สธ. วอนหยุดใช้ข้อมูลเก่าโจมตีวัคซีน ทำปชช.สับสน แจงแผนฉีด 63 ล้านโดสในปี 64


เพิ่มเพื่อน    

13 มี.ค.64 - ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงถึงการบริหารจัดการวัคซีนโควิด -19 ในประเทศไทย ว่า ขอย้ำว่าประเทศไทยมีนโยบายให้คนไทยทุกคนเข้าถึงวัคซีนที่มีคุณภาพ ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ โดยไม่คิดมูลค่า เพื่อเป้าหมายลดอัตราการป่วย การตาย เพื่อให้ระบบสาธารณสุขของประเทศดำเนินการไปได้อย่างปกติ และที่สำคัญเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ให้คนไทยสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ

สำหรับวัคซีนเรามีการจองหรือการจัดซื้อจัดหาแล้วตามแผนทั้งหมด 63 ล้านโดส ในปี 2564 ได้แก่ วัคซีนซิโนแวค 2 ล้านโดส แอสตราเซเนกา รอบแรก 26 ล้านโดส และที่ดำเนินการได้รับงบประมาณอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วอีก 35 ล้านโดส ทั้งหมดครอบคลุมคนไทยอย่างน้อย 30 กว่าล้านคน และมีความพยายามหาวัคซีนเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถฉีดให้คนไทยได้ครบถ้วนตามแผนภายในสิ้นปี 2564 นี้

นพ.โอภาส กล่าวว่า สำหรับเป้าหมายการฉีดวัคซีนในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เราเริ่มต้นด้วยวัคซีนซิโนแวค 2 แสนโดส ต่อมาเดือนมีนาคม จะเข้ามาอีก 8 แสนโดส และเดือนเมษายน อีก 1 ล้านโดส ส่วนวัคซีนแอสตราเซเนกา แผนเดิมจะเข้ามาเดือนมิถุนายน กรกฎาคม และสิงหาคม อย่างละ 10 ล้านโดส แต่เนื่องจากขณะนี้เขาส่งมาให้เราล่วงหน้า 1 แสนโดส ก็จะมีการปรับแผนและเร่งฉีดให้กับประชาชน ทั้งนี้สถานการณ์การฉีดวัคซีนจะมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ซึ่งกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จะมีการปรับแผนการฉีดวัคซีนร่วมกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด กับคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร อย่างต่อเนื่อง

นพ.โอภาส กล่าวถึงแผนการฉีดวัคซีนในเดือนมีนาคม ของซิโนแวค 192,000 โดส และแอสตราเซเนกา 117,000 โดส โดยมีแผนการกระจายวัคซีนไปยังจังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะจังหวัดที่มีสถานการณ์การระบาด มีการจัดกลุ่มเป้าหมายการฉีด ซึ่งเป็นแผนที่เราจัดเป็นระยะ และมีการเสนอกับประชาชนได้ทราบ ส่วนเมื่อมีวัคซีนเข้ามาในเดือนถัดไปจะมีแผนในการรองรับว่าแต่ละเดือนจะมีวัคซีนเข้ามาเท่าไหร่ มีแผนกระจายวัคซีนไปกลุ่มเป้าหมายกลุ่มไหน ทั้งเจ้าหน้าที่และประชาชนอย่างครบถ้วน ขอเรียนว่าแผนนี้ได้นำเสนอต่อที่ประชุม ศบค. ที่ประชุมครม. ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ และผ่านความเห็นชอบคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่าเราจะฉีดให้ประชาชนอย่างน้อย 63 ล้านโดส ภายในปี 2564

