุขภาพและสังคมทันที  นโยบายปลูกกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ในประเทศไทย ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมตั้งแต่เริ่มต้นการปลูกจนถึงการผลิต เพราะกัญชาใช้เพื่อทางการแพทย์ใช้ได้เฉพาะบางสายพันธุ์ จึงไม่มีอันตราย แต่ที่ผ่านมามีการลักลอบปลูกเป็นจำนวนมาก ดังนั้นต้องควบคุมให้ได้และสร้างความมั่นใจว่า เมื่อนำไปรักษาแล้วจะไม่เป็นอันตราย

 

ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ คณะพยาบาลศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี   

มูลค่าการตลาด 5 แสนล้าน ทุก 100 บาทมีการจับจ่าย 1% เป็นการซื้อยาเสพติดในโลก

           

มองทางด้านเศรษฐศาสตร์ ทำไมยาเสพติดยังคงอยู่ ยาเสพติดระบาดใหญ่ในโลก ปี 2014 เป็นกิจการที่ผิด กม. ยาเสพติดมีพื้นที่ 25% มีมูลค่าการตลาด 5 แสนล้าน เป็น 0.8-1% GDP ทุก 100 บาทมีการจับจ่าย 1% เป็นการซื้อยาเสพติดในโลก เมื่อเปรียบเทียบกับการบริโภค เนื้อสัตว์ บุหรี่ เหล้า เบียร์ ถ้าเราจะซื้อผ้าก็ต้องไปซื้อที่ตลาดสำเพ็ง ซื้อทองคำก็ต้องซื้อที่เยาวราช มีทั้งผู้ซื้อและผู้ขายเยอะมาพบกัน ทุกวันนี้เปิดทวิตเตอร์ก็สามารถซื้อกัญชา ยาไอซ์ เพียงแต่ search หาคีย์เวิร์ดก็ซื้อได้แล้ว เป็นรูปแบบทางการค้า

         

 ยาเสพติดขาย 1 แสนชิ้น ใช้ผู้ค้าเป็นหมื่นคน เพราะต้องมีการขนส่ง มีความเสี่ยงสูงมากขึ้น อยู่กับโทษหนักเบาของแต่ละประเทศไม่เท่ากัน ไม่สามารถขายแบบขายของชำ ยาเสพติดไม่มีแบรนด์ บางครั้งอำนาจรัฐก็เข้าไปไม่ถึง ประเทศที่เป็นพื้นที่แหล่งผลิตยาเสพติด เฮโรอีนผลิตมากที่อัฟกานิสถาน โคเคนผลิตมากที่โบลิเวีย เปรู โคลัมเบีย เฮโรอีนก็มาจากฝิ่น

 

 

 อ.ดร.วิทย์ วิชัยดิษฐ หน่วยระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์

 วิจัยพฤติกรรมการเบี่ยงเบนยาในครัวเรือนและชุมชน

           

ประเทศที่มีรายได้สูงในยุโรปมีการใช้ยาเสพติดค่อนข้างสูง การเบี่ยงเบนยาด้วยการโอนย้ายสารควบคุมจากผู้รับยาไปยังบุคคลอื่น เนื่องจากผู้ป่วยใช้ยาไม่หมด จึงเอายาให้เพื่อนและญาติ บางครั้งก็เอาไปแจกหรือเอาไปขาย เป็นความหวังดีประสงค์ดีแบ่งกันใช้ยาโดยไม่รู้ว่าแต่ละคนมีสุขภาพที่แตกต่างกัน บางคนเป็นความดันโลหิต บางคนมีโรคประจำตัว การใช้ยาจึงต้องระมัดระวัง เพราะเป็นการใช้เฉพาะตัว บางครั้งมีการขโมย ปล้นร้านยา  มีการซื้อขายยาผ่านทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นตลาดลับ อาทิ Silk Road Anonymous Marketplace วิธีป้องกันการเบี่ยงเบนยา ละเว้นการจ่ายยาอนุพันธ์โดยไม่จำเป็น เพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยให้ร้านยาและห้องยา กวดขันมาตรการตรวจสต๊อกยา วิจัยพฤติกรรมการเบี่ยงเบนยาในครัวเรือนและชุมชน

 

นพ.ชลอวัฒน์ อินปา ผู้ช่วย ผอ.ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กระทรวงสาธารณสุข

 “เราไม่อยากเห็นเด็ก 7 ขวบต้องติดยาเสพติด”

           

การศึกษาประชากรกลุ่มเป้าหมาย 50 ล้านคน แยกเป็นประชากรกลุ่มเสี่ยง 1.9 ล้านคน อยู่ในกลุ่มบำบัดติดตามดูแลช่วยเหลือ 450,000 คน อยู่ระหว่างการจับกุมคุมขัง 300,000 คน ก่อเหตุร้าย 6,750 คน เสียชีวิต 6,000 ราย จำเป็นต้องหามาตรการต่างๆ เพื่อให้กลุ่มเสี่ยงเสพสารเสพติดลดน้อยลง คนจำนวน 1.46 ล้านคนที่เป็นเด็ก วัยรุ่น อยากรู้อยากลอง มีปัญหาการปรับตัว มีปัญหาความรุนแรงทางเพศ คนกลุ่มนี้หากได้รับการรักษาเป็นอย่างดีจะเลิกยาเสพติดได้

         

  กลยุทธ์ที่ใช้กันทั่วโลกเพื่อลดจำนวนผู้เสพยาทั้งถูก กม.และผิด กม.ต้องได้รับการบำบัดอย่างถูกต้อง ป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับส่วนรวมด้วย เราไม่อยากเห็นเด็ก 7 ขวบต้องติดยาเสพติด การบำบัดรักษาจากกลุ่มสมัครใจ ให้มีการรับรู้ว่าสังคมไม่ปลอดภัยเพราะมีผู้เสพติด เราต้องช่วยกันสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี

 

นพ.ชลอวัฒน์ อินปา


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"