โรคระบาดโควิด-19 ใน 2 ภาพ (1)


เพิ่มเพื่อน    

 

ภาพ : การฉีดวัคซีนโควิด-19 คิดตามสัดส่วนประชากร
เครดิตภาพ :
https://ourworldindata.org/covid-vaccinations

 

15 เดือนนับจากจีนแจ้งองค์การอนามัยโลก พบการแพร่ระบาดของโควิด-19 การระบาดยังดำเนินต่อไป การฉีดวัคซีนกำลังเดินหน้าพร้อมกับเชื้อกลายพันธุ์ มีทั้งภาพบวกกับลบ บทความนี้จะแบ่งเป็น 2 ตอน ตอนแรกพูดถึงสถานการณ์โรคระบาดและวัคซีน

สถานการณ์โรคระบาด :

                ถ้ามองภาพรวมโลก บางพื้นที่บางประเทศสถานการณ์ดีขึ้น ในขณะเดียวกันบางประเทศยังรุนแรง ยกตัวอย่างกลางเดือนมีนาคมยอดติดเชื้อโรคโควิด-19 อินเดียพุ่งสูงสุดในรอบ 3 เดือน เพียงวันเดียวมีผู้ติดโรค 39,726 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมรวม 159,370 คน

                สัปดาห์ที่ 3 ของมีนาคม รัฐบาลฝรั่งเศสประกาศล็อกดาวน์ครั้งใหญ่อีก กระทบประชากร 1 ใน 3 รวมปารีสด้วย  ไม่กี่วันต่อมาเยอรมันประกาศล็อกดาวน์เช่นกัน เบื้องต้นให้ยาวไปถึง 18 เมษายน นายกฯ แมร์เคิลกล่าวว่า “ตอนนี้ระบาดใหม่อีกรอบ” สถานการณ์ร้ายแรงมาก เป็นสายพันธุ์ใหม่ที่อันตรายกว่าเก่า ติดต่อง่ายกว่าเดิม

                ตั้งแต่ต้นปี WHO ชี้ว่า ตลอดปีนี้โควิด-19 จะยังระบาดต่อไป ยังไม่เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) แม้จะเริ่มฉีดวัคซีนแล้ว

การแข่งขันระหว่างวัคซีนกับไวรัส :

                ปีนี้เป็นปีแห่งการฉีดวัคซีน จีนประกาศฉีดวัคซีนให้ครบภายในปีนี้เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ตั้งเป้าก่อนกลางปีจะฉีดให้ได้ 560 ล้านคน เท่ากับ 40% ของประชากร และจะฉีดอีก 330 ล้านคน รวมให้ได้เท่ากับ 64% ของประชากรภายในสิ้นปีนี้

                ด้านอียูตั้งเป้าผู้ใหญ่ 70% จะได้รับวัคซีนภายในเดือนกันยายน ทำนองเดียวกับสหรัฐประกาศว่าจะให้แล้วเสร็จกรกฎาคม

                ในขณะที่ผู้ได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้น แต่ที่สุดแล้วต้องดูว่าสัดส่วนคนฉีดวัคซีนมากแค่ไหน ยังมีข่าวเรื่องการปฏิเสธวัคซีนเป็นระยะ เช่น กลางเดือนกุมภาพันธ์คนพื้นถิ่นบราซิลต่อต้านวัคซีนโควิด-19 คิดว่าจะทำให้พวกเขากลายเป็นสัตว์หรือตายด้วยวัคซีน อีกทั้งยังมีชิปควบคุมมนุษย์ในวัคซีนตามแนวทฤษฎีสมคบคิด

                ผลโพลของ Levada Centre เมื่อต้นมีนาคม “ชาวรัสเซีย 64% คิดว่าโควิด-19 เป็นอาวุธชีวภาพที่มนุษย์สร้างขึ้น”  23% เท่านั้นที่คิดว่ามาจากธรรมชาติ เมื่อถามเรื่องการฉีดวัคซีน 30% เท่านั้นที่ต้องการฉีด สาเหตุหนึ่งเพราะคนรัสเซียจำนวนมากไม่ไว้ใจรัฐบาล เชื่อทฤษฎีสมคบคิด บางคนอาจคิดว่าเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องตลก แต่อีกหลายคนทั่วโลกคิดเช่นนั้นจริง 