“ส่วนที่สงสัยว่าจะฉีดอย่างไร ทั้งนี้ในเดือนมีนาคม เนื่องจากมีวัคซีนเข้ามา 2 แสนโดส จะฉีดให้คน 1 แสนคน ซึ่งทุกอย่างเป็นไปตามแผน และในเดือนพฤษภาคม มิถุนายน ตั้งเป้าจะฉีด 10 ล้านโดสต่อเดือน เพื่อให้ครอบคลุมวัคซีน 63 ล้านโดส ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขมีโรงพยาบาลในสังกัด 1,000 แห่ง หากเราฉีดวัคซีนประมาณวันละ 500 โดสต่อแห่ง ในเวลา 1 เดือนจะฉีดได้ 10 ล้านโดส แต่ขณะนี้มีโรงพยาบาลหลายแห่งของภาครัฐ ทั้งโรงพยาบาลในมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงกลาโหม และอื่นๆ ขอยื่นความจำนงสนใจเข้าร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขในการฉีดวัคซีน ก็จะทำให้สถานพยาบาลของเราในการรองรับประชาชนมีเพิ่มขึ้น รวมถึงโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่ง ที่สมาคมโรงพยาบาลเอกชนยื่นความจำนงขอช่วยเหลือในการฉีดวัคซีนร่วมกัน เพื่อให้มั่นใจว่าประชาชนจะได้รับวัคซีนครบถ้วนเป็นไปตามแผนที่กำหนด ฉะนั้นจะเห็นว่าเรามีแผนการฉีดชัดเจน และมีเครือข่ายความร่วมมือจำนวนมาก” อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุ

นพ.โอภาส กล่าวต่อไปว่า สำหรับข้อมูลการฉีดวัคซีน ตั้งแต่ 28 กุมภาพันธ์ ถึง 12 มีนาคม รวมสะสมฉีดไปแล้ว 44,409 คน ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์ 29,243 คน เจ้าหน้าที่อื่นๆที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 9,591 ราย บุคคลที่มีโรคประจำตัว 1,756 ราย และประชาชนในพื้นที่เสี่ยง 3,819 ราย ทั้งนี้ในจังหวัดเป้าหมาย 13 จังหวัดที่มีการนำร่องฉีดวัคซีนจะเหมือนการทดสอบระบบ สังเกตว่าส่วนใหญ่ฉีดได้เร็วกว่าเป้าหมาย จากเป้าหมายเดิมภายใน 2-3 สัปดาห์จะต้องฉีดให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ขณะนี้ส่วนใหญ่ 2 สัปดาห์กว่าๆฉีดได้ครบแล้ว ขาดเพียงจังหวัดที่มีจำนวนมาก เช่น จ.สมุทรสาคร และกรุงเทพฯที่ยังค่อนข้างน้อย ซึ่งขณะนี้มีการปรับระบบนำความร่วมมือมาฉีด จึงเชื่อว่าจะสามารถดำเนินการฉีดวัคซีนได้ตรงตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ส่วนข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีนว่ามีอาการแพ้ ตนขอเรียนว่าอาการไม่พึงประสงค์ไม่เหมือนการแพ้วัคซีน อาการไม่พึงประสงค์คือจากการเฝ้าระวังสังเกต เพื่อให้แน่ใจว่าวัคซีนมีความปลอดภัย และเมื่อไหร่ก็ตามที่มีอาการรุนแรงจะมีการสอบสวนข้อเท็จจริงว่าเกิดจากวัคซีนหรือไม่ ที่ผ่านมาแม้จะมีข่าวว่ามีผู้มีอาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีนค่อนข้างเยอะ แต่ทั้งหมดเป็นอาการที่ไม่รุนแรง จะมีอาการรุนแรงไม่กี่ราย และตั้งแต่ทำมายังไม่มีรายใดที่มีอาการรุนแรงที่ทางคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญระบุว่าเกิดจากวัคซีน เพราะฉะนั้นในวัคซีนที่ฉีดรอบแรกถือว่าปลอดภัย

