ธ.ก.ส. ผุดโครงการ “บัตรเกษตรสุขใจ” รูดปรื๊ดซื้อปุ๋ย ยา เครื่องจักร วงเงิน 3หมื่นบาท


เพิ่มเพื่อน    

ธ.ก.ส. ผุดโครงการบัตรเกษตรสุขใจ มอบเอกสิทธิ์พิเศษสำหรับเกษตรกรนำไปซื้อปัจจัยการผลิตทางการเกษตร “ปุ๋ย ยา เครื่องจักร” และสินค้าที่จำเป็นกับร้านค้าที่กำหนด ใส่วงเงินในบัตร 3 หมื่นบาท เคาะดอกเบี้ย 4% ต่อปี ลุ้นมีเกษตรกรโดดร่วมโครงการ 3 ล้านราย

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ธ.ก.ส. ได้ทำการเปิดตัวโครงการบัตรเกษตรสุขใจ และเริ่มส่งมอบให้เกษตรกรไปแล้วตั้งแต่วันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยถือเป็นบัตรเอกสิทธิ์พิเศษสำหรับเกษตรกรเพื่อนำไปซื้อปัจจัยการผลิตทางการเกษตร และสินค้าที่จำเป็นกับร้านค้าที่กำหนดโดยคิดดอกเบี้ย 4% ต่อปี กำหนดวงเงินรายละไม่เกิน 3 หมื่นบาท เป้าหมายมีเกษตรกรทั่วประเทศเข้าร่วม 3 ล้านราย

“โครงการบัตรเกษตรสุขใจ ได้ดำเนินงานตามมาตรการเกษตรประชารัฐเพื่อลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกร ซึ่งเป็นบัตรสินเชื่อที่มีรหัสคิวอาร์โค้ด ให้เกษตรกรนำบัตรไปใช้จ่ายซื้อปัจจัยการผลิต ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช เมล็ดพันธุ์ น้ำมันเชื้อเพลิง เครื่องจักรกลหรือเครื่องมือการเกษตรขนาดเล็ก และปัจจัยอื่นๆ ที่จำเป็น เช่น ข้าวสาร จากร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการกว่า 1.7 หมื่นร้านค้าทั่วประเทศ  อาทิ ร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตของสหกรณ์การเกษตร ร้านที่ขึ้นทะเบียนไว้กับโครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกรของ ธ.ก.ส. ร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตคุณภาพประชารัฐ และร้าน คิว-ช้อป ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมวิชาการเกษตร จากนั้นร้านค้าจะใช้แอปพลิเคชั่น ธ.ก.ส. A-Shop ในการอ่านคิวอาร์โค้ดเพื่อหักวงเงินจากบัตรไป” นายอภิรมย์ กล่าว

ทั้งนี้ เกษตรกรที่สนใจสามารถเข้ามาขอสมัครได้ที่ สาขา ธ.ก.ส.ทั่วประเทศ โดยกระบวนการอนุมัติจะพิจารณาเหมือนกับการขอสินเชื่อทั่วไป ซึ่งข้อดีการใช้บัตรจะมีความสะดวกปลอดภัย และช่วยให้นำวงเงินสินเชื่อที่ได้รับไปใช้จ่ายได้ตรงตามวัตถุประสงค์อย่างแท้จริง อีกทั้งสามารถเข้าถึงปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ ในราคาที่เป็นธรรมจากร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ และยังเป็นการสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายสังคมไร้เงินสดของภาครัฐ  

นอกจากนี้ ธ.ก.ส.ยังได้ดำเนินโครงการสนับสนุนการผลิตหรือจัดหาปุ๋ยสั่งตัดผ่านสถาบันเกษตรกร เพื่อช่วยให้สถาบันเกษตรกรมีการดำเนินธุรกิจที่หลากหลาย ซึ่งถือเป็นการพัฒนารูปแบบการผลิตที่เหมาะสมกับสภาพการเพาะปลูก ช่วยให้เกษตรกรได้ใช้ปุ๋ยสั่งตัดที่มีคุณภาพดีตรงกับสภาพของดิน  ทำให้พืชที่ปลูกได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วนในปริมาณที่เหมาะสม เจริญเติบโตดี ลดปัญหาโรคแมลงและให้ผลตอบแทนสูง จึงเป็นการช่วยลดต้นทุนการผลิต

“จากการทำมาตรการเกษตรประชารัฐคาดว่าจะช่วยลดต้นทุนเกษตรกรได้ 4.8 พันล้านบาท อาทิ มาจากการลดต้นทุนจากการลดราคาปุ๋ยเพื่อช่วยเกษตรกรในฤดูกาลผลิตนี้ 623 ล้านบาท ปุ๋ยสั่งตัดลดต้นทุน 20-30% หรือคิดเป็นช่วยลดต้นทุน 1.4 พันล้านบาท รวมถึงโครงการสินเชื่อลดต้นทุนการผลิตกว่า 3 พันล้านบาท” นายอภิรมย์ กล่าว

ทั้งนี้ที่ผ่านมาครม.มีมติเห็นชอบให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดำเนินมาตรการเกษตรประชารัฐ เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร 2 โครงการ วงเงิน 9.36 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วยโครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อลดต้นทุนปัจจัยการผลิตให้แก่เกษตรกร  ซึ่งดำเนินการในรูปแบบบัตรสวัสดิการสินเชื่อแห่งรัฐ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อปัจจัย
การผลิตผ่านร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ วงเงินสินเชื่อรวม 9 หมื่นล้านบาท ดอกเบี้ยเอ็มอาร์อาร์ลบ 3 หรือเท่ากับ 4%ต่อปี

นอกจากนี้ยังมีโครงการสนับสนุนการผลิตหรือจัดหาปุ๋ยสั่งตัดผ่านสถาบันเกษตรกร เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้แก่สถาบันเกษตรกรในการผลิตหรือจัดหาปุ๋ยสั่งตัดเพื่อจำหน่ายให้แก่สมาชิกของสถาบันเกษตรกรและเกษตรกรทั่วไป มีเป้าหมายสถาบันเกษตรกร 500 แห่ง วงเงินสินเชื่อ 3.6 พันล้านบาท ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตรและกลุ่มเกษตรกร 300 แห่ง วงเงินกู้แห่งละไม่เกิน 10 ล้านบาท ตามศักยภาพและความจำเป็นในการใช้เงินกู้ และวิสาหกิจชุมชน 200 แห่ง วงเงินกู้แห่งละไม่เกิน 3 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยเอ็มแอลอาร์ลบ3 ต่อปี หรือเท่ากับ 2% ต่อปี  โดยทั้ง 2 โครงการมีระยะเวลาในการจ่ายเงินกู้ตั้งแต่วันที่ 1  พ.ค. 61- 30 เม.ย. 2562 กำหนดชำระหนี้คืนไม่เกิน 12 เดือน หรือไม่เกินวันที่ 30 เม.ย.2563


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"