                การปฏิเสธวัคซีนมาจากหลายเหตุผล บางครั้งอาจเป็นเพราะเรื่องความไม่ปลอดภัย อาการไม่พึงประสงค์ (ไม่เกี่ยวกับทฤษฎีสมคบคิด) เช่น ปลายกุมภาพันธ์ Internet Infinity Inc. รายงานผลสำรวจผู้สูงวัยในศูนย์ดูแลคนชรา 423 คน พบว่า 43% เท่านั้นยินดีฉีดวัคซีน 15% ไม่ขอฉีดเด็ดขาด และอีก 43% ที่ยังไม่แน่ใจ กังวลอาการข้างเคียง ประสิทธิภาพวัคซีน

                ต้องไม่ลืมว่า เป้าหมายของการฉีดวัคซีนคือสร้าง “ภูมิคุ้มกันหมู่” ประชาชนต้องฉีดวัคซีน 70% ขึ้นไป

                ในขณะที่หลายประเทศเริ่มฉีดวัคซีนและกำลังคิดค้นวัคซีนรุ่นใหม่ ฝ่ายเชื้อโรคพยายามเอาตัวรอดด้วยการกลายพันธุ์อย่างรวดเร็ว มีข่าวสายพันธุ์ใหม่ที่ติดง่ายกว่า ก่อโรครุนแรงกว่า ส่งผลให้วัคซีนที่มีอยู่ต้องทดสอบกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่ว่ายังใช้การได้หรือไม่

                ยกตัวอย่าง กระทรวงสาธารณสุขบราซิลเผยโควิด-19  สายพันธุ์ใหม่ Brazilian Amazon ติดต่อแพร่ระบาดง่ายกว่าเดิม 3 เท่า ต้นเดือนมีนาคมงานวิจัยของ University of Exeter พบว่า โควิด-19 สายพันธุ์ B.1.1.7 จากสหราชอาณาจักรทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่ม 64% เมื่อเทียบกับสายพันธุ์ดั้งเดิม

                ต้นเดือนกุมภาพันธ์ AstraZeneca ยอมรับว่าวัคซีนของตนใช้ไม่ค่อยได้ผลกับโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ (B.1.351) สัปดาห์ต่อมาบริษัท Pfizer Inc/BioNTech ยอมรับว่าในกรณีสายพันธุ์แอฟริกาใต้ วัคซีนโควิด-19 ของตนสร้างภูมิคุ้มกันเพียง 1 ใน 3 เมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดิม แต่บริษัทยังคงยืนยันว่าวัคซีนตนใช้ได้

                ในอนาคตวัคซีนแต่ละตัวอาจประกอบด้วยภูมิต้านทานจากเชื้อหลายสายพันธุ์ นอกจากนี้ Sierk Poetting จาก BioNTech บริษัทผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 คิดว่าอาจต้องฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 รับมือไวรัสใหม่ที่กลายพันธุ์ ขึ้นกับความจำเป็น อาจฉีดเฉพาะคนหรือพื้นที่

                เรื่องน่าชื่นชมคือการวิจัยวัคซีนยังคงเดินหน้าต่อเนื่องทั้งคุณภาพและรูปแบบ เช่น Oxford-AstraZeneca กำลังพัฒนาวัคซีนโควิด-19 แบบสเปรย์พ่นเข้าจมูก และเป็นยาเม็ดรับประทาน Oramed บริษัทร่วมทุนระหว่างอิสราเอลกับอเมริกาใกล้จะทดลองวัคซีนโควิด-19 ชนิดรับประทานชื่อ Oravax ทำให้เก็บรักษาง่ายกว่า ลดต้นทุนขนส่ง บริหารจัดการง่าย กินยาที่บ้านได้

                ปกติการพัฒนาวัคซีนจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี วัคซีนโควิด-19 เป็นปรากฏการณ์ที่สร้างวัคซีนในเวลาไม่ถึงปี ต้องยอมรับว่ามีข้อมูลอีกหลายอย่างที่ไม่มีใครทราบ เช่น ผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว อย่างไรก็ตาม ประโยชน์จากความจำเป็นที่ต้องฉีดเร่งด่วนสำคัญกว่า แม้ไม่ป้องกันติดเชื้อ แต่ช่วยลดการป่วยหนัก ข้อมูลอัพเดตล่าสุดวัคซีน AstraZeneca ได้ผล 76% ซึ่งหมายถึง 76% ของคนที่ฉีดแม้ได้รับเชื้อจะไม่แสดงอาการป่วย และ 100% จะไม่ป่วยหนัก

การกระจายวัคซีน :

            การจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่หรือไม่ขึ้นกับเปอร์เซ็นต์ผู้ได้วัคซีน นอกจากประเด็นคนไม่ฉีดวัคซีนแล้ว การกระจายวัคซีนเป็นอีกประเด็นที่ควรสนใจ