“ส่วนวัคซีนของแอสตราเซเนกา ที่มีการชะลอฉีดในหลายประเทศรวมถึงไทย ขณะนี้มีข้อมูลเพิ่มขึ้นว่า อาการที่เกิดจากลิ่มเลือดอุดตันไม่น่าจะเกิดจากวัคซีน ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขกำลังรวบรวมข้อมูลและดูข้อมูลอย่างเป็นทางการขององค์การอนามัยโลก (WHO) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เชื่อว่าจะสามารถสรุปข้อมูลได้ในต้นสัปดาห์หน้า หากไม่มีปัญหาอะไรจะเริ่มฉีดวัคซีนต่อไปตามแผนที่กำหนดไว้” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะให้ความมั่นใจประชาชนอย่างไรว่าจะสามารถบริหารจัดการวัคซีน ให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ในปี 2564 หรือจะมีการชะลอไปถึงปี 2565 นพ.โอภาส กล่าวว่า แผนการฉีดวัคซีนของไทยมีการแจ้งต่อประชาชนเป็นระยะ แต่อย่างไรก็ตามมีบางท่านได้เอาข้อมูลของกรมควบคุมโรค ที่เสนอต่อกรรมาธิการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร เมื่อประมาณเดือนพฤศจิกายน ปี 2563 ว่าจะมีการฉีดวัคซีนได้ครบถ้วนในปี 2566 ขอเรียนว่าปลายปี 2563 เป็นสถานการณ์ที่ยังไม่มีการนำวัคซีนมาใช้ การฉีดวัคซีนก็ยังไม่มั่นใจเรื่องประสิทธิภาพในการป้องกันโรค ซึ่งตอนนั้นผู้เชี่ยวชาญหลายคนยังบอกว่า กว่าวัคซีนจะใช้ได้คงต้องใช้เวลาอีกหลายปี ดังนั้นแผนการฉีดวัคซีนขณะนั้นเป็นกรอบกว้างๆ แต่ต่อมามีการลงนามซื้อวัคซีนจากแอสตราเซเนกา จึงมีการปรับแผนใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับวัคซีนที่จะได้ จะเห็นว่าแม้แต่ในขณะนี้ต้นเดือนมีนาคม 2564 การวิจัยส่วนใหญ่ยังไม่เสร็จสิ้น การใช้ในขณะนี้ในสภาวะฉุกเฉิน ดังนั้นการปรับแผนการฉีดวัคซีนต้องมีการปรับเป็นระยะให้สอดคล้องกัน

“คนที่ชอบอ้างว่าข้อมูลที่กรมควบคุมโรคนำเสนอเสนอต่อกรรมาธิการสาธารณสุข เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2563 ว่าเราฉีดวัคซีนให้ประชาชนล่าช้า ไม่ตรงกับความเป็นจริงในปัจจุบัน ขอย้ำการนำข้อมูลเก่ามาเสนอต่อประชาชนอาจทำให้เกิดความสับสน ซึ่งการต่อสู้กับเชื้อโรคที่ว่ายากลำบากแล้ว แต่บางครั้งต้องมาต่อสู้กับข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง ไม่ตรงกับสถานการณ์ ก็ไม่แน่ใจว่าจงใจหรือเปล่า แต่สิ่งนี้ส่งผลต่อความเชื่อมั่น ลดทอนความร่วมมือของพี่น้องประชาชน ก็จะทำให้คนทำงานยากลำบากมากยิ่งขึ้น จึงขอให้ทุกคนร่วมกันสร้างความร่วมมือ อย่านำข้อมูลเก่าสร้างความเข้าใจผิดต่อประชาชน” นพ.โอภาส กล่าว

เมื่อถามว่า การฉีดวัคซีนให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ของประเทศไทย จะต้องฉีดจำนวนประชากรเท่าไหร่ นพ.โอภาส กล่าวว่า การฉีดให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่มีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น ประสิทธิภาพของวัคซีน สถานการณ์การระบาดของโรคในประเทศนั้นๆ ในพื้นที่นั้นๆ ขณะนี้ตัวเลขที่ชัดเจนตอบได้ทุกเหตุการณ์เป็นไปไม่ได้ แต่ตัวเลขคร่าวๆกว้างๆประมาณ 60-80 เปอร์เซ็นต์ของประชากร อย่างไรก็ตามขณะนี้ผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงสาธารณสุข และหลายหน่วยงานทางการแพทย์ กำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อตอบคำถามนี้ อาจจะต้องมีการทำวิจัยเพิ่มเติม แต่ในภาพรวมเชื่อว่าถ้าเราฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของประเทศ เราก็สามารถรับมือสถานการณ์การระบาดได้  


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"