แนวทาง Green China ในแผนก้าวกระโดดของจีน


เพิ่มเพื่อน    

        แผนการพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปี ฉบับที่ 14 ที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบของสมัชชาประชาชนแห่งชาติจีนเมื่อต้นเดือนนี้ นอกจากมีประเด็นเรื่องจีดีพี "โตไม่น้อยกว่า 6%" และทุ่มงานวิจัยเพื่อนวัตกรรมอย่างเต็มพิกัดแล้วก็ยังมีนโยบาย

            Green China หรือ "จีนเขียว" อีกด้วย

            ซึ่งหมายถึงเรื่องการส่งเสริมอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด, เศรษฐกิจนิวเคลียร์, ไฮโดรเจน และรถยนต์ไฟฟ้า

            ที่สำคัญคือ เป้าหมายไฟต์บังคับคือภายในปี 2060 จีนจะเป็น "ประเทศปลอดคาร์บอน" หรือ Zero Emission

            จีนกล้าตั้งเป้าขนาดนั้นเลยหรือ

            อาจารย์อาร์ม ตั้งนิรันดรบอกว่า "เขาไม่ได้ตั้งเป้าเฉยๆ  แต่ได้ให้อาจารย์ที่มหาวิทยาลัยชิงหัวเขียนแผนปฏิบัติการอย่างละเอียดออกมาเลยว่า ปีไหนจะต้องทำอะไรอย่างไร  และระบุว่าปีไหนสัดส่วนของพลังงานสะอาดจะต้องทดแทนของเก่าเท่าไหร่และอย่างไร..."

            ทุกอย่างเพื่อการบรรลุเป้าที่ตั้งไว้ให้ได้

            สะท้อนว่าจีนตระหนักแล้วว่า ปัจจัยที่จะตัดสินว่าจะโตทางเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืนหรือไม่ หรือจะชนะในสงครามเศรษฐกิจและสงครามเทคโนโลยีกับสหรัฐฯ นั้นอยู่ที่เทคโนโลยี 5.0 และพลังงานสะอาด

            นโยบายที่ว่านี้จะเปลี่ยนภูมิรัฐศาสตร์โลก

            แต่ก่อนเชื่อกันว่าจะเข้าใจการเมืองโลกต้องเข้าใจเรื่องน้ำมัน แต่วันนี้กลายเป็นเรื่องต้องเข้าใจเทคโนโลยีจาก  Petro-state เป็น Electro-state

            ดร.ปิติ ศรีแสงนามตั้งข้อสังเกตในวงสนทนาว่า ถึงแม้จีนจะตั้งเป้าให้การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ในปี 2060 แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าทุกวันนี้จีนก็ยังปล่อยคาร์บอนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศในระดับสูงมากอยู่ และจะขึ้นไปสู่ระดับสูงสุดในปี  2030

            "เพราะฉะนั้นแม้เราจะเห็นจีนตั้งเป้าพลังงานบริสุทธิ์ในปี  2060 แต่ในอีก 9 ปีจากนี้ไปจีนก็ยังเป็นประเทศที่ปล่อยแก๊สเรือนกระจกที่สูงสุดของโลกอยู่..."

            ผมแทรกว่านี่คือการ "ทิ้งทวน" ของจีน

            หรืออาจเรียกได้ว่าไหนๆ จะเป็น "คนดี" ในแง่ลดมลพิษแล้ว ก่อนจะเลิกเหล้าเลิกบุหรี่ก็ขอกรึ๊บและอัดชุดสุดท้ายให้หนำใจก่อน

            นั่นแปลว่าอุตสาหกรรมที่ยังใช้ถ่านหินและพลังงานสกปรกของจีนนั้น ยังมีเวลาจะปรับตัวให้เข้ากับมาตรฐานใหม่อีกระยะหนึ่ง

            แปลว่ารัฐบาลจะต้องยื่นมือมาช่วย ให้ช่วงเปลี่ยนผ่านนี้เป็นไปได้โดยไม่ต้องเผชิญกับปัญหาที่หนักหน่วงเกินไปนัก

            ผมตั้งข้อสังเกตว่าในสหรัฐฯ ประธานาธิบดีโจ ไบเดนก็มีนโยบายลดการขุดและใช้น้ำมันลง หันมาเน้นการสร้างพลังงานทางเลือกทั้งแดดและลมอย่างจริงจัง

            เท่ากับว่าจีนกับอเมริกากำลังแข่งกันเป็นผู้นำด้านพลังงานบริสุทธิ์อย่างจริงจัง

            ทั้งสองยักษ์จะทุ่มเททรัพยากรอย่างเต็มที่เพื่อแข่งขันในด้านนี้...ซึ่งต้องถือว่าเป็นการแข่งกันทำความดีความถูกต้องเพื่อลดมลพิษของโลกอย่างจริงจัง

            นั่นแปลว่าไทยเราจะต้องตระหนักว่า เมื่อทิศทางเศรษฐกิจโลกไปทางนี้ เราก็ต้องรีบปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงที่จะมีผลกระทบต่อยุทธศาสตร์แห่งชาติของเรา

            ของไทยมี "แพลน" แต่เป็น "แพลนนิ่ง" คือวางแผนเสร็จแล้วก็นิ่ง...ไม่มีแผนปฏิบัติการอย่างเป็นรูปธรรม

            ของเขาคือ Planning ของจริงที่ตั้งเป้าไว้ชัดเจน และวางกลไกกับบุคลากรและงบประมาณที่สอดคล้องกับการบรรลุเป้าหมายนั้นอย่างจริงจัง

            ทำไมทั้งจีนและสหรัฐฯ จึงเอาจริงกับเรื่องพลังงานบริสุทธิ์?

            คำตอบง่ายๆ ชัดๆ คือ เพราะเขาเห็นแล้วว่านั่นคือความยั่งยืนที่แท้จริง

            เพราะงานวิจัยทุกชิ้นในหัวข้อนี้ยืนยันตรงกันว่า คำว่าพัฒนาจะไม่สามารถไปต่อได้หากขาดความยั่งยืน

            และความยั่งยืนหมายถึงการที่มนุษย์ปรับตัวให้อยู่กับธรรมชาติ และทุกกิจกรรมของมนุษย์จะต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

            คนรุ่นใหม่ทั้งโลกกำลังตื่นตัวกับ "สิ่งแวดล้อม" และ "ธรรมาภิบาล" กับ "เสรีภาพ" และ "จิตอาสา"

            เป็นแนวโน้มที่เห็นได้ชัดเจนกว่าทศวรรษที่ผ่านมา จนกระทั่งไม่มีรัฐบาลไหนในโลกที่รับผิดชอบจะมองข้ามความสำคัญและวางนโยบายให้ตรงกับความเปลี่ยนแปลงในทิศทางของสังคมโลกได้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"