                กลางเดือนกุมภาพันธ์ อันโตนิโอ กูเตร์เรส (General Antonio Guterres) เลขาธิการสหประชาชาติชี้การกระจายวัคซีนในขณะนี้ไม่เท่าเทียมและไม่เป็นธรรมเหลือเกิน (wildly uneven and unfair) 10 กว่าประเทศ แต่ได้วัคซีนถึง 75% ของที่ผลิตได้ทั้งหมด ในขณะที่อีก 130 ประเทศยังไม่ได้วัคซีนแม้แต่เข็มเดียว โครงการวัคซีนโลก หรือ COVAX ที่ตั้งเป้ากระจายวัคซีนให้ครบถ้วน โดยเฉพาะแก่ประเทศยากจน พบว่าโครงการไม่บรรลุผลตามเป้า ยอดบริจาคต่ำกว่าที่ต้องการ

                ภาพที่ปรากฏคือกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วได้รับวัคซีนจำนวนมาก พร้อมกับประกาศว่าจะขยายกำลังผลิตให้มากขึ้น ให้เพียงพอกับความต้องการของโลก สรุปคือประเทศยากจนต้องรอไปก่อน

                ด้าน นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส (Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผอ.ใหญ่องค์การอนามัยโลกชี้ว่า ประเทศร่ำรวยกว้านซื้อวัคซีนจากบริษัทยา ทำให้ประเทศยากจนได้วัคซีนน้อย ล่าช้ากว่าที่ควร เป็นเหตุให้โควิด-19 ระบาดยืดเยื้อ

                ผอ.ใหญ่องค์การอนามัยโลกชี้ว่า เป็นการไม่ถูกต้องหากคนหนุ่มสาว พวกที่สุขภาพดีในชาติที่ร่ำรวยได้รับวัคซีนก่อน การกระจายวัคซีนโดยเลือกฐานะทางเศรษฐกิจมาก่อนจะทำให้การระบาดยืดเยื้อ กระทบเศรษฐกิจโลกและทำให้มวลมนุษย์ทุกข์ยากยาวนานขึ้น

            เป็นความเข้าใจผิดถ้าคิดว่าเมื่อคนของประเทศได้รับวัคซีนครบแล้วจะปลอดภัย ตราบใดที่ยังมีบางประเทศระบาด เชื้อมีโอกาสกลายพันธุ์ เกิดสายพันธุ์ใหม่ที่อาจรุนแรงกว่าเดิม และวัคซีนเดิมใช้ไม่ค่อยได้ผล เช่น หากประเทศ ก ฉีดวัคซีนครบทั้งประเทศ ปีนี้ป้องกันได้ แต่ปีหน้าหรือปีต่อไปภูมิคุ้มกันหมดฤทธิ์และ/หรือวัคซีนที่มีอยู่ไม่ได้ผลกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่มาจากต่างแดน

                ความเข้าใจเช่นนี้เป็นความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ แนวทางที่องค์การอนามัยโลกยึดถือ แต่ก็มีบางประเทศที่มุ่งฉีดกับคนของตนเอง

                อาจอธิบายว่าเพราะผู้นำประเทศ รัฐบาลของประเทศเหล่านี้หวังผลทางการเมือง (ทั้งที่รู้แก่ใจว่าแนวทางขององค์การอนามัยโลกถูกต้อง) แสดงให้เห็นว่าเป็นรัฐบาลที่รักห่วงใยประชาชน น่าเห็นใจที่รัฐบาลหลายประเทศต้องทำเช่นนี้ และคิดว่าอย่างน้อยให้ปีนี้ผ่านไปก่อน ให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วที่สุดก่อน ส่วนปัญหาอนาคตที่จะตามมาค่อยว่ากันทีหลัง หรืออาจคิดว่าความร่วมมือระดับโลกที่ได้ผลจริงเป็นไปได้ยาก สุดท้ายต้องเลือกให้กับประเทศตัวเองก่อน

                โดยรวมแล้ว ปีนี้คือมนุษย์รู้จักโรคโควิด-19 มากขึ้น มีวัคซีนให้ใช้แม้ยังไม่สมบูรณ์ แต่ช่วยลดคนป่วยหนักเสียชีวิต คลายความวิตกกังวลได้มาก แต่จะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ทั่วโลกเมื่อไหร่ยังเป็นปริศนา เพราะขึ้นกับหลายปัจจัย อย่างเร็วต้องรออีก 2 ปี (จนถึง 2023) และเมื่อนั้นจะเห็นความเปลี่ยนแปลงอันเนื่องจากโรคโควิด-19 ชัดเจนขึ้น โลกไม่เหมือนเดิมแล้ว.

-------------------

-------------------

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"