บิ๊กตู่สั่งเร่งพีอาร์ไทยนิยมยั่งยืน


เพิ่มเพื่อน    

    นายกฯ เร่งเครื่อง “ไทยนิยม ยั่งยืน” หนุนเศรษฐกิจขยายตัว โวไตรมาสแรกสูงถึง 4.8 หลังทำมาตั้งแต่ต่ำเตี้ย พร้อมสั่ง 6 รมต.ไทยนิยมแถลงโชว์ผลงาน อึ้ง! มท.1 บอก ปชช.ไม่ต้องรู้เอางบจากไหนให้ แค่ได้ประโยชน์พอ “ขุนคลัง” โอ่ช่วยคนจนต่อ ขณะที่ รมว.พลังงานฟุ้งทำไปแล้วกว่า 900 โครงการ
    เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงสถานการณ์เศรษฐกิจไตรมาสแรกปี 61 ขยายตัวถึง 4.8 % ว่า วันนี้เศรษฐกิจในไตรมาสแรกปี 61 ขึ้นถึง 4.8 สูงที่สุดในรายไตรมาสในรอบ 5 ปี เราทำมาตั้งแต่ต่ำเตี้ยจาก 0 กว่าๆ เป็น 1-2-3 กว่าๆ ขึ้นมาเป็น 4.8 พัฒนาการตามลำดับในเศรษฐกิจที่เป็นมหภาค แต่ในส่วนระดับล่าง จะเติมด้วยโครงการไทยนิยม ยั่งยืน เพื่อให้มีการกระจายรายได้ สร้างงานอาชีพ ปรับเปลี่ยน เพิ่มคุณภาพเพื่อพัฒนาความเข้มแข็งให้ประชาชนในพื้นที่ 
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า โดยทุกกิจกรรมของหมู่บ้านมีประชาชนให้ความสนใจมาร่วมจำนวนเกือบ 100 คนทุกครั้ง ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับกระทรวงมหาดไทย,  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงการคลัง และกองทุนหมู่บ้าน ต้องไปดูในโครงการ ทั้งโครงสร้างพื้นฐานเล็กๆ น้อยๆ ที่ประชาชนต้องการ ที่ประชุมร่วมของหน่วยราชการในพื้นที่ ประชาชน และคณะกรรมการไทยนิยม ยั่งยืน มีมติเห็นชอบแผนงาน-โครงการ และอนุมัติงบประมาณออกมา เพื่อเพิ่มเติมต่อยอดจาก 4.8 ที่มันดีขึ้นจริงๆ แล้วจะลงไปข้างล่างได้ถ้าไม่พัฒนาข้างมันต้องดีถ้าเราทำให้ต่อเนื่องเชื่อมโยงต่อไป
    นายกฯ กล่าวต่อว่า ในส่วนโครงการของกระทรวงมหาดไทยสรุปขึ้นมา อย่างโครงการกลุ่มอาชีพสร้างงานรายได้ทางตรง จำนวน 12,544 โครงการ เช่น โครงการท่องเที่ยวในหมู่บ้านชุมชน ลานตากผลผลิตการเกษตร  การเลี้ยงสัตว์ ปลูกพืชผลไม้ การแปรรูปถนอมอาหาร ปัจจัยการผลิต-ตลาด แปรรูปผลิตภัณฑ์ชุมชน หัตถกรรมผ้า โรงสีข้าง ผลิตของใช้ประจำวัน ยุ้งฉาง ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม การแพทย์แผนไทย เครื่องอบลดความชื้น ฯลฯ กลุ่มงานรายได้ทางอ้อม 7,999 โครงการ เช่น เรื่องการพัฒนาแหล่งน้ำ ลานอเนกประสงค์ ดื่มน้ำใช้ คลองส่งน้ำ ฝาย ห้องน้ำ บริการสาธารณะ บ่อกำจัดขยะ ปลูกป่า พลังงานแสงอาทิตย์ ทางจักรยาน ฯลฯ 
    นายกฯ กล่าวว่า โครงการส่งเสริมคุณภาพชีวิต 67,857 โครงการ เช่น ถนนหมู่บ้านชุมชน ศาลากลางบ้าน ศาลาประชาคม หอกระจายเสียงตามสาย ประปาหมู่บ้าน ปรับปรุงระบบระบายน้ำ ลานกีฬาเด็กเล็ก ทางเดินสัญจร เครื่องออกกำลังกายกลางแจ้ง กำจัดผักตบชวา ระบบไฟแสงสว่าง ผนังกั้นตลิ่ง คันดิน สะพานจราจร ระบบประปาภูเขา ศาลาพักผู้โดยสาร ลูกระนาด แบริเออร์ กรวยยาง บ่อกำจัดสิ่งปฏิกูล แนวกันไฟ ฯลฯ.
    วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ได้สั่งการในช่วงท้ายการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้รัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ประกอบด้วย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย, นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.การคลัง, นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์, นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา, นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน และนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกฯ ร่วมกันแถลงข่าวความคืบหน้าโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ให้สื่อมวลชนรับทราบ
    โดย พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า แม้ตัวชี้วัดเศรษฐกิจจะดีขึ้นมากทุกตัว จีดีพีไตรมาสแรกโตถึง 4.8% แต่รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับเรื่องกระจายรายได้ไปสู่เศรษฐกิจฐานรากผ่านโครงการไทยนิยม ยั่งยืน มีการส่งทีมระดับตำบลและชุมชนลงไปกว่า 8 หมื่นแห่ง พูดคุยกับชาวบ้านประมาณ 8 ล้านคน เพื่อไปสร้างความรู้ความเข้าใจ และหาข้อมูลเชิงลึกมาแก้ปัญหาเรื่องรายได้ต่ำ ในส่วนของกระทรวงมหาดไทยนั้น โครงการหมู่บ้านละ 2 แสนบาท ขณะนี้ได้แผนงานโครงการแล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณาแผนงานระดับอำเภอ เสร็จแล้วจะส่งไปให้ผู้ว่าราชการจังหวัดลงนาม และส่งไปให้สำนักงานจัดทำงบประมาณเขตพื้นที่พิจารณาให้ความเห็นชอบ
    พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า นอกจากนี้ ปัจจุบัน พ.ร.บ.งบรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 61 ได้มีผลบังคับใช้ ทำให้มีเงินพร้อม หากแผนงานผ่านการพิจารณาหมดแล้ว สำนักงบประมาณจะอนุมัติงบประมาณไปให้บัญชีคณะกรรมการหมู่บ้านได้เลย ขั้นตอนอนุมัตินี้จะเสร็จภายในเดือน พ.ค.นี้ ส่วนเดือน มิ.ย.จะเริ่มดำเนินการแผนงานต่างๆ ได้ทันที และนับจากวันที่ 17 มิ.ย. โครงการต่างๆ ต้องเสร็จภายใน 120 วัน โครงการเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ เพราะเป็นความต้องการของคนในพื้นที่เอง ส่วนโครงการโอท็อป จะมีการพัฒนาโอท็อปในพื้นที่ท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ ประมาณกว่า 3,200 แห่ง งบประมาณ 9,000 ล้านบาท
    รมว.มหาดไทยยังกล่าวอีกว่า โครงการดังกล่าวไม่ต้องรู้ว่าเงินมาจากไหน เพราะทุกชุดที่ลงไป ลงไปในแนวทางประชารัฐ และถึงประชาชนทั้งหมด เงินมาจากก้อนไหน ขอให้เขาได้เท่านั้น ขอให้เขารู้ว่าจะพัฒนาตัวเองอย่างไร พัฒนากลุ่มอย่างไร เงินอะไรลงไปเขาไม่ต้องรู้ แต่อยากให้รู้ว่าเป็นความตั้งใจของรัฐบาลที่จะทำให้เขามีรายได้ดีขึ้น เราไม่ได้เป็นลักษณะแจกเงิน และตามศาสตร์พระราชาของในหลวงรัชกาลที่ 9 เราไม่ได้แจกปลา แต่เราแจกเบ็ดให้เขาหาปลากิน ตรงนี้เป็นสิ่งยาก ยืนยันว่าเราเน้นความยั่งยืนไม่แจกเงิน
    “สังคมจะมาบอกว่าเป็นวิธีที่ได้ผลหรือไม่ได้ผลนั้น  เราไม่รู้ แต่เราสร้างโอกาสให้เขาทำ เราเอาโอกาสไปถึงตัวเขา แล้วเก็บข้อมูลมาด้วย นี่คือตัวอย่างความยั่งยืน ถ้าเขายังจนอยู่เราจะได้ช่วยแก้ไข เรายังมีโครงการอื่นที่ทำอยู่ ขอให้เรารู้ข้อมูลว่าจะพัฒนาเขาอย่างไร สื่อต้องช่วย” รมว.มหาดไทยระบุ
    ขณะที่นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.การคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้ดำเนินโครงการฝึกอบรมอาชีพให้ผู้มีรายได้น้อยที่มาลงทะเบียนเพื่อรับสวัสดิการรัฐ จำนวน 11.4 ล้านคน ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการไทยนิยม ยั่งยืน โดยปัจจุบันมีผู้มาลงทะเบียน และผ่านการสัมภาษณ์เพื่อเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 7.2 ล้านคน คิดเป็น 84.2% ของกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด ในส่วนนี้แบ่งเป็นกลุ่มที่ต้องการพัฒนาอาชีพ 4.1 ล้านราย หรือ 54.4% และอีก 3.1 ล้านราย หรือ 43.6% ไม่ต้องการพัฒนาอาชีพ
    นายอภิศักดิ์กล่าวอีกว่า โดยอีก 1.3 ล้านราย หรือ 15.8% อยู่ระหว่างการรอสัมภาษณ์ โดยผู้มีรายได้น้อยที่เข้าร่วมโครงการฝึกอบรมอาชีพครั้งนี้ จะได้รับเงินใช้จ่ายเพิ่มเติมในบัตรสวัสดิการ 100-200 บาทต่อเดือนด้วย โดยคาดว่ารัฐบาลมีภาระในการใส่เงินเข้าในบัตรผู้มีรายได้น้อยเพิ่มเติมเฉลี่ย 1.2-1.4 พันล้านบาทต่อเดือน คิดเป็น 2.4 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งเมื่อรวมกับการใส่เงินในบัตรสวัสดิการก่อนหน้านี้ที่ 200-300 บาทต่อเดือน หรือคิดเป็น 3.6 หมื่นล้านบาทต่อปี รัฐบาลจะมีภาระในส่วนนี้ทั้งสิ้น 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งรัฐบาลยืนยันว่าพร้อมดำเนินการอย่างเต็มที่
    รมว.การคลังกล่าวว่า สำหรับกลุ่มที่ต้องการพัฒนาอาชีพ แบ่งเป็น กลุ่มเกษตรกร 73.1%, กลุ่มทำงานมีนายจ้าง 3.2% และกลุ่มทำงานอิสระ 23.7% โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมแผนงานรองรับในการฝึกอบรมพัฒนาอาชีพให้ตรงตามความต้องการ ทั้งการอบรมเกษตรกร 120 หลักสูตร การให้ความรู้ การจัดหางานในประเทศ การฝึกทักษะคอมพิวเตอร์ การฝึกอาชีพเพิ่มเติม และการพัฒนาฝีมือให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนและผู้มีรายได้น้อย เป็นต้น
    นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน กล่าวว่า ในปี 61 กระทรวงพลังงานตั้งเป้าหมายโครงการนำเทคโนโลยีด้านพลังงานทดแทน ได้แก่ แผงโซลาร์เซลล์ไปติดตั้งเพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรทั่วประเทศอีกจำนวน 5,000 ชุด วงเงินลงทุน 3,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นคงด้านรายได้ให้เกษตรกร โดยเฉพาะสวนผักและผลไม้ เป็นการต่อยอดโครงการประชารัฐ จากปีที่ผ่านมามีการดำเนินการไปแล้ว 900 โครงการ วงเงินลงทุนเฉลี่ย 5.5-6 แสนบาทต่อโครงการ สามารถช่วยเกษตรกรได้จำนวน 1 แสนไร่.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"